นิยามความหมาย

         มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.. …”

มาตรา 1 เป็นชื่อของ พระราชบัญญัติ โดยทางภาคประชาสังคมเสนอว่า ควรแก้ชื่อพระราชบัญญัตินี้ โดยให้เพิ่มเติมคำว่า คุ้มครองสิทธิทางเพศ ขึ้นมาด้วย เป็น พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางเพศและคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.. …
 
 
มาตรา 3 เป็นเรื่องบทนิยาม มีประเด็นที่โต้เถียงกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะพิจารณาในส่วนที่สำคัญ
         “สุขภาพทางเพศหมายความว่า การมีสุขภาพทางเพศที่ดี ทั้งด้านกาย จิตใจ
และสังคม และให้หมายความรวมถึงการมีเจตคติที่ดีต่อความสัมพันธ์ทางเพศ เพศภาวะ เคารพ ต่อวิถีชีวิตทางเพศที่แตกต่างของบุคคล มีประสบการณ์ทางเพศที่ปลอดภัยและพึงพอใจ ปราศจากการถูกบังคับ การเลือกปฏิบัติและความรุนแรง
ทางภาควิชาการและภาคการเมืองเห็นด้วยกับคำนี้ แต่ทางภาคประชาสังคมเห็นว่า ควรแก้จากคำว่า สุขภาพทางเพศ เป็น “สุขภาวะทางเพศ” แต่ก็มีภาคประชาสังคมบางส่วนที่เห็นว่า คำว่า “สุขภาพทางเพศ” ดีแล้ว เพราะ คำนี้มีอยู่ใน พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ..2550
 
ในส่วนความหมายของคำว่า สุขภาพทางเพศนั้น ทางภาคประชาสังคมเสนอเปลี่ยนจากคำว่า มีประสบการณ์ทางเพศที่ปลอดภัยและพึงพอใจ เป็น วิถีชีวิตทางเพศที่ปลอดภัยและพึงพอใจ
 
          “อนามัยการเจริญพันธุ์หมายความว่า สุขภาพอันเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจาก กระบวนการการทำหน้าที่ของระบบการเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์ทุกช่วงชีวิต และให้หมายความรวมถึง การมีสุขภาพทางเพศที่ดี ตลอดจนมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสาร การบำบัดรักษาด้านสุขภาพทางเพศ และอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยอิสระปราศจากการเลือกปฏิบัติ หรือถูกบังคับ
มีประเด็นที่ให้แก้ในความหมาย โดยภาควิชาการเสนอให้เปลี่ยนความหมายจากคำที่ว่า สุขภาพอันเป็นผลสัมฤทธิ์ มาเป็น สุขภาพอันเป็นผลลัพธ์
 
ภาคประชาสังคมเสนอให้แก้ไขคำว่า การบำบัดรักษาด้านสุขภาพทางเพศ เป็น ส่งเสริมและรักษาสุขภาพทางเพศ ทั้งนี้เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อเรื่องเพศ
 
ทางภาคการเมืองมีข้อเสนอให้ตัดคำว่า เลือกปฏิบัติ ในส่วนท้ายของความหมาย ในคำว่า “โดยอิสระปราศจากการเลือกปฏิบัติหรือถูกบังคับ”
 
           “สิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์หมายความว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในการ ตัดสินใจอย่างอิสระเสมอภาพและรับผิดชอบร่วมกันในการเริ่มมีบุตร การเว้นระยะห่างและ จำนวนบุตรตลอดจนมีสิทธิได้รับข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอย่างถูกต้องครบถ้วนมีคุณภาพและได้ มาตรฐาน การเข้าถึงสิทธิดังกล่าวจะต้องเป็นไปโดยอิสระปราศจากการเลือกปฏิบัติหรือถูกบังคับ
ทางภาคประชาสังคมเห็นว่าควรตัดคำว่า เริ่มมีบุตร และ การเว้นระยะห่าง ออก และให้ข้อสังเกตว่าบทบัญญัติในความหมายส่วนนี้ควรเป็นไปตามสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ 12 ข้อ ที่มีกำหนดอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่

1. สิทธิในการมีชีวิต                                             
2. สิทธิในอิสระภาพและความปลอดภัย                         
3. สิทธิในความเท่าเทียมกันและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ              
4. สิทธิในความเป็นส่วนตัว                                      
5. สิทธิในอิสระทางความคิด                                    
6. สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และการศึกษา       
7. สิทธิในการเลือกสมรส การวางรากฐานและวางแผนครอบครัว
8.สิทธิในการตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่ และเมื่อไร            
9. สิทธิที่จะได้รับบริการสุขภาพและความคุ้มครองสุขภาพ      
10.สิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยี          
11.สิทธิที่จะเข้าร่วมทางการเมืองอย่างอิสระ                    
12.สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและไม่ถูกกระทำรุนแรง              
 

 

           “สิทธิทางเพศ” หมายความว่า ความเสมอภาคและความเป็นอิสระในการเลือก วิถีชีวิตทางเพศ การมีความสัมพันธ์เพศด้วยความสมัครใจและปลอดภัย เคารพศักดิ์ศรีซึ่งกัน และกัน และรับผิดชอบร่วมกันเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ โดยปราศจากความรุนแรง หรือขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ภาคประชาสังคมเห็นว่าควรตัดข้อความที่ว่า หรือขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน ในส่วนท้ายของความหมายออก
 
            “เพศภาวะหมายความว่า ภาวะความเป็นหญิงความเป็นชายที่ถูกกำหนด โดยปัจจัยแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมในช่วงเวลาหนึ่งๆ
ภาคประชาสังคมมองว่า ในความหมายของเพศภาวะ ที่หมายความว่า ภาวะความเป็นหญิงความเป็นชาย นั้น เห็นว่า ไม่ควรมีคำว่า ความเป็นหญิงความเป็นชาย แต่ให้บัญญัติเพียง ความเป็นเพศ ไว้ เพราะเป็นการมองถึงบุคคลที่เป็นเพศที่สามด้วย
ส่วนทางภาควิชาการ เห็นควรคงความหมายที่ว่า ความเป็นหญิงความเป็นชายไว้ แต่ให้เพิ่มคำว่า ที่ถูกกำหนดทางกายภาพของบุคคล
 
             มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวง ระเบียบหรือประกาศ เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา 4 นี้ ทางส่วนภาควิชาการเห็นว่าผู้ที่ควรจะมารักษาการณ์ตามพระราชบัญญัตินี้คือ ปลัดกระทรวงสาธารณะสุข โดยให้เหตุผลว่า รัฐมนตรีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยตามสภาพการของเหตุการณ์บ้านเมือง จึงเห็นควรที่จะเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นผู้รักษาการณ์ตามพระราชบัญญัตินี้ดีกว่า
 
ส่วนทางภาคประชาสังคมเห็นควรเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการณ์
 
ทางภาคการเมืองเห็นไปในอีกทางว่าควรจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการณ์ร่วมกัน
 
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในที่ประชุมช่วงท้ายได้เห็นร่วมกันว่าผู้ที่จะเป็นผู้รักษาการณ์ตามพระราชบัญญัตินี้ควรจะเป็น นายกรัฐมนตรี เพราะตามพระราชบัญญัตินี้มีส่วนคาบเกี่ยวกันหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อำนาจสั่งการข้ามกระทรวงได้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี การที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการณ์จึงเป็นการทำงานที่สะดวกขึ้น+