3 ปี ประชามติ: ทำไมคนถึงไม่พอใจประชามติ ปี 2559

เกือบทุกครั้งที่มีกระแสแก้รัฐธรรมนูญดังขึ้นในสังคม มันก็มักจะดังพร้อมๆ กับข้อโต้แย้งที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 นั้น ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนเสียงข้างมากมา ในขณะที่ฝ่ายต้องการแก้รัฐธรรมนูญจะย้ำนักหนาว่า กระบวนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นขาดความ 'ชอบธรรม' เนื่องจากเป็นการลงประชามติที่ไม่มีสาระสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย
ในวาระครบรอบ 3 ปี การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จึงอยากจะหยิบปมปัญหาในอดีตมากล่าวซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้เห็นว่า เพราะเหตุใดการออกเสียงประชามติจึงถูกมองว่าเป็นกระบวนการที่ขาดความชอบธรรมและขาดไปซึ่งหลักการสำคัญของการออกเสียงประชามติอย่างเป็นประชาธิปไตย
หลักคิดพื้นฐานในการจัดออกเสียงประชามติ
คำว่า 'ประชามติ' หรือ การออกเสียงประชามติ หากกล่าวโดยสรุป ความหมายของมันก็คือ กระบวนการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านการลงคะแนนเสียงว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ต้องอยู่บนหลักการที่ว่าเรื่องที่ออกความเห็นนั้นกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของชาติ หรือ กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
โดยการออกเสียงประชามตินั้นเป็นอีกหนึ่งในกลไกการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายการเมืองโดยประชาชน ว่ารัฐต้องได้รับการเห็นชอบจากประชาชนก่อน ถึงจะทำกิจบางประการใด แม้ว่าฝ่ายการเมืองนั้นจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ตาม
อย่างไรก็ดี ในการออกเสียงประชามติ มีหลักการสำคัญอยู่อย่างน้อย 2 ข้อ คือ
(1) ประเด็นที่จะนำมาลงคะแนนออกเสียงประชามติต้องชัดเจน ไม่ซับซ้อน ให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ โดยต้องเป็นคำถามที่มีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ และไม่มีลักษณะการชักจูงโน้มน้าวให้ผู้ตอบเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากหากคำถามไม่ชัดเจน หรือมีประเด็นต้องตีความอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด และทำให้การออกเสียงนั้นไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นที่ถูกต้องของผู้ที่ลงคะแนนอย่างแท้จริง
(2) ต้องเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระและเท่าเทียมกันของฝ่ายที่เห็นชอบและฝ่ายที่ไม่เห็นชอบ โดยประเด็นนี้ถือเป็นหัวใจหลักและมีความสำคัญที่สุดในการจัดทำประชามติ เนื่องจาก หากผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนในทุก ๆ ด้าน หรือได้รับข้อมูลเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรือได้รับข้อมูลที่แฝงด้วยอคติ หรือมีการบิดเบือนข้อมูลให้ผิดไปจากข้อเท็จจริง อาจจะทำให้การตัดสินใจของผู้มีสิทธิออกเสียงคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงหรือมีการลงคะแนนออกเสียงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของตนเองได้
ประชามติ ปี 2559 ขาดหลักการพื้นฐานสำคัญ
จากหลักคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการทำประชามติที่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระและเท่าเทียมกัน รวมถึงประเด็นที่จะนำมาลงคะแนนออกเสียงประชามติต้องชัดเจนนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับกระบวนการจัดทำประชามติของคสช. ในปี 2559 นั้นจะพบว่าขาดหลักการสำคัญเหล่านี้ไป โดยจะแบ่งเป็นสองประเด็น ได้แก่
(1) บรรยากาศการรณรงค์ประชามติไม่เป็นไปอย่างเสรีและมีข้อจำกัด
ในการออกเสียงประชามติ ปี 2559 บรรยากาศออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างไม่เสรีนัก เนื่องจาก มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 หรือ พ.ร.บ.ประชามติฯ โดยมาตราสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าวคือ มาตรา 61 ที่กำหนดโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี จากการแสดงความคิดเห็นภายใต้เงื่อนไขที่คลุมเครือ เช่น "ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ หรือ " ทำให้ประชาชนไม่ทราบว่าจะแสดงความคิดเห็นได้เพียงใด
อีกทั้ง มาตราดังกล่าวยังกำหนดความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความในลักษณะ “ผิดไปจากข้อเท็จจริง” ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้อ่านรัฐธรรมนูญทุกคนจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ตีความตัวบท ซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกับผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ เมื่อมีบทบัญญัติดังกล่าวทำให้การตีความและวิพากษ์รัฐธรรมนูญมีความเสี่ยง
ทั้งนี้ หลังกฎหมายบังคับใช้ มีกิจกรรมสาธารณะเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ถูกปิดกั้นอย่างน้อย 19 ครั้ง  มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ 64 ราย สร้างบรรยากาศความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และสร้างความหวาดกลัวแพร่กระจายออกไปในสังคมวงกว้างก่อนการงประชามติ
ในขณะเดียวกัน กระบวนการจัดทำประชามติ ยังดำเนินไปภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 เรื่องการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น พร้อมกับกระบวนการยุติธรรมที่ทหารเข้ามามีส่วนร่วมในการจับกุม การสอบสวน และการใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือน ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมโดยสงบเกี่ยวกับกระบวนการประชามติ ด้วยข้อหาต่างๆ
นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิลงทะเบียนเพื่อออกเสียงนอกเขตยังไม่ทั่วถึง และ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริงได้ก่อนการลงประชามติ โดย กกต. ประกาศว่า จะจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 1,000,000 เล่ม ส่งไปตามหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษา ไม่ส่งไปยังครัวเรือนของผู้มีสิทธิลงคะแนนกว่า 50 ล้านคน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ไปแต่ จุลสารสรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อความเท็จที่ไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญ การตีความเพิ่มเติมโดยใส่ความคิดเห็น และขาดสาระสำคัญหลายประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในร่างรัฐธรรมนูญ
อีกทั้ง ภาครัฐยังใช้ใช้กลไกและเครื่องมือของรัฐ เช่น อาสาสมัครรักษาดินแดน, วิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตย (ครู ก. ข. ค.), รายการ 7 สิงหาประชามติร่วมใจ, การทำคลิปวีดีโอข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ, แอพลิเคชั่นต่างๆ ฯลฯ นำเสนอข้อดีด้านต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ
(2) คำถามพ่วงประชามติมีความคลุมเครือซับซ้อน และชักจูงผู้คน
เริ่มตั้งแต่คำถามที่ถูกนำมาใช้ในการออกเสียงประชามติ ซึ่งมีด้วยกันสองคำถาม สำหรับคำถามหลักที่ถามประชาชนว่า ท่านให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นคำถามที่ไม่ซับซ้อนและชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทราบได้ว่า กำลังให้ความเห็นในเรื่องใด
แต่ทว่า ในคำถามที่สอง หรือที่เรียกว่า 'คำถามพ่วงประชามติ' ถูกเขียนเอาไว้ดังนี้
"ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"
จากคำถามดังกล่าวหากตีความให้สั้นๆ และง่ายๆ จะหมายความว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้วุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกโดยคสช. มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเขียนคำถามดังกล่าวมีลักษณะเขียนให้ยาว เพื่อความสลับซับซ้อนให้ต้องตีความ หรือเป็นการเขียนเพื่อซ่อนความหมายที่แท้จริง
ในขณะเดียวกัน ตัวคำถามยังมีการใช้รูปประโยคในการชักจูงโนมน้าวผู้ออกเสียงประชามติอีก เช่น การใช้ประโยคว่า "เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ" ซึ่งคงไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศ ดังนั้น คำถามพ่วงประชามติจึงขัดต่อหลักพื้นฐานในการออกเสียงประชามติอย่างชัดเจน