จับกระแส “แก้รัฐธรรมนูญ” หลัง “คสช. 2” แถลงนโยบาย

เมื่อวันที่ 25 และ 26 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้นำทีมแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยหนึ่งในสาระสำคัญที่ถูกบรรจุในนโยบายเร่งด่วนคือ การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อตกลงหลักของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างมาก ตั้งแต่การปรากฎตัวอยู่ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล "คสช. 2" และท่าทีของฝ่ายค้านที่ประสานมือกันชูนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ตัดวงจรการสืบทอดอำนาจ ซึ่งอาจจะกลายเป็นจุดร่วมสำคัญของสภาในอนาคต
รัฐธรรมนูญ 60 วงจรการสืบทอดอำนาจคสช.
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ถือเป็นกลไกและปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านของ คสช. ยุคที่หนึ่ง มาสู่ คสช. ยุคที่สอง ที่ใช้ระบบการเลือกตั้งเข้ามา 'ชุบตัว' ให้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จกลายเป็นระบอบเผด็จการครึ่งใบ ที่มีการเลือกตั้ง มีสภา แต่อำนาจของฝ่ายเผด็จการที่สืบทอดอำนาจมีมากกว่า
โดยวิธีการสืบทอดอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เริ่มตั้งแต่การออกระบบเลือกตั้งใหม่ ที่เรียกว่า "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" ซึ่งระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะส่งผลให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา และทำให้จำนวนพรรคการเมืองในสภามากขึ้น ซึ่งยากต่อการจัดตั้งรัฐบาลเพราะต้องมีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีกลไกพิเศษอย่างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. จำนวน 250 คน และทุกคนจะมีอำนาจพิเศษในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ทำให้ ส.ว. เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกฯ เพราะมีเสียงมากที่สุดในรัฐสภาและค่อนข้างเป็นเอกภาพ อันจะเห็นได้จากการลงคะแนนเลือกนายกฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยคะแนนเสียง 249 เสียง และประธานวุฒิสภางดออกเสียงตามมารยาท
จากกลไกทั้งสองอย่างทำให้พรรคที่ออกตัวสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่างพรรคพลังประชารัฐมี 'ต้นทุน' ที่สูงกว่าพรรคอื่นๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะเลือกนายกฯ โดยไม่พึ่ง ส.ว. เลย สภาต้องรวมเสียงให้ได้มากกว่า 375 เสียง หรือ คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกสภาผู้แทนฯ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น นี่คือเหตุผลที่ทำให้บรรดาสมาชิกพรรคพลังประชารัฐและแกนนำพรรคต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเขา"
แก้รัฐธรรมนูญ ข้อตกลงร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์
เมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อสถาบันทางการเมืองอย่างสภาซึ่งมาจากประชาชน ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคชูประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา แต่ที่น่าสนใจคือ ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ
โดยเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญได้ปรากฎอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลมีการบรรจุเรื่อง “การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 
ก่อนหน้านี้ ราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้อตกลงเมื่อครั้งพรรคประชาธิปัตย์มีมติร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยหลักใหญ่ใจความคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งเป็นมาตราที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ ดังนี้
วาระแรก ขั้นรับหลักการ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด หรือ 84 คน
วาระที่สอง เป็นขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมาก แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3
วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
อีกทั้ง การแก้ไขเกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ให้จัดทำประชามติก่อน หากผลประชามติเห็นชอบ จึงจะสามารถประกาศใช้ได้
ทั้งนี้ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างแก้ไขยาก เราจึงต้องแก้ไขมาตรา 256 ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่าย ให้ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา อันนี้ก็น่าจะเป็นทิศทางการแก้รัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า
ด้าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรองนายกรัฐมนตรี ก็กล่าวยืนยันว่า ในรัฐธรรมนูญมีการระบุชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นอะไรต้องทำประชามติหรือไม่ต้องทำประชามติ แต่อย่างน้อยที่สุดได้ระบุไปว่าประเด็นที่ควรได้เริ่มต้นคือ หมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่แก้ได้ยากมากหรือแก้ไม่ได้เลย และอาจนำไปสู่ปัญหาในอนาคตได้ 
แก้รัฐธรรมนูญ 'จุดร่วม' พรรคฝ่ายค้าน-พรรคร่วมรัฐบาล
นอกจากการขยับของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านต่างก็ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนความสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ จนเหมือนว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นจุดร่วมสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน
โดยทางพรรคเพื่อไทย นำโดยชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคเพื่อไทยว่า ต้องแก้ไขเพิ่มเติมหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 โดยแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม และรัฐธรรมนูญให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ให้การแก้ไขเบื้องต้นรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ในความเป็นจริง
รวมถึงเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เนื่องจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีหลายส่วนที่ต้องแก้ไขเกี่ยวพันกันหลายหมวด หลายมาตรา และประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการยกร่าง โดยเห็นว่าควรจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกของประชาชนมาดำเนินการยกร่าง 
ด้าน พรรคอนาคตใหม่ ได้มีการเปิดเผย “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่… พ.ศ. …” โดยระบุจุดประสงค์ว่า เพื่อยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 269 ถึง มาตรา 272 เรื่องวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก และยกเลิกมาตรา 279 เรื่องการรับรองให้บรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมรายชื่อ ส.ส. 100 คนขึ้นไป เพื่อเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ขณะนี้พรรคอนาคตใหม่มี ส.ส. 81 คน จึงต้องการเพื่อน ส.ส. ร่วมลงชื่อเพิ่มอีกให้เกิน 100 คน เดินหน้าจัดการวุฒิสภาอันเป็นกลไกการสืบทอดอำนาจ และจัดการมรดกบาป คสช.
พร้อมระบุด้วยว่า พรรคอนาคตใหม่ ยืนยันเสมอมาว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาทางประชาธิปไตย ทั้งในเรื่องที่มา กระบวนการจัดทำ และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทั้งฉบับ พรรคยังคงยืนยันความตั้งใจเดิมว่าจะเดินหน้าเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน