จับตา “คสช. 2” ลักไก่ ใช้ ส.ว. ผลักดันกฎหมายอย่างน้อย 16 ฉบับ

หลังการเลือกตั้ง มีการคาดการณ์กันว่า การพิจารณากฎหมายในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ชุดที่ 2 หรือ 'คสช. 2' จะไม่ได้ราบเรียบเหมือนกับในอดีตที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งจะมีความหลากหลายและมีฝ่ายค้านในการกลั่นกรองกฎหมาย
แต่ทว่า ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 270 วรรค 2 และ 3 ได้กำหนดช่องทางพิเศษในการพิจารณากฎหมายไว้ว่า ร่างพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของสองสภา หรือ ส.ส. ร่วมกับ ส.ว. 
หรือหมายความว่า หากเป็นกฎหมายตามหมวดการปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญ จะให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากคัดเลือกของคสช. มีส่วนในการพิจารณากฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน ส.ว. แต่งตั้งมีทั้งหมด 250 เสียง ซึ่งจากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นความเป็น 'เอกภาพ' ของ ส.ว. ที่ไม่มีการแตกแถว
นอกจากนี้ หาก ส.ส. หรือ ส.ว. เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับอื่นใดเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ก็สามารถเข้าชื่อกันโดยใช้สมาชิกสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของแต่ละสภา เท่ากับ ส.ส. 100 คน หรือ ส.ว. 50 คน เสนอต่อประธานรัฐสภาให้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนั้นต้องผ่านการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา
อย่างไรก็ดี ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา หน้าที่ 39 ภาคผนวกที่ 1 ได้บรรจุกฎหมายไว้ โดยอ้างว่าเป็นร่างกฎหมายสำคัญที่คณะรัฐมนตรีจะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 16 การปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีอย่างน้อย 16 ฉบับ ได้แก่ 
1. กฎหมายว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
2. กฎหมายว่าด้วยโทษปรับตามความสามารถในการชำระของผู้กระทำผิด
3. กฎหมายว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมภาคประชาชน
4. กฎหมายว่าด้วยระบบนิติวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
5. กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินตกค้างที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐและเอกชน
6. กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลพาณิชย์หรือแผนกคดีพาณิชย์และวิธีพิจารณาคดีพาณิชย์
7. กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
8. กฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
9. กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
10. กฎหมายว่าด้วยยุติธรรมชุมชน
11. กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
12. กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูประบบราชการ
13. กฎหมายว่าด้วยการอำนาจความสะดวกและการลดดุลยพินิจของราชการในการให้บริการประชาชนและการประกอบธุรกิจ
14. กฎหมายว่าด้วยการประมงแห่งชาติ
15. กฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์ทะเลไทย
16. กฎหมายอื่น ๆ ที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่ามีความสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ กฎหมายทั้ง 16 ฉบับมีลักษณะเป็น 'หัวข้อ' ของกฎหมายมากกว่าตัวกฎหมาย อีกทั้งยังไม่มีการนำร่างดังกล่าวมาประกอบทำให้ไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่า ในยุคคสช. 2 จะมีการผลักดันกฎหมายผ่านสภาที่มาจากการแต่งตั้งของตัวเองทั้งหมดกี่ฉบับ 

นอกจากนี้ หาก ส.ส. หรือ ส.ว. เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับอื่นใดเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ก็สามารถเข้าชื่อกันโดยใช้สมาชิกสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของแต่ละสภา เท่ากับ ส.ส. 100 คน หรือ ส.ว. 50 คน เสนอต่อประธานรัฐสภาให้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนั้นต้องผ่านการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา