ชาวบ้านเสนอ “แผนจัดการร่วม” แทนปฏิบัติการ “ทวงคืนผืนป่า” และเอาเกษตรกรเข้าคุก

เกษตรกรถูกพิพากษาให้จำคุกจากกรณีประกาศเขตป่าทับที่ เป็นปัญหาเรื้อรังและยิ่งรุนแรงภายใต้นโยบายของ คสช. ด้านชาวบ้านเสนอ "แผนจัดการร่วม" เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าโดยไม่ต้องดำเนินคดี ฝ่ายรัฐยังตัดสินใจล่าช้า ทั้งที่มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ คณิต ณ นคร ยังเสนอว่า อัยการอาจสั่งไม่ฟ้องคดีได้แต่ไม่มีใครกล้า จึงต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นักสิทธิเสนอ ต้องนั่งคุยกันใหม่มีกระบวนการแก้ไขเยียวยา
สืบเนื่องจากกรณีพิพาทระหว่างเกษตรกรกับอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิเรื่องพื้นที่ป่า ทำให้มีชาวบ้านต้องถูกดำเนินคดี 14 คน วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า กับผลกระทบต่อคนจน: กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง” ที่มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีตัวแทนชาวบ้านมาสะท้อนปัญหาและมีนักวิชาการร่วมแลกเปลี่ยน
ชาวบ้านเสนอ “แผนจัดการร่วม” ได้พื้นที่ป่าเพิ่ม ไม่ต้องติดคุก 
ไพโรจน์ วงศ์งาน เกษตรกรจากพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติไทรทองตัวแทนผู้เดือดร้อน เล่าว่า ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ายึดคืนพื้นที่มี 5 ชุมชน ชุมชนเหล่านี้มีอยู่ก่อน และต่อมาโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม (คจก.) ในปี 2535 เมื่อมีโครงการนี้กลับทำให้ผู้ยากไร้ลำบากมากขึ้น เพราะถูกย้ายไปอยู่ในที่ดินที่มีเจ้าของ พร้อมกับปลากระป๋องคนละสองกระป๋อง ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเรียกร้องจนรัฐให้ย้ายกลับไปอยู่ในที่ดินชุมชนเดิมมาจนปัจจุบัน แต่พอกลับมาแล้วกลายเป็น “ผู้บุกรุก”
เกษตรกรชุมชนบ้านซับหวาย เล่าด้วยว่า การวาดแผนที่พื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยมาก่อน ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2541 มีข้อผิดพลาด ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่มาก่อนได้สิทธิในพื้นที่ และทำให้คนที่อยู่มาแต่เดิมบางคนไม่ถูกนับ และกลายเป็นผู้กระทำความผิด ชาวบ้านเคยเสนอให้มี “แผนจัดการร่วม” เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยจำแนกเป็นพื้นที่เป็น ป่าชุมชน ป่าวัฒนธรรม ป่าตรวจยึดพื้นที่ริมห้วย และส่วนที่เป็นที่ดินทำกิน ซึ่งจะใช้พื้นที่ทำกิน 13% และเพิ่มพื้นที่ป่าได้เป็น 79% แผนนี้เป็นประโยชน์กับทั้งชุมชน ชาวบ้านไม่ต้องติดคุก และทั้งสิ่งแวดล้อมของโลก แต่แผนนี้กลับไม่มีโอกาสได้ใช้ และชาวบ้านถูกดำเนินคดี
ปราโมทย์ ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เล่าว่า หลังการต่อสู้ของพี่น้องนานหลายปี ผลที่ได้ตอนนี้ คือ 14 คนกลายเป็นผู้ต้องขัง นี่เป็นผลมาจากคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 แม้คำสั่งจะถูกยกเลิกไปแล้วแต่บาดแผลที่เกิดขึ้นกระทบกับคนทั่วประเทศ กรณีชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีเพราะที่ดินทับกับเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง 14 คน มี 3 คนที่อยู่ในที่ดินตกทอดมาจากญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นที่ดินที่ถูกสำรวจแล้วว่า ชาวบ้านถือครองอยู่
ในทางปฏิบัติ เมื่อชาวบ้านไปทำไร่มันสำปะหลังก็พบกับเจ้าหน้าที่จำนวนมากสนธิกำลังเข้ามาบอกให้เซ็นยินยอมคืนพื้นที่ ชาวบ้านก็ต้องเซ็นไปด้วยความหวาดกลัว เมื่อเซ็นไปก็กลายเป็นผูกมัดกับเงื่อนไขว่า ต้องออกจากพื้นท่ีในปีนั้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วทันที เมื่อชาวบ้านเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา และเสนอแผนการจัดการร่วม ก็พบกับความล่าช้าในการตัดสินใจของฝ่ายนโยบาย ถ้าหากตัดสินใจรับแผนการเร็วก่อนการส่งฟ้อง ก็อาจไม่ต้องดำเนินคดีกันมาจนถึงวันนี้
ปัญหาหลักตอนนี้มารวมอยู่ที่การออก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับใหม่ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งรวบอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้กับราชการส่วนกลาง ไม่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม และไม่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านในอนาคต
ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่อง “คนอยู่กับป่า”
สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา กล่าวว่าการจับกุมชาวบ้านในข้อหาบุกรุกป่านั้นมีมานานแล้ว จุดประสงค์ที่ประกาศใช้นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ประกาศชัดว่า ต้องการเล่นงานนายทุนรายใหญ่ แต่ผ่านมาห้าปีไม่เห็นมีนายทุนรายใหญ่โดนจับกุม กลายเป็นชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 
ศาลฎีกาเคยวางแนวคำพิพากษาไว้ ในคดีหมายเลข 1181/2562 คดีนี้ชาวกะเหรี่ยงสามคนถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกอุทยานแห่งชาติ จากการทำไร่ในที่ดินตัวเองพื้นที่สามไร่ กรมอุทยานแห่งชาติฟ้องร้อง และเรียกค่าเสียหายรวมกว่า 300,000 บาท ศาลฎีกามองว่า ค่าเสียหายที่เรียกมาไม่ได้วิเคราะห์จากสภาพพื้นที่ที่แท้จริง แต่ใช้แบบจำลองค่าเสียหายจากป่าดงดิบ ตั้งแต่ปี 2519 ทั้งที่บริเวณดังกล่าวเป็นป่าเบญจพรรณ ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย
เคยมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 สั่งชัดแล้วว่า สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนให้ตั้งคณะกรรมการโดยมีชาวบ้านเข้าร่วมจัดทำเขตที่ดินทำกิน ยุติการดำเนินคดีต่อประชาชน และเพิกถอนการประกาศเขตป่าในพื้นที่ที่มีคนอยู่มาก่อน มตินี้จะต้องเอามาใช้กับทุกคนด้วย โดยเคยมีคดีที่ศาลปกครองรับรองการบังคับใช้มติคณะรัฐมนตรีนี้ต่อกรณีชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานแล้ว
สุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า เราต้องเปลี่ยนวิธีการคิดเรื่องคนกับป่า การคิดว่า คนอยู่กับป่าไม่ได้ และการพยายามเอาคนออกจากป่า เป็นวิธีคิดที่ผิด การไปเผาบ้านชาวกะเหรี่ยง และเอา “ปู่คออี้” ออกจากแผ่นดินเกิดเป็นสิ่งที่ผิด ทำให้ป่าแก่งกระจานไม่ได้เป็นมรดกโลก ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า รัฐ คือ ประชาชน รัฐไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่รัฐ และหน้าที่ของรัฐ คือ ต้องให้ประชาชนอยู่อย่างสงบสุขโดยมีที่ดินทำกิน
“ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า” เป็นการประดิษฐ์ถ้อยคำเพื่อปิดบังความรุนแรง
อนุสรณ์ อุณโณ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กล่าวว่า สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ “ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า” เป็นการประดิษฐ์ถ้อยคำเพื่อปิดบังอำพรางสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะความรุนแรงที่มาพร้อมกับปฏิบัติการนั้น และยังเป็นการ “เอาใจ” คนบางกลุ่มซึ่งในที่นี้ คือ คนชั้นกลางที่ต้องการป่าบริสุทธิ์เอาไว้ท่องเที่ยว ไปกางเต๊นท์ 
ปฏิบัติการนี้มาหลังการยึดอำนาจอาจเป็นไปเพื่อให้ถูกใจกลุ่มคนที่สนับสนุนการยึดอำนาจ แต่ขณะเดียวกันก็ไปไกลกว่านั้น เป็นการปักหลัก สถาปนาระเบียบอำนาจ และผลประโยชน์ใหม่ ในลักษณะที่ “รัฐสมคบกับทุนใหญ่ เจียดเอากำไรไปให้ทานคนจน” นโยบายแบบนี้มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปหลังได้รัฐบาลใหม่ และความจนจะไม่หมดไปด้วยนโยบายสงเคราะห์เช่นนี้ เพราะมันคือ ความจนสิทธิ จนโอกาส จนอำนาจ ที่จะเข้าถึงการจัดสรรทรัพยากร 
ในสถานการณ์นี้ ตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้องและเราต้องจับตาให้มั่น คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ตั้งแต่รัฐประหารมาก็ไปจับมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขยายอำนาจเข้าไปในกิจการต่างๆ ของพลเรือน และมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลคสช. มากขึ้น เช่น การส่งคนลงไปในหมู่บ้านเพื่ออธิบายว่า ร่างรัฐธรรมนูญดีอย่างไร ในช่วงการทำประชามติปี 2559 กรณีของไทรทองก็เป็นตัวอย่างการขยายปีกของกองทัพเข้าสู่การจัดการทรัพยากร
อัยการสามารถสั่งไม่ฟ้องคดีได้ แต่ไม่มีใครกล้าทำ
คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมของเรามีปัญหาเยอะ การดำเนินคดีอาญาที่ดีต้องมีหลักสามประการ คือ เป็นเสรีนิยม เป็นประชาธิปไตย และเพื่อประโยชน์ของสังคม เท่าที่ฟังปัญหาของชาวบ้านมาทั้งหมด อัยการสามารถสั่งไม่ฟ้องคดีเหล่านี้ได้ แต่ไม่มีใครกล้าทำ 
อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะทำงานระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าเป็นความขัดแย้งเรื้อรัง แต่ก็ยังเป็นเรื่องต้องช่วยกันแก้ไข ปฏิญญาไฟร์เบิร์ก เกี่ยวกับการแก้ไขความขัดแย้งเมื่อเกิดการขัดกันระหว่างสิทธิของปัจเจกชนกับประโยชน์ของรัฐบอกว่า จะต้องแก้ปัญหาโดยให้ทุกฝ่ายมีข้อมูลที่เท่าเทียมกัน ต้องพูดคุยกัน และตกลงกันให้ได้โดยอาจจะใช้เวลามาก ไม่ต้องรีบร้อน ให้มีสามฝ่ายเข้าร่วม คือ ผู้ได้รับผลกระทบ ฝ่ายรัฐ และภาคพลเมืองที่ถือประโยชน์สาธารณะหากความขัดยแย้งที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดพลาดในอดีตก็ต้องแก้ไขสิ่งนั้นได้ 
“ปัญหาของคนกับพื้นที่ป่าในปัจจุบันต้องมานั่งดูด้วยกันใหม่ หากมีข้อผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นต้องได้รับการเยียวยา และให้ความเป็นธรรม” อมรา กล่าว