แถลงการณ์ “หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า คืนความเป็นธรรมให้คนจน”

 

 

แถลงการณ์

“หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า คืนความเป็นธรรมให้คนจน”

 

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 เรื่องการปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ พร้อมกับประกาศใช้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า แผนทวงคืนผืนป่า

 

ถึงแม้แผนดังกล่าวจะมีเจตนาที่มุ่งเน้นเอาผิดกับนายทุนที่ถือครองที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ แต่ในทางเป็นจริงกลับพบว่า เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา คนยากจนต้องตกเป็นเหยื่อจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ทั้งการตัดฟันทำลายผลอาสิน เช่น ยางพารา เป็นต้น การข่มขู่คุกคาม จำกัดสิทธิในการทำประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการฟ้องดำเนินคดี

 

แม้ว่าคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 ได้ถูกยกเลิกแล้ว แต่การปฏิบัติการต่าง ๆ ตามคำสั่งให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตามข้อ 8ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562ฉะนั้นปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ายังคงดำเนินการต่อไปตามแผนแม่บทป่าไม้ที่เป็นความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ  กอ.รมน.

 

กรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนความจริงข้างต้น ตลอดระยะเวลากว่า 28ปีของพื้นที่แห่งนี้ ชะตากรรมของประชาชนตกอยู่ภายใต้เส้นทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรแบบอำนาจนิยมมาโดยตลอด นับตั้งแต่การดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม หรือ คจก. ของรัฐบาล รสช. ในปี พ.ศ. 2534 – 2535 ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องถูกอพยพออกจากพื้นที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย เมื่อรัฐไม่สามารถจัดหาพื้นที่รองรับได้ จึงมีมติให้กลับมายังพื้นที่เดิม ซึ่งรัฐได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติในเวลาต่อมา

 

เหตุการณ์ความขัดแย้ง และการคุกคามสิทธิ์เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า หลังช่วงปี พ.ศ. 2557เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังเข้าปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” จากเกษตรกรที่ทำการผลิต โดยการให้ “เซ็นต์ยินยอมออกจากพื้นที่” กลางไร่มันสำปะหลัง ในสภาพเช่นนี้ จึงมีแต่ความหวาดกลัว และต้องจำยอมเท่านั้นสำหรับคนจน

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านซับหวายซึ่งเป็นหนึ่งในห้าชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนทั้ง 5ชุมชน เพื่อยื่นหนังสือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการตรวจสอบข้อเท็จจริง การจำแนกลักษณะความเดือดร้อน รังวัดขอบเขตที่ดินรายแปลง และมีมติเห็นชอบแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

 

กระนั้นก็ตาม แม้กระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมจะมีพัฒนาการที่คืบหน้าเป็นลำดับ แต่อีกด้านหนึ่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านซับหวายทั้งสิ้น 14ราย 19คดี นับตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2559เป็นต้นมา กระทั่งปัจจุบัน ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามโจทก์ฟ้อง และชดใช้ค่าเสียหาย และนำมาสู่สภาพการเป็น “ผู้ต้องขัง” ของชาวบ้านทั้งสิ้น 13คน โดยในจำนวนนี้ จำแนกเป็นผู้หญิง 9คน ชาย 4คน เฉพาะครอบครัว “ม่วงกลาง” ประกอบด้วย แม่ และลูกสาว รวมทั้งสิ้น 4คน

 

บทเรียนสำคัญจากกรณีข้างต้น พบว่า แผนปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า เกิดขึ้นภายใต้พื้นฐานแนวคิดการจัดการทรัพยากรแบบอำนาจนิยม และการปฏิบัติการที่มีความผิดพลาดบกพร่อง กระทั่งนำมาสู่การสูญเสียอิสรภาพของประชาชน ในขณะเดียวกัน กระบวนการแก้ไขปัญหา และการตัดสินใจทางนโยบายที่ล่าช้า ไม่ทันการณ์ และการจงใจใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจัดการ ทำให้ชะตากรรมของชาวบ้านทั้ง 14ราย ตกอยู่ในสภาพดังที่กล่าวแล้ว

 

ด้วยเหตุดังนี้ เครือข่าย องค์กรตามรายชื่อที่ร่วมลงนามท้ายแถลงการณ์นี้ จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลเร่งพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

 

  1. ให้ยกเลิกนโยบาย และยุติการปฏิบัติการตามแผนการทวงคืนผืนป่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยทันที
  2. ให้รัฐบาลเร่งพิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันในการอาศัย ทำกิน และแก้ไขปัญหาคดีความที่เกิดขึ้นในพื้นที่
  3. ให้รัฐบาลกำหนดมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาชาวบ้านผู้ถูกคดีทั้ง 14ราย ทั้งในทางกระบวนการยุติธรรม และผลกระทบจากการดำเนินคดี
  4. ให้รัฐบาลและรัฐสภามีมาตรการในการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 รวมทั้งปรับปรุง แก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้มีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมสิทธิชุมชนใน         การจัดการที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ
  5. ให้ศาลยุติธรรมเปิดโอกาสให้ชาวบ้านซึ่งเป็นจำเลยได้ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุดในชั้นฎีกา เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมและเพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมต่อไป

 

เราหวังว่า หากข้อเรียกร้องทั้งหมดข้างต้น ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่จะยุติลง อีกทั้งจะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยประชาชนในขอบเขตทั่วประเทศ และเกิดมาตรการทางกฎหมาย นโยบายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หาไม่แล้ว ปัญหาข้อพิพาทเช่นกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง จะเกิดขึ้น และลุกลามไปไม่รู้จบสิ้น

 

ด้วยความสมานฉันท์

  1. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
  2. Rainbow Dream Group จ.เชียงใหม่
  3. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4ภาค
  4. เครือข่ายเชียงใหม่เขียวสวยหอม
  5. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ
  6. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒธรรมและสิ่งแวดล้อม
  7. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี
  8. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา
  9. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
  10. เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน
  11. เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้
  12. เครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่
  13. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
  14. เครือข่ายประขาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
  15. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
  16. เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
  17. เครือข่ายพลังผู้สูงวัย
  18. เครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำภูมี อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
  19. เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
  20. โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท
  21. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
  22. กลุ่มรุ่งอรุณ องค์กรสาธารณะประโยชน์ จ.ลำปาง
  23. กลุ่มสันป่าตอง-แม่วาง เสวนา
  24. กลุ่มสื่อเถื่อน
  25. ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)​
  26. มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ อ.จะนะ จ.สงขลา
  27. มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
  28. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
  29. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  30. มูลนิธิเพื่อนหญิง
  31. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
  32. มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (IPF)
  33. มูลนิธิชุมชนไท
  34. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
  35. มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต จ.สุราษฎร์ธานี
  36. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  37. มูลนิธิผู้หญิง
  38. มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
  39. มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ
  40. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
  41. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
  42. มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์
  43. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
  44. มูลนิธิอันดามัน จ.ตรัง
  45. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
  46. ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา
  47. ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จ.พิษณุโลก
  48. ศูนย์พิทักษและฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
  49. ศูนย์พิทักษ์สตรีชาวประมงแหลมโพธิ์ จ.ปัตตานี
  50. ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
  51. สถาบันทิศทางไท
  52. สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  53. สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม
  54. สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน
  55. สมัชชาประชาชนฅนเหนือล่าง
  56. สมัชชาประชาชนภาคใต้
  57. สมัชชาประชาชนสุโขทัย
  58. สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย
  59. สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
  60. สมาคมคนรักเลอันดามัน จ.กระบี่
  61. สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (PASD)
  62. สมาคมป่าชุมชนอีสาน
  63. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
  64. สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา จ.สงขลา
  65. สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี จ.ปัตตานี
  66. สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
  67. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
  68. สหพันธ์รักษ์เมืองตาก