กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย ล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

วันนี้ (7 กรกฎาคม 2562) เวลาประมาณ 13.30 น. ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย นำโดย เยี่ยมยอด ศรีมันตะ ประธานที่ปรึกษา และคณะ แถลงข่าวรณรงค์ล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 256(1) ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ 
เยี่ยมยอด ศรีมันตะ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า 1) รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาจากรัฐธรรมนูญ 2560 2) ประสานงานระหว่างองค์กรภาคประชาชน ภาคเอกชน และพรรคการเมือง 3) รณรงค์ให้ประชาชนเข้าชื่อให้ได้อย่างน้อย 50,000 รายชื่อ 
การล่ารายชื่อจะแบ่งเป็น 5 ภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ ให้ผู้ร่วมงานที่สนใจเป็น “คณะจองกฐิน” หรือผู้ริเริ่ม 20 คนที่จะต้องไปยื่นริเริ่มกับประธานรัฐสภาเพื่อขอริเริ่มการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เยี่ยมยอด กล่าวว่า สาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ การแก้มาตรา 256 ซึ่งว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยให้ยกเลิกมาตรา 256 ตั้งแต่ (2) ถึง (9) และให้วาระที่สองเป็นการลงประชามติโดยประชาชนเลย
บูรพา เล็กล้วนงาม หนึ่งในผู้รณรงค์ฯ ประมวลปัญหาของรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สมควรเป็นรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรกเพราะมาจากการยึดอำนาจ และสิ่งที่บกพร่องที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะการเลือกรัฐมนตรีให้ ส.ว. ร่วมเลือกด้วย โดยคิดกันว่า จะยกเลิก ส.ว. เลยหรือจะให้ ส.ว. มาจาการเลือกตั้งดี 
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาระบบเลือกตั้ง ซึ่งมี ส.ส. สองแบบแต่ให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และเห็นว่า ควรบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. เพื่อให้ยึดโยงกับประชาชน ควรแก้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และควรให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับประชาชน รวมถึงต้องปรับปรุงองค์กรอิสระอีกด้วย 
ทั้งนี้ วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไว้ในหมวด 15 มาตรา 255 และ 256 
มาตรา 255 กำหนดว่า เรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้เลยคือ การแก้ไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ 
มาตรา 256 (1) ระบุผู้มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่
– คณะรัฐมนตรี
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 100 คนเข้าชื่อกัน
– สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 150 คน
– ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อกัน
มาตรา 256 (2) ถึง (9) กำหนดขั้นตอนในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไว้ดังนี้ 
ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ ได้แก่
วาระแรก ขั้นรับหลักการ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คน
วาระที่สอง พิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมาก แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3
วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน
ส่วนกรณีที่ต้องการจะแก้ไขเกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หลังผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ให้จัดทำประชามติ ก่อน หากผลประชามติเห็นชอบ จึงจะสามารถประกาศใช้ได้
นอกจากนี้ หากการพิจารณาผ่านขั้นตอนทั้งหมดแล้ว ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย สิทธิ ส.ส.หรือ ส.ว.หรือทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา หรือ 100 คน ยังอาจเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างนั้น นายกฯ จะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้