ไล่เรียงข้อเท็จจริง กรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติไทรทองทับที่ดินของชาวบ้าน

 

ช้อมูลโดย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
แก้ไขเพิ่มเติมโดย iLaw

 

เกษตรกรหลายครัวเรือนเข้าบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำกินตั้งแต่ช่วงปี 2500-2520 จนกลายเป็นหมู่บ้าน และเมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองปี 2535 ก็รวมเอาพื้นที่ทำเกษตรและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านบางส่วนเข้าไปด้วย การบังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่และดำเนินคดีเกิดขึ้นเป็นระยะตามนโยบายรัฐบาล แม้มีการสำรวจพื้นที่แต่ก็ยังขาดตกบกพร่อง ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาระดับนโยบายแต่ยังไม่คืบหน้า ทำให้ชาวบ้านอย่างน้อย 14 คนถูกจับกุมดำเนินคดี และถูกจำคุกในข้อหา "บุกรุกป่า"

 

อุทยานแห่งชาติไทรทอง
อุทยานแห่งชาติไทรทอง ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติตามราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่  30 ธันวาคม 2535 โดยผนวกพื้นที่ป่าเทือกเขาพังเหย และป่านายางกลัก ท้องที่ตำบลท่าใหญ่ ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง ตำบลบ้านเจียง ตำบลเจาทอง ตำบลวังทอง กิ่งอำเภอภักดีชุมพล ตำบลห้วยแย้ ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว และตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ เข้าด้วยกัน รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 199,375 ไร่ หรือประมาณ 319 ตารางกิโลเมตร
 
การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น ดำเนินการภายหลังการอพยพราษฎรออกจากพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม (คจก.) ในช่วงปี พ.ศ. 2534 – 2535 โดยมีพื้นที่รองรับที่บ้านซับสายออ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ (พื้นที่อำเภอซับใหญ่ในปัจจุบัน) แต่พื้นที่ดังกล่าวมีผู้ครอบครองทำกินอยู่แล้ว ทำให้ไม่สามารถจัดสรรให้กับผู้ถูกอพยพได้ วันที่ 2 มีนาคม 2535 จึงมีมติคณะกรรมการระดับจังหวัด ให้กลับมาทำกินในพื้นที่เดิม 
 
ภายหลังการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านที่ถือครองทำประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะภายหลังการดำเนินงานภายใต้ “แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน” ในช่วงปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา โดยเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการ “ทวงคืนผืนป่า” ในพื้นที่ตำบลห้วยแย้ และตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ
ความเป็นมา และประวัติการตั้งถิ่นฐานของชุมชน
พัฒนาการในการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในพื้นที่ตำบลห้วยแย้ และตำบลวังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว เกิดขึ้นพร้อมกับการสัมปทานตัดไม้ โดยบริษัทชัยภูมิทำไม้ จำกัด ในช่วงปี พ.ศ.2510 ซึ่งชาวบ้านได้เข้ามาบุกเบิกทำกินภายหลังการสัมปทาน จากนั้นเริ่มมีชาวบ้านทยอยเข้ามามากขึ้น กระทั่งก่อตั้งเป็นชุมชนในเวลาต่อมา ทั้งนี้ หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ก่อตั้งกระบวนการติดตามปัญหาร่วมกันในนาม “เครือข่ายองค์กรชาวบ้านแก้ไขปัญหาอุทยานแห่งชาติไทรทองทับที่ทำกิน อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ” จำนวนทั้งสิ้น 5 ชุมชน โดยมีความเป็นมาและประวัติการตั้งถิ่นฐานโดยสรุป ดังนี้
1) ชุมชนซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ
ในปี พ.ศ. 2515 มีชาวบ้านจากอำเภอแก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ได้นำโค กระบือ เข้ามาเลี้ยงในพื้นที่บ้านตูบ (บ้านห้วยยางดีในปัจจุบัน) ต่อมาได้พบบ่อน้ำซับ มีต้นหวายล้อมรอบ และน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการดำรงชีพ จึงได้ย้ายมาอยู่ในบริเวณดังกล่าว ต่อมาปี พ.ศ. 2522 ได้มีชาวบ้านห้วยแย้เข้ามาทำไร่ ทำนามากขึ้น จึงได้ตั้งเป็นหมู่บ้านซับหวาย โดยจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2523  มีนายทองใบ กองศรี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลห้วยแย้ จนถึงปี พ.ศ. 2547  ปัจจุบันมีประชากรทั้งสิ้น 181 ครัวเรือน 668 คน จำแนกเป็นชาย 336 คน หญิง 332 คน มีชาวบ้านที่มีที่ทำกินทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติไทรทอง 68 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไร่มันสำปะหลัง 
ลักษณะการทำประโยชน์ที่ดินของชาวบ้านซับหวาย จะแยกเป็นกลุ่มพื้นที่ โดยเรียกชื่อตามชื่อบุคคลที่เข้ามาบุกเบิกทำกินก่อน หรือเรียกตามลักษณะพื้นที่ ทั้งหมด  9  กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มตาหมุน กลุ่มตาแช่ม กลุ่มบุใหญ่ กลุ่มซับคา (เนินสาธร) กลุ่มหินกูบ กลุ่มเขาแก่นตาคำ กลุ่มหินดาดม่วง กลุ่มฟ้าสีทอง และกลุ่มป่าเหวน้ำโตน (พื้นที่สปก.ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติ) โดยเข้ามาบุกเบิกทำกินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา 
2) ชุมชนหินรู  

เป็นกลุ่มบ้านของบ้านห้วยยางดี หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยแย้  เรียกชื่อมาจากถ้ำหิน ที่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ พื้นที่ดังกล่าวได้เข้ามาบุกเบิกทำกินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 โดยนายลม สามารถ ซึ่งเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดน ได้เข้ามาเก็บหาของป่า และจับจอง ทำกินในเวลาต่อมา หลังจากนั้น นายชะอ้อน สุจริยา ซึ่งเป็นลูกบุญธรรมนายลมได้ตามเข้ามา กระทั่งมีการสัมปทานตัดไม้ในบริเวณนี้ จึงมีผู้คนเข้ามาบุกเบิก ทำกินมากขึ้น และจัดตั้งเป็นหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2518  ในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ชุมชนได้ร่วมกันสร้างวัด  แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2533 
 

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2534  รัฐได้ทำการอพยพชาวบ้านหินรูออกจากพื้นที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย ตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม (คจก.) โดยตั้งใจจะใช้พื้นที่รองรับที่บ้านซับสายออ ต.ท่ากูบ อ.จัตุรัส (อำเภอซับใหญ่ในปัจจุบัน)  แต่ไม่สามารถจัดหาพื้นที่รองรับได้ จึงต้องกลับมายังพื้นที่เดิม 
3) กลุ่มบ้านซับสเลเต  

เป็นกลุ่มบ้านของบ้านห้วยยางดี หมู่ที่ 5 ต.ห้วยแย้ บ้านซับสเลเต ตั้งชื่อตามต้นสเลเตที่เกิดอยู่บริเวณน้ำซับ จึงเป็นที่มาของหมู่บ้าน โดยมี นายน้อย เป็นคนก่อตั้งบ้าน ซึ่งอพยพมาจาก อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ในช่วงแรกเป็นพรานป่ามาเที่ยวป่า เห็นพื้นที่สมบูรณ์  ภายหลังการสัมปทานป่าไม้ จึงได้เข้ามาจับจองพื้นที่ และก็มีชาวบ้านจากจังหวัดลพบุรีอพยพตามมาอีก 20 ครอบครัว ปลาย ปี 2534 โดนอพยพจากโครงการ คจก. ให้ไปอยู่ที่บ้านซับแซออ ตำบลท่ากูบ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ต้นปี พ.ศ. 2535 ทางผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในขณะนั้น ได้เรียกนายอำเภอ 5 อำเภอ เข้าประชุม มีอำเภอจัตุรัส อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอหนองบัวแดง อำเภอบำเหน็จณรงค์ และอำเภอเทพสถิต พร้อมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และออกคำสั่งให้ผู้ที่ถูกอพยพกลับคืนพื้นที่ทำกินเดิมได้ ในวันที่ 2 มีนาคม  2535 เนื่องจากไม่สามารถจัดหาที่ทำกินรองรับได้
  

ปัจจุบัน  บ้านซับสเลเต มีประชากรทั้งสิ้น 25 ครอบครัว มีทะเบียนบ้านอยู่ที่อำเภอหนองบัวระเหว  17 ครอบครัว  อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา 2 ครอบครัว อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์  6 ครอบครัว ชาวบ้านทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยการปลูกมันสำปะหลัง  และข้าวโพด 
4) กลุ่มบ้านซอกตะเคียน  

เป็นกลุ่มบ้านของบ้านสำนักตูมกา หมู่ที่ 5 ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ โดยในช่วงปี พ.ศ.2519 นายฉ่ำ โผล่กระโทก นายจันทร์ โผล่กระโทก และนายแดง สีมาวงศ์ ทั้ง 3 คนได้มารู้จักกับนายกอบ ใจรักดี ได้มาจับจองที่ทำกินหลังจากโรงเลื่อยป้อมพันธุ์ สัมปทานป่า ครั้งที่ 2 ต่อมา ทั้ง 3 คนได้ชักชวนพี่น้องและเพื่อนบ้านเข้ามาจับจองพื้นที่เพิ่มมากขึ้น กระทั่งพัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ โดยเรียกชื่อตามสภาพพื้นที่ ที่พบไม้ตะเคียนใหญ่ในลำธารใกล้ๆหมู่บ้าน ช่วงแรกเรียกว่า “บ้านซับตะเคียน” ต่อมา เมื่อไม้ตะเคียนถูกตัดไปเป็นจำนวนมากในช่วงสัมปทานตัดไม้ จึงเรียกว่า “ซอกตะเคียน” ในปัจจุบัน
 

5) กลุ่มบ้านหนองผักแว่น หรือ คุ้มผู้ใหญ่เมิ้ง 

ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านคนแรก คือ ปู่เมิ้ง ชื่นสบาย ซึ่งอาศัยอยู่ ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ  ได้รับราชการเป็นทหารผ่านศึก เมื่อปลดประจำการ ก็เป็นนายพรานเดินเที่ยวป่า ได้เห็นทำเลที่อุดมสมบูรณ์ จึงได้จับจองพื้นที่ และบุกเบิกทำกิน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 เป็นต้นมา จากนั้น จึงได้ชักชวนญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านจากหลายพื้นที่เข้ามาจับจองพื้นที่เพิ่มขึ้น
 

ต่อมา กลุ่มผู้บุกเบิกได้นำครอบครัวพร้อมญาติพี่น้อง อพยพเข้ามาตั้งหลักปักฐานในพื้นที่มากขึ้น และมีการขยายพื้นที่ทำกิน โดยมีรุ่นลูกรุ่นหลานมารับช่วงต่อเป็นมรดกตกทอด ทั้งนี้ บางคนยังมีชีวิตอยู่  ถึงปัจจุบัน กระทั่งในช่วงปี พ.ศ.2518 รัฐได้ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายางกลัก และได้มีการสัมปทานตัดไม้ จึงมีกลุ่มชาวบ้านเข้ามาจับจองพื้นที่เพิ่มขึ้นภายหลังการสัมปทาน   
การดำเนินการจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ
ภายหลังการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ชาวบ้านในเขตพื้นที่ตำบลห้วยแย้ และตำบลวังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เริ่มได้รับผลกระทบจากการเข้าสำรวจพื้นที่เพื่อจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากร โดยการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ต่อมา มีมาตรการจำกัดสิทธิการทำประโยชน์ที่ดินในพื้นที่มากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ สามารถจำแนกลักษณะปัญหา และพัฒนาการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ได้ ดังนี้
 
1) การสำรวจการถือครองและทำประโยชน์ที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 
เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชน ทั้งหมด 3 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2546 พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2553 ตามโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ โดยสำนักบริหารในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ลักษณะการดำเนินการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้มาทำการสำรวจเก็บข้อมูลพื้นที่ทำกินในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง โดยการถ่ายรูปแปลงที่ดิน ซึ่งไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทำให้ที่ดินของชาวบ้านหลายรายไม่ได้ถ่ายสำรวจแปลง (ตกหล่น)
เมื่อปี พ.ศ. 2549 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ออกมาสำรวจพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งเป็นการสำรวจการถือครองโดยการถ่ายรูปแปลงที่ดินเหมือนเดิม โดยไม่มีการแจ้งกับชาวบ้านเจ้าของที่ดิน กระทั่งปี พ.ศ. 2553 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้แจ้งกับชาวบ้านที่ถือครองทำประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองว่า จะออกมารังวัด โดยการจับพิกัด GPS เพื่อออกเอกสารสิทธิ โดยการรังวัดรายแปลง แต่การปฏิบัติการดังกล่าว มีปัญหาอุปสรรค และข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องในการปฏิบัติงาน เช่น ปัญหาทางด้านสภาพอากาศ เวลา และงบประมาณ ทำให้ที่ดินของหลายคนไม่ได้จับพิกัดในปี พ.ศ.2553 เจ้าหน้าที่บอกว่า "ไม่เป็นไร เพราะจะจับพิกัดสำรวจทุกๆ 4 ปี สามารถทำกินได้ตามปกติ"
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ กล่าวคือ การจับพิกัด GPS ไม่ตรงกับสภาพภูมิประเทศจริงของแปลงที่ดินที่มีการถือครองทำประโยชน์ เจ้าหน้าที่จะไม่เดินตามจุดหักมุม แต่จะเดินตัดเป็นเส้นตรง ทำให้ขนาดและรูปลักษณ์พื้นที่เปลี่ยนสภาพไป นำมาสู่ปัญหาในภายหลัง หากมีการทำประโยชน์ในพื้นที่ที่ไม่ถูกรังวัด จะถูกพิจารณาเป็นพื้นที่บุกรุก และมีการบังคับให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ในที่สุด 
ปี พ.ศ.2557 ได้มีเจ้าหน้าที่มาสำรวจรังวัดจับพิกัด GPS อีกครั้ง โดยอ้างว่า จะมาจับพิกัดเพื่อออกเอกสารสิทธิให้ผู้ที่ทำกินในพื้นที่ ทำให้มีชาวบ้านหลายคนได้มายืนยันการเป็นเจ้าของที่ดิน โดยมีการแบ่งแยกที่ดินให้กับบุตร ลูกเขย สะใภ้ ญาติพี่น้อง ต่อมากลุ่มบุตร เขย สะไภ้ ดังกล่าว จะถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มบุคคลใหม่ที่เข้ามาถือครองที่ดิน เนื่องจากข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นกลุ่มที่ไม่ปรากฏรายชื่อของผู้ที่ผ่านการสำรวจ
2) การขอคืนพื้นที่ โดยให้ชาวบ้านเซ็นยินยอมออกจากพื้นที่
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาในพื้นที่โดยเลือกชุมชนเล็กก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ซับหวาย ซับสเลเต เหวใหญ่ และหินรู เป็นต้น วิธีการของเจ้าหน้าที่จะใช้การพูดคุย หว่านล้อม พูดให้กลัว เช่น บอกชาวบ้านว่า “นาย ก เซ็นแล้ว นาย ข ก็เซ็นแล้ว” ถ้าไม่เซ็นจะมีหมายศาลมาต้องจ้างทนายสู้ ถ้าไม่มีทนายก็ต้องติดคุก พูดจนชาวบ้านกลัวยอมเซ็น ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่เยอะ บางครั้งมีการสนธิกำลังหลายฝ่ายเข้ามาดำเนินการ
 
ลักษณะดังกล่าวข้างต้นช่วงแรกเกิดขึ้นที่ชุมชนซับหวาย ซับสเลเต ใหม่สามัคคี และ เหวใหญ่ ซึ่งมีชาวบ้านยินยอมเซ็นเนื่องจากสภาพบังคับ ประมาณ 77 ราย ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าพื้นที่บ้านหินรู บ้านหนองผักแว่น และซอกตะเคียน เพื่อให้เซ็นยินยอมพื้นที่ทั้งหมดตามรายชื่อผู้ไม่ผ่านการสำรวจตาม มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม
 
3) การข่มขู่ คุกคาม จับกุม ดำเนินคดี

การดำเนินการทางกฎหมาย โดยการจับกุมดำเนินคดีเกิดขึ้นมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา มีทั้งการข่มขู่ให้ชาวบ้านเซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ การตัดฟันทำลายผลอาสิน ได้แก่ ตัดต้นยางพารา การจำกัดสิทธิการทำประโยชน์ที่ดิน และการแจ้งความดำเนินคดี มีการแจ้งความต่อนิตยา ม่วงกลาง มารดา และน้องสาว รวม 3 คน ในข้อหาบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2559

ลำดับเหตุการณ์​ ความพยายามร้องเรียนเพื่อแก้ไขปัญหา
ภายใต้คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 หลังเกิดผลกระทบจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้ติดตาม ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีลำดับเหตุการณ์สำคัญๆ ดังนี้
1) วันที่ 9 เมษายน 2558 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้นำเอกสารเซ็นยินยอมขอคืนพื้นที่มาให้ชาวบ้านซับหวาย โดยชี้แจงว่าเป็นพื้นที่นอกเขตการสำรวจตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หากไม่ยินยอมเซ็นชื่อ จะดำเนินคดีต่อไป
 
2) วันที่ 22 มิถุนายน 2558 ชาวบ้านซับหวาย ซับสเลเต คลองงูเหลือม รวมตัวเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดชัยภูมิ เพื่อขอผ่อนผันทำประโยชน์ในพื้นที่ทำกิน
3) วันที่ 17 กรกฎาคม 2558 เจ้าหน้าที่แจ้งแผนปฏิบัติการตัดฟันยางพาราที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง
4) วันที่ 13 ธันวาคม 2558  นายวรพล ดีปราสัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้มีหนังสือที่ ทส 0917.502/2031 และ ทส 0917.502/2036 เรียน ผู้ใหญ่บ้านห้วยยางดี และผู้ใหญ่บ้านซับหวาย ตามลำดับ เรื่อง แจ้งกำหนดการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามบันทึกข้อตกลงขอคืนพื้นที่ของราษฎรในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ซึ่งจะครบกำหนดการเก็บเกี่ยวผลผลิตในวันที่ 31 มกราคม 2559 รวมทั้งสิ้น 74 ราย 79 แปลง จำแนกเป็น บ้านห้วยยางดี 21 ราย 24 แปลง บ้านซับหวาย 53 ราย 55 แปลง 
 
5) วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทองลงพื้นที่บ้านซับหวาย แจ้งชาวบ้านให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและผลผลิตออกจากพื้นที่ทำกินภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559 เนื่องจากเลยกำหนดการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามหนังสือลงวันที่ 13 ธันวาคม 2558
6) วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 นางสาวนิตยา ม่วงกลาง ร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดชัยภูมิ เพื่อยื่นหนังสือขอยืดระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต
7) วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้ชี้แจงกับชาวบ้าน กรณีการยื่นหนังสือร้องเรียนว่า สำหรับชาวบ้านที่เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ไปแล้ว ถ้าประสงค์จะขอยืดเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิต ให้ไปคุยกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทองหากรายใดไม่ขอขยายเวลา ให้ใช้ช่องทางกฎหมาย 
8) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559  ชาวบ้านยื่นหนังสือขอข้อมูลผู้ทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ข้อมูล ขณะเดียวกันในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่อุทยานฯได้นัดหมายชาวบ้านตำบลห้วยแย้ และวังตะเฆ่ เข้าร่วมรับฟังแนวทางการร่วมใจคืนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง แต่ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ
9) วันที่ 3 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ลงพื้นที่บ้านหินรู เพื่อให้ชาวบ้านเซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม
 
10) วันที่ 4 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ลงพื้นที่บ้านนายชอ้อน สุจริยา เพื่อขอให้เซ็นยินยอมคืนพื้นที่ พร้อมให้เดินชี้แนวเขตที่ดิน แต่นายชอ้อนปฏิเสธ 
11) วันที่ 5 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง พร้อมผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยแย้ ลงพื้นที่บ้านหินรู แต่ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ
12) วันที่ 7 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ลงพื้นที่บ้านซอกตะเคียน เพื่อขอคืนพื้นที่ แต่ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ
13) วันที่ 8 มีนาคม 2559 ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
  1. ให้ยกเลิกแผนการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่พิพาทอุทยานแห่งชาติไทรทอง ต.ห้วยแย้ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ
  2. ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านผู้เดือดร้อน กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน โดยมีสัดส่วนของราษฎรที่เดือดร้อนในจำนวนที่เท่าเทียมกัน
  3. ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบ และสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรในพื้นที่ และผ่อนผันให้สามารถทำประโยชน์ได้ตามปกติสุข
14) วันที่ 11 มีนาคม 2559 นายอำเภอหนองบัวระเหว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 ตำรวจ ทหาร และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นัดหมายให้ตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมประชุม เพื่อฟังคำชี้แจงแนวทางการร่วมใจคืนพื้นที่ป่า ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติไทรทอง โดยให้บุคคลที่ตกหล่นในการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิให้ดำเนินการพิสูจน์สิทธิรายบุคคล แต่ชาวบ้านยืนยันตามข้อเรียกร้องที่ยื่นไปทั้งหมด 3 ข้อ 
15) วันที่ 14 มีนาคม 2559 ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนเข้ายื่นหนังสือกับแม่ทัพภาคที่ 2 โดยมีพลตรีวรินทร แสงวิลัย เป็นผู้แทนรับหนังสือ ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าปักป้ายแปลงปลูกป่าในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านซับหวาย (กลุ่มตาแช่ม) จำนวน 4 แปลง เนื้อที่ทั้งสิ้น 100 ไร่
16) วันที่ 16 มีนาคม 2559 ตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือถึงนายอำเภอหนองบัวระเหว เพื่อคัดค้านการทำถนนเข้าพื้นที่เพื่อปลูกป่าในบริเวณที่ทำกินของชาวบ้านซับหวาย (กลุ่มตาแช่ม)
17) วันที่ 31 มีนาคม 2559 ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้ขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งผู้ว่าฯ มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ มาเป็นประธานในที่ประชุม ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยให้มีตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อนเป็นกรรมการ กลุ่มละไม่เกิน 5 คน และในกรณีบุคคลที่เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ ให้สามารถเข้าทำประโยชน์ไปพลางก่อน 
18) วันที่  5  เมษายน  2559 นายวรพล ดีปราสัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง มีหนังสือคำสั่งที่ 16/2559 ลงวันที่ 1 เมษายน 2559 ให้ราษฎรกลุ่มหินรู ที่ทำการบุกรุก ยึดถือครอบครอง หรืออ้างสิทธิการทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติโดยผิดกฎหมาย ออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ 
หนังสือดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ สถานการณ์บุกรุก ยึดถือครอบครองของราษฎรในพื้นที่ป่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจการถือครองที่ดิน ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง โดยมีบุคคลที่ผ่านการตรวจพิสูจน์สิทธิการถือครอง ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จำนวน 1,185 ราย/แปลง เนื้อที่  28,248.25 ไร่ พื้นที่นอกแปลงการสำรวจ จำนวน 1,470 ราย /แปลง  เนื้อที่  15,382.27 ไร่  ดังนั้น จึงให้ราษฎรที่มีพื้นที่ทำกินนอกแปลงสำรวจถือครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 บริเวณกลุ่มหินรู ออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 หากไม่ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉียบขาด เสมือนหนึ่งผู้บุกรุกพื้นที่รายใหม่ทุกราย
19) วันที่ 21 เมษายน 2559 ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นประธาน  ผลการประชุมกรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติไทรทอง ที่ประชุมมีมติให้รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  นายจิรชัย  มูลทองโร่ย  ลงพื้นที่ตรวจสอข้อเท็จริง
20) วันที่ 27 เมษายน 2559 ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนกับพันเอกยงยุทธ สอนไม้ รองผบ.กกล.รส.จ.ชัยภูมิ ประชุมกันที่ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ที่ประชุมให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากองค์ประกอบของคณะทำงานส่วนมากเป็นผู้แทนภาครัฐทั้งหมด มีตัวแทนชาวบ้านเพียง 4 คน ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด 
21) วันที่ 28 เมษายน 2559  ประชุมคณะทำงานชี้แจงข้อเท็จจริงและพิจารณาผลกระทบตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ครั้งที่ 1/2559 วันที่ 28 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชัยภูมิ โดยมีนายนิวัตน์  สุพจิตร นายอำเภอหนองบัวระเหว เป็นประธานในที่ประชุม 
 
นายวรพล ดีปราสัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับแผนปฏิบัติงานขอคืนพื้นที่ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย ประจำปี พ.ศ.2559 ทั้งสิ้น 7 กลุ่มบ้าน 997 ครัวเรือน 12,107.29 ไร่ แนวทางการปฏิบัติงานทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่  
  1. การขอคืนพื้นที่ จำแนกเป็น พื้นที่คดีถึงที่สุด ระหว่างการดำเนินคดี พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่ตามมติครม. 30 มิถุนายน 2541 และพื้นที่บุกรุกใหม่  รวมพื้นที่ทั้งสิ้น  55,405.87  ไร่  
  2. การฟื้นฟูสภาพป่า  
  3. การควบคุมป้องกันพื้นที่  
  4. การเฝ้าระวังพื้นที่มิให้ปัญหาย้อนกลับ  
ทั้งนี้ ในการปฏิบัติให้เน้นเฉพาะพื้นที่บุกรุกใหม่ 15,091.66 ไร่ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อร้องเรียนของราษฎร ทั้งหมด 3 ข้อ ซึ่งที่ประชุมไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้ทั้ง 3 ข้อ
 
22) วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจากหนองบัวระเหว สภ.วังตะเฆ่ พร้อมกำลังทหารเข้าพบ นายไพโรจน์ วงงาน  และนายสันติสุข จิววัฒนานนท์ ตัวแทนกลุ่มผู้เดือนร้อน โดยได้บอกว่า ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวใดๆ แม้กระทั่งพูด ต่อมา เวลาประมาณ 08.00 น. นายไพโรจน์ กับนายสันติสุข เดินทางไปธุระ พอถึงด่านตรวจถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เรียกให้จอด โดยเจ้าหน้าที่ได้ส่งสัญญาณให้กับเพื่อนๆ ออกมาล้อมรถ ขณะเดียวกัน นายสวัสดิ์ ได้ขี่รถจักยานยนต์ตามา จึงถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน เจ้าหน้าที่จึงสลายตัวออกจากการล้อมรถ
 
23) วันที่ 5 มิถุนายน 2559 นายสุเทพ ขึงกระโทก เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง นำหนังสือขอความร่วมมือปลูกป่าตามโครงการปลูกไม้ใช้สอยมาให้ผู้ใหญ่บ้านซับหวาย ประกาศประชาสัมพันธ์ ทั้งสิ้น 4 แปลง รวมเนื้อที่ 100 ไร่  ซึ่งทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวบ้าน
 
24) วันที่ 7 มิถุนายน 2559 ชาวบ้านกลุ่มหินรู ซอกตะเคียน หนองผักแว่น และซับหวาย ประมาณ 50 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือสรุปผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ให้กับนายสุเทพ ขึงกระโทก แต่ไม่พบ มีเพียงเจ้าหน้าที่โครงการจึงได้ยื่นหนังสือไว้ เพื่อแจ้งหัวหน้าโครงการรับทราบ
 
25)  วันที่ 9 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้นำรถเข้าพื้นที่ เพื่อเตรียมปลูกป่า แปลงของนายบุญเถิง ปันทะลา ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าได้มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ไปแล้ว ประกอบกับมีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา แต่นายจิระและนายเสนาะ เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าไม่รู้เรื่อง “นายไม่เคยบอกให้ชะลอ” จากนั้นได้โทรศัพท์ประสานงานกับนายสุเทพ ให้ตัวแทนชาวบ้านคุย แต่ไม่มีข้อยุติ
 
26)  วันที่ 20 มิถุนายน 2559 ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยังยืน ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายจิระชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน
 
27)  วันที่ 22 มิถุนายน 2559 เวลา 8.10 น. ประกาศเสียงตามสายของเทศบาลตำบลห้วยแย้ โดยกำนันอดุลย์ คำจันทร์ ขอความร่วมมือ ห้ามชาวบ้านที่เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ ไม่ให้กลับเข้าไปทำประโยชน์ใดๆ ในพื้นที่ มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และปรับไร่ละแสนห้าหมื่นบาท 
28) วันที่ 24 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้าพื้นที่แปลงปลูกป่า ซึ่งเป็นที่ทำกินของนางสากล ประกิจ ที่กำลังปลูกมันอยู่ เจ้าหน้าที่จึงเข้ามาต่อว่า “ใครให้มาปลูก คืนพื้นที่ไปแล้วปลูกทำไม” ชาวบ้านแจ้งว่าเคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปหลายรอบแล้ว และมีการประชุมร่วมกับภาครัฐ กระทั่งให้ทำกินต่อได้ แต่เจ้าหน้าที่ยังเข้ามาจับพิกัดจีพีเอส โดยไม่สนใจใดๆ ทั้งสิ้น
 
29) วันที่ 25 มิถุนายน 2559 เจ้าหน้าที่คนเดิม เข้ามารังวัดพิกัดจีพีเอส  แปลงของนางสากลอีกครั้ง
30) วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปตรวจแปลงที่เซนต์ยินยอมออกจากพื้นที่ โดยพยายามจะจับกุม ดำเนินคดี โดยไม่สนใจหนังสือใดๆ ทั้งสิ้น
 
31) วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้าพื้นที่ตรวจแปลงของ น.ส.นิตยา ม่วงกลาง นาง ทองปั่น ม่วงกลาง และน.ส.สายฝน ม่วงกลาง และแปลงใกล้เคียงอีกจำนวนหลายแปลง
32) วันที่ 10 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังตะเฆ่ มีหมายเรียกให้นางทองปั่น ม่วงกลาง น.ส.นิตยา ม่วงกลาง และน.ส.สายฝน ม่วงกลาง ไปรับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 12 กรกฏาคม  2559 
 
33) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 คำสั่งจังหวัดชัยภูมิ ที่ 636/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา กรณีการทับซ้อนของที่ดินระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทอง ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร ตำบลวังตะเฆ่ และตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ
 
34) วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา กรณีการทับซ้อนของที่ดินระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทอง ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร ตำบลวังตะเฆ่ และตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ครั้งที่ 1/2560  ณ  ห้องประชุมพญาแล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ
 
35) วันที่ 23 กรกฎาคม 2560 ประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการทวงคืนผืนป่า โดยนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ประธานการประชุมฯ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น)
 
36) วันที่ 8 สิงหาคม 2560 ประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการทวงคืนผืนป่า โดยนายชลธิศ  สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ประธานการประชุมฯ  ครั้งที่ 2/2560  ณ ห้องประชุมสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น)
37) วันที่ 24 สิงหาคม 2560 ประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา กรณีการทับซ้อนของที่ดินระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทอง ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร ตำบลวังตะเฆ่ และตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ  ครั้งที่ 2/2560 ณ  ห้องประชุมทุ่งดอกกระเจียว ชั้น 4  ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ 
38) วันที่ 28 สิงหาคม 2560 คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา กรณีการทับซ้อนของที่ดินระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทอง ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร ตำบลวังตะเฆ่ และตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและจำแนกข้อมูลสภาพปัญหาความเดือดร้อน ณ ชุมชนซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ตามมติที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2/2560 (มอบหมายให้คณะทำงานฝ่ายราชการและฝ่ายราษฎร ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่กรณีพิพาท โดยให้แยกกลุ่มปัญหา พร้อมกับเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา กำหนดแล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาในการประชุมคราวต่อไป) 
ทั้งนี้ จากการลงสำรวจข้อมูล โดยการแยกกลุ่มปัญหาของคณะทำงานในพื้นที่ 5 ชุมชน สามารถจำแนกกลุ่มผู้เดือดร้อน ปรากฏตามข้อมูลข้างล่าง ดังนี้
39) วันที่ 4 กันยายน 2560 คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา กรณีการทับซ้อนของที่ดินระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทอง ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร ตำบลวังตะเฆ่ และตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ลงพื้นที่และประชุมสรุปผลการดำเนินงาน ณ ชุมชนซอกตะเคียน ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ
 
40) วันที่ 22 กันยายน 2560 ประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา กรณีการทับซ้อนของที่ดินระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทอง ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร ตำบลวังตะเฆ่ และตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ครั้งที่ 3/2560 ที่ประชุมมีมติรับทราบร่างแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และรับรองรายชื่อผู้เดือดร้อน จำนวน 188 ราย
 
41) วันที่ 19 มีนาคม 2561 ประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา กรณีการทับซ้อนของที่ดินระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรทอง ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร ตำบลวังตะเฆ่ และตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ครั้งที่ 1/2561 (ครั้งที่ 4) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
 
42) วันที่ 1 – 12 พฤษภาคม 2561 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนชุมนุมติดตามปัญหาในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 มีบันทึกข้อตกลงร่วมกับคณะขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 (กขป.5) โดยกรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติไทรทอง ให้ชะลอการดำเนินคดีกับราษฏรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และให้ดำเนินการตามนัยคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557
 
43) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ประชุมคณะทำงานติดตามผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ห้องประชุมสำนักบริหารในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ พบว่า มีสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 187 ราย 273 แปลง พบร่องรอยการทำประโยชน์ในภาพถ่ายออร์โธสี ปี พ.ศ. 2545 จำนวน 226 แปลง และพบร่องรอยการทำประโยชน์ในภาพถ่ายออร์โธสี ระหว่างปี พ.ศ. 2545 – 2557 จำนวน 47 แปลง ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทองประสานกับตัวแทนชุมชนเพื่อพัฒนาแผนงานร่วมกัน สำหรับกรณีที่อยู่ในชั้นศาล ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม อาจนำผลการตรวจสอบคุณสมบัติราษฎรของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามวิทยุสั่งการ ศปป.4 กอ.รมน. แถลงต่อศาลเพื่อขอบรรเทาโทษ หรือเสนอคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุดใหญ่ หรือคณะอนุกรรมการของกระทรวงยุติธรรม หรือคณะขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชแผ่นดิน คณะที่ 5 (กขป.5) พิจารณา