เปิดตัวหนังสือ “ใจแผ่นดิน” บันทึกการต่อสู้ว่าคนอยู่กับป่าได้ ของชาวกระเหรี่ยงแก่งกระจาน

3 กรกฎาคม 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันเปิดตัวหนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” มีนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และชาวบ้านร่วมพูดคุยถึงการต่อสู้ของชาวกระเหรี่ยงเพื่อทวงคืนบ้านเกิด หมู่บ้านใจแผ่นดิน ที่ถูกขับไล่ออกมาหลังประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
บันทึกครบทุกมิติทั้งข้อมูลชุมชน การต่อสู้คดี และความคิดความเชื่อชาวบ้าน
พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์ หนึ่งในผู้เขียน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นการบันทึกเรื่องราวของชาวบ้านใจแผ่นดินที่บางกลอยบน ซึ่งเนื้อหาหลักๆ ได้แก่ ส่วนแรก ความเป็นมาและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ ส่วนที่สอง การเปลี่ยนผ่านของชุมชนที่ต้องย้ายไปอยู่ที่ในพื้นที่ใหม่ ส่วนที่สาม การต่อสู้ของชาวบ้านและเครือข่ายต่างๆ รวมถึงข้อเสนอและทางออกของปัญหา
พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์-ผู้เขียน
 
พรพรรณ ออกตัวว่า ก่อนหน้าเป็นเพียงนักวิจัยอิสระสนใจเรื่องของชาวกระเหรี่ยง ถือเป็นคนนอกเท่านั้น แต่การได้มาเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจทั้งเรื่องราวและความคิดความรู้สึกของชาวบ้าน ซึ่งมีมุมที่แตกต่างจากมุมมองของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดิ้นรนต่อสู้หรือความยุติธรรมซึ่งเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตและการดำรงชีวิตพื้นฐาน ซึ่งทำให้ตนรู้สึกพอใจกับหนังสือเล่มนี้
ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ อีกหนึ่งผู้เขียนและทนายความที่ดูแลคดีนี้ตั้งแต่ต้น กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้แค่รวบรวมข้อมูลคดีเท่านั้น แต่ก็รวบรวมข้อมูลชุมชนและมรดกของชาวกระเหรี่ยง และเรื่องราวความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณของชาวกระเหรี่ยงไว้อีกด้วย
ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ ผู้เขียนและทนายความ
 
 
บันทึกไล่ล่ามนุษย์ของพรานรุ่นใหม่ สูญเสียกันทั้งฝ่ายรัฐและชาวบ้าน
วุฒิ บุญเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึก “การไล่ล่ามนุษย์” ของพรานรุ่นใหม่ต่อกระเหรี่ยง คล้ายนวนิยายเมื่อ 60 ปีก่อนเรื่อง ‘ทุ่งโล่งและดงทึบ' ของน้อย อินทนนท์ ที่เป็นเรื่องราวการไล่ล่าสัตว์ของนายพรานจากกรุงเทพ

วุฒิ บุญเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมฯ
 
‘ใจแผ่นดิน’ เป็นเรื่องราวของการไล่ล่าชาวกระเหรี่ยง ซึ่งเหตุเริ่มต้นจากการจัดเตรียมให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2552-2553 และต่อมาปี 2454 ก็มี “ยุทธการตะนาวศรี” เพื่ออพยพชาวกระเหรี่ยงออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เส้นทางการทำให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลกมรดกก็นำความสูญเสียมากมายทั้งฝ่ายรัฐเอง เช่น เหตุการณ์ฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำ 17 ศพในปี 2554 และฝั่งชาวบ้าน เช่น การหายตัวไปของนักกิจกรรมชาวกระเหรี่ยง พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” เป็นต้น
วุฒิ กล่าวว่า พื้นที่หมู่บ้านใจแผ่นดินมีความสำคัญ เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่างไทยและพม่า และมีความหลากหลายของผืนป่าและสัตว์ ซึ่งทำให้มีความต้องการยกให้เป็นมรดกโลก แต่เราต้องไม่ลืมคำนึงถึงเรื่องของมนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่นี้ด้วย
บันทึกประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กๆ สำคัญเพราะสูญหายได้ง่ายและเร็ว
นฤมล อรุโณทัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญเพราะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนตัวเล็กๆ ที่ห่างไกลในพื้นที่ป่า ที่ไม่ค่อยมีคนให้ความสำคัญนัก ต่างจากประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ในตำราเรียน ซึ่งประวัติศาสตร์ของชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวกระเหรี่ยง ชาวมอแกน ไม่ค่อยมีการบันทึกหรือบันทึกก็กระจัดกระจาย ทำให้เรื่องเล่าหรือตำนานหายไปอย่างรวดเร็ว หนังสือเล่มนี้จึงมีคุณูปการอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังประมวลสถานการณ์รายปี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและวิเคราะห์ และยังพูดถึงให้รัฐยอมรับและเคารพวิถีกระเหรี่ยง ซึ่งในระยะแรกความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานและชาวบ้านไม่มีความขัดแย้ง แต่ค่อยๆ พัฒนาการของความขัดแย้งมาเรื่อยๆ อาจด้วยทางเลือกที่เจ้าหน้าที่เสนอให้ชาวบ้านอาจไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริงๆ สิ่งเหล่านี้ก็สามารถเป็นบทเรียนของปัญหาได้
นฤมล อรุโณทัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขาดการบันทึกอารมณ์รู้สึกที่ผู้เขียนไปปฏิสัมพันธ์ชุมชน
มาลี สิทธิเกรียงไกร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ขาดเสียงสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน-ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ ที่ได้ลงไปปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและชาวบ้านอย่างยาวนาน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนกับปู่คออี้ ผู้นำชุมชน หรือความท้อแท้ในการต่อสู้ของผู้เขียนเอง ซึ่งหนังสือน่าจะมีอารมณ์ความรู้สึกตรงนี้ เพราะสำหรับคนที่ลงพื้นที่ใจแผ่นดินทุกครั้งย่อมรู้สึกหดหู่ใจว่าเราทำอะไรไม่ได้เลยหรือ ซึ่งการเดินทางไปในพื้นที่ใจแผ่นดินไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องขออนุญาต เข้าเวลาหกโมงเช้าและออกหกโมงเย็น กว่าจะเดินทางไปถึงก็หลายชั่วโมงแล้วและเมื่อออกมาก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านจะโดนอะไรบ้าง
ทุกครั้งที่เข้าไปในพื้นที่เราก็จะเห็นความไม่อยุติธรรมและอำนาจรัฐ เช่น ในช่วงปี 2554-2555 มีการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างโป่งลึกกับบางกลอยมูลค่าหลายล้านบาท และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปเปิดงาน ชาวบ้านก็ต้องการเข้าไปพูดคุยกับผู้ว่าฯ แต่ก็ถูกหน่วยรักษาความปลอดภัยปฏิเสธและด่ากลับมา
มาลี สิทธิเกรียงไกร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
 
สังคมยังขาดความรู้เกี่ยวกับใจแผ่นดิน รัฐขาดความเข้าใจชาวกระเหรี่ยง
มาลี กล่าวว่า เวลาชาวบ้านพูดถึงใจแผ่นดิน เรามักสงสัยว่าทำไมถึงเรียกเป็นภาษาไทยเช่นนั้น ชาวบ้านก็จะตอบว่าเพราะเป็นพื้นที่วนๆ ลึกลงไป คล้ายเป็นหัวใจของโลก แต่เวลาทุกคนเล่าถึงใจแผ่นดินจะเล่าด้วยสีหน้าที่มีความสุข เมื่อเราลงพื้นที่ครั้งนึงเราก็ให้ชาวบ้านทำแผนที่ ชาวบ้านอยู่เป็นหย่อมๆ 3-5 ครัวเรือน ซึ่งทิ้งระยะไกลกันมาก และรู้จักกันด้วยระบบความจำ ซึ่งยังมีเรื่องที่เราไม่รู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพวกเขาอีกมาก
อย่างไรก็ดี สังคมยังขาดความรู้เกี่ยวกับชาวกระเหรี่ยงอยู่มาก เช่น ถูกกล่าวหาว่าเป็นชนกลุ่มน้อยมาจากพม่าเนื่องจากพวกเขาไม่ได้แจ้งเกิดกับทางรัฐไทย หรือตอนทางรัฐไล่ออกมาจากพื้นที่ก็มีการตั้งศูนย์ศิลปาชีพแต่ขัดกับวิถีชีวิตของพวกเขา เช่น ให้ผู้ชายต้องมานั่งทอผ้าซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเห็นมาก่อน หรือ ให้ทำนาขั้นบันไดแทนไร่เลื่อนลอย โดยหวังลึกๆ ให้เป็นพื้นที่ถ่ายรูป แต่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะน้ำไม่พอ เช่นเดียวกับโครงการให้ทำพืชผักสวนครัวที่ล้มเหลวเช่นกัน
ชนพื้นเมืองกับการอนุรักษ์ป่าไปด้วยกันได้
นฤมล กล่าวว่า สหประชาชาติเคยประกาศไว้ว่าความมั่นคงในการถือครองที่ดินของชนพื้นเมืองมีผลดีของการอนุรักษ์ป่า เพราะเมื่อเขามีความมั่นคง เขาก็จะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ได้ ฉะนั้น เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการอนุรักษ์ใหม่ ซึ่งก็มีแนวทางให้เห็นอยู่แล้วและมีตัวอย่างให้เห็นทั่วโลก
ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ชาวพื้นเมืองจะถูกทำให้เป็นชายขอบ ไม่ให้ความเคารพหรือให้เกียรติ เช่น ชาวไอนุในญี่ปุ่นก็ยังถูกละเมิดสิทธิ เช่น ถูกนำเอาของเครื่องใช้ไปไว้ในพิพิธภัณฑ์และยังไม่มีการทวงคืน แต่ตัวอย่างของประเทศที่จัดการเรื่องนี้ได้ดีก็มี เช่น ประเทศออสเตรเลีย เขามีมรดกโลก (Wet Tropics) ขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ป่าและแนวปาการัง โดยให้ชาวพื้นเมือง (Aborigines) มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ให้เขาเป็นหน้าตาของพื้นที่เหล่านั้นหรือในบางพื้นที่ให้ชนพื้นเมืองเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานเลย ซึ่งก็ถือเป็นการให้เกียรติเข้าด้วย
ภายใต้รัฐบาลไทยยุค ‘อันธพาลครองป่า’ แก้ปัญหาได้ยาก
เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เราจะไปทำอะไรได้ในรัฐบาลยุคนี้ที่เป็นยุค ‘อันธพาลครองป่า’ มีการหาประโยชน์จากป่ามากมาย ทั้งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรมต่างๆ ไม่มีทางที่เราจะต้านทานได้ พยายามเอากรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าไปก็ยังทำอะไรไม่ได้ และหลังเข้าไปในพื้นที่ชาวบ้านก็จะเดือดร้อนทุกครั้ง
ถึงอย่างไรก็ดี ใจแผ่นดินก็ยังอยู่ในความรู้สึกของพวกเราเสมอ และพื้นที่นี้ไม่ได้มีแค่ความหลากหลายทางธรรมชาติแต่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะทำให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนและสร้างเข้มแข็งทางวัฒนธรรมได้อีกด้วย และเรามีทางออกให้กับเรื่องนี้ถ้าให้โอกาสชาวบ้านอธิบาย ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการ และเราก็ไม่ได้ปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐจัดให้เป็นมรดกโลก แต่อยากเปิดโอกาสให้มีทางเลือกให้เกิดมรดกทางวัฒธรรมด้วย

เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ มหาวิทยาลัยมหิดล