ทบทวนบทเรียนการรายงานข่าวกับการเคารพศักดิ์ศรีของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 
 
27 มิถุนายน 2562 มูลนิธิมานุษยะและเครือข่ายจัดเวทีพูดคุยเรื่อง  "LGBTQI ในสื่อ : สื่อสารด้วยความเข้าใจและเท่าเทียม” เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจสื่อในการจัดการกับการใช้ภาษาที่เลือกปฏิบัติต่อบุคคล กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสื่อ มีผู้เข้าร่วมได้แก่ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ตัวแทนจากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ, นัยนา สุภาพึ่ง ประธานกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ, ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย , ดร. ตรี บุญเจือ ตัวแทนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) และวรลักษณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ตัวแทนภาคสื่อมวลชน
 
 
 
สื่อใช้คำว่า กะเทย พาดหัวข่าวรุนแรง ขัดข้อเท็จจริง-การตลาดหรือการผลิตซ้ำภาพลบกะเทย
 
 
 
ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ตัวแทนจากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เล่าถึงกรณีการร้องเรียนสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาอันส่งผลกระทบต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาสำนักข่าวทีนิวส์พาดหัวข่าวว่า “กะเทยบุกห้องผู้ป่วยกระทืบจมกองเลือด” อ่านแล้วรู้สึกตกใจว่า ทำไมพาดหัวข่าวรุนแรง เริ่มแรกอาจจะไม่ติดใจในการพาดหัวข่าวมากนัก แต่พออ่านเข้าไปในเนื้อความข้างในพบว่า เนื้อข่าวเป็นการบิดเบือน บุคคลในเหตุการณ์มีสองฝ่ายคือ ผู้หญิงที่เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้หญิงที่เป็นผู้เข้าไปทำร้ายผู้หญิงในโรงพยาบาลและอีกคนหนึ่งเป็นกะเทยที่เป็นผู้ไลฟ์เฟซบุ๊ก ตอนนั้นคำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมพาดหัวข่าวถึงเลือกใช้กะเทยในการพาดหัวข่าว และเพื่ออะไร…การตลาดหรือการผลิตซ้ำภาพตัวแทนของกะเทย?
 
 
 
 
 
 
ต่อมาข่าวก็มีการแพร่หลายไปทั่ว มีการพูดคุยในวงการผู้มีความหลากหลายทางเพศถึงประเด็นดังกล่าว ส่วนตัวทำธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่ มีวันหนึ่งพนักงานที่ร้านก็แจ้งมาว่า ลูกค้าถามว่า เจ้านายเป็นกะเทยหรือป่าว พอบอกว่า ใช่ ลูกค้าบอกว่า ตายล่ะ คงไม่กล้าต่อราคาแล้ว เดี๋ยวโดนกระทืบตามข่าว ไม่ใช่แค่นั้นเราทำงานในการท่องเที่ยว มีไกด์ที่พาลูกค้ามาที่ร้านเรา ไกด์ก็ไปพูดลับหลังว่า ตนเป็นเกย์…เป็นกะเทย ถ้าพูดไม่ดีอาจจะมีอารมณ์รุนแรง ตนจึงรู้ว่า วงการไกด์ไม่กล้าที่จะส่งลูกค้ามาให้เพราะตนอาจจะได้ราคาไม่ดีและเชื่อว่า ตนมีอารมณ์รุนแรง ขณะเดียวกันรุ่นน้องของตนก็เล่าว่า มีการท้าทายจากกลุ่มผู้ชายว่า กะเทยเก่งจริงหรือ ทำไมชอบไปกระทืบคนอื่น ซึ่งมันก็มาจากเนื้อข่าวที่เผยแพร่ไป ตนจะคิดว่า ไม่น่าจะปล่อยไว้ จึงเขียนจดหมายไปแจ้งกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และมีการเรียกสำนักข่าวทีนิวส์มาซักถามข้อเท็จจริง
 
 
หลายคนอาจจะมองว่า อย่าไปมีเรื่องเลย แต่ตนคิดว่า การอยู่สงบสุขและการละเมิดสิทธิมนุษยชนมันคนละเรื่องกัน ถ้าตนไม่ร้องเรียน มันจะต้องผลิตซ้ำตลอดไปว่า กะเทยเป็นเช่นนี้ รุนแรง บ้าผู้ชาย ซึ่งกรณีนี้มีความเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อการนำเสนอเนื้อหาต่อสาธารณะ
 
 
 
เจตนาของพาดหัว “กะเทยบุกตบ” สามารถขายข่าวได้มากกว่า “หญิงสาวบุกตบ”
 
 
 
นัยนา สุภาพึ่ง ประธานกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กล่าวว่า พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2558 ถือเป็นกฎหมายใหม่กำหนดห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ไม่ใช่เฉพาะหญิงชาย แต่รวมถึงเพศสภาพที่ต่างจากเพศกำเนิด และมีกลไกในการคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ กรณีศิริศักดิ์ หลังจากที่ได้รับคำร้องก็จะมีการพิจารณาเนื้อหาว่า เข้าข่ายละเมิดหรือไม่ คณะกรรมการบางส่วนเป็นนักกฎหมาย ซึ่งตามปกติเวลานักกฎหมายเห็นคำร้องในลักษณะนี้ก็จะมุ่งไปที่ความคิดว่า ศิริศักดิ์ไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะข่าวนี้ไม่ได้เขียนถึงศิริศักดิ์เลย เหตุการณ์ในข่าวเกิดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่ศิริศักดิ์อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ 
 
 
 
แต่ครั้งนี้ถือเป็นกรณีใหม่ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2558 ภายใต้กรรมการฯจะต้องค้นหาความจริงว่า ศิริศักดิ์ได้รับผลกระทบจากข่าวนี้อย่างไร?
 
 
ต่อมาจึงแจ้งคำร้องให้สำนักข่าวทีนิวส์มายื่นคำให้การชี้แจง เมื่อทีนิวส์มาถึงต้องให้ข้อมูลว่า ผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างไร การนำเสนอสิ่งที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงเพราะกะเทยไม่ได้ไปบุกตบ แต่เป็นคนถ่ายไลฟ์วิดีโอ คำว่า กะเทย เป็นคำที่ผลิตซ้ำความรุนแรงหรือไม่ ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงเยอะมากเพราะว่า ปัจจุบันเราก็มีเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยทีใช้คำว่า กะเทย เช่นกัน ฉะนั้นคำว่า กะเทยไม่น่าจะเป็นเรื่องของการเหยียด  อย่าไรก็ตามหากพิจารณาในเจตนาของพาดหัว “กะเทยบุกตบ” สามารถขายข่าวได้มากกว่า “หญิงสาวบุกตบ”
 
 
ดังนั้นการจะพิจารณาได้ว่า เหยียดหรือไม่เหยียดจะต้องมีบริบทประกอบด้วย การพิจารณาครั้งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พิจารณาว่า ความเสียหายไม่จำกัดอยู่บนฐานของสถานที่เกิดเหตุ และนำไปสู่การใช้มาตรฐานและตัวชี้วัดในการใช้คำเรียกของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
 
 
 
มาตรฐานการรายงานข่าว LGBTQI ต้องไม่ผลิตซ้ำภาพตัวแทนของกะเทย-ไม่นำไปสู่ความเข้าใจผิด
 
 
 
ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย กล่าวว่า กรณีการร้องเรียนของศิริศักดิ์ ทำให้คณะกรรมการฯมีการเรียนรู้เรื่องอิทธิพลของความเป็นสื่อ การใช้คำว่า กะเทย ในชั้นการพิจารณาพบว่า การนำเสนอดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยการขาดความรู้เกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศเลย ได้เสนอข้อเสนอแนะที่จะต้องปฏิบัติในการนำเสนอข่าว หลังจากนั้นทีนิวส์ก็กลับไปศึกษาและออกประกาศองค์กรระเบียบปฏิบัติของพนักงานภายในองค์กร
 
 
 
หลังจากกรณีดังกล่าวคณะกรรมการฯมีการพูดคุยถึงตัวชี้วัด ซึ่งมีการรับฟังข้อเสนอจากสื่อและภาควิชาการ หลักของตัวชี้วัดในการนำเสนอข่าวคือ เนื้อหาข่าวจะต้องไม่ผลิตซ้ำภาพตัวแทนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ  ไม่นำไปสู่ความเข้าใจผิดและบิดเบือน ขณะเดียวกันยังมีการเสนอว่า ควรมีการชี้วัดไปถึงองค์กรสื่อแต่ละแห่งที่จะต้องมีคู่มือปฏิบัติขององค์กรเนื่องจากหากเป็นการอบรมภายในกองบรรณาธิการ เมื่อเปลี่ยนเจ้าหน้าที่แล้วองค์ความรู้ดังกล่าวอาจจะหายไป
 
 
ท้ายสุดแล้วคณะกรรมการฯได้ทำคู่มือเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมา โดยคู่มือนี้มีหลักที่ว่า หากนำเสนอข้อเท็จจริงสามารถกระทำได้ เช่น การเสนออัตลักษณ์ของผู้กระทำความผิดว่า มีลักษณะคล้ายทอมสามารถกระทำได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่หากกรณีอุบัติเหตุแล้วพาดหัวว่า “เกย์เฒ่าขับรถชน” แบบนี้ไม่ควร เพราะการเป็นเกย์หรืออายุมาก ไม่เกี่ยวข้องกับการก่ออุบัติเหตุ หรือกรณีที่การเรียกแหล่งข่าว หากเจ้าตัวยอมให้ใช้ว่า สาวทอม ก็อาจจะทำได้sเนื่องจากเป็นความยินยอมของเจ้าตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามความยินยอมของแหล่งข่าวอาจไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลอื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาไปถึงผลกระทบทางความคิดของสาธารณะด้วย
 
 
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงความยินยอมของแหล่งข่าว มีบางกรณีที่เนื้อหาดี แต่ปรากฏว่า ไม่ได้ถามความยินยอมของแหล่งข่าวและไม่ได้สอบถามความความต้องการของการใช้คำเรียกของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนั้นก็เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยไม่รู้ตามมา แม้จะมีแนวปฏิบัติแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้มีการบังคับตามกฎหมายเนื่องจากสื่อเองยังไม่พร้อมและมีภาระด้านอื่น
 
 
 
การวางแนวปฏิบัติกำกับสื่อจะต้องเริ่มจากกลุ่มคนเป็นเจ้าของอัตลักษณ์นั้น
 
 
ดร. ตรี บุญเจือ ตัวแทนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.เป็นหน่วยงานภาครัฐในการกำกับดูแลสื่อ เนื้อหาของสื่อไม่ได้ดูแค่ว่า ส่งผลกระทบต่อใครบ้าง แต่ต้องดูว่า ส่งผลต่อทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยมหรือไม่ รวมทั้งต้องพิจารณาถึงมิติสาธารณะด้วย ปัจจุบันนี้สื่อส่วนใหญ่ของไทยไม่ได้ถูกเซนเซอร์ยกเว้นภาพยนตร์ กระบวนการออกเนื้อหาจะต้องมีความรับผิดชอบอยู่คือมิติเชิงกฎหมายและจริยธรรม ในกระบวนการดังกล่าวจะต้องมีการสร้างมาตรฐานแต่ละเรื่อง วิธีคิดจะเกิดขึ้นจากกลุ่มที่เจ้าของประเด็นนั้นๆ เช่น หากจะพูดถึงคนพิการจะพูดอย่างไร ซึ่งก็ต้องเรียนรู้กับเจ้าของเรื่องและผู้ที่ทำงานด้านนี้
 
 
ในประเด็นของการใช้คำต้องยอมรับว่า สื่อมีความไม่รู้และอาจจะลื่นไถลไปบ้าง มันต้องกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจ แต่กลุ่มเปราะบางแต่ละกลุ่มก็มีความอ่อนไหวหรือความต้องการของการใช้คำที่หลากหลาย ดังนั้นจะต้องดูทั้งเจตนาและบริบท
 
 
 
ทัศนคติ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศที่สื่อยังมีไม่มากพอ
 
 
 
วรลักษณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ตัวแทนภาคสื่อมวลชน กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการในการนำเสนอเนื้อหาคือ หลักคิดและทัศนคติของการเคารพสิทธิมนุษยชน กรณีผู้นำเสนอกล่าวมาเกิดขึ้นเยอะมาก นำไปสู่การถกเถียงกันในหมู่คนทำงาน ที่มันนำไปสู่คำถามว่า ผู้เขียนข่าวมองกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร และพบว่า หลายกรณีมาจากเรื่องอคติทางเพศ มองอย่างลึกอีกหน่อยคือ ทัศนคติ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศที่สื่อยังมีไม่มากพอ นอกจากนี้ต้องยอมรับว่า แบบเรียนที่เราเรียนมามีผลต่อการประกอบสร้างภาพตัวแทนของความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน
 
 
ขณะเดียวกันยังมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจของสื่อที่มองว่า พาดหัวแบบนี้-ขายข่าวแบบนี้คนจะชอบ หวือหวาดี ทำไมต้องบอกว่า เกย์เฒ่า ทำไมไม่บอกว่า ชายวัย 60 ปี การมองเรื่องกำไรมีส่วนที่ทำให้การนำเสนอของสื่อออกมาเป็นเช่นนี้ ณ วันนี้มุมมองความหลากหลายทางเพศเริ่มแพร่หลายมากขึ้น สื่อมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น แต่จะปฏิบัติตามหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตามเราต้องการคำแนะนำจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
 
 
และอยากยกตัวอย่างว่า เคยโพสต์เฟซบุ๊กให้ความรู้เรื่องนี้ พบว่า เพื่อนให้ความสนใจเข้ามาสอบถามเช่นว่า เพศที่สามกับรักร่วมเพศต่างกันอย่างไร เป้นต้น ถ้ามองอย่างเข้าใจในแง่มุมทำงานสื่อ หลายคนพยายามคิดเยอะมากว่า ไม่ควรใช้คำว่า เกย์ กะเทย แต่ไม่อยากใช้คำนี้เลยไปใช้คำว่า เพศที่สามแทน ซึ่งก็อาจจะยังไม่เหมาะสม แต่สะท้อนถึงความพยายามที่อาจจะยังไม่ไปสู่ความถูกต้องที่สุด
 
 
 
***คำเรียกเช่น กะเทยและผู้มีความหลากหลายทางเพศในบทความนี้ใช้แตกต่างกันตามที่ผู้เสนอเนื้อหาใช้