ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ’21 ต้นแบบกติกาที่ให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกฯ

รัฐธรรมนูญ 2560 คือ การพยายามของ คสช. ที่จะถอยหลังระบบการปกครองของประเทศไทยกับสู่ “ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่รัฐธรรมนูญ 2521 เคยสร้างขึ้นในยุคสมัยนั้น 
รัฐธรรมนูญ 2521 ถูกร่างขึ้นหลังความขัดแย้งทางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และนำไปสู่การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกลไกหลายอย่างที่เปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจ มีการเลือกตั้งเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองบ้าง แต่ก็ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจมากกว่า ส.ส. จากการเลือกตั้ง  
การสืบทอดอำนาจ ผ่าน ส.ว. แต่งตั้ง 
ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 จะคือคนร่างรัฐธรรมนูญ 2521 ด้วย ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว มีชัย ในวัยประมาณ 40 ปีเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารจึงเป็นความถนัดของมีชัย
รัฐธรรมนูญ 2521 กำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีซึ่งจะต้องแต่งตั้งในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง ส.ส. โดย ส.ว. มีจำนวนไม่เกินสามในสี่ของ ส.ส. ทำให้ในตอนนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารจึงเป็นผู้มีอำนาจเลือก ส.ว. ทั้งหมด 
การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 มีจำนวน ส.ส. 301 คน ทำให้ในวันเดียวกัน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ต้องแต่งตั้ง ส.ว. 225 คน บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำฝ่ายทหาร 
นอกจากนี้ยังแต่งตั้งสมาชิกสภานโยบายแห่งชาติ  ซึ่งถ้าเปรียบกับปัจจุบันก็คือ คสช. ให้กลับมาเป็น ส.ว. ถึง 16 คน ส่วนอีก 7 คน ถูกแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
สัดส่วนอาชีพของ ส.ว. ​แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2521
อาชีพ จำนวน
ข้าราชการประจำการ (ทหาร) 180
ข้าราชการบำนาญ 17
พนักงานรัฐวิสาหกิจ 2
ครู / อาจารย์ 4
วิศวกร 1
นักธุรกิจ 12
นักการธนาคาร 4
นักกฎหมาย / ทนายความ 4
นักเขียนอิสระ 1
รวม 225
ต้นแบบเมื่อ นายกฯ เลือก ส.ว. ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ
รัฐธรรมนูญ 2521 ไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส. เท่ากับเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ จากการออกแบบรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ทำให้พอคาดการณ์ได้ว่า นายกฯ คนต่อไปหลังการเลือกตั้ง คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้ซึ่งเป็นคนเลือก ส.ว. 225 คน 
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า จะต้องเลือกนายกฯ กันอย่างไร แต่กำหนดให้ “ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา” ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการตั้งนายกฯ ด้วยเหตุนี้ ประธานวุฒิสภาจึงมีผลต่อการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ แต่งตั้ง ส.ว. ทั้งหมดแล้วที่ประชุม ส.ว. จึงเลือก พล.อ.อ.หะริน หงสกุล เป็นประธานวุฒิสภา ซึ่งก่อนเลือกตั้งเขาก็เป็นประธาน สนช. ที่เป็นสภาแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารมาก่อน
การเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2521 เกิดขึ้นไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังการเลือกตั้ง โดย พล.อ.อ.หะริน ได้เรียกประชุมรัฐสภาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเชิญ ส.ส. และ ส.ว. ร่วมประชุมปรึกษาหารือเพื่อแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ 
การประชุมครั้งนี้ ส.ส. ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะผิดข้อบังคับการประชุมที่ต้องให้นัดประชุมล่วงหน้า 3 วัน และการเร่งรีบเลือกนายกฯ ถูกมองว่าเป็นการฉวยโอกาสทำให้ ส.ส. หลายคนมาร่วมประชุมไม่ทัน ซึ่งส่งผลให้ ส.ส. ของกลุ่มกิจสังคม (81เสียง) กลุ่มชาติไทย (38 เสียง) และกลุ่มประชากรไทย (32 เสียง) ไม่เข้าร่วมประชุมด้วย (สาเหตุที่เรียกเป็นกลุ่มเพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญยังไม่ให้มีพรรคการเมือง)
อย่างไรก็ตามท้ายที่สุด พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ด้วยคะแนนเสียง 311 เสียง โดยเป็นเสียงจาก ส.ว. 200 เสียง และ ส.ส. 111 เสียง
ภาพเกรียงศักดิ์ โดย Norman Peagam จาก Wikiwand 
 
พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้เพียงไม่ถึงปีเต็มก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่กระแสความนิยมไม่ดี และ ส.ว. ที่แต่งตั้งมาเองก็เริ่มไม่ให้การสนับสนุนต่อไป และหันไปสนับสนุนให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน
ป้องกัน ส.ส. คว่ำกฎหมายรัฐบาล ให้ ส.ว. ร่วมพิจารณาด้วย
รัฐธรรมนูญ 2521 ได้กำหนดในบทเฉพาะกาลในระยะสี่ปีแรกของรัฐธรรมนูญว่า การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้เป็นการกระทำร่วมกันของทั้งสองสภา ซึ่งในสถานการณ์ที่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ไม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร การกำหนดให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นการประชุมของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. จะช่วยป้องกันไม่ให้ ส.ส. ล้มร่าง พ.ร.บ.งบประมาณของรัฐบาล และให้รัฐบาลชุดสืบทอดอำนาจบริหารงานต่อไปได้
นอกจากนี้หากเป็น ร่าง พ.ร.บ. ที่รัฐบาลเห็นว่า มีความสำคัญเกี่ยวกับความมั่งคง ราชบัลลังก์ หรือเศรษฐกิจ และประธานรัฐสภาซึ่งเป็น ส.ว. เห็นด้วย ก็ให้เป็นการประชุมร่วมกันของสองสภาเช่นกัน 
อำนาจของ ส.ว. แต่งตั้งที่จะได้ร่วมพิจารณากฎหมายในปี 2521 คล้ายกับหลักการในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บทเฉพาะกาลกำหนดให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศต้องใช้มติของทั้งสองสภา และหากมีการเสนอกฎหมายใดที่ ส.ว. เห็นว่า เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป ส.ว. ก็มีสิทธิยื่นให้ประธานรัฐสภาพิจารณาเพื่อให้เป็นการประชุมร่วมได้เช่นกัน
รัฐธรรมนูญ 2521 ถือเป็นฉบับท่ีใช้ได้ยาวนาน ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของไทย คือ 13 ปี สร้างนายกรัฐมนตรีมา 3 คน คือ เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, เปรม ติณสูลานนท์ และชาติชาย ชุณหะวัน ก่อนถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารในปี 2534
อ้างอิงจาก