สำรวจชัยชนะ ส.ส. พลังดูดพลังประชารัฐ

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ชื่นชอบ ซึ่งคะแนนที่ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตได้รับ ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ก็ตามจะถูกนำไปคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. ที่พรรคเมืองแต่ละพรรคควรจะได้ และสรุปออกมาเป็นที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ระบบเช่นนี้ทำให้ความนิยมในตัวผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตกลายเป็นหัวใจสำคัญในสนามเลือกตั้ง ทำให้ทุกพรรคการเมืองต่างวางแผนและลงทุนในการหาตัวผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตอย่างมาก จนเป็นปรากฏการณ์ “พลังดูด”
 
 
ก่อนหน้าการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง 2562 พรรคพลังประชารัฐถูกกล่าวหาเรื่อง “ดูดส.ส.” อย่างหนักหน่วงจากพรรคการเมืองอื่น วิธีการดึงดูดตัวผู้มีชื่อเสียงให้มาสมัคร ส.ส. ในนามของพรรค เริ่มตั้งแต่การทาบทามไปจนถึงวีธีการที่ว่ากันว่า มีการข่มขู่หากไม่ย้ายเข้าพรรคพลังประชารัฐจะสร้างความลำบากในการเลือกตั้ง ท้ายที่สุดมีผู้สมัคร ส.ส. ถูกดูดย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐเพื่อลงสมัครในระบบแบ่งเขตมีไม่น้อยกว่า 91 คน แบ่งเป็น ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยและพรรคเดิมจำนวน 37 คน พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 18 คน, พรรคภูมิใจไทย 13 คนและมีบางส่วนที่เคยสังกัดพรรคขนาดรองอื่นๆ มาก่อน
 
 
ส.ส.พลังดูดคว้าที่นั่งตามคาด
 
 
พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต 97 เขต เป็นผลงานของ ส.ส. แชมป์เก่าที่ถูกพลังดูดให้ย้ายเข้าพรรคพลังประชารัฐจำนวน 37 คน กวาดคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐไปทั้งสิ้น 1,412,522คะแนน โดยแบ่งเป็นอดีต ส.ส. หรืออดีตผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทยจำนวน 22 คน คะแนนรวม 866,267 คะแนน, พรรคประชาธิปัตย์ 6 คน คะแนนรวม  170,153 คะแนน, พรรคชาติไทยพัฒนา 4 คน คะแนนรวม 159,497 คะแนน, พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 1 คน คะแนนรวม 41,918 คะแนน, พรรคพลังชล 2 คน คะแนนรวม 92,912 คะแนน และพรรคภูมิใจไทย 2 คน คะแนนรวม 81,775 คะแนน
 
 
ส่วนผู้ชนะ ในระบบแบ่งเขตอีก 60 คน ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน อาจจะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ เครือญาติของนักการเมืองหน้าเดิม หรืออดีตนักการเมืองท้องถิ่น
 
 
ผู้สมัครที่เป็นอดีต ส.ส. เคยได้รับชัยชนะในนามของพรรคสังกัดเดิมมีแนวโน้มจะคว้าชัยได้จำนวน 23 ที่นั่ง แบ่งเป็นอดีต ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย 17 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง, พรรคพลังชล 2 ที่นั่ง, พรรคภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง โดยจังหวัดที่พรรคพลังประชารัฐสามารถชนะได้ทั้งจังหวัด จากการส่ง ส.ส. ที่ดูดมาลงสนาม ได้แก่ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชรและสระแก้ว นอกจากนี้ยังมีตระกูลการเมืองที่ลงสมัครแล้วสอบผ่านได้ทุกคน ได้แก่  ตระกูลรัตนเศรษฐและตระกูลเทียนทอง
 
 
เมื่อเปรียบเทียบผลการเลือกตั้งจากปี 2554 กับปี 2562 ของบรรดาผู้สมัคร ส.ส. ที่มาตาม “พลังดูด” แล้วชนะการเลือกตั้ง 91 คน แบ่งได้เป็น
1) ผู้ที่เคยชนะการเลือกตั้งในนามของพรรคอื่น ในปี 2554 แล้วย้ายมาชนะอีกในนามพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 18 คน
2) ผู้ที่เคยแพ้การเลือกตั้งในนามของพรรคอื่น ในปี 2554 แล้วย้ายมาชนะได้ในนามพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 11 คน
3) ผู้ที่เคยชนะการเลือกตั้งในนามของพรรคอื่น ในปี 2554 แล้วย้ายมาพรรคพลังประชารัฐแล้วแพ้ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 18 คน
4) ผู้ที่เคยแพ้การเลือกตั้งในนามของพรรคอื่น ในปี 2554 แล้วย้ายมาพรรคพลังประชารัฐก็แพ้ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 34 คน
5) ผู้ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในปี 2554 แล้วย้ายมาชนะได้ในนามพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 7 คน
6) ผู้ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในปี 2554 แล้วย้ายมาพรรคพลังประชารัฐก็แพ้ ในการเลือกตั้ง 2562 จำนวน 3 คน
 
 
 
 
“แชมป์เก่า” ชนะได้ 18 เขต ตระกูลเทียนทองทำคะแนนดีสุด
 
 
เมื่อพิจารณาจาก “ส.ส. พลังดูด” ที่ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทั้ง 91 คน เป็น ผู้ที่เคยชนะการเลือกตั้งในนามของพรรคอื่นจากการเลือกตั้งปี 2554 แล้วมาชนะอีกในการเลือกตั้ง 2562 มีจำนวน 18 คน เมื่อจัดลำดับตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับต่อจำนวนบัตรดีของในแต่ละเขต พบว่า ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทยรั้งอยู่ต้นตาราง ดังนี้
 
 
ตารางที่ 1 ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่ย้ายมาจากพรรคอื่น และชนะอีกครั้งในปี 2562
 
ลำดับ จังหวัด ชื่อผู้สมัคร พรรคสังกัดเดิม คะแนนที่ได้ คะแนนรวม คิดเป็น %
1 สระแก้ว ฐานิสร์ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย 63099 100804 62.596
2 สระแก้ว ตรีนุช เทียนทอง พรรคเพื่อไทย 52787 98292 53.704
* พะเยา ธรรมนัส พรหมเผ่า พรรคเพื่อไทย 52,417 98,921 52.989
3 ชลบุรี รณเทพ อนุวัฒน์ พรรคพลังชล 54644 106056 51.524
4 เพชรบูรณ์ จักรัตน์ พั้วช่วย พรรคเพื่อไทย 49741 105067 47.342
5 นครราชสีมา อธิรัฐ รัตนเศรษฐ พรรคเพื่อไทย 40454 86124 46.972
6 ราชบุรี ปารีณา ไกรคุปต์ พรรคเพื่อไทย 46409 101947 45.523
7 เพชรบูรณ์ วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ พรรคเพื่อไทย 43242 97855 44.19
8 กาญจนบุรี พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ พรรคเพื่อไทย 40308 100348 40.168
9 ราชบุรี บุญยิ่ง นิติกาญจนา พรรคเพื่อไทย 40030 100038 40.015
10 เพชรบูรณ์ เอี่ยม ทองใจสด พรรคเพื่อไทย 36034 94485 38.137
11 นครราชสีมา ทัศนียา รัตนเศรษฐ พรรคเพื่อไทย 35983 98363 36.582
12 เพชรบูรณ์ สุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ พรรคเพื่อไทย 35225 97159 36.255
13 กำแพงเพชร อนันต์ ผลอำนวย พรรคพลังประชาชน 31127 86951 35.798
14 ชลบุรี สุชาติ ชมกลิ่น พรรคพลังชล 38268 111517 34.316
15 กำแพงเพชร ปริญญา ฤกษ์หร่าย พรรคเพื่อไทย 30112 89152 33.776
16 กำแพงเพชร ไผ่ ลิกค์ พรรคเพื่อไทย 32642 97365 33.525
17 ชลบุรี สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ พรรคประชาธิปัตย์ 31261 94469 33.091
 
 
ฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส.แบบแบ่งเขต เขต 1 จังหวัดสระแก้ว
 
ฐานิสร์ เทียนทอง ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จังหวัดสระแก้วได้คะแนน 63,099 คะแนนจากบัตรดี 100,804 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 62.596 ของจำนวนบัตรดีในเขตนั้น
 
ในการเลือกตั้ง 2562 จังหวัดสระแก้วเป็นศึกภายในของตระกูลเทียนทอง ตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมาตระกูลเทียนทองรวมตัวกันครองพื้นที่จังหวัดสระแก้วมาตลอด จนกระทั่งการเลือกตั้งปี 2562 ตระกูลเทียนทองต้องแตกออกเป็น 2 ปีก คือ ปีกพรรคเพื่อไทย นำโดยเสนาะ เทียนทอง และอีกปีกนำโดยฐานิสร์และตรีนุช เทียนทอง หลานของเสนาะ ทั้งสองย้ายออกจากพรรคเพื่อไทยไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ
 
หลังจากที่ฐานิสร์ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐแล้ว พรรคเพื่อไทยได้ส่งสนธิเดช เทียนทอง รองนายกเทศบาลตำบลวัฒนานคร แทนที่ตำแหน่งผู้สมัครที่ว่างลง ทั้งฐานิสร์และสนธิเดชเป็นหลานชายของเสนาะด้วยกันทั้งคู่ โดยสนธิเดชได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ที่ 19,097 คะแนนเท่านั้น  เหตุที่ฐานิสร์ได้สัดส่วนคะแนนสูงที่สุดอาจเป็นเพราะว่า ในเขตนี้มีคู่ต่อสู้น้อย คือ มีเพียงสนธิเดช เทียนทอง พรรคเพื่อไทยและปิยาพจน์ ตุลาชม พรรคอนาคตใหม่ที่อยู่ต้นตารางด้วยกัน แต่คู่แข่งทั้งสองยังได้คะแนนไม่มากนัก คือ 19,097 และ 12,013 คะแนนตามลำดับ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยเป็นคู่ต่อสู้หลักเปลี่ยนผู้สมัครเป็นอาทิติ งามวงษ์ ครูเกษียณราชการ ตกลงมาอยู่อันดับ 4 ได้เพียง 2,754 คะแนนเท่านั้น
 
หากย้อนดูผลคะแนนการเลือกตั้งปี 2554 พบว่า ฐานิสร์ก็เคยได้คะแนนในระดับสูง คือ 64,089 คะแนนจากจำนวนบัตรดีทั้งหมด 90,151 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 71 โดยครั้งนั้นเขามีคู่ต่อสู้หลักคนเดียว คือ เรือง บาดาล จากพรรคประชาธิปัตย์ที่ลงแข่งขันมาตั้งแต่ปี 2550-2554 เรืองได้คะแนนไป 24,921 คะแนน จึงถือว่า ฐานิสร์ แม้จะย้ายพรรคแล้วก็รักษาฐานเสียงของตัวเองไว้ได้เหนียวแน่น 
 
การจะเอาชนะฐานิสร์ในพื้นที่สระแก้วได้ถือเป็นงานหิน เนื่องจากเขาเป็นผู้แทนที่เกาะติดพื้นที่มาอย่างยาวนาน โดยได้รับเลือกเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตครั้งแรกปี 2539 จนถึงปัจจุบัน ในปี 2539 สังกัดพรรคความหวังใหม่ ต่อมาในปี 2544 และ 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย ก่อนที่ในปี 2550 จะย้ายออกไปสังกัดพรรคประชาราช การเลือกตั้งครั้งนั้นเขาได้รับคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ในจังหวัดสระแก้ว (การเลือกตั้ง 2550 สระแก้วมี 1 เขตเลือกตั้ง ผู้แทน 3 คน) และในปี 2554 กลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทย จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ฐานิสร์ย้ายพรรคทั้งสิ้น 4 ครั้ง แต่ไม่เคยหลุดออกจากตำแหน่ง ส.ส.เลยสักครั้งเดียว
 
ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.แบบแบ่งเขต เขต 2 จังหวัดสระแก้ว
 
ตรีนุช เทียนทอง ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จังหวัดสระแก้วได้คะแนน 52,787 คะแนนจากบัตรดี 98,292 คิดเป็นร้อยละ 53.704 จากจำนวนบัตรดีในเขตนั้น ตรีนุชเคยเป็นอดีต ส.ส. สังกัดพรรคเพื่อไทย หลังจากที่ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐแล้ว เพื่อไทยได้ส่งพ.ต.อ.พายัพ ทองชื่น อดีตสมาชิกวุฒิสภา แทนที่ตำแหน่งผู้สมัครที่ว่างลง นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นครั้งแรกที่ผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่ได้มาจากตระกูลเทียนทองทั้งหมด โดยพ.ต.อ.พายัพได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ที่ 21,901 คะแนน
 
ตรีนุชเป็นน้องสาวของฐานิสร์ ได้รับเลือกเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ในปี 2544 และ 2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย ก่อนที่ปี 2550 จะย้ายออกไปสังกัดพรรคประชาราช และในปี 2554 กลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทย เหตุที่ตรีนุชได้สัดส่วนคะแนนสูงเช่นนี้คล้ายคลึงกับกรณีของฐานิสร์ ในเขตนี้มีคู่ต่อสู้น้อย คือ มีพ.ต.อ.พายัพ ทองชื่น พรรคเพื่อไทย และยุทธชัย รำไพวรรณ์ พรรคอนาคตใหม่ แต่ทั้งสองยังได้คะแนนไม่มากนักคือ 21,901 และ 13,560 คะแนนตามลำดับ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยเป็นคู่ต่อสู้หลักเปลี่ยนผู้สมัครเป็นพลเอกชวลิต สาลีติ๊ด อดีตหัวหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ตกลงมาอยู่อันดับ 4 เพียง 4,204 คะแนนเท่านั้น 
 
หากย้อนดูผลคะแนนการเลือกตั้งปี 2554 พบว่า ตรีนุชก็เคยได้คะแนนในระดับสูงมากคือ  64,161 คะแนนจากจำนวนบัตรดีทั้งหมด 86,156 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 74  โดยครั้งนั้นตรีนุชมีคู่ต่อสู้หลักคนเดียว คือ สุทธิรักษ์  วันเพ็ญ จากพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ไป 21,312 คะแนน จึงถือว่า สามารถรักษาฐานเสียงของตัวเองได้แม้ย้ายพรรคเช่นกัน
 
ตรีนุช เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตครั้งแรกในปี 2544 ภายใต้สังกัดพรรคไทยรักไทย ก่อนที่ในปี 2550 จะย้ายไปสังกัดพรรคประชาราช และในปี 2554 กลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทย เป็นการย้ายตามเสนาะ เทียนทอง แม้ว่า การย้ายออกจากเพื่อไทยครั้งนั้นจุดยืนของพรรคประชาราชจะชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร  แต่ไม่ได้เดินไปถึงการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร 2549 ทั้งท้ายที่สุดแล้วพรรคประชาราชก็เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน จึงไม่เห็นความแตกต่างในการเปลี่ยนพรรคสังกัดนัก 
 
การย้ายจากเพื่อไทยไปอยู่กับพลังประชารัฐในการเลือกตั้ง 2562 เป็นการย้ายที่ชัดเจนในความเปลี่ยนแปลงของอุดมการณ์มากที่สุด แต่ตรีนุชกลับยังคงระดับความนิยมและรักษาตำแหน่ง ส.ส. พื้นที่ไว้ได้
 
ผลการเลือกตั้งของฐานิสร์และตรีนุช จึงพอสะท้อนแนวโน้มพฤติกรรมการออกเสียงของประชาชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้วได้ว่า อาจเน้นไปที่ตัวบุคคลมากกว่าพิจารณาจุดยืนของพรรคการเมือง
 
นอกจากนี้ยังมีกรณีของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.แบบแบ่งเขต เขต 1 จังหวัดพะเยา ที่ได้รับคะแนนเสียงในระดับสูงทั้งที่ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตมาก่อน โดยเขาได้คะแนนเสียงสูงเป็นอันดับ 3 รองจากฐานิสร์และตรีนุช
 
ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.แบบแบ่งเขต เขต 1 จังหวัดพะเยา
 
ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จังหวัดพะเยาได้คะแนน 52,417 คะแนนจากบัตรดี 98,921คิดเป็นร้อยละ 52.989 จากจำนวนบัตรดีในเขตนั้น ธรรมนัสเคยเป็นหนึ่งใน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยในปี 2557 แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ลงชิง ส.ส. แบบแบ่งเขต ที่ผ่านมาพื้นที่เขต 1 เป็นพื้นที่ของอรุณี ชำนาญยา พรรคเพื่อไทยที่ครองพื้นที่มาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544-2557 โดยผลการเลือกตั้ง 2562 อรุณีได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ที่ 21,971 คะแนน
 
 
ธรรมนัสเป็นหนึ่งใน “ห้าเสือกองสลากฯ” หรือบุคคลที่ได้รับโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลมากที่สุด  และยังอยู่ในรายชื่อของผู้มีอิทธิพลต้องจับตาของ คสช. เมื่อปี 2559  ในการเลือกตั้ง 2562 “พลังดูด" ช่วยให้เขากลายมาเป็นประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคเหนือของพรรคพลังประชารัฐ ตั้งเป้าว่า จะคว้าที่นั่งในภาคเหนือครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ที่ผ่านมาจังหวัดพะเยาถือเป็นพื้นที่ของเพื่อไทยทั้งหมดและเป็นมาอย่างยาวนาน แต่ครั้งนี้ธรรมนัส ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรของเพื่อไทยลงรับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเอง ทำให้ต้องขับเคี่ยวกันอย่างหนัก 
 
 
อย่างไรก็ตามการคว้าที่นั่งของธรรมนัส อาจไม่ใช่อานิสงส์ตำแหน่ง อดีต ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากกรณีของธรรมนัสไม่เคยมีประสบการณ์ลงพื้นที่สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตมาก่อน ทั้งสายสัมพันธ์ระหว่างธรรมนัสและเพื่อไทยก็ไม่ได้แนบแน่นมากนัก
 
 
ธรรมนัสเริ่มเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของพะเยาตั้งแต่ปี 2554 เวลานั้นมีความพยายามในการหาผู้สมัครท้องถิ่นลงในนามเครือข่ายพรรคเพื่อไทยแทนที่กลุ่มเดิมที่ออกไปเข้าร่วมกับพรรคภูมิใจไทย จนเป็นช่องให้มีการพูดคุยกับธรรมนัส สุดท้ายเขาจึงส่งอัครา พรหมเผ่า น้องชายเข้าสู่ตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา (อบจ.พะเยา) ซึ่งมีวรวิทย์ บูรณศิริ ผู้แทนสายเพื่อไทยโดยตรงเป็นนายกอบจ.พะเยา ต่อมาปี 2556 จุฬาสินี พรหมเผ่า คนสนิทของธรรมนัสลงชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองพะเยา จุฬาสินีก็ได้รับชัยชนะและนั่งอยู่ในตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน  ขณะเดียวกันธรรมนัสยังค่อยๆ สั่งสมบารมีในพื้นที่ด้วยการทำงานเชิงสังคมโดยการจัดตั้งมูลนิธิธรรมนัส พรหมเผ่าเพื่อการกุศล ทำงานด้านการพัฒนาและการบริจาคเพื่อการกุศลในพื้นที่จังหวัดพะเยามาตลอด นอกจากนี้ยังเดินตามกระแสนักการเมืองท้องถิ่นที่ครองใจคนพื้นที่ด้วยการทำทีมฟุตบอลพะเยา เอฟซี
 
แม้ว่ากกต.ได้ประกาศรับรองการเป็นส.ส.แบบแบ่งเขตของธรรมนัสอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ยังมีคำร้องที่อรุณียื่นต่อ กกต. กลางถึงพฤติกรรมการบริจาคของธรรมนัสที่เกิดขึ้นหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งแล้ว จนถึงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง กกต. ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่า ผลการสอบสวนออกมาเป็นอย่างไร
 
“ส.ส.สอบตก” ย้ายพรรคมาแก้มือ สอบผ่านเข้าสภา 11 คน
 
จากจำนวนผู้สมัคร “ส.ส.พลังดูด” ที่ลงสนามเลือกตั้ง 91 คน เป็น ส.ส. ที่เคยสอบตกในการเลือกตั้งครั้งก่อนภายใต้สังกัดพรรคอื่น แต่ย้ายมาพรรคพลังประชารัฐแล้วประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 11 คน ในจำนวนนี้ 9 คนเคยได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งปี 2554 และมีฐานเสียงเป็นทุนเดิมอยู่ไม่น้อยที่ทำให้กลับมาชนะในการเลือกตั้ง 2562 ได้ เช่น
 
 
 
ตารางที่ 2 ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2554 แต่กลับมาชนะในปี 2562
 
ลำดับ จังหวัด ชื่อผู้สมัคร พรรคสังกัดเดิม คะแนนที่ได้ คะแนนรวม คิดเป็น %
1 กาญจนบุรี อัฏฐพล โพธิพิพิธ พรรคประชาธิปัตย์ 21363 54369 39.293
2 สิงห์บุรี โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคชาติไทยพัฒนา 48970 125186 39.118
3 สมุทรปราการ กรุงศรีวิไล สุทินเผือก พรรคภูมิใจไทย 41745 122662 34.033
4 นราธิวาส  วัชระ ยาวอหะซัน พรรคชาติไทยพัฒนา 32268 98960 32.607
5 กรุงเทพมหานคร ชาญวิทย์ วิภูศิริ พรรคประชาธิปัตย์ 31551 100447 31.411
6 นครสวรรค์ นิโรธ สุนทรเลขา พรรคเพื่อไทย 25998 84898 30.623
7 สระบุรี กัลยา รุ่งวิตรชัย พรรคประชาธิปัตย์ 31035 120669 25.719
8 นครสวรรค์ ภิญโญ นิโรจน์ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 24656 98290 25.085
9 แม่ฮ่องสอน ปัญญา จีนาคำ พรรคชาติไทยพัฒนา 29754 133617 22.268
10* ตาก ธนัสถ์ ทวีเกื้อกุลกิจ เพื่อไทย 43787 107487 40.737
11* ระยอง สมพงษ์ โสภณ เพื่อไทย 29077 97025 29.968
 
อัฏฐพล โพธิพิพิธ เขต 5 กาญจนบุรี
 
อัฏฐพล โพธิพิพิธ เคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2550 เขาได้รับเลือกเป็นส.ส.แบบแบ่งเขต เขต 1 จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 อัฏฐพลสอบตกได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ของเขต  จังหวัดกาญจนบุรี โดยแพ้พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ จากพรรคเพื่อไทยไปเพียง 169 คะแนน อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งอัฏฐพลและพล.อ.สมชายต่างโคจรมาเจอกันในฐานะสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โดยอัฏฐพล ลงสมัครในเขต 5 และพล.อ.สมชาย ลงสมัครในเขต 1 และต่างก็คว้าชัยไปได้ทั้งคู่
 
อัฏฐพล  มีน้องชายอีกหนึ่งคนคือ ธรรมวิชช์ โพธิพิพิธ ซึ่งเป็นอดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกัน ทั้งสองตัดสินใจย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเหตุการย้ายพรรคว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีของประชา โพธิพิพิธ หรือ กำนันเซียะ  ผู้เป็นพ่อของทั้งสอง ประชาถูกกล่าวหาในคดีบุกรุกที่ดินราชพัสดุและศาลพิพากษาให้รับโทษจำคุก 56 เดือน  แต่ประชาและภรรยาก็เดินทางออกนอกประเทศไปก่อนที่จะได้รับโทษ
 
โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เขต 1 สิงห์บุรี
 
โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เคยสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ในปี 2554 เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 1 จังหวัดสิงห์บุรี ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ที่ 39,889 คะแนน โดยแพ้สุรสาล ผาสุข จากพรรคเพื่อไทยที่ได้ 59,640 คะแนน ในการเลือกตั้ง 2562 ทั้งสองกลับมาเจอกันอีกครั้ง โดยครั้งนี้โชติวุฒิเป็นฝ่ายชนะได้ไป 48,970 คะแนน ขณะที่สุรสาล ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ที่ 39,085 คะแนน
 
โชติวุฒิเป็นน้องชายของชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีตส.ส.แบบแบ่งเขต สิงห์บุรีและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2550 ชัยวุฒิถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีอันเป็นผลจากคดียุบพรรคชาติไทย ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ โชติวุฒิจึงเข้าวงการเลือกตั้งแทนที่พี่ชาย ภายใต้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งซ่อมนั้นโชติวุฒิต้องสู้กับพายัพ ปั้นเกตุ จากพรรคเพื่อไทย อดีตส.ส.สิงห์บุรี 2 สมัย ซึ่งครั้งนั้นโชติวุฒิชนะ ในการเลือกตั้ง 2554 ไม่สามารถรักษาตำแหน่งไว้ได้ขณะที่การเลือกตั้ง 2562 ชัยวุฒิ พี่ชายของเขากลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า โชติวุฒิจะยังอยู่พรรคประชาธิปัตย์ แต่ท้ายที่สุดก็ย้ายมาร่วมพรรคพลังประชารัฐกับพี่ชาย
 
กรุงศรีวิไล สุทินเผือก เขต 5 จังหวัดสมุทรปราการ
 
กรุงศรีวิไล สุทินเผือก เคยสังกัดพรรคพลังประชาชนและพรรคภูมิใจไทยตามลำดับ ในการเลือกตั้งปี 2550 กรุงศรีวิไลได้รับเลือกเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต เขต 4 จังหวัดสมุทรปราการ ในนามพรรคพลังประชาชน ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 กรุงศรีวิไลย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทยและลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 5 ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 แพ้สลิลทิพย์  สุขวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทยไป 11,964 คะแนน การเลือกตั้ง 2562 นี้เป็นการกลับพบกันอีกระหว่างกรุงศรีวิไลและสลิลทิพย์ แต่ครั้งนี้สลิลทิพย์แพ้ไป 8,738 คะแนน
 
กรุงศรีวิไลเป็นนักแสดงที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี โดยเหตุผลที่เขาลาออกจากพรรคภูมิใจไทยมาพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้เป็นเพราะมองว่า พรรคเดิมไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและยังทำหน้าที่แก่พรรคไม่ดีพอจึงเลือกลาออก เขาเคยยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินหรือพลังดูดแต่อย่างใด
 
 
วัชระ ยาวอหะซัน เขต 1 จังหวัดนราธิวาส
 
วัชระ ยาวอหะซัน เคยสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ในการเลือกตั้งปี 2550 วัชระได้รับเลือกเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต เขต 1 จังหวัดนราธิวาส ต่อมาปี 2554 วัชระสอบตกได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ของเขต 4 จังหวัดนราธิวาส โดยแพ้เจะอามิง  จากพรรคประชาธิปัตย์ไป 1,847 คะแนน ครั้งนี้เขากลับมาลงสมัครเขต 1 อีกครั้งและชนะทิ้งห่างอันดับสองผู้สมัครจากพรรคประชาชาติไป 9,713 คะแนน
 
วัชระเป็นลูกชายของกูเซ็ง ยาวอหะซัน นักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่นราธิวาส โดยมีพี่ชายคือ กูเฮง ยาวอหะซัน ทั้งวัชระและกูเฮงเคยอยู่ภายใต้สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา แต่การเลือกตั้ง 2562 ทั้งสองแยกเดินคนละทางโดยกูเฮงเข้าสังกัดพรรคประชาชาติ และลงสมัครส.ส.แบบแบ่งเขต เขต 3 จังหวัดนราธิวาส ขณะที่วัชระ ลงในเขต 1 โดยสองพี่น้องยาวอหะซันชนะด้วยกันทั้งคู่ แต่จะเข้าสภาต่างฐานะเนื่องจากพรรคที่ทั้งสองสังกัดนั้นมีอุดมการณ์ต่างกัน
 
ชาญวิทย์ วิภูศิริ เขต 15 กรุงเทพมหานคร
 
ชาญวิทย์ วิภูศิริ เคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2554 ชาญวิทย์ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 17 กรุงเทพมหานคร ได้คะแนนเป็นอับดับ 2 รองจากวิชาญ มีนชัยนันท์ จากพรรคเพื่อไทย โดยแพ้ไป 2,816 คะแนน ในการเลือกตั้ง 2562 เป็นการรีแมตช์ระหว่างชาญวิทย์ ภายใต้สังกัดพรรคพลังประชารัฐและวิชาญ ที่ครองพื้นที่มาอย่างยาวนาน โดยครั้งนี้ชาญวิทย์คว้าชัยไปได้ ชนะวิชาญไป 1,428 คะแนน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ที่ส่งธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ลงแทนที่ชาญวิทย์ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 4 ของเขต
 
ชาญวิทย์เป็นลูกชายของอัศวิน วิภูศิริ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งครั้งนี้ชาญวิทย์ตกลงย้ายไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่อัศวิน ผู้เป็นพ่อยังคงสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป ชาญวิทย์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ หลังจากการเลือกตั้งเขาถูกร้องเรียนว่า ถือหุ้นสื่อ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 และพ.ร.ป.ส.ส.  ต่อมาชาญวิทย์ชี้แจงว่า บริษัทที่ถูกร้องเรียนเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่มีการจดแจ้งวัตถุประสงค์ประกอบกิจการในหนังสือบริคณห์สนธิครอบคลุมไปถึงการประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์
 
 
“แชมป์เก่า” ย้ายพรรคแล้ว สอบตก 18 คน
 
การเลือกตั้ง 2562 มี "ส.ส. พลังดูด” ที่เคยชนะในการเลือกตั้งปี 2554 แต่ลงสมัครแล้วแพ้ จำนวน 18 คน โดย 9 คนเป็น ส.ส. ที่ถูก “ล้มแชมป์” โดย ส.ส. จากพรรคสังกัดเดิม และเป็นการแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทยจำนวน 8 คน ซึ่ง ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยเกือบทั้งหมดเป็น ส.ส. หน้าใหม่ที่ลงสมัครในพื้นที่ฐานเสียงเดิมของเพื่อไทย ดังนี้
 
 
 
ตารางที่ 3 ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่เคยชนะการเลือกตั้ง แต่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2562

 

ลำดับ จังหวัด ชื่อผู้สมัคร พรรคสังกัดเดิม คะแนนที่ได้ในปี 2554 คะแนนของพรรคที่ชนะ ในปี 2562 คะแนนที่ได้ในปี 2562 (อันดับ)
1 นนทบุรี ฉลอง เรี่ยวแรง เพื่อไทย 50,966 28954 27725(2)
2 พระนครศรีอยุธยา องอาจ วชิรพงศ์ เพื่อไทย 49,190 50646 34105(2)
3 ลพบุรี อำนวย คลังผา เพื่อไทย 62,091 28326 26584(2)
4 เลย ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เพื่อไทย 38,049 41763 22291(3)
5 เลย เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข เพื่อไทย 34,835 55514 31105(2)
6 เลย วันชัย บุษบา เพื่อไทย 48,961 53289 19367(3)
7 กาฬสินธุ์ นิพนธ์ ศรีธเรศ เพื่อไทย 54,178 40262 18266(2)
8 อุบลราชธานี สุทธิชัย จรูญเนตร เพื่อไทย 37,573 42903 33960(2)
9 นครพนม ชูกัน กุลวงษา เพื่อไทย 50,609 44675 28326(2)
10 จันทบุรี ธวัชชัย อนามพงศ์ ประชาธิปัตย์ 47,770 26805 25661(2)
11 จันทบุรี ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา ประชาธิปัตย์ 53,709 28750 27766(2)
12 ฉะเชิงเทรา บุญเลิศ ไพรินทร์ ประชาธิปัตย์ 43,510 35045 30116(2)
13 ฉะเชิงเทรา พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ ประชาธิปัตย์ 59,036 42342 39361(2)
14 ชลบุรี พันธุ์ศักดิ์ เกตุวัตถา พลังชล 36,550 43284 38321(2)
15 ชลบุรี ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ พลังชล 28,402 31247 28001(2)
16 สุโขทัย จักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ภูมิใจไทย 27,671 34884 32133(2)
17 ราชบุรี ชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร ภูมิใจไทย 35,511 37423 32677(2)
18 นครราชสีมา บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ภูมิใจไทย 45,331 38632 30795(2)
 
 
ฉลอง เรี่ยวแรง เขต 2 นนทบุรี
ฉลอง เรี่ยวแรง ซึ่งชนะการเลือกตั้งเขต 6 จังหวัดนนทบุรี ในปี 2554 ในนามพรรคเพื่อไทย เขต 6 เคยครอบคลุมพื้นที่อำเภอปากเกร็ดและอำเภอบางบัวทอง ในการเลือกตั้ง 2562 จังหวัดนนทบุรีแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เหลือ 6 เขต จากเดิมที่มี 7 เขต ฉลองย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐและมาลงสมัครในเขต 2 ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองนนทบุรี ฉลองได้คะแนนเป็นอันดับ 2 แพ้ให้จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ จากพรรคเพื่อไทยด้วยคะแนน 28,954 ต่อ 27,725 คะแนนตามลำดับ จิรพงษ์เป็นสมาชิกอบจ.นนทบุรี และลงแข่งการเมืองระดับชาติเป็นครั้งแรก แต่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่อำเภอเมืองอยู่พอสมควร
 
องอาจ วชิรพงศ์ เขต 4 พระนครศรีอยุธยา
 
องอาจ วชิรพงศ์ ซึ่งชนะการเลือกตั้ง เขต 5 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี 2554 ในนามพรรคเพื่อไทย เขต 5 เคยครอบคลุมพื้นที่อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล และอำเภอบางซ้าย การเลือกตั้ง 2562 จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เหลือ 4 เขต จากเดิมที่มี 5 เขต องอาจย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐและมาลงสมัครในเขต 4 ครอบคลุมพื้นที่อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล และอำเภอบางซ้าย ทำให้เขตเลือกตั้งขององอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเพิ่มอำเภอลาดบัวหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยเคยชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดเข้ามาด้วย
 
องอาจได้คะแนนเป็นอันดับ 2 แพ้ให้กับจิรทัศน์ ไกรเดชา จากพรรคเพื่อไทยด้วยคะแนน 50,646 ต่อ 34,105 คะแนนตามลำดับ จิรทัศน์เป็นสมาชิกอบจ.พระนครศรีอยุธยาและลงแข่งการเมืองระดับชาติเป็นครั้งแรก
 
อำนวย คลังผา เขต 3 ลพบุรี
อำนวย คลังผา ซึ่งชนะการเลือกตั้ง เขต 3 จังหวัดลพบุรี ในปี 2554 ในนามพรรคเพื่อไทย เขต 3 เคยครอบคลุมพื้นที่อำเภอโคกสำโรง, อำเภอหนองม่วง, อำเภอสระโบสถ์, อำเภอโคกเจริญ และบางส่วนของอำเภอชัยบาดาล การเลือกตั้ง 2562 จังหวัดลพบุรีแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยมี 4 เขตเท่าเดิมแต่มีการเปลี่ยนแปลงอำเภอของแต่ละเขต โดยเขต 3 ครอบคุลมพื้นที่อำเภอโคกสำโรง, อำเภอหนองม่วงและอำเภอพัฒนานิคม อำนวยได้คะแนนเป็นอันดับ 2 แพ้ให้กับอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย ด้วยคะแนนไล่เลี่ยกันที่  28,326 ต่อ 26,584 คะแนนตามลำดับ โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่อำนวยหลุดออกจากตำแหน่งส.ส.
 
ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เขต 3 เลย
ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ซึ่งชนะการเลือกตั้ง เขต 1 จังหวัดเลย ในปี 2554 ในนามพรรคเพื่อไทย เขต 1 เคยครอบคลุมพื้นที่อำเภอนาแห้ว, อำเภอด่านซ้าย, อำเภอภูเรือ, อำเภอท่าลี่, อำเภอเชียงคาน และอำเภอวังสะพุง การเลือกตั้ง 2562 จังหวัดเลยแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เหลือ 3 เขต จากเดิมที่มี 4 เขต ปรีชาย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐและลงสมัครในเขต 3 ครอบคลุมพื้นที่อำเภอนาแห้ว, อำเภอด่านซ้าย, อำเภอภูเรือ, อำเภอท่าลี่, อำเภอเชียงคาน และบางส่วนของอำเภอวังสะพุง ปรีชาได้คะแนนเป็นอันดับ 3 ที่ 22,291 คะแนน โดยธนยศ ทิมสุวรรณ จากพรรคภูมิใจไทย ลูกชายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ อดีตนายก อบจ.เลย ได้คะแนนเป็นอันดับที่หนึ่ง โดยตั้งแต่ปี 2529 ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ปรีชาหลุดออกจากตำแหน่งส.ส.
 
เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข เขต 2 เลย
เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ซึ่งชนะการเลือกตั้งเขต 3 จังหวัดเลย ในปี 2554 ในนามพรรคเพื่อไทย เขต 3 เคยครอบคลุมพื้นที่อำเภอด่านซ้าย, อำเภอนาแห้ว, บางส่วนของอำเภอภูเรือและบางส่วนของอำเภอวังสะพุง การเลือกตั้ง 2562 เปล่งมณีย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ สลับไปลงสมัครเขต 2 มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอภูกระดึง, อำเภอภูหลวง, อำเภอหนองหิน, อำเภอผาขาว, บางส่วนของอำเภอเอราวัณและอำเภอวังสะพุง เปล่งมณีได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ที่ 31,105 คะแนน แพ้ศรัณย์ ทิมสุรรณ จากพรรคเพื่อไทยที่ได้ 55,514 คะแนน ศรัณย์เป็นลูกชายของนันทนา ทิมสุวรรณ อดีต ส.ส. เลย พรรคเพื่อไทยหลายสมัย โดยนันทนาเป็นเจ้าของพื้นที่และมีความคุ้นเคยกับเขต 2 ของจังหวัดเลย
 
วันชัย บุษบา เขต 1 เลย
วันชัย บุษบา ซึ่งชนะการเลือกตั้ง เขต 4 จังหวัดเลย ในปี 2554 ในนามพรรคเพื่อไทย เขต 4 เคยครอบคลุมพื้นที่อำเภอเชียงคาน, อำเภอปากชม, อำเภอนาด้วง และอำเภอเอราวัณ การเลือกตั้ง 2562 วันชัยย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ลงสมัครรับเลือกตั้งเขต 1 แทน โดยครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองเลย, อำเภอปากชม, อำเภอนาด้วง และบางส่วนของอำเภอเอราวัณ วันชัยได้คะแนนเป็นอันดับ 3 ที่ 19,367 คะแนน แพ้ให้กับเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล จากพรรคเพื่อไทยที่ได้ไป 53,289 คะแนน เลิศศักดิ์ เป็นนายกเทศมนตรีเมืองวังสะพุง 3 สมัย และมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลเมืองเลยยูไนเต็ด
 
นิพนธ์ ศรีธเรศ เขต 4 กาฬสินธุ์
 
นิพนธ์ ศรีธเรศ ซึ่งชนะการเลือกตั้ง เขต 5 จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี 2554 ในนามพรรคเพื่อไทย เขต 5 เคยครอบคลุมพื้นที่อำเภอกมลาไสย, อำเภอนามน, อำเภอห้วยผึ้ง, อำเภอดอนจาน และอำเภอร่องคำ การเลือกตั้ง 2562 นิพนธ์ย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ โดยจังหวัดกาฬสินธุ์แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เหลือ 5 เขตจากเดิมมี 6 เขต โดยนิพนธ์ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 4 ซึ่งครอบคลุมอำเภอสามชัย, อำเภอคำม่วง, อำเภอสมเด็จ, อำเภอนามน และอำเภอดอนจาน ซึ่งเกือบจะเป็นพื้นที่ใหม่ทั้งหมด นิพนธ์ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ที่ 18,266 คะแนน แพ้ให้กับประเสริฐ บุญเรืองจากพรรคเพื่อไทยที่ได้ไป 40,262 คะแนน
 
ประเสริฐ บุญเรือง เป็นอดีตส.ส.เขต 6 จังหวัดกาฬสินธุ์ เดิมทีเขต 6 ครอบคลุมพื้นที่อำเภอกุฉินารายณ์, อำเภอเขาวงและอำเภอนาคู ต่อมาเมื่อแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ของเขต 5 แทนโดยเพิ่มอำเภอห้วยผึ้งเข้าไปอีกหนึ่งอำเภอ
 
 
สุทธิชัย จรูญเนตร เขต 5 อุบลราชธานี
 
สุทธิชัย จรูญเนตร ซึ่งชนะการเลือกตั้ง เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2554  ในนามพรรคเพื่อไทย เขต 5 เคยครอบคลุมพื้นที่อำเภอตระการพืชผล และอำเภอกุดข้าวปุ้น การเลือกตั้ง 2562 สุทธิชัยย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ โดยจังหวัดอุบลราชธานีแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เหลือ 10 เขตจากเดิมมี 11 เขต สุทธิชัยยังคงปักหลักอยู่ที่เขต 5 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอเหล่าเสือโก้ก, อำเภอตระการพืชผล และอำเภอกุดข้าวปุ้น สุทธิชัยได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ที่ 33,960 คะแนน โดยรัฐกิตติ์ ผาลีพัฒน์ จากพรรคเพื่อไทยชนะด้วยคะแนน 42,903 คะแนน
 
รัฐกิตติ์ เป็นอดีตส.ส.พรรคชาติไทย ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรคชาติไทย ก่อนจะกลับมาลงสมัครอีกครั้งในปี 2557 ภายใต้สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ เลือกตั้งรอบนี้รัฐกิตติ์ย้ายเข้าพรรคเพื่อไทยและชนะในที่สุด
 
ชูกัน กุลวงษา เขต 5 นครพนม
ชูกัน กุลวงษา ซึ่งชนะการเลือกตั้ง เขต 4 จังหวัดนครพนม ในปี 2554 ในนามพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง 2562 ชูกันย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐและปักหลักอยู่ที่เขต 4 เช่นเดิม เขตเลือกตั้งที่ 4 มีความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ เพิ่มตำบลเข้ามาหนึ่งตำบล ชูกันได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ที่ 28,326 คะแนน โดยแพ้ให้กับชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส. แบบเขตและบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยที่ได้ไป 44,675 คะแนน
 
 
“ส.ส.สอบตก” ย้ายพรรคมา ก็ยังสอบตก แต่ช่วยเพิ่มที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ 34 คน
 
จากจำนวน ส.ส. พลังดูดทั้งหมด 91 คนมี 34 คนที่เป็น ส.ส. สอบตกในการเลือกตั้งปี 2554 และก็ยังคง ส.ส. สอบตกอยู่ในการเลือกตั้ง 2562 โดย ส.ส. กลุ่มนี้ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย 3 คน, พรรคกิจสังคม 1 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน, พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 9 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 10 คน, พรรรคประชาสันติ 1 คน, พรรครักษ์สันติ 1 คนและพรรคภูมิใจไทย 8 คน
 
 
ลำดับ จังหวัด ชื่อผู้สมัคร พรรคสังกัดเดิม คะแนนที่ได้ ในปี 2562 อันดับที่ได้ ในปี 2554
1 สมุทรสงคราม สุกานดา ปานะสุทธะ เพื่อไทย 21,868 อันดับ 2
2 สุพรรณบุรี ยุทธนา ลับบัวงาม เพื่อไทย 5,377  อันดับ 2
3 ระยอง เจือเพ็ชร์ กฤษณะราช เพื่อไทย 13,957 อันดับ 3
4 ขอนแก่น สมพงษ์ ปู่เพ็ง  กิจสังคม 27,694 อันดับ 2
5 ปัตตานี มูฮำมัดปาเรซ โลหะสัณห์ ชาติไทยพัฒนา 5,673 อันดับ 5
6 ร้อยเอ็ด สานิต ว่องสัธนพงษ์ ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 17993 อันดับ 3
7 ร้อยเอ็ด รัชนี พลซื่อ ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 21701 อันดับ 2
8 ร้อยเอ็ด ตวงรัตน์ วงศ์เวไนย ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 18408 อันดับ 2
9 อุบลราชธานี อดุลย์ นิลเปรม ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 37476 อันดับ 3
10 อุบลราชธานี ประจักษ์ แสงคำ ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 21617 อันดับ 2*
11 ศรีษะเกษ ภูมินทร์ ลีธีนะประเสริฐ ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 38143 อันดับ 2*
12 สุรินทร์ ธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 22262 อันดับ 3
13 นครพนม อลงกต มณีกาศ ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 29515 อันดับ 2
14 อุตรดิตถ์ วารุจ ศิริวัฒน์ ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 33797 อันดับ 4
15 นครปฐม วีระยศ ชื่นกลิ่นธูปศิริ ประชาธิปัตย์ 8692 อันดับ 2
16 นนทบุรี ทศพล เพ็งส้ม ประชาธิปัตย์ 32972 อันดับ 2
17 นครสวรรค์ วิริยะ วรรณทอง ประชาธิปัตย์ 16051 อันดับ 3
18 กาฬสินธุ์ จำลอง ภูนวนทา ประชาธิปัตย์ 30373 อันดับ 2
19 บุรีรัมย์ นภดล อังคสุภณ ประชาธิปัตย์ 25979 อันดับ 3
20 บุรีรัมย์ สุประดิษฐ์ แสนทวีสุข ประชาธิปัตย์ 13643 อันดับ 3
21 สกลนคร สมพงษ์ อาจไพรินทร์ ประชาธิปัตย์ 13549 อันดับ 3
22 เชียงใหม่ เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ประชาธิปัตย์ 29170 อันดับ 2
23 เชียงใหม่ นรพล ตันติมนตรี ประชาธิปัตย์ 32532 อันดับ 2
24 เชียงใหม่ กิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ ประชาธิปัตย์ 30520 2556
25 นครพนม สันติ ตันสุหัช ประชาสันติ 12944 อันดับ 4
26 ชัยภูมิ พีระพล ติ้วสุวรรณ ภูมิใจไทย 14633 อันดับ 3
27 ขอนแก่น คงฤทธิ์ อัศวพัฒนากูล ภูมิใจไทย 10984 อันดับ 2
28 มหาสารคาม โกศล คาดพันโน ภูมิใจไทย 21195 อันดับ 2
29 ยโสธร รณฤทธิชัย คานเขต ภูมิใจไทย 14292 อันดับ 2
30 ยโสธร พิกิฏ ศรีชนะ ภูมิใจไทย 24383 อันดับ 2
31 สกลนคร สุมนิศร์ ทีฆธนานนท์ ภูมิใจไทย 31145 อันดับ 2
32 สกลนคร ณัฐกานต์ ไชยรบ ภูมิใจไทย 26578 อันดับ 2
33 เชียงใหม่ ดร งามธุระ ภูมิใจไทย 22640 อันดับ 2
34 กรุงเทพ ธันวา ไกรฤกษ์ รักษ์สันติ 29557 อันดับ 3
 
 
หากย้อนดูผลการเลือกตั้งปี 2554 จะเห็นว่า กลุ่ม ส.ส. สอบตกที่ถูกดูดเข้าพรรคพลังประชารัฐนั้นจำนวน 21 คนเป็น ส.ส. สอบตกอันดับ 2 หมายความว่า มีฐานเสียงเดิมอยู่ไม่น้อย โดยมี 2 คนที่อยู่ในอันดับ 2 แบบที่มีโอกาสพลิกกลับมาชนะได้ได้แก่
 
๐ ประจักษ์ แสงคำ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 10 จังหวัดอุบลราชธานี การเลือกตั้ง 2554 เขาได้ 33,559 คะแนนแพ้สมคิด เชื้อคงจากพรรคเพื่อไทยที่ได้ 33,903 คะแนนไปเพียง 344 คะแนน โดยเลือกตั้ง 2562 สมคิดยังคงย้ำชัยชนะเหนือประจักษ์ที่คะแนน 36,657 คะแนนและ 21,617 คะแนน ทิ้งห่างมากขึ้นหลักหมื่นคะแนน
 
๐ ภูมินทร์ ลีธีนะประเสริฐ ผู้สมัครส.ส.เขต 4 จังหวัดศรีสะเกษ การเลือกตั้ง 2554 เขาได้ 30,315 คะแนนแพ้อุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์จากพรรคภูมิใจไทยที่ได้ 31,805 คะแนนไปเพียง 1,490 คะแนน โดยการเลือกตั้ง 2562 ภูมินทร์ต้องพบกับจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นสามีของอุดมลักษณ์และเป็นอดีตส.ส.พรรคไทยรักไทย รอบนี้จาตุรงค์ได้คะแนน 40,065 ชนะภูมินทร์ไปเพียง 1,922 คะแนน
 
แม้ว่า ในการเลือกตั้ง 2562 ผู้สมัครทั้ง 34 คน จะสอบตกอีกครั้งและไม่ได้ที่นั่งส.ส.แบบแบ่งเขต แต่คะแนนที่พวกเขาได้รวมกันไม่น้อยเลยทีเดียว คือ 757,313 คะแนน ซึ่งสามารถนำไปคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อได้ประมาณ 10 ที่นั่ง
 
 
นอกจากที่กล่าวมานี้ ยังมี “ส.ส. พลังดูด” อีก 5 คน ที่อยู่ในวงการการเมืองมายาวนาน และมีฐานเสียงเข้มแข็ง แต่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2554 เมื่อลงสมัครในนามของพรรคพลังประชารัฐในปี 2562 ก็ชนะการเลือกตั้งได้ ได้แก่ ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์, สุชาติ ตันเจริญ, อนุชา นาคาศัย, มณเฑียร สงฆ์ประชา และวีระกร คำประกอบ
 
 
และยังมีคนที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2554 อีก 3 คน ที่เมื่อลงสมัครในนามของพรรคพลังประชารัฐในปี 2562 แล้ว “สอบตก” ได้แก่ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีตส.ส.แบบแบ่งเขต พรรคไทยรักไทยและส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, กล่ำคาน ปาทาน อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และ นพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล อดีตส.ส.แบบแบ่งเขต พรรคไทยรักไทย
 
 
ข้อมูลสถิติทั้งหมดนี้นี้ยังไม่นับรวม อัครวัฒน์ อัศวเหม ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 1 จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งผลการเลือกตั้งในปี 2562 เขาลงเลือกตั้งในเขต 1 จังหวัดสมุทรปราการ ว่าเป็นหนึ่งใน “ส.ส.พลังดูด” เนื่องจากเดิมเขาสังกัดพรรคมาตุภูมิ และในปี 2561 คณะกรรมการบริหารของพรรคมาตุภูมิ ได้มีมติเลิกพรรค จึงไม่ได้นับว่า อัครวัฒน์ถูกดึงดูดให้ย้ายมาจากพรรคอื่น