เลือกตั้ง 62: มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ยังลงมติไม่ไว้วางใจ ‘พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ไม่ได้

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป ผ่านไปแล้วในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลว่าใครจะได้เป็น ส.ส. อย่างเป็นทางการภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และภายใน 15 วันหลังจากนั้น หรือ 24 พฤษภาคม 2562 ส.ส. ชุดใหม่จะเข้าทำหน้าที่ในสภาเป็นครั้งแรก ในวันเปิดประชุมรัฐสภา
รัฐสภา หรือฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบและคานอำนาจกับรัฐบาล หรือฝ่ายบริหาร ซึ่งขณะที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภา ส.ส. เพื่อเลือกตั้งใหม่ ส.ส. ก็มีสิทธิในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่งได้
“การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” หรือ สิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 151 โดยมีขั้นตอนดังนี้
1) ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภา หรือ ส.ส. 100 คน ขอใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือรายคณะ
2) เมื่ออภิปรายทั่วไปเสร็จแล้ว โดยไม่มีการผ่านระเบียบวาระไปหรือการขอถอนญัตติดังกล่าว ให้มีการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในวันถัดไป
3) มติไม่ไว้วางใจต้องใช้ ส.ส. จำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภา หรือ ส.ส. 251 คน
โดยระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมตรีจะยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่มีการถอนญัตติ หรือลงมติไม่ไว้วางใจไม่สำเร็จ และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (3) เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ดี ส.ส. ชุดใหม่ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำหน้าที่ในเดือนพฤษภาคม 2562 จะไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ได้ เนื่องจาก บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 วรรค 2 ได้คุ้มครองเอาไว้ โดยยกเว้นไม่ให้ต้องพ้นจากตำแหน่งในกรณีสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ
นอกจากนี้ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ยังระบุอีกว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งใหม่ภายหลังการเลือตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่” หรือให้รัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ยังทำหน้าที่ต่อไปจนมีจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน จนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ รัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ ก็ยังคงอำนาจเต็ม ไม่ใช่แค่รัฐบาลรักษาการ ยังมีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณและแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้อยู่ และพล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังคงอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 อยู่อีกด้วยเช่นกัน