การเมืองสองขั้ว: ท่าทีพรรคกลาง-เล็ก หนุน คสช.

ผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 อย่างไม่เป็นทางการ ทำให้การเมืองชัดเจนว่าแบ่งออกเป็นสองขั้วเพื่อแข่งกันจัดตั้งรัฐบาล คือ ขั้วแรกที่เรียกว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำรวมกับอีกอย่างน้อย “หกพรรค” คือ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคเศรษฐกิจใหม่ และขั้วที่สอง คือ “ฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.” ที่มีอย่างน้อย “สองพรรค” คือ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ทั้งนี้หากนำคะแนนดิบอย่างไม่เป็นทางการและที่นั่ง ส.ส. เขต ที่ กกต. ประกาศมาคำนวนหาที่นั่ง ส.ส. ตามสูตรที่ปรากฎในกฎหมายเลือกตั้งฯ “ขั้วเพื่อไทย” จะได้ที่นั่ง ส.ส. 253 ที่นั่ง และ “ขั้วพลังประชารัฐ” จะได้ที่นั่ง ส.ส. 123 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามด้วยสูตรคำนวนที่นั่งใหม่สุดพิศดารของ กกต. ทำให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์สามารถได้ที่นั่ง ส.ส. ส่งผลให้ตัวเลขที่นั่ง ส.ส. ของขั้วเพื่อไทยลดเหลือ 246 ที่นั่ง ส่วนขั้วพลังประชารัฐลดเหลือ 121 ที่นั่ง และมีเกิด 11 พรรคเล็ก ได้ ส.ส. พรรคละหนึ่งที่นั่งในสภา

พรรคเล็กจำนวน 12 พรรค ตัวแปรจัดตั้งรัฐบาล

จำนวนที่นั่ง ส.ส. 11 ที่นั่ง จาก 11 พรรคเล็กที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์บวกกับพรรคประชาธิปัตย์ 52 ที่นั่ง, พรรคภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง, พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง, พรรคชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง, พรรคพลังท้องถิ่นไทย 3 ที่นั่ง, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง และพรรคพลังชาติไทย 1 ที่นั่ง ทำให้มี ส.ส. จำนวน 133 ที่นั่ง จาก 17 พรรคการเมือง ที่หากตัดสินใจว่าจะอยู่ขั้วการเมืองไหนก็จะทำให้ฝั่งนั้นมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

โดยเฉพาะเสียงเล็กเสียงน้อยจากพรรคการเมืองขนาดเล็กเพียงเสียงเดียวที่กระจายไปถึง 12 พรรค ย่อมมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้มีพรรคเล็กจำนวนหนึ่งประกาศชัดว่าพร้อมสนับสนุน คสช. เช่น พรรคประชาชนปฏิรูป และพรรคไทยศรีวิไลย์ โดยยังไม่มีพรรคเล็กพรรคใดประกาศว่าจะสนับสนุนขั้วพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคที่ยังไม่ประกาศชัดว่าจะร่วมกับฝั่งใดก็คาดการณ์ว่าน่าจะร่วมกับ คสช. เพราะเป็นฝั่งที่มีแนวโน้มสูงว่าจะสามารถเป็นรัฐบาลต่อได้  

สองทางเลือก ปชป. หนุนประยุทธ์สืบทอดอำนาจ หรือเป็นฝ่ายค้านอิสระ

ตัวเลข ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ 52 ที่นั่งของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องการลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทันที เพราะจำนวนดังกล่าวต่ำกว่าเป้าที่วางเอาไว้ก่อนการเลือกตั้งที่คาดว่าจะได้ไม่น้อยกว่า 100 ที่นั่ง สำหรับเงื่อนไขที่เกิดขึ้นยากที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ คือการเข้าร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคนี้คือฝั่งตรงข้ามทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์มาเกือบ 20 ปี

ขณะที่การเข้าร่วมรัฐบาลกับฝั่งพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. คือสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะบรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ “ปีก กปปส.” มีแนวคิดทางการเมืองเหมือนกับ คสช. คือปกป้องชาติจากระบอบทักษิณ อย่างไรก็ตามการประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนเลือกตั้งของอภิสิทธิ์ ก็ทำให้อีกฟากหนึ่งภายในพรรคโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า “NEW DEM” เสนอแนวทาง “ฝ่ายค้านอิสระ” เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติเท่านั้น

อย่างไรก็ตามสภาพของพรรคประชาธิปัตย์ที่ขาดผู้นำ และภายในพรรคที่ขาดเอกภาพ ทำให้ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชัดเจนว่าจะยืนอยู่ตรงไหนในเกมส์จัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้

พรรคภูมิใจไทย ชัดไม่ร่วมพรรคจาบจ้วงสถาบันฯ และไม่รีบแก้รัฐธรรมนูญ

พรรคภูมิใจไทย ถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่เนื้อหาหอมที่สุด เพราะมีที่นั่ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการจำนวนมากที่สุดถึง 51 ที่นั่ง และยังถูกมองว่าสามารถเข้าร่วมได้กับสองฝั่งการเมือง ด้วยเหตุนี้ถ้าพรรคภูมิใจไทยตัดสินใจเข้าร่วมกับฝั่งไหนย่อมจะทำให้รัฐบาลของอีกฝั่งมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้จะเป็นที่จับตามองแต่ท่าทีของ อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรค ก็ประกาศชัดว่าให้รอความชัดเจนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ กกต. รับรองผลอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่ประกาศเลือกฝั่งใด แต่จากจุดยืนที่ อนุทิน กล่าวผ่านสื่อมวลชนหลายครั้งว่า หลักการร่วมรัฐบาล คือ 1. พรรคนั้นต้องไม่มีความขัดแย้ง 2. ต้องรักประชาชน 3. ต้องเทิดทูนสถาบัน และ 4. ต้องทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง ซึ่งจากจุดยืนดังกล่าวแม้ อนุทิน จะไม่บอกว่าจะร่วมรัฐบาลกับฝั่งไหนแต่ก็เห็นได้ชัดว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยที่มีพรรคอนาคตใหม่เป็นแนวร่วม นั่นเพราะพรรคอนาคตใหม่ถูกข้อหาการจาบจ้วงสถาบันฯ และการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่วาระหลักของพรรคภูมิใจไทยเหมือนกับพรรคอนาคตใหม่

แม้ คสช. เป็นรัฐบาลได้ แต่ก็ไร้เสถียรภาพ

การจับขั้วตั้งรัฐบาลคาดว่าพรรคที่ยังไม่แสดงออกว่าจะร่วมกับฝั่งใดมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมกับฝั่งสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งถ้าพรรคเหล่านี้ทั้งหมดร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ จะมีที่นั่งอย่างไม่เป็นทางการ 254 ที่นั่ง และบวกกับ ส.ว. 250 ที่นั่ง ก็จะมี 504 เสียงที่จะลงคะแนนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัยหนึ่งอย่างสบายๆ แต่การเมืองไทยซับซ้อนกว่านั้น เพราะเสียงของ ส.ส. ที่มี 254 ที่นั่ง จาก 19 พรรคที่สนับสนุน คสช. ทำให้รัฐบาลมี “เสียงปริมน้ำ” คือเกินครึ่งหนึ่งของสภาเพียงสี่เสียง ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้ เพราะการต่อรองในสภาและรัฐบาลจะสูงมากและการขาดไปเพียงเสียงเดียวอาจส่งผลถึงความเป็นความตายของรัฐบาลได้ 

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ