ความมึนงงในการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เมื่อเขียนสูตรเลขด้วยภาษานิติศาสตร์

เรื่องโดย อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา
ภาพโดย ภัณฑิรา ทองเชิด
เผยแพร่ครั้งแรกที่ The Momentum
หลังเลือกตั้ง ‘62 ผ่านมา สิ่งที่คนในชาติน่าจะคิดเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหลังได้ลองใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับด้วยตัวเอง ก็คือข้อค้นพบที่ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 นี้มีความประหลาด การออกแบบการเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญหา และการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่น่าจะเรียกได้ว่า สอบไม่ผ่าน
ปมสำคัญที่ยังเป็นแผลเหวอะในเวลานี้ ก็คือความสับสนงุนงงในเรื่องการคำนวณคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะแม้เวลานี้จะมีการเปิดเผยคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้ว 100% แต่ผ่านไปหลายวัน สื่อและพรรคการเมืองต่างๆ ยังคำนวณจำนวนปาร์ตี้ลิสต์ได้ผลลัพธ์ออกมาแตกต่าง เพราะมาตรา 128 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นมาตราเจ้าปัญหา ที่เขียนสูตรคณิตศาสตร์ด้วยภาษานิติศาสตร์ ที่แม้แต่ กกต. เองก็ยังไม่ยอมออกมาฟันธงว่าจะต้องใช้สูตรคำนวณแบบใด 
 

พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 128

มาตรา 128 ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งแล้ว การคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะพึงได้รับ ให้คํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตําแหน่ง
(1) นําคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
(2) นําผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจํานวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จํานวนที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คํานวณตาม (5) (6) หรือ (7) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้
(3) นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น
(4) ภายใต้บังคับ (5) ให้จัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (3) เป็นจํานวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน
ในกรณีมีเศษเท่ากัน ให้ดําเนินการตาม (6)
(5) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่ีพรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ํากว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)
(6) ในการจัดสรรตาม (5) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน กรณีที่เศษที่เหลือของแต่ละพรรคการเมืองเท่ากันจนทําให้ไม่สามารถจัดสรรสมาชิกสภาผ้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้นําค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน และหากยังมีจํานวนค่าเฉลี่ยดังกล่าวเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลาก
(7) ในกรณีที่เมื่อคํานวณตาม (5) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดําเนินการคํานวณปรับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคํานวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบและให้นํา (4) มาใช้ในการคํานวณด้วยโดยอนุโลม
(8) เมื่อได้จํานวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนเวลาปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นําคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้ มาคํานวณตาม (1) และ (2) ด้วย ทั้งนี้ การดําเนินการตาม (1) ถึง (8) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกําหนด

 

เราทดลองตีความมาตรา 128 และรวบรวมการตีความที่ปรากฏในสื่อต่างๆ พบว่า มีวิธีคำนวณออกมาได้อย่างน้อยๆ 2 วิธี ที่อาจได้ผลลัพธ์ 3 แนวทาง (ในความเป็นจริงมีคนคิดออกมาได้อีกหลายแนวทาง แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นการตีความไกลเกินไปจึงขอตัดทิ้งไป ไม่นำมาคิดในบทความนี้)
วิธีที่ 1 : พรรคที่ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ก็คือพรรคที่ได้ส.ส.พึงมี อย่างน้อย 1 ที่นั่ง
วิธีแรกนี้ ยึดกฎเหล็กเป็นพื้นฐานก่อนว่า พรรคการเมืองจะได้ ส.ส.ไป 1 ที่นั่งก็ต่อเมื่อมีคะแนนดิบรวมเกินจำนวนเฉลี่ยประชากรต่อ ส.ส. 1 คนเสียก่อน ซึ่งคิดง่ายๆ โดยเอาคะแนนบัตรดีทั้งประเทศหารจำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 ที่นั่ง ซึ่งตอนนี้ คิดเป็น 71,065.2940 เสียงขึ้นไป 
ในการคำนวณแบบแรกนี้ ยึดหลักที่ว่า เมื่อนำค่า “ส.ส.พึงมี” ลบด้วย ส.ส.ที่ชนะจากระบบแบ่งเขตแล้ว จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อขั้นต้นที่จำนวนอย่างน้อย ‘หนึ่งคน’ ขึ้นไป 
วิธีนี้ดูจะสมเหตุสมผลตรงที่ว่า ทุกพรรคที่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อย่างน้อยก็ต้องเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงรวมเกิน 71,065.2940 เสียงขึ้นไป เพราะมาตรา 128 (5) ย้ำเอาไว้ว่า การเกลี่ยคะแนน จะต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองมีที่นั่ง ส.ส. ‘เกิน’ จํานวน ส.ส.พึงมี ซึ่งหลักการนี้ก็พึงนำมาใช้กับทุกๆ เงื่อนไขด้วย
ตามสูตรนี้จะมีพรรคที่เข้าเกณฑ์ได้ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งสิ้น 15 พรรค (ไม่รวมพรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส. จากระบบแบ่งเขตไปเกินโควต้าแล้ว) แต่ปรากฏว่าจำนวนที่นั่งที่ได้ก็เกิน 150 ที่นั่ง ทำให้ต้องคำนวณเทียบบรรญัติไตรยางค์ให้เหลือ 150 ที่นั่งพอดี
แต่คำถามคือ จะเทียบบัญญัติไตรยางค์ให้เหลือ 150 ที่นั่งในขั้นตอนใด ซึ่งตามที่กฎหมายเขียนไว้ เวลานี้มีคนตีความแตกวิธีคิดได้เป็นสองแบบ นั่นคือ
วิธีที่ 1A ให้นับเฉพาะจำนวนเต็มก่อน ค่อยจัดการให้ได้ 150 ที่นั่ง แล้วจึงนับเศษสูงสุด
วิธีนี้ตีความการคำนวณตามที่เขียนในมาตรา 128 (4) ที่ให้จัดสรรจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เป็นจำนวนเต็มก่อน ค่อยปัดเศษ 
มาตรา 128 (4) อธิบายวิธีการนับที่นั่งให้ชัดเจนแล้วว่า ให้นับเฉพาะจำนวนเต็มก่อน หากยังมีที่ว่างค่อยใช้เศษทศนิยมภายหลัง และมาตรา 128(7) ก็อธิบายถึงการคำนวณในกรณีที่จำนวนปาร์ตี้ลิสต์เกิน 150 ไว้ด้วยว่า ให้เทียบบัญญัติไตรยางค์ใหม่อีกครั้งและหากได้เศษทศนิยม ก็ให้ใช้จำนวนเต็มก่อน ทำวิธีเดียวกับ (4) 
สำหรับวิธี 1A นี้ นับจำนวนที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากจำนวนเต็มก่อน ซึ่งปรากฏว่าได้รวม 152 ที่นั่ง จึงค่อยเทียบบัญญัติไตรยางค์จำนวนเต็มเหล่านี้ให้ลดสัดส่วนลงมาให้ได้รวม 150 ที่นั่ง เมื่อทำขั้นตอนนี้แล้ว ปรากฏว่านับจำนวนเต็มได้ 138 ที่นั่ง จึงค่อยจัดสรรให้พรรคที่ได้เศษทศนิยมสูงสุดอีก 12 พรรคเข้ามา ดังตารางสีฟ้าที่เห็นนี้
 
วิธีที่ 1B จัดการให้เหลือ 150 ที่นั่งก่อน ค่อยนับจำนวนเต็ม แล้วค่อยเกลี่ยเศษ
วิธีนี้นำคะแนนของพรรค เฉพาะพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พึงมีเบื้องต้น 1 ที่นั่งขึ้นไปมารวมกัน แล้วเทียบบัญญัติไตรยางค์ให้ได้ 150 เสียก่อน จึงค่อยปัดเศษ
วิธีนี้ สำหรับคนที่เคร่งครัดเรื่องตัวเลขอาจรู้สึกสมเหตุสมผลที่สุด เพราะใช้การปัดเศษเพียงแค่หนึ่งครั้ง ค่าความคลาดเคลื่อนก็จะไม่มากนัก แต่กฎหมายก็ไม่ได้เขียนชัดว่าให้ทำวิธีนี้ หรือหากจะอ่านเฉพาะมาตรา 128(7) โดยไม่สนใจพื้นฐานวิธีคิดที่เขียนในวรรคก่อนหน้า ก็อาจตีความเป็นเช่นนี้ได้
สำหรับวิธี 1B นี้ เริ่มนับจำนวนปาร์ตี้ลิสต์รวมโดยไม่ปัดเศษ ได้ที่ประมาณ 160.6345 ที่นั่ง แล้วจึงเทียบบัญญัติไตรยางค์ให้เหลือ 150 ที่นั่ง จากนั้นจึงนับเฉพาะจำนวนเต็ม ซึ่งรวมได้ 142 ที่นั่ง ยังขาดอีก 8 ที่นั่งจึงใช้ค่อยจัดสรรให้พรรคที่มีเศษทศนิยมสูงสุดตามลำดับ ดังที่เห็นในตารางสีส้ม
 
วิธีที่ 2 : นำคะแนน ‘ทุกพรรค’ มาคำนวณให้เหลือ 150 แล้วจึงจัดลำดับปัดเศษ  
วิธีนี้ คล้ายวิธีที่ 1B แต่ตีความแบบสุดโต่ง คือนำคะแนนของ ‘ทุกพรรค’ มาคำนวณ รวมถึงพรรคที่ได้คะแนนน้อยที่สุดอย่างพรรคกสิกรไทยที่ได้ 183 เสียงก็จะเข้ามาอยู่ในสมการนี้ ทำให้ต้องรวมคะแนนของพรรคที่เห็นชัดอยู่แล้วว่าไม่ได้ที่นั่ง แต่นำมาเพิ่มตัวหารเพื่อเกลี่ยให้เหลือ 150 ที่นั่ง ซึ่งพรรคเล็กพรรคน้อยที่ไม่มีโอกาสจะได้คะแนนเหล่านี้จะมาดึงค่าเฉลี่ยลง จนทำให้พรรคที่ได้คะแนนน้อยกว่าได้เปรียบพรรคที่ได้คะแนนมากกว่า เข้าข่ายที่จะเป็นการเลือกตั้งที่คนได้คะแนนเยอะมีโอกาสเป็นผู้แพ้
ผลลัพธ์ก็คือ จะมีพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ‘ส.ส. 1 คนต่อประชาชน 71,065.2940 เสียง’ แต่กลับได้ที่นั่งไปโดยปริยาย ซึ่งมีทั้งสิ้น 14 พรรค
วิธีนี้ดูจะมีความสมเหตุสมผลน้อยที่สุด เพราะทำให้มีพรรคที่ได้คะแนนเพียงแค่ 27,799 เสียงแต่ก็ได้ที่นั่งไปด้วย หากยืนยันจะใช้วิธีนี้ก็ต้องหาคำอธิบายว่า เพราะเหตุใดจึงสามารถคำนวณแย้งมาตรา 128 (5) โดยอนุญาตให้มีพรรคการเมืองได้ที่นั่ง ส.ส.สูงกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี ดังที่เห็นในตารางสีเขียว
 
จากแนวทางการคำนวณที่ให้ผลลัพธ์ออกมาค่อนข้างแตกต่างกัน 3 แนวทางนี้ ยิ่งชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของการทำงาน ที่ กกต.ซึ่งควรจะรู้ดีอยู่แก่ใจว่าควรใช้แนวทางใด แต่ยังใบ้บึ้งกับเรื่องนี้มาจนถึงตอนนี้ ก็น่าจะแปลความหมายได้เช่นกันว่า กกต. ยังไม่มีเหตุผลที่ดีพอที่จะนำมาใช้สนับสนุนคำตอบของตน ไม่ว่าจะเป็นหลักคณิตศาสตร์หรือหลักนิติศาสตร์ก็ตาม 
และในยามที่ความไว้วางใจต่อองค์กรอิสระและผลการเลือกตั้งยังสั่นคลอนอยู่เช่นนี้ การที่ กกต. เว้นช่องว่างนานขนาดนี้ ก็ยิ่งทำให้อคติทางการเมือง ไม่ว่า จากแนวคิดฝ่ายใด เข้ามาแทรกแซงได้ง่ายยิ่งขึ้น