เลือกตั้ง 62: ย้อนตำนาน “งูเห่า” การเมืองไทย กับความเป็นไปได้ของงูเห่าภาค 3 เมื่อสภาเสียงปริ่มน้ำ

ชาวนากับงูเห่า เป็นหนึ่งในนิทานของอีสป กวีชาวกรีกที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวนาที่ช่วยเหลืองูเห่าที่กำลังจะแข็งตายเพราะอากาศหนาว แต่ปรากฎว่าเมื่อได้รับการช่วยเหลือจนฟื้นกำลังงูก็กัดชาวนาจนถึงแก่ความตาย นิทานของอีสปถูกนำมาใช้เป็นคติสอนใจเรื่องการทำประโยชน์กับคนไม่ดีซึ่งท้ายที่สุดผู้ให้ความช่วยเหลือจะเป็นคนเดือดร้อนเสียเอง 

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คำว่า “งูเห่า” ถูกนำมาใช้เรียกขานส.ส.ที่ฝืนมติพรรคไปยกมือสนับสนุนบุคคลที่อยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี โดยผู้ที่นำคำว่า “งูเห่า” มาใช้เรียกขานปรากฎการณ์ทางการเมืองครั้งแรกคือสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 และอดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทย

งูเห่าภาคแรก: วัฒนา อัศวเหม แหกมติพรรคประชากรไทยชู ‘ชวน’ เป็นนายก

ในเดือนพฤศจิกายน 2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศลาออกหลังมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทจนส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง หลังการลาออกของพล.อ.ชวลิต ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นต่างพยายามรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่ฝ่ายตัวเองสนับสนุน 

พรรครัฐบาลในขณะนั้นซึ่งประกอบด้วยพรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคประชากรไทย และพรรคมวลชน มีมติจะสนับสนุนพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป  ขณะที่ พรรคฝ่ายค้านเดิม นำโดย พรรคประชาธิปัตย์  พรรคชาติไทย พรรคเอกภาพ  พรรคพลังธรรม พรรคไท และอดีตร่วมรัฐบาลสมัย พล.อ.ชวลิตอีกสองพรรค ได้แก่ พรรคกิจสังคม และ พรรคเสรีธรรม ก็พยายามรวบรวมเสียงเพื่อสนับสนุน ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเป็นนายกรัฐมนตรี 

ณ เวลานั้น พรรคร่วมรัฐบาลสามารถรวบรวมเสียงเบื้องต้นได้ 197 เสียงขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพันธมิตรที่หนุนชวน หลีกภัยเป็นนายกสามารถรวบรวมเสียงเบื้องต้นได้ 196 เสียงซึ่งน้อยกว่าพรรครัฐบาลเดิมเพียงเสียงเดียว พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นไปชักชวนส.ส.พรรคประชากรไทยกลุ่มของวัฒนา อัศวเหม จำนวน 13 คนให้ยกมือสนับสนุนชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่มติของพรรคประชากรไทย พรรคต้นสังกัดของส.ส.กลุ่มนี้มีมติสนับสนุนพล.อ.ชาติชาย การย้ายข้างของส.ส.กลุ่มนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคที่สนับสนุน ชวน หลีกภัย รวบรวมเสียงได้ 209 เสียง มากกว่าพรรครัฐบาลเดิมและดันให้ชวน หลีกภัยเป็นนายกได้สำเร็จ 

สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยต้นสังกัดของวัฒนาและส.ส.กลุ่มปากน้ำ พูดถึงกรณีการยกมือสนับสนุนชวน หลีกภัย ของลูกพรรคว่า  ตัวเขาเป็นเหมือนชาวนาในนิทาน”ชาวนากับงูเห่า” เพราะเก็บงูที่กำลังจะหนาวตายมาไว้ในอกเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่นแต่กลับถูกกัดตาย โดยไทยรัฐออนไลน์ตั้งข้อสังเกตว่าสมัครน่าจะเปรียบเทียบตัวเองในลักษณะดังกล่าวเพราะส.ส. กลุ่มของวัฒนา อัศวเหม เดิมเคยสังกัดพรรคชาติไทย แต่ต่อมามีปัญหากับบรรหาร ศิลปอาชา จนถึงต้องออกจากพรรคแล้วได้มาสังกัดพรรคประชากรไทย แต่ต่อมากลับมาลงคะแนนเลือกชวน หลีกภัยซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดมติพรรค 

การที่สมัครใช้คำว่า “งูเห่า” เรียกส.ส.กลุ่มของวัฒนาได้กลายเป็นคำเรียกที่สื่อในสมัยนั้นใช้เรียกส.ส.กลุ่มเหล่านั้นต่อมา หลังเกิดเหตุการณ์ยกมือขัดมติพรรค ส.ส.กลุ่มของวัฒนาถูกขับออกจากพรรคประชากรไทย และมีส.ส.ในกลุ่มสี่คนที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของชวน หลีกภัย ได้แก่ วัฒนา อัศวเหม ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประกอบ สังข์โต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมและ ยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

งูเห่าภาค 2 : กลุ่มเพื่อนเนวินซบภูมิใจไทยหนุนมาร์คเป็นนายก

เหตุการณ์ยกมือเลือกนายกแบบย้ายข้างเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2551 เมื่อส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินที่แยกตัวไปสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายค้านในขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดเป็นตำนาน “งูเห่า” ภาค 2 

วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย จากกรณีที่มีการกล่าวหาว่ายงยุทธ ติยะไพรัช จากพรรคพลังประชาชน มณเฑียร สงฆ์ประชา จากพรรคชาติไทย และสุนทร วิลาวัลย์ จากพรรคมัชฌิมาธิปไตยทุจริตการเลือกตั้ง โดยที่ทั้งสามมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองทั้งสามและสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งสามพรรคเป็นเวลา 5 ปี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ซึ่งเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนอยู่ในขณะนั้นก็พ้นจากตำแหน่ง 

ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบส่วนหนึ่งย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองที่ก่อตั้งใหม่ในช่วงเดือนกันยายน 2551 ขณะที่ส.ส.ของอดีตพรรคพลังประชาชนกลุ่มเพื่อนเนวิน เช่น บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และ ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ไม่ได้ย้ายตามมาพรรคเพื่อไทยแต่ไปร่วมกับพรรคภูมิใจไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2551 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ โดยมีวาระสำคัญคือการเลือกบุคคลดำรงตำแหน่บงนายกรัฐมนตรีแทนสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะพรรคพลังประชาชนถูกยุบและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง พรรคเพื่อไทยซึ่งประกอบด้วยส.ส.ที่มาจากพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบสนับสนุน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์สนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและอดีตผู้นำฝ่ายค้านเป็นนายกรัฐมนตรี  

สำหรับการรวบรวมเสียงในขณะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ติดต่อสี่พรรคร่วมรัฐบาลเดิม คือ พรรคชาติไทย สมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดินบางส่วน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ในการสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคเพื่อไทยพยายามรวมเสียงกับส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินบางส่วนและพรรคประชาราชเพื่อสนับสนุนพล.ต.อ.ประชา พรหมนอกเป็นนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นไปทาบทามเนวิน ชิดชอบ ซึ่งแม้จะอยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีจากกรณีที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบในปี 2550 แต่ยังคงมีพวกพ้องที่เป็น ส.ส. ของอดีตพรรคพลังประชาชน 24 คน 

ให้ย้ายข้างมาสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกจนท้ายที่สุด พรรคประชาธิปัตย์รวบรวมเสียงได้ 235 เสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทยและฝ่ายที่สนับสนุนพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รวบรวมเสียงสนับสนุนได้ 198 เสียง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้เป็นนายกและทำการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำขณะที่ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินเช่น บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และ ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ที่ย้ายข้างมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้รับตำแหน่งในครม.อภิสิทธิ์ บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนประจักษ์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 

การย้ายข้างทางการเมืองอาจจะดูเป็นเรื่องปกติแต่เหตุที่การย้ายขั้วของส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินถูกเรียกขานว่าเป็นปรากฎการณ์ “งูเห่า” ภาค 2 น่าจะเป็นเพราะความสัมพันธ์ของเนวิน ชิดชอบ กับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นที่รับรู้ในทางสาธารณะว่ามีความเกี่ยวข้องกับทั้งพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย (ในสมัยอดีตพรรคพลังประชาชนหาเสียงเคยใช้คำขวัญ “ชอบสมัคร รักทักษิณ เลือกเบอร์ 12” ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองก็มีอดีตนักการเมืองคนสำคัญอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เคยร่วมงานกับอดีตนายกทักษิณตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยมาเป็นแกนนำในการลุยศึกเลือกตั้ง 62 รวมทั้งประกาศจะใช้นโยบายเศรษฐกิจของอดีตพรรคไทยรักไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ) มีความแนบแน่น ตามรายงานของ New TV เนวิน ชิดชอบเป็นผู้ที่สนับสนุนทักษิณมาตลอดตั้งแต่สมัยอยู่พรรคไทยรักไทย และในช่วงที่ทักษิณถูกยึดอำนาจเนวินก็ประกาศว่าจะสู้เพื่อทักษิณ New TV ยังอ้างด้วยว่าการจัดตั้งกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)  และกลุ่มคนรักทักษิณไม่เอาเผด็จการก็เป็นการผลักดันของเนวิน ชิดชอบ 

ในวันที่ 25 กันยายน 2550 เนวิน ชิดชอบ ยังเคยปราศรัยคัดค้านการยึดอำนาจของทหารรวมถึงพูดถึงอดีตนายกทักษิณในลักษณะปกป้องว่า

“1 ปี กับ 6 วันที่เราสูญเสียประชาธิปไตยให้กับเผด็จการ และยังสูญเสียนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งที่ประชาชนรักที่สุด วันนี้พิสูจน์แล้วว่าการรัฐประหารที่มีข้อกล่าวหามากมายนั้นใครชั่วและใครดี และพ.ต.ท.ทักษิณไม่ดีจริงๆ ประชาชนคงไม่คิดถึงขนาดนี้ 1 ปี 6 วันที่อยู่ใต้เผด็จการผมไม่เคยออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นเวลา 1 ปี 6 วัน ที่มีความหมายกับชีวิตการเมือง”  

สำหรับเหตุที่เนวินตัดสินใจย้ายข้าง สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์วิเคราะห์ไว้ว่าน่าจะเกิดจากกรณีที่หลังสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีเป็นพิธีกรจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ส่งสัญญาณให้ส.ส.พรรคพลังประชาชนไม่สนับสนุนสมัครเป็นนายกต่อเป็นสมัยที่สองก่อนจะไปผลักดันสมชาย วงศ์สวัสดิ์แทน 

โดยคอลัมน์พิเศษของผู้จัดการออนไลน์ที่เผยแพร่หลังอดีตนายกสมัคร สุนทรเวช เสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งตับเปิดเผยว่า ทักษิณติดต่อกับเนวินให้แจ้งส.ส.ในกลุ่มเพื่อนเนวินว่าให้ยกมือสนับสนุนสมัครเป็นนายกต่อ แต่เมื่อถึงวันที่ 12 กันยายน 2551 ซึ่งเป็นวันที่จะมีการประชุมสภาเพื่อเลือกนายกส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลกลับไม่มาร่วมประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบเปิดประชุมไม่ได้ หลังจากนั้นในวันที่ 17 กันยายน 2551 พรรคพลังประชาชนก็เสนอชื่อสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายกคนต่อมา 

ไทยรัฐออนไลน์วิเคราะห์ต่อไปว่าการไม่สนับสนุนสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เนวินรู้สึกเหมือนถูกหลอกใช้และต่อมาเมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ก็มีข่าวลือว่า “กลุ่มวังบัวบาน” ของเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของทักษิณและภริยาของอดีตนายกสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะคัดกรองไม่ให้ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินบางส่วนมาสังกัดพรรคเพื่อไทย ทำให้ท้ายที่สุดส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินจึงไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย และย้ายมาสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกแทนพล.ต.อ.ประชา พรมนอก ในที่สุด ซึ่งเนวินเองเคยพูดถึงการสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกว่า “ผมยอม เสียเพื่อน เสียนาย เสียพรรค เพื่อร่วมงานกับ พรรคประชาธิปัตย์”   

เมื่อเสียง “ปริ่มน้ำ” งูเห่าอาจหวนคืน

ในการเลือกตั้ง หากพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งชนะด้วยเสียงข้างมากจนยากที่ขั้วตรงข้ามจะรวบรวมเสียงได้ใกล้เคียง ปัญหาเรื่อง “ส.ส.งู” หรือ ส.ส.ที่ไปโหวตเลือกนายกแบบสวนมติพรรคคงเกิดขึ้นได้ยากเพราะพรรคการเมืองที่ต้องการพลิกสถานการณ์ของตัวเองอาจไม่มีทรัพยาการมากพอที่จะไปต่อรองให้เกิดการย้ายข้างและแม้จะต่อรองให้ส.ส.ขั้วตรงข้ามย้ายข้างได้สำเร็จการรวมเสียงก็อาจไม่พอจะพลิกสถานการณ์ได้ ขณะเดียวกันตัวส.ส.ที่จะย้ายข้างเองก็แบกราคากับความรับผิดชอบกับฐานเสียงของตัวเองไว้ด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ส.ส.คนดังกล่าวชนะการเลือกตั้งเพราะความนิยมของพรรคการเมืองที่ตัวเองสังกัด หากดูแล้วการย้ายข้างของตัวเองไม่สามารถพลิกสถานการณ์ให้พรรคที่เคยเป็นคู่แข่งของตัวเองได้ก็คงไม่คุ้มที่จะเอาคะแนนนิยมของตัวเองไปเสี่ยง  แต่หากคะแนนเสียงของพรรคการเมืองที่เป็นขั้วต่างกันไม่มากระดับ 10 – 20 เสียง การย้ายข้างของส.ส.ก็อาจเกิดขึ้นไม่ยากนักเพราะจำนวนส.ส.ที่ต้องชักชวนให้ย้ายข้างลดลงขณะที่ตัวส.ส.เองก็อาจมองเห็นความเป็นไปได้ที่เมื่อย้ายข้างไปแล้วอีกฝ่ายตั้งรัฐบาลได้สำเร็จตัวเองก็จะได้รับการปูนบำเน็จอย่างงาม

สำหรับการเลือกตั้ง 2562 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีพรรคการเมือง 6 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ  พรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังปวงชนไทย ที่ประกาศร่วมกันว่าจะจัดตั้งรัฐบาลและต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. โดยที่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลานี้ พรรคเพื่อไทยน่าจะได้ส.ส. 137 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 87 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 11 เสียง พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง พรรคประชาชาติ 6 เสียง และพรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง รวมกันได้ 247 เสียง ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มี 500 หากพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่ได้มาร่วมกันแถลงข่าวกับอีก 6 พรรค ทั้งนี้หัวหน้าพรรคเคยประกาศตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจและให้สัมภาษณ์ยืนยันคำพูดตัวเองหลังการเลือกตั้ง ตัดสินใจมาร่วมกับพรรคเพื่อไทยและอีกห้าพรรคที่เหลือ พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรก็จะมีเสียงเพิ่มอีก 6 เสียง รวมเป็น 253 เสียงซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับพรรคการเมืองที่ประกาศชัดเจนว่าเป็นขั้วตรงข้ามพรรคเพื่อไทยและจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อในเวลานี้มีพรรคพลังประชารัฐซึ่งตามผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการน่าจะได้ส.ส. 118 เสียง กับพรรครวมพลังประชาชาติไทยซึ่งน่าจะได้ส.ส. 5 เสียงรวมเป็น 123 เสียง ขณะที่พรรคการเมืองอีกสองพรรค อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่น่าจะได้ส.ส. 54 เสียง และพรรคภูมิใจไทยที่น่าจะได้ส.ส. 52 เสียงยังไม่ประกาศตัวชัดเจนว่าจะไปจับขั้วกับฝ่ายไหนโดยที่พรรคภูมิใจไทยเองก็ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ประกาศทิศทางใดๆจนกว่ากกต.จะรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 

อย่างไรก็ตามการประเมินความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้นอกจากจะต้องประเมินคะแนนเสียงส.ส.ที่ประชาชนเลือกตั้ง 500 คนแล้ว ยังต้องประเมินความเป็นไปได้ของการลงคะแนนเลือกนายกที่มาจากส.ว.อีก 250 คน ที่คสช.เป็นผู้แต่งตั้งด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้การเลือกนายกในช่วง 5 ปีแรกนับจากมีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเลือกร่วมกันระหว่างส.ส. 500 คน กับส.ว. อีก 250 คน รวมเป็น 750 คน ทำให้ถึงที่สุดแม้พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะตัดสินใจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีจากขั้วของพรรคเพื่อไทยเพื่อยืนยันหลักการว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ก็จะรวมกันแล้วได้เสียงเพียง 359 เสียง  

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ