ยุบพรรคไทยรักษาชาติ: อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ของพรรคการเมืองในมุมนักรัฐศาสตร์

วันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้อง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 กรณีเสนอชื่อ “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การยุบพรรคไทยรักษาชาติ จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มกองเชียร์อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยที่ย้ายมาพรรคไทยรักษาชาติ และอาจทำให้กลยุทธ์ ‘แตกแบงค์พัน’ ที่พรรคเพื่อไทยต้องการเอาชนะระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่ทำให้พรรคใหญ่เสียเปรียบต้องเสียกระบวน

อย่างไรก็ดี ในความเห็นของ ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะของผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองเปรียบเทียบ และการพัฒนาสถาบันทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มองว่า การยุบพรรคดังกล่าวเป็นการทำลายสิทธิของประชาชนที่จะมีตัวแทนทางการเมือง ทั้งที่พรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตย 

พรรคการเมือง ‘คนกลาง’ ของระบอบประชาธิปไตย

ดร.วีระ เล่าให้ฟังว่า หลักการทั่วไปในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะพรรคการเมืองเป็นกลไกที่มีขึ้นเพื่อเป็น ‘คนกลาง’ ในการรับข้อเรียกร้องจากประชาชน แล้วเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อทำข้อเสนอประชาชน

ทั้งนี้ ระบบพรรคการเมืองถูกออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนมีทางออกทางการเมือง ไม่ต้องออกมาทะเลาะกันบนท้องถนน เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับความคิดเห็นที่แตกต่าง และตัวแทนของแต่ละความคิด แต่ละอุดมการณ์ เข้าไปต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนเสียงของประชาชนมาสู่นโยบายสาธารณะ

พรรคการเมืองต้องตั้งง่าย พรรคควรได้รับการส่งเสริม

ดร.วีระ เล่าให้ฟังว่า การตั้งพรรคการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นสมาคม รวมถึงการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ทางการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย

โดยทั่วไป ในกลุ่มประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะรับรองสิทธิในการตั้งพรรคการเมือง อย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญของโคลอมเบียและมอลโดวา ได้รับรองสิทธิในการก่อตั้งขบวนการทางการเมือง พร้อมทั้งระบุว่า พรรคการเมืองต้องเกิดขึ้นได้ง่าย และต้องไม่ถูกจำกัดโดยคำสั่งของรัฐ 

ดร.วีระ มองว่า พรรคการเมืองควรได้รับการสนับสนุนให้มีความเป็นสถาบัน โดยให้ประชาชนหรือกลุ่มการเมืองสามารถรวมกลุ่มกันได้ง่าย กติกาไม่เยอะ แต่มีการกำกับที่ดี

ทั้งนี้ การทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน คือการทำให้กลุ่มทางการเมืองมีความเป็นทางการ ให้กลุ่มทางการเมืองสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองได้ เช่น สมาคมคนขับแท็กซี่ สมาคมชาวสวน เป็นต้น

ในมุมมองของ ดร.วีระ มองว่า การทำให้มีความเป็นทางการเช่นนี้ จะก่อให้เกิดความโปร่งใส ประชาชนเห็นภาพชัดเจนว่า พรรคการเมืองประกอบไปด้วยคนที่มีแนวคิดแบบไหน ต้องการจะขับเคลื่อนพรรคการเมืองไปแบบไหน ซึ่งการที่พรรคการเมืองเป็นเช่นนี้ จะทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการเลือกพรรคการเมืองต่างๆ

นอกจากนี้ พรรคการเมืองต้องมีการทำฐานสมาชิกให้เข้มแข็ง ให้คนทั่วไปเข้าร่วมได้ง่ายและเปิดกว้างให้กับกลุ่มเยาวชน โดยให้พรรคการเมืองเปรียบเสมือนสถาบันกวดวิชาทางการเมืองเพื่อทำให้เยาวชนตื่นตัวทางการเมือง และการที่มีคนเติบโตในระบบพรรคการเมืองก็จะทำให้เกิดความผูกผันในองค์กร กลายเป็นพรรคที่มีคนมีอุดมการณ์เข้ามาทำงาน ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่จะเอื้อให้เกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ จำเป็นจะต้องล้างภาพของการเมืองที่ดูเป็นเรื่องสกปรกออกไปเสียก่อน

กฎหมายพรรคการเมืองไทย ทำคนต้นทุนน้อยเสียโอกาส

แต่การจะทำพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันไม่ใช่เรื่องง่าย ในสายตา ดร.วีระ เนื่องจาก ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดเงื่อนให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการเมืองอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นกลุ่มชาวบ้าน 

เนื่องจาก กฎหมายกำหนดให้ต้องมีคนร่วมจัดตั้งพรรคอย่างน้อย 500 คน และต้องมีทุนจดทะเบียนตั้งพรรคไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท หรือหมายความว่า การทำพรรคการเมืองคุณต้องมีพร้อมทั้งเงินและคน

ดร.วีระ มองว่า ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคการเมืองจะยิ่งเป็นของนายทุน เพราะกฎกติกามันเอื้อให้กับคนที่มีทุนจัดตั้งพรรค มากกว่าคนธรรมดา ซึ่งเป็นคนส่วนมากของประเทศหรือสังคม

แม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะพอมีพรรคการเมืองที่ประกาศตัวว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ขาดทุนทางสังคม แต่กลุ่มคนที่ลงมาเล่นทางการเมืองก็ยังเป็นกลุ่มคนที่มีต้นทุนทางสังคมสูง มีเครือข่ายเพียงพอ ที่จะทำพรรคการเมืองได้

กฎหมายไทยควรยุบพรรคไม่ง่ายและป้องกันศาลเข้ามายุ่งการเมือง

ในมุมมองของนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ มองว่า การยุบพรรคการเมืองควรเป็นกิจกรรมที่ทำได้ยาก และต้องมีการกระทำความผิดที่ชัดเจน เช่น พรรคที่จะดำเนินการใดๆ ให้เกิดการเสียเอกราชของรัฐ พรรคการเมืองที่ล้มล้างอำนาจอธิปไตย 

ดร.วีระ ยกตัวอย่างรูปธรรมของความผิดในการยุบพรรค เช่น การรับเงินต่างชาติหรือให้ต่างชาติเข้ามาบงการพรรคการเมืองเพื่อให้ดำเนินการใดๆ ในกรณีเช่นนี้ ชัดเจนว่า ทำให้ผู้อื่นซึ่งมิใช่คนไทยมีอำนาจการปกครองเหนือกว่าหรือเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย 

หรือพรรคที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง เช่น พรรคที่ประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญให้ผู้นำประเทศเป็นการสืบทอดตำแหน่งโดยสายเลือด หรือการแก้ไขให้วิธีการเข้าสู่อำนาจไม่ใช่ด้วยการเลือกตั้ง แต่เป็นวิธีการอื่น หากเป็นแบบนี้ ก็อาจจะเข้าข่ายโดยยุบพรรคแต่ต้องมีหลักฐานชัดเจน 

ที่สำคัญ ดร.วีระ มองว่า  การล้มล้างรัฐธรรมนูญและการแก้รัฐธรรมนูญไม่เหมือนกัน เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับต้องมีช่องทางในการแก้ไขได้ การสัญญาว่าจะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญตามช่องทางที่ทำได้ แบบนี้ไม่ถือเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ดร.วีระ มองปัญหาสำคัญในสังคมไทย คือ ‘การตีความกฎหมาย’ อย่างของไทยยกอำนาจให้องค์กรพิเศษอย่างศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญ แต่ความท้าทายของศาลรัฐธรรมนูญคือ จะดำรงความเป็นกลางในการตีความอย่างไร และปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยเกิดขึ้นภายใต้สิ่งที่เรียกว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ คือให้ศาลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

“การดำเนินการใดๆ ทางการเมืองหรือนโยบาย พวกนี้เป็นอำนาจของฝ่ายการเมืองก็ควรแก้ด้วยการเมือง” ดร.วีระ กล่าว

ปัญหาที่ตามมาคือ ทำให้ประเด็นการยุบพรรคกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของทุกฝ่าย โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ ดร.วีระ มองว่า เป็นบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ เป็นการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อที่จะปิดปากอีกฝ่าย ยุบพรรคอีกฝ่าย ไม่ใช่การต่อสู้เชิงนโยบาย ที่เปิดข้อมูลมาถกเถียงกัน

ยุบพรรคไทยรักษาชาติ โจทย์ที่ควรแก้ด้วยการเมือง

สำหรับกรณี กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจากดำเนินการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ดร.วีระ มองว่า การเสนอชื่อแคนดิเดตเป็นอำนาจของฝ่ายการเมือง และไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง

ในประเทศไทยก็มีตัวอย่างของเชื้อพระวงศ์ที่ลงมาเล่นการเมือง เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ หรือ พระองค์วรรณ ก็เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร

ประเด็นการเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรคไทยรักษาชาติ ดร.วีระ มองว่า ถ้าเห็นว่าคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยรักษาชาติ กกต. ก็ชี้ว่าขาดคุณสมบัติ และไม่ต้องรับสมัครรายชื่อบุคคลดังกล่าวก็เพียงพอแล้ว ถ้าคุณสมบัติของแคนดิเดตไม่ขัด ก็ต้องปล่อยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจว่า เขาชอบพรรคการเมืองดังกล่าวหรือไม่

“เราควรเปิดช่องให้คนทุกคนเสนอตัวเป็นตัวแทนประชาชน ถ้าคุณสมบัติไม่ครบก็ต้องจัดการ คราวหน้าก็ต้องกำหนดคุณสมบัตินายกฯ ให้ชัดเจน ว่าจะให้เป็นแบบไหน” ดร.วีระ กล่าว