เลือกตั้ง 62: 4 สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ

ในวันที่ 7 มีนาคม 2562 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จากข้อกล่าวหา “กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งในวันดังกล่าวคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับทันทีเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ จึงเป็นที่สงสัยกันว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติออกมาจะส่งผลต่อพรรค กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคทั้งหมดอย่างไร

1) ยุบพรรคแล้ว ห้ามนำชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายที่ซ้ำหรือพ้องกลับมาใช้

สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติคือ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560  มาตรา 92 วรรค 2 กำหนดไว้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนแล้วพบว่ามีความผิดจริง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น  

ในส่วนของการยุบพรรคการเมืองนั้นกำหนดไว้ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 94 วรรค 1 ว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคําสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซ้ำ หรือพ้องกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น

กล่าวคือเมื่อศาลสั่งยุบพรรคการเมืองแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าพรรคการเมืองถูกศาลสั่งให้ยุบแล้ว และห้ามให้ใครใช้ชื่อ ชื่อย่อ เครื่องหมาย ซ้ำ หรือพ้องกับชื่อพรรคการเมืองที่ถูกยุบ โดยกำหนดความผิดไว้ในมาตรา 110 ว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 94 วรรค 1 ให้มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2)  กรรมการบริหารพรรคอาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต

พรรคไทยรักษาชาติประกอบไปด้วยกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 14 คน ได้แก่ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ, ฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1,  สุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2, พฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 3, พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรคคนที่ 4, รุ่งเรือง พิทยศิริ กรรมการบริหารพรรค (ลาออกแล้ว), จุลพงศ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรค, มิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค, ต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรคคนที่ 1, วิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรค, คณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรคคนที่ 3, พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรค, ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค และวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรค

ซึ่งหากพรรคไทยรักษาชาติถูกศาลตัดสินยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคทั้ง 14 คนจะถูกลงโทษตามมาตรา 94 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งห้ามให้ผู้ที่เคยดํารงตําแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก เป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองถูกยุบ หากฝ่าฝืนจะมีโทษจําคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังมีบทลงโทษตามมาตรา 92 วรรค 2 ของ พ.ร.ป.พรรคพรรคการเมือง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ ซึ่งอาจจะทำให้ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต

โดยชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยุบพรรค ทษช. จะส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคถูกประหารชีวิตทางการเมือง ถูกเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ตลอดชีวิตทันที ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (5) และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคท้ายที่ระบุว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น” ซึ่งในมาตรา 92 วรรค 2 ของ พรป.พรรคการเมืองไม่ได้กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิไว้ และมาตรา 98(5) ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า บุคคลที่อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

3)  ผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมดจะหมดสิทธิ์ลงเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากสังกัดพรรคการเมืองใหม่ไม่ทัน

นอกจากกรรมการบริหารพรรคที่จะได้รับผลกระทบจากการมีคำสั่งยุบพรรค ผู้สมัคร ส.ส. ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบในวันที่ 7 มีนาคม 2562 โดยพรรคไทยรักษาชาติส่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรวม 108 ลำดับ และในส่วนของ ส.ส.แบ่งเขต ส่งผู้สมัครรวม 174 เขต

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 97 (3) กำหนดให้คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งหากพรรคไทยรักษาชาติถูกสั่งยุบพรรคในวันที่ 7 มีนาคม 2562 ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคทั้งหมด จะไม่สามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ให้ได้ต่อเนื่อง 90 วันจนถึงวันเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญกำหนด ถึงแม้ผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมดที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคจะไม่ถูกสัดสิทธิทางการเมือง แต่ก็ทำให้ผู้สมัคร ส.ส. ทั้งหมดของพรรคถูกลอยแพ และพลาดโอกาสในการเลือกตั้งครั้งนี้ไป

4) หากกาบัตรเลือกตั้งในช่อง “พรรคไทยรักษาชาติ” ถือว่าเป็นบัตรเสีย

หากมีคำสั่งยุบพรรคจริงอีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ ในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหากใครกาช่องลงคะแนนพรรคไทยรักษาชาติ จะถือว่าเป็นบัตรเสียทันที

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ว่า  “สำนักงาน กกต. ได้ส่งพิมพ์บัตรเลือกตั้งไปแล้ว หากพรรคไทยรักษาชาติถูกศาลสั่งยุบพรรค ตามหลักการทั่วไป ผู้อำนวยการเขตเลือกตั้งจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นรับทราบว่า หากกากบาทในหมายเลขนั้นๆ จะถือเป็นบัตรเสีย”

You May Also Like
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่
อ่าน

รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

29 มีนาคม 2567 ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่าการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) รัฐสภาจะมีอำนาจในการลงมติพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 233 เสียง ไม่เห็นด้วย 103 เสียง และงดออกเสียง 170 เสียง