เลือกตั้ง 62: บทบาทหัวหน้าพรรคการเมืองจางหายไป?

ภายใต้กติกาการเลือกตั้งยุค คสช. ที่นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ยุทธศาสตร์ “วิ่งผลัด” เพื่อลดแรงกดดัน ของพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย ส่งผลให้บทบาทของผู้ดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” ค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลง ผู้ที่นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคบางคนกลายเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ที่ทำหน้าที่ออกวิ่งก่อนในยามจำเป็น ส่วนไม้สุดท้ายในเรื่องที่สำคัญที่สุดถูกส่งต่อให้เหล่า “ตัวจริง” ของพรรค
หลังปิดรับสมัคร ส.ส. ไปเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคการเมืองต่างยื่นเสนอ “บัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี” ต่อ กกต. และยื่นบัญชีผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อครบถ้วนแล้ว เราจึงได้เห็นว่า แต่ละพรรคปฏิบัติต่อผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอย่างไร และบทบาทของหัวหน้าพรรคการเมืองในยุคปัจจุบันยึดโยงกับความเป็นผู้นำ หรือเป็น “เบอร์หนึ่ง” ของพรรคการเมืองนั้นๆ หรือไม่
บรรดาพรรคที่ถูกจับตามอง กลุ่มที่มีโอกาสสูงในการจัดตั้งรัฐบาลและมีท่าทีทางการเมืองชัดเจน สองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่สนับสนุน คสช. ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ และกลุ่มที่ไม่สนับสนุน คสช. มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ต่างก็ไม่เสนอชื่อหัวหน้าพรรคของตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่กลุ่มซึ่งยังมีท่าทีไม่ชัดเจนและมีโอกาสได้ที่นั่งในสภาน้อยกว่า แต่อาจรอร่วมรัฐบาลได้กับทุกฝ่าย ยังคงมั่นคงและเสนอชื่อหัวหน้าพรรคของตนเป็นนายกรัฐมนตรี

กลุ่มสนับสนุน คสช.

“ พล.อ.ประยุทธ์  เป็นนายกฯ พปชร. เสนอ รพปท.หนุน”

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมที่เพิ่งลาออกมาเป็นหัวหน้าพรรค ตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้น คนที่ถูกมองกันว่าเป็นกุนซือที่จัดตั้งพรรคตัวจริงก็ ได้แก่ “กลุ่มสามมิตร” อันประกอบไปด้วย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมศักดิ์ เทพสุทิน เมื่อจัดตั้งพรรคได้ก็ไปเชิญรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. 4 คน ประกอบด้วย 1.อุตตม สาวนายน 2.สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ 3.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ และ 4.กอบศักดิ์ ภูตระกูล มานั่งเป็นหัวหน้าและตำแหน่งสำคัญๆ ของพรรค โดยรัฐมนตรีเหล่านี้ไม่สามารถลงสมัคร ส.ส. ได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้เนื่องจากไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วันนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทำให้คนที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญ อย่าง หัวหน้าพรรคก็ไม่สามารถลงสมัครทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อของพรรคได้
ตั้งแต่มีพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา ก็ถูกคาดหมายกันอยู่แล้วว่า จะมีขึ้นเพื่อส่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และในวันสุดท้ายของการรับสมัครพรรคนี้ก็เลือกที่จะไม่เสนอรายชื่อหัวหน้าพรรคของตนเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี แต่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว ดังนั้น ทุกคนจึงรู้จักพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคของ คสช. ได้มากกว่าจะรู้จักหัวหน้าพรรคตามตำแหน่งอย่าง อุตตม
พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รพปท.) ตั้งแต่การประชุมจัดตั้งพรรคครั้งแรก ไฮไลท์ก็ไปอยู่ที่สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่ประกาศไว้หนักแน่นว่า จะไม่กลับมาลงเล่นการเมืองอีก สุเทพเองก็ยังไม่กล้ากลืนน้ำลายตัวเองมากเกินไปจึงไม่รับตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และไม่ลงสมัครเอง แต่ก็เดินนำขบวนลงพื้นที่หาเสียงและขึ้นปราศรัยในนามของพรรค ช่วงแรกก็เหมือนจะดัน เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ให้เป็นหัวหน้าพรรค แต่สุดท้ายตำแหน่งนี้มาตกที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล  โสณกุล ซึ่งในสนามการหาเสียงมีบทบาทน้อยมาก และเป็นคนที่ออกมาพูดต่อสาธารณะในนามของพรรคน้อยมากถ้าเทียบกับสุเทพ พรรครวมพลังประชาชาติไทยไม่เสนอชื่อใครให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ประกาศว่า เมื่อได้เข้าสภาก็จะไปร่วมลงมติ ให้พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย ม.ร.ว.จัตุมงคล จึงยังมีศักดิ์ศรีเป็นผู้สมัครในระบบปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่งเท่านั้น

กลุ่มไม่สนับสนุน คสช. 

“เพื่อไทยเป็นหลัก แคนดิเดตนายกไม่เป็นหัวหน้า ป้องกันการถูกยุบพรรค แต่ก็สำรองแคนดิเดตนายกจากพรรคในเครืออื่นๆไว้”

พรรคเพื่อไทย ถูกกดดันอย่างหนักทั้งทางตรงและทางอ้อม หลังมีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ ส่งผลให้เกิด “พลังดูด” อดีต ส.ส.ขาประจำจากพรรคเพื่อไทย กว่า 40 คน ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือย้ายไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องการถูกยุบพรรค บทเรียนจากพรรคในอดีต อย่าง ไทยรักไทย และพลังประชาชน  และการต่อสู้ในกติกาใหม่ของ คสช. ส่งผลให้นโยบาย “แตกแบ็งค์พัน” ของพรรคเพื่อไทยเกิดขึ้น พร้อมกับการเกิดใหม่ของพรรคในตระกูล ”เพื่อ” ซึ่งเตรียมการเป็นตัวตายตัวแทนในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีกลุ่ม อดีต ส.ส. รุ่นใหญ่แยกย้ายกันไปคุมกำลัง อาทิ ยงยุทธ ติยะไพรัช พรรคเพื่อชาติ, สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อธรรม และจาตุรนต์ ฉายแสง พรรคไทยรักษาชาติ
พรรคหลักอย่างเพื่อไทย บุคคลที่สังคมจับตามองและมีบทบาทโดดเด่นในฐานะแม่ทัพการเลือกตั้ง ได้แก่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งนั่งตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และเป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อันดับหนึ่ง ส่วนบุคคลที่สังคมจับตามองอีกคนหนึ่งก็ปฏิเสธรับทุกตำแหน่งบริหารในพรรค และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค อันดับสอง คือ ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ที่มีการวิเคราะห์ว่า อาจถูกวางตัวเพื่อเป็น “นายกคนนอกฯ” ตามที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนดคุณสมบัติ นายกรัฐมนตรีไว้ว่า ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. ขณะที่ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่ง ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561  มีสถานะเป็นเพียง “หลังบ้าน” คอยดูแลและบริหารจัดการเรื่องภายในพรรค
พรรคไทยรักษาชาติ ที่สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ หลังเลือกที่จะไม่เสนอรายชื่อหัวหน้าพรรคของตนเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ส่งผลให้ถูก กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติทันที หลัง กกต. เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ระหว่างนี้แม้ว่า จะยังไม่มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญออกมา แต่จากการแถลงข่าวของจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ก็แสดงให้เห็นความกดดันของพรรคไทยรักษาชาติเกี่ยวกับการงดเว้นออกปราศรัยหาเสียงไประยะหนึ่ง ในส่วนของ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิชย์ หัวหน้าพรรคตามตำแหน่ง ซึ่งเป็นผู้สมัครปาตี้ลิสต์ อันดับหนึ่ง ตั้งแต่ต้นจนจบไม่มีการออกมาเคลื่อนไหวหรือแสดงความเป็นผู้นำพรรคในสภาวะวิกฤตแต่อย่างใด
พรรคอนาคตใหม่ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่โดดเด่นและมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง บทบาทของหัวหน้าพรรคนี้ ธนาะร จึงรุ่งเรืองกิจ โดดเด่นชัดเจน ทั้งเป็นนักธุรกิจเจ้าของเงินทุนในการดำเนินงานหน้าของพรรค และยังออกหน้าโดดเด่นที่สุดในนามพรรค กระทั่งเป็นกระแสความนิยมในโลกออนไลน์ #ฟ้ารักพ่อ กลายเป็นแฮ๊ซแท๊กยอดนิยมในทวิตเตอร์ และคนติดตามรอฟังธนาธรเป็นจำนวนมาก พรรคอนาคตใหม่จึงชูตัว ธนาธร เป็นทั้งหัวหน้าพรรค, แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และปาตี้ลิสต์อันดับ 1 ครบถ้วนทุกตำแหน่งเรียกได้ว่า เป็นตัวจริงเสียงจริงของพรรคนี้

กลุ่มไม่ชัดเจน

“ ไม่ซ้ายไม่ขวา เสนอชื่อหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ รอร่วมรัฐบาล”

พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับผลกระทบไม่แพ้พรรคเพื่อไทยจากการจัดตั้งพรรคของกลุ่มสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ หลังต้องสูญเสียอดีต ส.ส. เจ้าของพื้นที่ไปหลายจังหวัด ทั้งสุราษฎร์ธานี 9 คน และในกรุงเทพมหานคร 3 คน ให้กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย นอกจากนี้ยังมีบางส่วนในเขตภาคตะวันออกซึ่งก็ถูกพรรคพลังประชารัฐใช้นโยบายโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ช่วงชิงตัวไปไม่น้อยกว่า 14 คน
กระนั้น การจัดทัพใหม่โดยการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งล่าสุด จากแคนดิเดต 3 คน ได้แก่  อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, วรงค์ เดชกิจวิกรม และอลงกรณ์ พลบุตร สุดท้ายตำแหน่งยังคงเป็นของ อภิสิทธิ์ ซึ่งรักษาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ไว้ได้  โดยมีแนวร่วมคนสำคัญ คือ ชวน หลีกภัย  ประธานที่ปรึกษาฯของพรรค จากท่าทีทางการเมืองที่แสดงออกมา อภิสิทธิ์ยังหวังว่า พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้แม้จะมีโอกาสต่ำ อย่างไรก็ตามไม่ปฏิเสธที่จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคใดก็ตามที่สามารถทำให้นโยบายของพรรคเป็นจริง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ อภิสิทธิ์ถือเป็นหนึ่งในหัวหน้าพรรคไม่กี่คนที่มีบทบาทเป็นผู้นำพรรคอย่างชัดเจน โดยในการเสนอรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาตี้ลิสต์ พรรคประชาธิปัตย์ มีชื่อของอภิสิทธิ์ เป็นอันดับ 1 และเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงชื่อเดียวด้วย
พรรคภูมิใจไทย หัวหน้าพรรค ชื่อ อนุทิน  ชาญวีรกูล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และผู้สมัครปาตี้ลิสต์อันดับหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว เริ่มสลัดคราบสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้คนลืม “เนวิน ชิดชอบ” ไปได้บ้างทีละเล็กทีละน้อย พรรคภูมิใจไทยซึ่งนอนมาว่า ได้ร่วมรัฐบาลแน่นอน เนื่องจากเป็นพรรคขนาดกลาง ที่สามารถเข้าได้กับทุกฝ่าย
อานิสงค์จาก กลุ่มสามมิตร อดีต ส.ส. แปรพรรคจากพรรคเพื่อไทยซึ่งย้ายไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ทำให้เกิดสุญญากาศในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจาก ส.ส. เก่าที่ย้ายไปอาจได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่น้อยลงเพราะไปเข้ากับ ”ทหาร” ส่วนผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยหน้าใหม่เองยังเป็นเรื่องยากที่จะหยั่งรากลึกในพื้นที่ ภาษีของ “คนกลาง” จากพรรคภูมิใจไทยยังค่อนข้างดี พร้อมกับความเป็นเอกภาพภายในพรรคทำให้พรรคภูมิใจไทยเป็นหนึ่งพรรคที่อาจเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ
พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ถูกเรียกว่าเป็นพรรคครอบครัว เมื่อไม่มี บรรหาร  ศิลปอาชา คอยกุมบังเหียน เกิดภาวะอดีต ส.ส. แตกรัง หลังจ.สุพรรณบุรี ฐานที่มั่นหลักซึ่งพรรคเคยผูกขาดเก้าอี้ ส.ส. ทั้ง 5 ถูกลดลงจากการแบ่งเขตแบบใหม่เหลือเพียง 4 ตำแหน่ง ทำให้ ส.ส. ที่เคยเป็นเจ้าของพื้นที่หลายคนเกิดความไม่พอใจ เมื่อถูกย้ายจากผู้สมัครระบบแบ่งเขต ไปอยู่ในรายชื่อผู้สมัครแบบปาตี้ลิสต์เพื่อหลีกทางให้คนในตระกูล ศิลปอาชา และก็ตัดสินใจออกจากพรรคไป โดยพรรคชาติไทยพัฒนา ยุคสมัยนี้มี กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคเป็นเคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ยังเว้นตำแหน่ง ส.ส.ปาตี้ลิสต์อันดับ 1 ให้เป็นของน้องชาย วราวุธ ศิลปะอาชา ทายาททางการเมืองคนสำคัญ เรียกว่า ยังแบ่งความเป็นผู้นำให้เท่าๆ กัน
พรรคชาติพัฒนา แม้จะส่งน้องชาย เทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นผู้สมัครปาตี้ลิสต์อันดับหนึ่ง เนื่องจากเทวัญ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย ทว่าพรรคชาติพัฒนาก็ยังคงเสนอชื่อ สุวัจน์ ลิปตพัลภ หรือ ลิปตพัลลภ ผู้เป็นพี่ชาย เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี และยังเป็นผู้ออกหน้าในนามพรรคตามเวทีใหญ่ๆ อยู่ ทั้งนี้เนื่องจากการเป็นหัวหน้าพรรคใหม่และใช้ผู้สมัครใหม่งานของพรรคชาติพัฒนาในตอนนี้อยู่ที่การเดินสายประชาสัมพันธ์ 
แม้จะถือว่าเป็นหนึ่งในหัวหน้าพรรค ”หุ่นเชิด” กระนั้นการจัดวางตำแหน่งของ เทวัญ แตกต่างจากพรรคที่มีหัวหน้าพรรคหุ่นเชิดอื่นๆ เนื่องจากเทวัญ ถูกวางตัวเป็นทายาททางการเมืองของสุวัจน์ ทำให้บทบาทและพื้นที่สื่อของหัวหน้าพรรคผู้นี้ไม่ได้ถูกบดบังหรือลดความสำคัญลงไปเสียทั้งหมด จากการออกสื่อบ่อยครั้งและยืนเคียงข้างสุวัจน์เสมอเมื่อลงพื้นที่หาเสียง แสดงให้เห็นความพยายามปูทางไว้เพื่ออนาคตข้างหน้า ซึ่งจากหุ่นเชิดจะสามารถฉายเดี่ยวเป็น ”ตัวจริง” ได้ต่อไป