เลือกตั้ง 62: สมัคร ส.ส. ยุคนี้แสนลำบาก หาเสียงยากข้อจำกัดมากมาย

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกที่ออกตามมาในยุคของ คสช. ซึ่งวางกรอบบีบรัดให้พรรคการเมืองพบกับความยากลำบากในการลงสนามเลือกตั้ง ทั้งระหว่างเตรียมตัวก่อนเสียงระฆังเลือกตั้งจะดังขึ้น ระหว่างการลงสนามทำกิจกรรมหาเสียง และภายหลังการเลือกตั้งเมื่อประกาศผลและเข้าสภาแล้วก็ยังมีเงื่อนไขให้ดำเนินนโยบายเป็นตัวของตัวเองได้ยาก

หลังห่างหายจากการเลือกตั้งมานาน 7 ปี แต่ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ผู้ที่มีความหวัง ความตั้งใจอยากเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองก็ปรากฏตัวขึ้นมากมาย และเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้สมัคร ส.ส. จำนวนที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งต่างก็ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ดังนี้
ก่อนการเลือกตั้ง คสช. คุมเกมทั้งหมด พรรคใหม่เกิดยาก 
ตลอดเวลาที่ คสช. ปกครองประเทศอยู่นานเกือบห้าปีพรรคการเมืองทุกพรรคถูก "แช่แข็ง" แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถจัดการประชุมพรรค ทำกิจกรรมทางการเมือง หรือเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้ ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนมากที่ไม่ได้ทำกิจกรรมนานๆ ก็หายหน้าไป ส่วนพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ยังคงอยู่ได้ แต่เมื่อกลับมาลงสนามเลือกตั้งก็ยังต้องพบกับอุปสรรคมากมาย 
สำหรับคนที่ต้องการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ นำเสนอสิ่งใหม่ให้กับประเทศ ก็กลับต้องเจอเงื่อนไขตามกฎหมายใหม่ที่สร้างไว้ให้การตั้งพรรคการเมืองทำได้ยากเหลือเกิน
1. ประกาศ/คำสั่ง คสช. ห้ามทำกิจกรรม เว้นแต่ คสช. อนุญาต
ตั้งแต่ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครอง ก็ออกประกาศและคำสั่งเพื่อห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม และใช้บังคับอยู่นานจนกระทั่งยกเลิกในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 สามเดือนกว่าก่อนมีการเลือกตั้ง ฉบับที่สำคัญ คือ 
หนึ่ง ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ข้อ 2 ระบุว่า "เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง" 
สอง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อที่ 12 ระบุว่า "ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
และต่อมาเมื่อบรรยากาศการเลือกตั้งเริ่มมาถึง แทนที่ คสช. จะยกเลิกข้อจำกัดห้ามทำกิจกรรม กลับใช้วิธีการออกคำสั่งด้วยอำนาจ "มาตรา 44" ค่อยๆ เปิดช่องให้พรรคการเมืองเริ่มดำเนินการทางธุรการบางอย่างได้ ภายใต้เงื่อนไขใหญ่ๆ คือ ต้องให้ คสช. อนุญาตก่อนเป็นกรณีๆ ไป
สาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 เปิดให้พรรคการเมืองที่จดทะเบียนใหม่เริ่มจัดการประชุมได้ในบางเรื่อง โดยมีข้อ 4 ระบุว่า "ห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมอื่นใดในทางการเมืองนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในคำสั่งนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก คสช."    
สี่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 เปิดให้พรรคการเมืองเดิมเริ่มตระเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งได้ โดยมีข้อ 6 กำหนดว่า พรรคการเมืองจะประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิก โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ต้อง 'ไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง' 
นอกจากนี้ คสช. ยังเคยออกคำสั่งเรียกนักการเมืองจำนวนมากไปรายงานตัว และบังคับให้ลงชื่อในข้อตกลงร่วม (MOU) ว่าจะไม่เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ หากใครฝ่าฝืนข้อตกลงดังกล่าว จะถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน MOU ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 39/2557, 40/2557 และยังออกคำสั่งห้ามนักการเมืองบางคน เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง ไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ อยู่นานกว่าสี่ปี 
2. ไม่เงียบในยุค คสช. คดีติดตัวมากมาย
นักการเมืองหลายคนที่ระหว่างถูก "แช่แข็ง" ยังไม่ยอมอยู่เฉยๆ แต่ยังคงติดตามสถานการณ์บ้านเมืองและไม่หยุดแสดงความคิดเห็น ต่างก็ถูก คสช. ใช้มาตรการเข้ากดดัน จับกุม เอาตัวไปเข้าค่ายทหาร และหากยังไม่ยอมหยุดพูด ก็จะถูกดำเนินคดีตามมา ซึ่งมีนักการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งรอบนี้อย่างน้อย 30 คน จาก 6 พรรคการเมือง ที่แบกสถานะ "จำเลย" และ "ผู้ต้องหา" จากการแสดงความคิดเห็น/เคลื่อนไหวทางการเมืองในยุค คสช. 
สมาชิกพรรคเพื่อไทยที่บางส่วนแตกตัวออกไปอยู่กับพรรคไทยรักษาชาติ มีคดีติดตัวกันจำนวนมาก คนที่เป็นแนวร่วมกลุ่ม นปช. เช่น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ. เหวง โตจิราการ, ก่อแก้ว พิกุลทอง ล้วนถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมเกินห้าคนจากการจัดกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ในปี 2559 ส่วนแกนนำพรรคเพื่อไทยอย่าง พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์, ชัยเกษม นิติศิริ, ภูมิธรรม เวชยชัย ถูกดำเนินคดีฐานเดียวกันจากการจัดแถลงข่าวผลงาน 4 ปีของ คสช.
วัฒนา เมืองสุข ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย มีคดีติดตัวอย่างน้อย 6 คดี จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, วิจารณ์เรื่องหมุดคณะราษฎรหาย รวมทั้งโดนคดีละเมิดอำนาจศาลจากการถ่ายเฟซบุ๊กไลฟ์และยืนแถลงข่าวด้วย ส่วนพิชัย นริพทะพันธุ์ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ หลังถูกจับไปเข้าค่ายทหาร 8 ครั้งก็ได้คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เรื่องเศรษฐกิจ มาติดตัวด้วย 
ด้านพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ อย่าง พรรคเสรีรวมไทย ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช เป็นหัวหน้าพรรค ผู้ที่ไม่หยุด "ด่าทหาร" อย่างตรงไปตรงมาตลอดหลายเดือน ก็ถูกข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และพรรคอนาคตใหม่ ที่จัดเฟซบุ๊กไลฟ์ทุกคืนวันศุกร์ ก็ไม่น้อยหน้าถูกตั้งข้อหาเดียวกันไปสามคน 
3. พรรคการเมืองใหม่ตั้งพรรคยาก-ต้องใช้เงินเยอะ ต้องหาสมาชิกมาก
กฎหมายพรรคการเมือง ที่ถูกร่างขึ้นโดยคนชุดเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญ วางเงื่อนไขให้พรรคการเมืองที่กำลัง 'ก่อตั้งใหม่' ต้องรับโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น โดยกำหนดให้พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่จะจดทะเบียนก่อตั้งพรรคได้ต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน และต้องมีทุนประเดิมตั้งพรรคไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โดยเงินประเดิมให้มาจากผู้ร่วมตั้งพรรคที่ต้องเงินทุนประเดิมอย่างต่ำคนละ 1,000 บาทแต่ต้องไม่เกิน 50,000 บาท 
หากเปรียบเทียบกับ กฎหมายพรรคการเมืองฯ ปี 2550 จะเห็นว่า กติกาตอนปี 2550 มีเงื่อนไขที่ง่ายกว่ามาก เช่น จำนวนผู้ร่วมก่อตั้งพรรคใช้แค่ 15 คน ไม่จำเป็นจะต้องมีทุนประเดิมพรรคขั้นต่ำ รวมถึงไม่จำกัดเพดานการจ่ายเงินทุนประเดิมให้กับพรรค เหมือนกับกติกาของกฎหมายปี 2560
เมื่อจดทะเบียนพรรคการเมืองได้แล้ว ภายในหนึ่งปีพรรคการเมืองยังต้องดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน ต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา แต่ละสาขามีสมาชิกอย่างน้อย 500 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้ไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายใน 4 ปี หลักเกณฑ์เหล่านี้ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กอยู่ไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายพรรคการเมืองภายใต้ยุค คสช. ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนหรือผู้มีอิทธิพลสนับสนุนด้วย 
4. พรรคการเมืองเก่าถูก 'รีเซ็ต' เริ่มหาสมาชิกพรรคใหม่ 
หลัง กฎหมายพรรคการเมือง ปี 2560 ใช้ได้ไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ก็ใช้อำนาจตาม "มาตรา 44" ออกคำสั่งที่ 53/2560 กำหนดให้ พรรคการเมืองเก่าที่จดทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้ยังคงดำรงอยู่ แต่ให้สมาชิกที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นต่อไปมีหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิก และชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 
ผลจากคำสั่งดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นการ 'รีเซ็ต' สมาชิกพรรคการเมืองเก่า ที่บ้างพรรคเคยสะสมสมาชิกไว้ตลอดหลายสิบปีให้ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ทั้งหมด หลังความพยายามเปิดให้สมาชิกเก่ามายืนยันตัวตนผลที่ได้ ก็คือ ทุกพรรคการเมืองมีจำนวนสมาชิกลดลงอย่างมาก เช่น พรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกเดิม 2,500,000 คน เหลือสมาชิก 100,000 คน หรือลดลงร้อยละ 96 ส่วนพรรคเพื่อไทย สมาชิกเดิม 134,822 คน เหลือสมาชิกปัจุบัน 13,000 คน หรือลดลงร้อยละ 90 
ทั้งนี้ ในคำสั่งที่ 53/2560 อ้างเหตุของการออกคำสั่งด้วยว่า "สมาชิกพรรคการเมืองมีความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วกับพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่" 
อย่างไรก็ดี การถูกรีเซ็ตสมาชิกพรรคสร้างความไม่พอใจให้กับพรรคการเมืองเป็นอย่างมาก พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยต่างยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิของสมาชิกพรรค แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยว่า คำสั่งนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง กกต. ออกกติกาใหม่พรรคใหญ่ขยับตัวลำบาก
ฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้งเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้จัดการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ในทางกฎหมายให้มีผลประกาศและระเบียบ กกต. อย่างน้อย 14 ฉบับ ที่ออกมาเพื่อตีกรอบการทำกิจกรรมหาเสียงของพรรคการเมืองเริ่มมีผลบังคับใช้ และทำให้การหาเสียงของพรรคการเมืองทำได้ยากขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้
 
1. จำกัดงบประมาณหาเสียง ใช้เงินเกินตัดสิทธิ 20 ปี
กกต. ออกประกาศและระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง อย่างน้อย 4 ฉบับ จำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายรวมของทั้งผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง ไว้สูงสุดไม่เกิน 560 ล้านบาท ลดลงจากการเลือกตั้งปี 54 ประมาณ 200 ล้านบาท  
ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้ไม่เกินคนละ 1,500,000 บาท ขณะที่พรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้เกินพรรคละ 35,000,000 บาท หากเขตใดมีการเลือกตั้งซ่อม ผู้สมัครคนเดิมใช้จ่ายได้ไม่เกิน 500,000 บาท 
หากผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตรายใดใช้เงินในการเลือกตั้งเกิน 1,500,000 บาท มีโทษจำคุก 1 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท หรือปรับ 3 เท่าของจำนวนเงินที่เกินมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี ถ้าพรรคการเมืองใดใช้เงินในการเลือกตั้งเกิน 35,000,000 บาท มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 – 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือปรับเป็นจำนวน 3 เท่าของจำนวนเงินที่เกินมา แล้วแต่จำนวนใดมากกว่ากัน และถ้าหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรค หรือเหรัญญิกพรรครู้เห็นเป็นใจด้วยต้องรับโทษและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี 
การจำกัดวงเงินสำหรับผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองในการหาเสียงไม่ได้มีครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่หากเราดูการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ย้อนหลังไปจะพบว่า การเลือกตั้งสี่ครั้งก่อนหน้านี้จำกัดวงเงินไว้สูงกว่า โดยให้ใช้จ่ายได้ไม่เกินวงเงินประมาณ 700,000,000 บาท 
2. ห้ามใช้ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว ปลุกระดม
ระเบียบ กกต. ว่าด้วย วิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 กำหนดห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง และกำหนดห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งในลักษณะดังต่อไปนี้ 
(1) ห้ามนักแสดง นักร้อง นักดนตรี สื่อมวลชน ใช้ความสามารถเพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง 
(2) ห้ามแจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ
(3) ห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม ซึ่งเป็นข้อห้ามที่สามารถตีความได้กว้างครอบคลุมถึงการแสดงความคิดเห็นหลายรูปแบบ
หากผู้สมัครหรือพรรคการเมืองฝ่าฝืน ให้ กกต. สั่งให้แก้ไข หรือลบข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด หากยังไม่ทำให้เลขาธิการ กกต. แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อดำเนินการ หากมีค่าใช้จ่ายให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ  
3. ห้ามซื้อโฆษณาทางวิทยุและโทรทัศน์
กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 69 ระบุว่า ห้ามผู้สมัครหรือพรรคการเมืองโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการออกอากาศในรายการที่ กกต. ดำเนินการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต. ต้องสนับสนุนวันและเวลาในการหาเสียงผ่านวิทยุและโทรทัศน์ โดยผู้สมัครมีเวลาหาเสียงคนละไม่เกิน 5 นาที และพรรคการเมืองกำหนดหาเสียงให้พรรคละไม่เกิน 10 นาที 
นอกจากนี้ ระเบียบ กกต. ยังมีกติกาใหม่ ให้ กกต. เป็นผู้จัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศ หรือการจัดดีเบต เวทีนี้จะแบ่งพรรคการเมืองเป็นกลุ่มพรรคขนาดใหญ่กับพรรคขนาดเล็กตามจำนวน ส.ส. ที่ส่งลงสนาม 
ในการเลือกตั้ง 2562 กกต. ขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ของรัฐและสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล ให้จัดสรรเวลาออกอากาศ โดย ขอเวลาวันละ 60 นาที ระหว่าง วันที่ 8 –21 มีนาคม 2562 รวม 10 วัน โดย 5 วันแรก เป็นการออกอากาศสปอตโฆษณาของพรรคการเมือง พรรคละ 10 นาที ส่วน 5 วันถัดมา เป็นการออกอากาศเทปการประชันนโยบายของพรรคการเมือง
4. ห้ามจัดมหรสพ การแสดงรื่นเริง
กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 73 (3) กำหนดว่า ห้ามผู้สมัครโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ และมาตรา 73(4) กำหนดว่า ห้ามเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยง ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี สำหรับผู้สมัครที่ใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตัวเองเพื่อหาเสียงให้ตัวเอง โดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดงสามารถทำได้ 
ข้อกำหนดนี้มีขึ้นตั้งแต่กฎหมายเลือกตั้ง ปี 2541 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ต้องการให้พรรคการเมืองที่มีเงินทุนมาก สามารถจ้างนักร้องนักแสดงที่มีชื่อเสียง และเอาเปรียบพรรคการเมืองที่มีเงินทุนน้อยในการหาเสียงเลือกตั้ง
5. ห้ามทำป้ายเกินจำนวน ห้ามติดในที่ห้ามติด
ประกาศของ กกต. จำกัดจำนวนป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. ให้มีจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง และสำหรับพรรคการเมืองให้ทำป้ายได้จำนวนเท่ากับจำนวนหน่วยเลือกตั้งที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต แต่ละป้ายให้มีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร โดยต้องระบุชื่อของผู้ผลิตและวันเดือนปีให้เห็นชัดเจนบนแผ่นป้าย จะติดป้ายได้เฉพาะบริเวณที่กำหนดไว้โดย กกต. แต่ละจังหวัด 
ผู้สมัครอาจติดป้าย ณ ที่ทำการของพรรคการเมืองได้ มีขนาดความกว้างไม่เกิน 400 เซนติเมตร และความยาวไม่เกิน 750 เซนติดเมตร ที่ละ 1 แผ่น 
6. หาเสียงออนไลน์ ต้องแจ้ง กกต. ต้องจำกัดงบ
ระเบียบ กกต. ว่าด้วย วิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ 2) กำหนดให้พรรคการเมืองที่จะหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียง ตามแบบที่ กกต. กำหนด ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองใช้ไม่ว่าจะเป็นทาง เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทูป อินสตราแกรม กูเกิ้ล แอพพลิเคชัน จะถูกรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายในการหาเสียงตามที่ กกต. กำหนดไว้
หากประชาชนชื่นชอบผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ และต้องการช่วยหาเสียงผ่านทางออนไลน์ หากมีค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่ กกต. กำหนด ผู้สมัคร และพรรคการเมืองจะต้องแจ้งรายละเอียดและค่าใช้จ่ายให้ กกต. ทราบด้วย
7. เสนอนโยบายต้องแจงที่มาของงบประมาณ
กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 57 กำหนดว่า การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องแสดงวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ ความคุ้มค่า ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย หากพรรคการเมืองโฆษณานโยบายโดยไม่อาจชี้แจงรายละเอียดเหล่านี้ ให้ กกต. สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้อง หาก กกต. สั่งแล้วไม่ดำเนินการอาจถูกปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง 
เท่ากับว่า พรรคการเมืองที่มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ๆ จะเสนอเพียงไอเดียที่อยากเห็นเป็นภาพฝันอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้อง "ทำการบ้าน" อย่างหนักเพื่อตอบคำถามในทางปฏิบัติให้ได้ด้วย มิเช่นนั้นอาจะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมากซึ่งพรรคขนาดเล็กอาจไม่มีกำลังจ่ายไหว 
หลังเลือกตั้ง แม้ชนะแล้ว ก็ยังทำงานไม่ง่าย
สำหรับนักการเมืองที่ชนะในสนามเลือกตั้งได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนเข้าไปทำงานในสภาก็ยังไม่ได้หมายความว่า จะผ่านกับดักต่างๆ มาได้หมดแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ยังวางกลไกไว้อีกหลายประการ ที่จะเป็นอาวุธทางกฎหมายเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เดินคนละแนวทางกับ คสช. ให้พ้นจากตำแหน่งได้
ภายใต้กลไกการตรวจสอบที่สร้างขึ้น "องค์กรอิสระ" ที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ พิจารณาและออกคำสั่งให้ใครพ้นจากตำแหน่ง ก็ยังดำเนินการโดยคนส่วนใหญ่ที่ คสช. แต่งตั้งและไว้วางใจให้มาเล่นบทบาทเหล่านี้ 
1. "ใบเหลือง-ส้ม-แดง" ข้อหาโกงเลือกตั้ง
ใบแดง-ใบเหลือง เป็นอำนาจที่ กกต. มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว แต่สำหรับกฎหมายใหม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้อำนาจของ กกต. ไปบ้าง กรณีที่พบหลักฐานอันควรเชื่อว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง กกต. อาจตัดสินใจใช้อำนาจอย่างเบาให้ "ใบเหลือง" เพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เท่านั้นก็ได้ ส่วนอำนาจของ กกต. ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ คือ "ใบส้ม" หรือ การสั่งระงับสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว (ไม่เกิน 1 ปี) ในช่วงเวลาก่อนหรือระหว่างการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้สมัครที่ถูกสั่งให้ใบส้มนั้นต้องออกจากสนามเลือกตั้งครั้งนั้นไปเลย โดยให้การออกคำสั่งดังกล่าว ของ กกต. ถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้
แต่อำนาจอีกอย่างหนึ่ง คือ "ใบแดง" ซึ่ง กกต. จะมีอำนาจตัดสินใจใช้ใบแดงได้ในกรณีที่ตรวจพบหลักฐานการทุจริตหลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว เพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครในช่วงเวลาหนึ่ง แต่กฎหมาย กกต. ฉบับใหม่ ตัดอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครออกจากมือ กกต. แล้วนำไปไว้ในมือศาลฎีกา หากผู้สมัคร ส.ส. คนใดชนะการเลือกตั้งได้เข้าสภาแล้วก็ยังไม่มีอะไรรับประกันความมั่นคงแน่นอนได้ เพราะ กกต. อาจใช้อำนาจนี้ภายหลังได้ 
แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีอำนาจที่ใหญ่ที่สุด คือ "ใบดำ"  ในกรณีที่ตรวจพบหลักฐานการทุจริตหลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว กกต. อาจส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาและสั่งตัดสิทธิทางการเมืองของผู้สมัครบางคนตลอดไปเลยก็ได้ 
2. ยุทธศาสตร์ 20 ปี ของ คสช.
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรืออาจเรียกได้ว่า “ยุทธศาสตร์ คสช.” เป็นแผนการความฝันยาว 76 หน้า เขียนขึ้นโดยคนที่ คสช. แต่งตั้งมา เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและหน่วยงานของรัฐต้องเดินตาม หากไม่ทำตามมีโทษและมีกระบวนการตีความบังคับใช้ที่ค่อนข้างซับซ้อน
หากคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งออกนโยบายไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและวุฒิสภา (ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.) ทราบ และให้วุฒิสภาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดําเนินการ
ทั้งนี้ ให้ ป.ป.ช. พิจารณาและมีมติให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แล้วส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิจารณา หากศาลประทับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที หากต่อมามีพิพากษาว่า ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้ 
3. มาตรฐานทางจริยธรรม 
ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันร่าง "มาตรฐานทางจริยธรรม" ขึ้นมาไม่เพียงใช้บังคับกับศาลและองค์กรอิสระ แต่จะใช้บังคับกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้ง ส.ส. ส.ว. และ คณะรัฐมนตรี ด้วย  
แนวคิดของมาตรฐานทางจริยธรรม คือ การกำหนดกรอบการทำหน้าที่ และการวางตัวของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยใช้ถ้อยคำที่กว้างขวางในการกำหนดความเป็น “คนดี” ที่จะมาเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งยังเปิดช่องให้ตีความได้หลากหลาย ตัวอย่างเช่น กำหนดว่า ต้อง "ถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน" "ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน" เป็นต้น 
ป.ป.ช. สามารถยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม โดยเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย หากศาลรับฟ้องแล้ว ให้นำมาตรา 81 มาใช้ ซึ่งกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ทันที หากมีคำพิพากษาว่ามีความผิด ให้ผู้ต้องคำพิพากษาพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้ 
4. แปรญัตติให้ตนเองมีส่วนใช้งบประมาณ ตามมาตรา 144
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 ระบุว่า ในการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณ ห้ามไม่ให้ ส.ส. ส.ว. หรือคณะกรรมาธิการเสนอ แปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใดๆ ให้ตัวเองมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่ายไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม  
หาก ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เห็นว่า มีการฝ่าฝืนการกระทำดังกล่าว ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่ามีความผิด ให้การเสนอ การแปรญัตติ เป็นอันสิ้นผล ถ้าผู้กระทำการเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ให้สิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย
หาก ครม. เป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการหรือรู้ว่า มีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่ไม่สั่งยับยั้ง ครม. จะต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้อยู่ในที่ประชุมขณะมีการลงมติ