เลือกตั้ง 62: ไม่มี ส.ส. เขต ของพรรคที่เราชอบ หมดสิทธิ์เลือก “พรรคที่ชอบ” ให้เป็น “นายกฯ ที่ใช่”

 
ต้องยอมรับว่ารายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองจะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นพรรคการเมืองต่างๆ พยายามเสนอว่าที่นายกฯ ที่คิดว่าดีที่สุดเพื่อดึงดูดให้ประชาชนลงคะแนนให้กับพรรคและผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองที่ยื่นเสนอชื่อว่าที่นายกฯ จำนวน 44 พรรค และมีรายชื่อว่าที่นายกฯ ทั้งหมด 68 รายชื่อ และมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 106 พรรค แม้จะมีพรรคการเมืองจำนวนมากในการแข่งขัน แต่ประชาชนอาจจะไม่ได้เลือกพรรคการเมืองหรือว่าที่นายกฯ ที่ตัวเองชื่นชอบได้ เพราะกฎหมายกำหนดว่าถ้าไม่ส่ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จะไม่ได้คะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 
 
หลังรัฐธรรมนูญ 40: ส.ส. บัญชีรายชื่อ คือการเลือกพรรคที่ชอบ ใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 
 
ตั้งแต่หลังรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา การเลือกตั้ง ส.ส. มีสองแบบและมีบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต อีกใบหนึ่งเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สำหรับการเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ คือการเลือกพรรคที่เราอยากให้เป็นรัฐบาลและผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อหมายลำดับที่หนึ่งของพรรคการเมืองนั้นๆ จะถูกวางให้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุนี้การเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จึงใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว
 
รัฐธรรมนูญ 60: พรรคไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. เขตไหน หมดสิทธิเลือกพรรคนั้น 
 
ระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า คือยังมี ส.ส. สองแบบอยู่ แต่เหลือบัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งให้เลือกได้เฉพาะ ส.ส. แบบแบ่งเขต และคะแนนที่เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต จะถูกนำไปคิดที่นั่งที่พรรคนั้นควรจะได้ โดยจะนำที่นั่งควรได้มาลบกับจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตของพรรคนั้นๆ ก็จะได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ด้วยเหตุนี้ถ้าพรรคการเมืองที่เราชื่นชอบไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงในเขตของเรา เราก็จะไม่สามารถเลือกพรรคการเมืองและว่าที่นายกฯ ของพรรคที่เราชื่นชอบ
 
รักพรรคเพื่อไทย ชอบชัชชาติ อาจเลือกไม่ได้ เพราะพรรคไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงในเขต 
 
จากระบบเลือกตั้งของ คสช. ทำให้พรรคการเมืองที่อาจได้จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตจำนวนมาก ได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อน้อยหรืออาจไม่ได้เลยสักที่นั่งเดียว เช่น พรรคเพื่อไทย ซึ่งสุดท้ายนำมาสู่การแตกเป็นพรรคเครือข่าย คือ พรรคไทยรักษาชาติ ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 175 คน, พรรคเพื่อชาติ ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 349 คน และพรรคประชาชาติ ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 215 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 250 คน และส่งว่าที่นายกฯ สามรายชื่อ คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และชัยเกษม นิติศิริ ดังนั้น ด้วยกติกาเลือกตั้งที่กำหนดว่า "ถ้าไม่ส่ง ส.ส. เขตเลือกพรรคไม่ได้" ทำให้ประชาชนที่ต้องการจะเลือกพรรคเพื่อไทยและว่าที่นายกฯ ของพรรคไม่สามารถเลือกได้เพราะพรรคเพื่อไทยส่งไม่ครบทุกเขต
 
พรรคการเมืองขนาดกลาง ส่ง ส.ส. เขต ครบ 350 เขต 
 
ขณะที่พรรคที่ได้จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตจำนวนน้อยหรืออาจไม่ได้เลย มีโอกาสได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจำนวนมาก ส่งผลให้ พรรคการเมืองขนาดกลางซึ่งมีโอกาสได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตจำนวนน้อย ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ครบ 350 เขต เพื่อหวังเก็บคะแนนจากทุกเขตเลือกตั้งและนำไปคำนวนเป็นที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตครบ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสี่พรรคแรกส่งหัวหน้าพรรคเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งและว่าที่นายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคสุดท้ายส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นว่าที่นายกฯ 
 
 
จำนวนเขตพรรคที่ไม่สนับสนุน คสช.
 
พรรคการเมือง ว่าที่นายกฯ
(ไม่เกิน 3 คน)
จำนวนเขตที่ส่งผู้สมัคร
(ทั้งหมด 350 เขต)
พรรคเพื่อไทย
1) สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
2) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 
3) ชัยเกษม นิติสิริ
250 เขต
พรรคประชาชาติ
1) วันมูหะมัดนอร์ มะทา
2) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง 
3) ณหทัย ทิวไผ่งาม
212 เขต
พรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 350 เขต
พรรคเสรีรวมไทย
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 350 เขต
พรรคเพื่อชาติ 349 เขต
พรรคไทยรักษาชาติ 176 เขต
พรรคสามัญชน 16 เขต

 

จำนวนเขตพรรคที่ไม่แสดงจุดยืนว่าจะสนับสนุน คสช. หรือไม่

 

พรรคการเมือง ว่าที่นายกฯ
(ไม่เกิน 3 คน)
จำนวนเขตที่ส่งผู้สมัคร 
(ทั้งหมด 350 เขต)
พรรคชาติพัฒนา
1) สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
2) วรรณรัตน์ ชาญนุกูล
3) เทวัญ ลิปตพัลลภ
266 เขต
พรรคประชาธิปัตย์
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
350 เขต
พรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกุล 350 เขต
พรรคชาติไทยพัฒนา กัญจนา ศิลปอาชา
315 เขต
พรรคพลังท้องถิ่นไทย
1) ชัชวาลล์ คงอุดม
2) โกวิทย์ พวงงาม
346 เขต

 

จำนวนเขตพรรคที่สนับสนุน คสช.

 

พรรคการเมือง ว่าที่นายกฯ 
(ไม่เกิน 3 คน)
จำนวนเขตที่ส่งผู้สมัคร 
(ทั้งหมด 350 เขต)
พรรคพลังประชารัฐ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 350 เขต
พรรครวมพลังประชาชาติไทย 350 เขต
พรรคประชาชนปฏิรูป 311 เขต