เลือกตั้ง 62: เปิดดูช่องทางกฎหมาย ‘ถอนแคนดิเดตนายกฯ’ พรรคไทยรักษาชาติ

11 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นัดประชุมเพื่อหารือการพิจารณาคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมือง โดยเฉพาะประเด็นร้อนอยู่ที่ชื่อจากพรรคไทยรักษาชาติที่เสนอ 'ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี' เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีเพียงชื่อเดียวของพรรค
เนื่องจากวันที่ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีพระราชโองการประกาศจากสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุถึงสถานะของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ว่า ทรงดำรงอยู่เหนือการเมืองและทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
นอกจากนี้ กกต. จะพิจารณาคำร้องของ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ยื่นขอให้ กกต. วินิจฉัยกรณีพรรคไทยรักษาชาติเข้าข่ายขัดต่อระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงส.ส.ปี 2561 โดยอ้างอิงข้อ 17 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่กำหนดว่าห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี หลังการหารือ กกต. มีมติประกาศรับรองการเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี จาก 45 พรรคการเมือง รวม 69 คน และยังไม่ประกาศรับรองรายชื่อของพรรคไทยรักษาชาติ ที่เสนอรายชื่อแคนดิเดตมาก่อนหน้านี้ พร้อมตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีพรรคไทยรักษาชาติกระทำการมิบังควร ว่าจะเข้าข่ายต้องยุบพรรคหรือไม่ 
ในระหว่างที่รอการพิจารณาของ กกต. เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างน้อยสองประเด็น ดังนี้
หนึ่ง ผู้มีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของแคนดิเดตนายกฯ 
พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 14 (2) กำหนดว่า การเสนอชื่อบุคคลเป็นแคนดิเดตนายกฯ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่มาตราดังกล่าว ไม่ได้ระบุว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบคุณสมบัติ
แต่ ในมาตรา 10 กำหนดให้ประธาน กกต. เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ซึ่งความหมายของการเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย สถาบันพระปกเกล้านิยามว่า เป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติการตามกฎหมายนั้น
ดังนั้น หากมีมาตราใดของกฎหมายที่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า เป็นหน้าที่ของใครในการดำเนินตามกฎหมาย จึงอนุมานได้ว่า ให้ประธาน กกต. เป็นคนดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือ ประธาน กกต. จะมีอำนาจในการตรวจสอบว่า ในรายชื่อแคนดิเดตที่แต่ละพรรคเสนอมานั้นมีผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีหรือไม่
สอง หลักเกณฑ์คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของแคนดิเดตนายกฯ 
ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 14 (2) กำหนดว่า ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่มาตราดังกล่าว ไม่ได้ระบุว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบคุณสมบัติ
มาตราดังกล่าวเชื่อมโยงกับของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 97 เรื่องคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรี และ 92 เรื่องลักษณะต้องห้าม ซึ่งมาตราที่น่าสนใจ คือ มาตรา 92 (17) ที่กำหนดว่า ผู้ที่อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ทั้งนี้ หากเรานำมาเทียบเคียงกับพระราชโองการเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 จะพบว่า พระราชโองการดังกล่าว ระบุให้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมฉบับปัจจุบัน รับรองสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมืองและทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาทและพระบรมราชวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ 'สถานะทางกหมาย' ของพระราชโองการ เนื่องจากพระราชโองการดังกล่าว มีข้อสังเกตว่าขาดผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งประเด็นนี้ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความเห็นว่า หากไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ตัวบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการนั้น ๆ ก็จะไม่มีผลเพราะมิได้ดำเนินการ
ดังนั้น ภาระในการอธิบายต่อสังคมถึงการถอนรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ เนื่องจากเห็นว่าขาดคุณสมบัติ จึงเป็นหน้าที่ของ กกต. ว่าดำเนินการตามมาตราอะไร ขาดคุณสมบัติในข้อไหนอย่างไร และต้องอธิบายความในรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงสถานะของทูลกระหม่อมฯ ให้ชัดแจ้ง เพื่อความโปร่งใส มิใช่แค่การยกพระราชโองการซึ่งไม่มีผลในการดำเนินการตามกฎหมายมาเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยใดๆ