ยกฟ้องคดีฆ่าแขวนคอวัยรุ่นกาฬสินธุ์ (2): การบันทึกหลักฐานควรเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล

ข้อเสนอวงเสวนา หลังศาลฎีกายกฟ้องคดีฆ่าแขวนคอวัยรุ่นกาฬสินธุ์ ช่วงทำสงครามกับยาเสพติด อดีตกรรมการสิทธิแนะ อาชญากรรมโดยรัฐต้องไม่แทรกซึมวงการตุลาการ อดีตจเรตำรวจ เสนอ แก้ป.วิอาญา พัฒนาระบบบันทึกหลักฐานและพยานในกระบวนการยุติธรรมแบบดิจิทัล 
งานเสวนา “วิเคราะห์การรับฟังพยานหลักฐาน ของศาลในคดีอาญา ผ่านคดีฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นกาฬสินธุ์ช่วงรัฐบาลประกาศนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ตอนที่ 2 กล่าวถึงกระบวนการพิจารณาคดีและแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในอนาคต
อาชญากรรมโดยรัฐ : สมชาย หอมลออ นักสิทธิมนุษยชน
สมชาย หอมลออ เล่าว่า ช่วงที่เกิดคดีของเกียรติศักดิ์ นั้นทำงานอยู่กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 2 หลังทำการตรวจสอบเพิ่มเติมแล้วได้ข้อสรุปว่า กรณีดังกล่าวรวมถึงการฆ่าตัดตอนรายอื่นๆ เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสืบเนื่องมาจากความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาล จากข้อเท็จจริงที่ตัวผู้กระทำความผิดและเหยื่อ ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน มีการเตรียมการมาอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญคือกลุ่มผู้กระทำความผิดประกอบด้วยตำรวจตั้งแต่ระดับ ผกก.สถานีตำรวจ, รองผกก. และตำรวจชั้นประทวนแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่า “การฆ่าตัดตอน” ในยุคนั้น เป็น "วัฒนธรรมร่วม" ภายในองค์กรที่ใช้จัดการกับปัญหาในลักษณะนี้โดยเฉพาะ
สมชาย เล่าด้วยว่า ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ จำเลยทั้ง 6 ซึ่งเป็นตำรวจ ไม่ได้ถูกพักราชการ องค์กรต้นสังกัด ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ออกมาให้ท้าย บริจาคเงินช่วยสู้คดี ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของหน่วยงานราชการที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับประชาชน ศาลเองก็ยังอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในส่วนของฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะศาล มีหน้าที่ที่ต้องป้องกันไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นได้ เพราะหากฝ่ายตุลาการเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมดังกล่าว ก็ไม่มีอำนาจใดที่ใช้ตรวจสอบการกระทำของฝ่ายบริหารได้ 
สมชายชี้ว่า คดีฆ่าแขวนคอวัยรุ่นกาฬสินธุ์ ศาลใช้เวลารวมทั้งสิ้นถึง 14 ปี และช้าที่สุดในชั้นศาลฎีกา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว การวิ่งเต้นหรือกรณีอื่นๆ ที่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไปก็อาจเกิดขึ้นได้  
สำหรับการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีของศาลฎีกา มีความผิดปกติเกิดขึ้นหลายจุด สมชายยกตัวอย่าง การที่นำคำให้การของพยานในขณะที่จำเลยเป็นผู้ควบคุมตัวอยู่ มาเป็นหลักฐานประกอบการตัดสินคดี ซึ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมลดความน่าเชื่อถือลงไป นอกจากนั้น การที่ศาลใช้ดุลยพินิจไปในทางที่ต่างจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด อ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ที่กล่าวว่า "ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทําผิดจริงและจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจําเลยได้กระทําผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่ง ความสงสัยนั้นให้จําเลย” ซึ่งศาลได้ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงแล้วหรือยัง 
ในคดีนี้พยานปากสำคัญที่สุดคือ อรัญญา ผู้เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือจดทะเบียน และคนที่ยืนยันได้ว่า ผู้ตายยังอยู่ในความควบคุมของ ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ในช่วงเวลาเกิดเหตุ เป็นพยานที่ศาลควรรับฟัง กระนั้นพยานปากอรัญญาก็กลายเป็นพยานที่ศาลใช้ดุลยพินิจว่า ไม่น่าเชื่อถือ มีคำถามว่า ความสงสัยในคำให้การของอรัญญาที่ศาลยกมานั้น เป็นความสงสัยอันสมควรแก่เหตุหรือไม่? โดยศาลระบุเหตุผล สามประเด็น 
ประเด็นที่หนึ่ง คำให้การในชั้นสอบสวนและชั้นสืบพยานของอรัญญาไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว เพราะปรากฏหลักฐานว่า ในชั้นสอบสวนมีการข่มขู่พยาน โดยจำเลย จนเป็นเหตุให้พยานต้องหนีออกนอกประเทศ ในส่วนนี้ศาลเองก็รับเป็นข้อเท็จจริงตามสองศาลก่อนหน้า
ประเด็นที่สอง เรื่องระยะเวลาที่ผู้ตายพบกับพยาน คำให้การทั้งสองเป็นการให้การต่างกรรมต่างวาระกัน อย่างไรก็ดี ระยะเวลาจากคำให้การสองครั้งก็เหลื่อมกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และส่วนที่ตรงกันก็คือสถานที่ที่พยานให้การ ล้วนเป็นสถานที่อยู่ในเส้นทางอำรางศพตามที่พยานหลักฐานแวดล้อมบ่งชี้
ประเด็นที่สาม ซึ่งเป็นเหตุแห่งความสงสัย คือ อรัญญา พยาน มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ พิกุล ญาติของผู้ตาย ประเด็นนี้สมชายคิดว่า รับฟังไม่ได้ เนื่องจากเป็นความสนิทสนมที่มีมาก่อนและไม่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงตามพยานวัตถุ ประเด็นทั้งสามและเหตุผลดังนี้จึงไม่มีข้อสงสัยเพียงพอที่จะยกประโยชน์ให้แก่จำเลยได้
ปัญหาในคดีนี้จึงเป็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งยากจะพิสูจน์ว่ามีการทุจริตหรือไม่ และในกระบวนการพิจารณาที่ไม่เปิดช่องให้มีการตรวจสอบ สมชายเสนอว่า ควรมีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในทุกระดับชั้น ไม่ควรให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจเต็มในการเป็นพนักงานสอบสวน และในชั้นศาลต้องให้ สื่อ-นักวิชาการ-สังคม มีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีโดยการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและรับฟังข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน
“ผมยังสงสัยเรื่องวิธีคิด อาชญากรรมโดยรัฐ หลังจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เป็นไปได้หรือไม่ว่า วิธีคิด ดังกล่าวได้แทรกซึมเข้าไปในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายและส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน”
การบันทึกหลักฐานควรเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล : พ.ต.อ.วิรุติ  ศิริสวัสดิบุตร  จเรตำรวจ
พ.ต.อ.วิรุติ ศิริสวัสดิบุตร กล่าวว่า การฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ เป็นเพียงตัวเลขสรุปในรอบสามเดือนในช่วงต้นปี 2547 เท่านั้น จากข้อมูลสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ทราบว่า ก่อนหน้าก็มีมาโดยตลอด เมื่อเกิดคดีขึ้นส่วนใหญ่ก็จะถูกทำให้กลายเป็น “คดีดำ” กล่าวคือ คดีที่สรุปสำนวนว่า หาตัวคนกระทำความผิดไม่ได้ แล้วให้ยุติการสืบสวน ทิ้งค้างไว้เช่นนั้นจนหมดอายุความ
ทั้งที่ความเป็นจริง พยานหลักฐานในคดีเหล่านี้มีอยู่มาก แต่ก็ไร้ประโยชน์ เนื่องจากอำนาจในการสืบสวนสอบสวน อยู่ในมือของอาชญากร คงพูดลอยๆ ได้ว่า ในการประชุมซึ่งประกอบไปด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด มีการเช็คลิสต์ รายชื่อกลุ่มเป้าหมาย ใครตาย ใครอยู่ ใครไปไหนแล้ว เป็นเรื่องปกติ
เมื่อเป็นดังนั้น การตรวจสอบย่อมไม่เกิดขึ้น คดีของเกียรติศักดิ์ในทางเทคนิคแล้วไม่มีอะไรซับซ้อน ถ้าพยานหลักฐานถูกเก็บและนำเข้าสู่สำนวนคดีอย่างครบถ้วน แต่อย่างไรก็ดี การพิสูจน์ของเจ้าหน้ารัฐในกรณีแบบนี้มักเป็นการพิสูจน์ "เพื่อให้ไม่พบ" พนักงานสอบสวนบางครั้งต้องมีหน้าที่ทำลายหลักฐานด้วยซ้ำไป ถ้าใครขืนทำตัวตงฉิน หรือไม่ยอมทำตามวิธีปฏิบัติช่วยกันปกปิด ก็จะถูกเปลี่ยนตัวได้ง่ายๆ
“คดีพวกนี้สำนวนมีแผ่นสองแผ่น หนึ่งปี ไม่พบอะไรก็เลิก งดสอบสวน ระหว่างนั้นก็ป้องกันไม่ให้หลักฐานและพยานปรากฏ จนหมดอายุความนั่นแหละ คดีอาญาไม่ควรมีอายุความ แบบประเทศญี่ปุ่น สิ่งนี้ก็ควรต้องพิจารณากัน”
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจมองว่า ประมวลกฎหมายวีพิจารณาความอาญา ฉบับปัจจุบัน ต้องถูกแก้ไข ในกระบวนการตรวจสอบที่เกิดเหตุต้องให้พนักงานอัยการมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันการช่วยปกปิดพยานหลักฐาน และการทำสำนวนลอย การบันทึกพยานหลักฐานทั้งหมดควรเปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิทัล นำเทคโนโลยีเข้ามาประกอบโดยการบันทึกทั้งภาพและเสียง รวมทั้งในกระบวนการพิจารณาด้วย ในอนาคตกระดาษอาจไม่จำเป็นเพราะเสี่ยงต่อการสูญหาย ส่วนตัวมองว่า หากกระบวนการรวบรวมพยาน หลักฐานครบถ้วน และไม่มีการเล่นนอกกติกา ผลการพิจารณาคดีฆ่าแขวนคอเกียรติศักดิ์ก็จะสรุปออกมาเป็นแบบนี้ไม่ได้
“เห็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ก็รู้ว่า มีช่องให้ยกฟ้อง เพราะหลักฐานที่สำคัญไม่ปรากฏ มีแต่พยานแวดล้อม แต่อย่างไร พยานหลักฐานที่เหลือก็มีมากพอที่จะบ่งชี้ตัวผู้กระทำผิด ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์  ดังนั้นศาลสูงจะพิจารณากลับ ก็ต้องหักล้างคำพิพากษาก่อนหน้านี้ให้ได้ว่ามีปัญหาจุดไหน”