พรรคไทยรักษาชาติ: น้องใหม่ที่ประกาศจะ ‘ทำทุกวิถีทาง’ ไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีก

8 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นวันสุดท้ายของการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งและเป็นวันสุดท้ายที่พรรคการเมืองต้องเสนอ 'บัญชีว่าที่นายกฯ' ไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง 
โดยพรรคที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองในวันนี้ ได้แก่ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคการเมืองเมืองน้องใหม่ที่แตกตัวมาจากพรรคเพื่อไทย ที่เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชธิดาองค์โตในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า แต่ทรงสละฐานันดรศักดิ์ตั้งแต่ปี 2515 เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีที่พรรคจะเสนอเพียงคนเดียว
จากพรรครัฐไทยสู่ไทยรักษาชาติ
สำหรับพรรคไทยรักษาชาติจัดตั้งขึ้นในปี 2552 ภายใต้ชื่อ "พรรครัฐไทย" โดยมี เอกสิทธิ์ เจาฑานนท์ เป็นหัวหน้าพรรค โดยชูนโยบาย เช่น จัดทำกฎหมายพรรคการเมืองให้เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง  และมีความโปร่งใสในกระบวนการตรวจสอบและถอดถอนสมาชิกและกรรมการบริหารพรรค นโยบายการปฏิรูปที่ดินและออกเอกสารสิทธิให้เกษตรกรผู้ยากไร้ 
ต่อมาในปี 2553 มีการเปลี่ยนชื่อจากพรรค "รัฐไทย" เป็นพรรค "ไทยรวมพลัง" ในวันที่ 9 เมษายน 2557 เอกสิทธิซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคลาออก กรรมการบริหารพรรครวม 9 คนจึงพ้นจากตำแหน่ง พรรคไทยรวมพลังใช้ชื่อดังกล่าวเรื่อยมาจนกระทั่งในเดือน ตุลาคมมีการเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคจาก "ไทยรวมพลัง" เป็น "ไทยรักษาชาติ" โดยมีการตั้งข้อสังเกตกันว่าตัวอักษรย่อของพรรคที่เรียกว่า 'ทษช.' พ้องกับชื่อย่อของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเก่า
พรรคน้องใหม่ที่ได้แกนนำเพื่อไทยมาสมทบ
ในเดือนพฤษจิกายน 2561 พรรคไทยรักษาชาติมีมติเลือก ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พาณิชย์ อดีต ส.ส. จังหวัดขอนแก่น พรรคเพื่อไทย บุตรชายของ ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช อดีตวุฒิสมาชิกจังหวัดขอนแก่นเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมชูสโลแกน "โลกก้าวไกล ไทยต้องก้าวทัน" 
ในขณะเดียวกัน พรรคไทยรักษาชาติยังได้แกนนำของพรรคเพื่อไทยบางส่วนมาสมทบ เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาร่วมงาน 
รวมทั้งการมีสมาชิกกลุ่มนปช. เช่น  เหวง โตจิราการ หรือ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคก็ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคไทยรักษาชาติเป็นเครือข่ายของ "ทักษิณ" หรือกระทั่งเป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้ยุทธศาสตร์ "แตกแบงค์พัน" เพื่อลงแข่งในการเลือกตั้งรูปแบบใหม่
พรรคที่ประกาศจะหยุดการสืบทอดอำนาจทุกวิถีทาง
ก่อนเปิดตัว 'บัญชีว่าที่นายกฯ' ของพรรค พรรคไทยรักษาชาติ ประกาศตัวว่าจะเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย และจะป้องกันไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลคสช. โดยจะสกัดไม่ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก และเชื่อว่าพรรคไทยรักษาชาติคือตัวชี้ขาดให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะในสภา
ในการสู้ศึกในสภามีการคาดการณ์ว่าจะมีชื่อ จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรค จะอยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติ แต่ในช่วงสองวันสุดท้ายก่อนปิดรับบัญชีว่าที่นายกฯ จาตุรนต์ ออกมาเปิดเผยว่า ตนเองไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค จึงตอบไม่ได้ว่าใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค เพราะเป็นมติกรรมการบริหารพรรค และส่วนตัวเคยมีชื่อเป็นแคนดิเดต แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหนังสือมาให้เซ็น และเชื่อว่าคงไม่มีแล้ว
ต่อมาก็มีกระแส 'ข่าวลือ' ว่าที่นายกฯ ที่พรรคจะเสนอถึงขนาดจะสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองและมีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองอื่นทยอยถอนตัว และสุดท้ายข่าวลือก็กลายเป็น 'ข่าวจริง' ที่พรรคไทยรักษาชาติได้เสนอ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นว่าที่นายกฯ ที่พรรคจะเสนอ 
โดยแถลงการณ์ของพรรคระบุว่า ทูลกระหม่อมฯ มีพระประสงค์ที่จะสร้างความเจริญให้กับประเทศ และความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ประเทศไทยทันสมัยทันโลก ยิ่งไปกว่านั้น คือ การสร้างความสามัคคีปรองดองให้กับคนในชาติ
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคไทยรักษาชาติส่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรวม 108 ลำดับ เช่น ลำดับที่ 1 ร.ท.ปรีชาพล หัวหน้าพรรค ลำดับที่ 2 จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ลำดับที่ 5 มิตติ ติยะไพรัตน์ บุตรชายของยงยุทธ ติยะไพรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และลำดับที่ 6 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มนปช. เป็นต้น ในส่วนของ ส.ส.แบ่งเขต ส่งผู้สมัครรวม 143 เขต โดยส่งมากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ 48 เขต ขณะที่ภาคอีสานส่งเพียง 6  เขต และกรุงเทพมหานคร 8 เขต 
"เทคซิโนมิกส์" แนวคิดเศรษฐกิจของพรรคไทยรักษาชาติ
พรรคไทยรักษาชาติประกาศมุ่งที่จะแก้ปัญหาปากท้อง หรือปัญหาเศรษฐกิจ โดยอ้างว่าจะสานต่อนโยบายจากพรรคไทยรักไทยที่มีหัวพรรคเป็น 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย ผ่านกรอบคิดที่เรียกว่า "เทคซิโนมิกส์" หรือ Techsynomics ที่มาจาก Technology sync และ Economics 
โดยคำว่า 'เทคซิโนมิกส์' หมายการสร้างโอกาสใหม่ให้คนไทย ด้วยระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย นำเอาเทคโนโลยีมาต่อยอดเศรษฐกิจ โดยมีเป้าการสร้างโอกาสให้แก่ ภาคการเกษตร แรงงาน งานบริการ ผู้ประกอบการรายย่อย และเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ 
ทั้งนี้ พรรคทษช. ประกาศจะเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายให้กับประชาชน เช่น ลดทุนผูกขาดโดยเฉพาะธุรกิจพลังงาน ผลักดันการแปรรูปสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่า มุ่งสู่ตลาดดิจิทัลและการส่งออก มีกองทุนส่งเสริมศักยภาพและพี่เลี้ยงทางธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศและพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นต้น