สนช. เห็นชอบกฎหมาย ‘เทียบเก้าอี้’ เปิดทาง ‘นายพล’ มีตำแหน่งเท่าอธิบดี

7 กุมภาพันธ์ 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี ให้ใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 142 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่เห็นชอบไม่มี โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งของข้าราชการพลเรือน ศาล ทหาร ตำรวจ ที่มีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี
นอกจากนี้ ยังให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลตามกฎหมายของแต่ละส่วนราชการวางระเบียบการเทียบตำแหน่งในส่วนราชการของตัวเองตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายฉบับนี้ และให้ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเทียบตำแหน่งหรือหลักเกณฑ์กลาง
กฎหมายเปิดทางให้ 'นายพลทหาร-ตำรวจ' มีสิทธิเทียบตำแหน่งอธิบดี
ใน พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งฯ กำหนดให้ใช้บังคับกับทุกหน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน ทหาร หรือตำรวจที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ 
ส่วนการพิจารณาเทียบตำแหน่งให้ใช้หลักเกณฑ์ อย่างน้อย 3 อย่าง ได้แก่ 
(1) เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น 
(2) เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ว่าส่วนราชการนั้นจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ 
(3) เป็นตำแหน่งประเภทบริหารซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชา บริหารงาน บริหารงานบุคคล หรือบริหารงบประมาณส่วนราชการนั้น 
โดยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งของ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งฯ เปิดทางให้ข้าราชการทหารและตำรวจในชั้นยศตั้งแต่พลตรีขึ้นไปเทียบตำแหน่งอธิบดีได้ เพราะข้าราชการทหารและตำรวจเป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง อีกทั้ง เป็นตำแหน่งประเภทบริหารตามกฎหมายระเบียบราชการทหาร รวมถึงฎหมายยังเปิดทางให้หัวหน้าส่วนราชการที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลสามารถเทียบได้ 
อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งฯ มีเนื้อหาคล้ายกับร่าง พ.ร.บ.การเทียบตำแหน่งข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน ที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งต่างกันเพียงแค่การบัญญัติคำ แต่สาระสำคัญคือการเปิดทางให้ ‘ข้าราชการทหาร’ ชั้นยศ พลตรี-พลอากาศตรี-พลเรือตรี ซึ่งบริหาร/เคยบริหารราชการแผ่นดินระดับหัวหน้าส่วนราชการในกระทรวงกลาโหม ให้ถือว่ามีตำแหน่งเทียบเท่า ‘ข้าราชการพลเรือน’ ซึ่งเป็น/เคยเป็นอธิบดีกรม 
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายเทียบตำแหน่งข้าราชทหารฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยผู้ที่มาแสดงความคิดเห็นร้อยละ 97 ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของกฎหมาย เนื่องจาก เห็นว่าจะเป็นการให้ทหารเข้าแฝงตัวเข้ามาก้าวก่ายองค์กรอิสระ ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และถ้าให้พลตรีเทียบเท่าอธิบดีได้เท่ากับกองทัพมีอธิบดีนับพันคน ซึ่งบางส่วนเห็นว่าข้าราชการทหารระดับหัวหน้าส่วนราชการน่าจะมีเพียง ผู้บัญชาการทหาร (ผบ.) สูงสุด และผบ.เหล่าทัพ ไม่ควรหมายความรวมถึง กรมกองต่างๆ ในสังกัดกระทรวงกลาโหม
ให้องค์กรกลางบริหารบุคคลฯ ทำเกณฑ์เทียบตำแหน่งในองค์กรกำกับของตัวเอง
พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งฯ กำหนดให้องค์กรกลางบริหารบุคคล เช่น คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นต้น 
โดยองค์กรกลางดังกล่าวจะเป็นผู้วางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดีเพื่อใช้กับข้าราชการในส่วนราชการของตน ทั้งนี้ การวางระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด รวมทั้งมีหน้าที่และอำนาจในการเทียบตำแหน่งข้าราชการในส่วนราชการของตน
ให้มีคณะกรรมการหนึ่งชุดทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่ง
กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่งในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเทียบตำแหน่งหรือการกำหนดหลักเกณฑ์กลาง โดยให้คณะกรรมการประกอบไปด้วย รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการ ก.พ. เลขาธิการ ก.พ.ร. ผอ.สำนักงบประมาณ และ ผบ.ตร. นอกจากนี้ ยังให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวฒิที่คณะรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง อีกจำนวนไม่เกิน 3 คน