เลือกตั้ง 62: บัญชีว่าที่นายกฯ มาแบบไหนสง่างาม ชอบธรรม ไม่เป็นนายกฯ คนนอก

 

ประเด็นข้อถกเถียงหนึ่งของการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คือ การตีความคำว่า “นายกฯ คนใน” และ “นายกฯ คนนอก” เพราะกติการใหม่ที่ คสช. ออกแบบมาทำให้วิธีการมองที่มานายกรัฐมนตรีต้องเปลี่ยนไป 
ปัจจัยสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญวางระบบใหม่ว่า คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องอยู่ใน "บัญชีว่าที่นายกฯ" ที่เสนอโดยพรรคการเมือง ซึ่งแต่ละพรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. จะเสนอรายชื่อว่าที่นายกฯ  ของพรรค ไว้กับ กกต. ไม่เกินพรรคละสามรายชื่อก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนได้เห็นหน้าค่าตากันก่อน และประชาชนจะสามารถคาดเดาได้ว่า แต่ละคะแนนที่ออกเสียงไปนั้นเป็นไปเพื่อสนับสนุนให้ใครได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่ได้บังคับว่า บุคคลที่จะอยู่ใน “บัญชีว่าที่นายกฯ” ของแต่ละพรรคการเมือง จะต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็น ส.ส. หรือจะต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่เสนอชื่อตัวเองเข้าไปด้วย ดังนั้น สถานะของบบุคคลที่อยู่ใน "บัญชีว่าที่นายกฯ" แต่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็น ส.ส. จึงอยู่ตรงกลางว่าจะเป็น "คนใน" หรือ "คนนอก"
สังคมไทยเรียนรู้ คำว่า "นายกฯ คนนอก" จากบทเรียนทางการเมืองมาหลายสมัย
ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย มีนายกรัฐมนตรีหลายคนที่เข้ารับตำแหน่งภายใต้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่ตัวนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพราะไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ร่วมกับพรรคการเมืองใดเลย เช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือ อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งต่างก็ได้รับเชิญให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ขัดแย้ง และต่อมาได้รับการยอมรับจากประชาชนหลายกลุ่ม
ข้อเรียกร้องจากประชาชนที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หรือการไม่เอา "นายกฯ คนนอก" กลายเป็นคำพูดติดปากและเป็นหลักการที่ได้รับความนิยมในสังคมไทยในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี 2535 ในการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรัฐประหารที่เคยลั่นวาจาไว้ว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง จึงไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ตอนหลังมากลับคำ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" เข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี จึงถูกประชาชนออกมาขับไล่ ภายใต้คำขวัญว่า "นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง" 
หลังเหตุการณ์ในปี 2535 และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และตามมาด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 หลักการนี้จึงได้รับการยอมรับและเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า คุณสมบัติข้อหนึ่งของนายกรัฐมนตรี คือ ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือต้องได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาก่อน และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่นั้นมาว่า ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งของพรรคการเมืองที่ได้ชนะเลือกตั้งจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดังจะเห็นได้จาก ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่งของพรรค คือ ทักษิณ ชินวัตร, สมัคร สุนทรเวช และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความเห็นชอบจาก ส.ส. ส่วนใหญ่ในสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีมาตามลำดับ
กติกาใหม่ สร้างความหมาย "นายกฯ คนนอก" ที่เปลี่ยนไป
ตามกติกาการเลือกตั้งใหม่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทำให้ความหมายของคำว่า "นายกฯ คนนอก" เปลี่ยนแปลงไป โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีว่า ต้องเป็น ส.ส. เหมือนสองฉบับก่อนหน้านี้ แต่กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ และต้องเป็นพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมด หรือ 25 คน จาก ส.ส. เต็มสภา 500 คน ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. แต่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยถูกต้องและเป็นไปตามกรอบกติกาปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรีที่มาตามระบบนี้ แม้จะไม่ได้เป็น ส.ส. จึงไม่ถึงกับเป็น "นายกฯ คนนอก" ในความหมายเดิมที่นิยมใช้กันในช่วงปี 2535 อีกต่อไป เพราะบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองจะต้องเปิดให้ประชาชนเห็นก่อน และจะเป็นหนึ่งในตัวแปรที่จะให้ประชาชนตัดสินใจเลือกว่าจะกาให้พรรคการเมืองใดหรือไม่ หากรายชื่อว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองใดมีคนที่ประชาชนไม่ต้องการ ประชาชนก็มีโอกาสตัดสินใจไม่เลือกผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคการเมืองนั้นได้
ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้สร้างความหมายใหม่ของ "นายกฯ คนนอก" ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพราะได้เปิดช่องให้มี "นายกฯ คนนอก" ที่แท้จริงได้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ที่กำหนดว่า หากหลังการเลือกตั้งรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไว้ก่อนการเลือกตั้งได้เลย ก็ให้สมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน จากจำนวนเต็ม 750 คน ลงมติเพื่อเปิดทางให้เสนอชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมือง ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 
ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หากนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็น ส.ส. แต่มีที่มาจากผู้ที่ถูกเสนอชื่ออยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ก็ยังถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็น "คนในระบบการเลือกตั้ง" เพียงแต่เป็น "คนนอกรัฐสภา" แต่หากนายกรัฐมนตรีมาจากคนที่ไม่เคยอยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองใดเลย ถึงจะเรียกได้ว่าเป็น "นายกฯ คนนอก" ที่แท้จริง
กติกาใหม่ ให้ประโยชน์พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 และ 264 กำหนดว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ เว้นแต่จะได้ลาออกภายใน 90 วันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงไม่สามารถลงสมัคร ส.ส. ได้ ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีนายกฯ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. เช่นนี้เป็นประโยชน์กับพล.ป.ประยุทธ์ โดยตรง ให้ยังสามารถนั่งเก้าอี้ยาวๆ ไปก่อนและระหว่างการเลือกตั้งได้ และยังสามารถเข้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งได้อีก
ความชอบธรรมและสง่างาม คือ ต้องเชื่อมโยงกับประชาชน
หลักการที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง มีเหตุผลเนื่องจากการเลือกตั้งเป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้นักการเมืองจะมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน และต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเดินทางไปพบปะประชาชน ต้องรับฟังความต้องการของประชาชน และออกเป็นนโยบายว่า หากได้รับการเลือกตั้งแล้วจะทำหรือไม่ทำสิ่งใด นอกจากนี้ระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งก็ยังมีหน้าที่ต้องทำตามที่สัญญากับประชาชนไว้ด้วย หากผู้ใดเข้าสู่อำนาจแล้วผิดสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน หรือใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปประชาชนก็จะไม่ออกเสียงให้อีก
โดยหลักการเช่นนี้นายกรัฐมนตรีที่มีความชอบธรรม และมีความสง่างามจึงต้องผ่านการ "ลงสนามเลือกตั้ง" อย่างเต็มตัว
ก่อนหน้านี้การพิจารณาว่า นายกรัฐมนตรีได้ผ่านสนามเลือกตั้งและมีความชอบธรรมหรือไม่ จึงพิจารณาได้ง่ายๆ คือ บุคคลนั้นลงสมัครเป็น ส.ส. ด้วยหรือไม่ แต่ตามกติกาใหม่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ผู้ที่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรียังมีทางเลือกที่จะลงสนามผ่านกลไก "บัญชีว่าที่นายกฯ" ของพรรคการเมืองโดยไม่ต้องสมัครเป็น ส.ส. ก็ได้ การจะพิจารณาว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงสนามเลือกตั้งและมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนหรือไม่ จึงมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น 
ในแง่นี้ หากนักการเมืองคนใดประกาศจุดยืนชัดเจนที่จะเดินทางร่วมกับพรรคการเมืองใดตั้งแต่ต้น โดยมีรายชื่อเป็นหนึ่งในสามว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้น และลงพื้นที่ทำกิจกรรมพบปะประชาชนในนามว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้น ก็ถือได้ว่า บุคคลนั้นได้เป็น "คนใน" สำหรับสนามการเลือกตั้ง มีจุดบกพร้อมบางอย่างแต่ก็มีความเชื่อมโยงกับประชาชนพอสมควรแล้ว
แต่หากนักการเมืองคนใดเพียงถูกเสนอชื่ออยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองแต่ไม่เคยร่วมงานใดๆ กับพรรคการเมือง ไม่เคยลงพื้นที่ ไม่เคยพบปะประชาชน ไม่เคยมีความผูกพันเชื่อมโยงใดๆ กับเจ้าของประเทศทั้งหลาย รวมทั้งบางกรณีอาจเป็นเพียงหนึ่งในสามรายชื่อที่ประชาชนไม่ได้คาดหมายว่า จะเป็นคนที่ถูกเสนอในขั้นตอนสุดท้าย แม้หลังการเลือกตั้งจะได้รับการลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็ยังขาดความชอบธรรม
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้กติกาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 การพิจารณาประเด็นความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีโดยพิจารณาเพียงว่า เป็น ส.ส. ด้วยหรือไม่ ยังแคบเกินไป แต่ต้องพิจารณาว่า คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้เป็นส่วนหนึ่งของสนามเลือกตั้งในระดับที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนด้วยหรือไม่
ความบกพร่องของนายกฯ ที่มาจากบัญชี โดยไม่สมัคร ส.ส. ด้วย
แน่นอนว่า หากนายกรัฐมนตรีมีที่มาจากผู้สมัคร ส.ส. ที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. โดยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนส่วนใหญ่ให้เป็นตัวแทนเข้าไปอยู่ในรัฐสภา และยังได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาส่วนใหญ่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีจุดเชื่อมโยง "ทางตรง" กับประชาชนและยังมีจุดเชื่อมโยง "ทางตรง" กับสมาชิกสภาด้วย ซึ่งจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่สง่างามอย่างสมบูรณ์แบบ
แต่หากนายกรัฐมนตรีมาจากบัญชีของพรรคการเมืองอย่างเดียวโดยไม่ได้สมัคร ส.ส. ด้วย ก็ยังขาดจุดเชื่อมโยงโดยตรงกับประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง มีเพียงความเชื่อมโยงทางอ้อม ที่ประชาชนออกเสียงให้ ส.ส. ในพรรคการเมืองเดียวกัน และ ส.ส. เหล่านั้นมาออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่ง
ปัญหาที่ตามมาในระบบการเลือกตั้งที่ประชาชนกาบัตรใบเดียวมีความหมายทุกอย่าง ก็คือ เราไม่สามารถแยกแยะได้ว่า เสียงของประชาชนแต่ละเสียงมีเจตจำนงแบบใดบ้าง เช่น ประชาชนบางคนอาจจะกากบาทเพื่อเอาคะแนนเสียงให้ ส.ส. แบบแบ่งเขต แต่ไม่ได้ต้องการได้นายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคนั้น หรือประชาชนบางคนอาจจะกากบาทตั้งใจเลือกบางคนให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยตรงเลย โดยที่ไม่สนใจผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลยก็ได้
สำหรับเสียงของประชาชนที่ตั้งใจจะออกเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมตรีเลย อาจมีความอ่อนไหวเมื่อผู้สมัครในบัญชีว่าที่นายกฯ ไม่สมัครเป็น ส.ส. ด้วย เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งผู้สมัครคนนั้นอาจไม่ถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะพรรคการเมืองไปเสนอชื่อบุคคลอื่นในบัญชี หรือพรรคการเมืองนั้นไม่ชนะการเลือกตั้ง ก็จะทำให้คะแนนของประชาชนที่ออกเสียงไปในประเภทหลังถูกนำไปคิดคำนวนให้ ส.ส. คนอื่นเพียงอย่างเดียว ทำให้เจตจำนงของประชาชนที่ออกเสียงไปเช่นนี้ถูกนำไปใช้ในทางที่เจ้าของเสียงไม่ได้ต้องการ ในแง่นี้ก็เป็นความบกพร่องที่เกิดจากผู้ที่เลือกลงสนามเลือกตั้งด้วยวิธีนี้
ชัชชาติ vs พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ในสนามเลือกตั้งจากบัญชีของพรรคการเมือง
เมื่อเริ่มต้นเข้าสู่สนามเลือกตั้งช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ปรากฏว่า พรรคการเมืองใหญ่ที่ชิงชัยกันอย่างน้อยสองพรรคเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ เป็นผู้ที่ไม่ได้ลงสมัครเป็น ส.ส. ทั้งสองคน โดยพรรคเพื่อไทยมีชื่อของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และพรรคพลังประชารัฐเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มาอยู่ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี แต่บทบาทของผู้สมัครชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีทั้งสองคนในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างกันมาก พอจะเห็นได้ ดังนี้
1. สถานะในพรรคการเมือง
ขณะที่ชัชชาติ สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยพร้อมประกาศตัวชัดเจนว่า เป็นทีมขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจและร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ส่วนในตำแหน่งที่เป็นทางการพล.อ.ประยุทธ์ ทำตัวว่า ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่ผู้จัดตั้ง ไม่ใช่ผู้อยู่เบื้องหลัง ไม่เป็นสมาชิกพรรค และไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายของพรรค
2. ตำแหน่งหน้าที่อื่น
ขณะที่ชัชชาติ ประกาศลงสนามการเมืองอย่างเต็มตัว โดยลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารเอกชนก่อนการเลือกตั้งหลายเดือน เพื่อทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทย ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงนั่งอยู่ในตำแหน่งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีตลอดช่วงเวลาของการเลือกตั้ง โดยประกาศไม่ยอมลาออกเพื่อความสง่างามด้วย
3. ความสัมพันธ์กับประชาชน
ขณะที่ชัชชาติ ปรากฏตัวเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยตลอด และเดินทางลงพื้นที่หาเสียงกับ ส.ส. ในระบบแบ่งเขตของพรรคเพื่อไทย และขึ้นปราศรัยในเวทีของพรรคเพื่อไทย ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงสถานะเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อพบปะประชาชนในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาเรียนรู้และมาขอโอกาสกับประชาชน ตัวพล.อ.ประยุทธ์จึงไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
ด้วยกติกาและเงื่อนไขของสนามการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่เปลี่ยนไปจากเดิมจำนวนมาก หลักการที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งและมีความเชื่อมโยงกับประชาชนยังต้องคงอยู่ แต่การพิจารณาที่จะให้ค่าความชอบธรรมและสง่างามของนายกรัฐมนตรี หากใช้เกณฑ์สถานะความเป็น ส.ส. หรือสถานะการอยู่ใน "บัญชีว่าที่นายกฯ" เพียงเท่านี้อาจยังไม่ละเอียดเพียงพอ และการใช้คำเรียกว่า "นายกฯ คนใน" หรือ "นายกฯ คนนอก" ก็เสี่ยงที่จะพาให้สับสนกับความเข้าใจตามกติกาการเลือกตั้งแบบเดิม 
การพิจารณาว่า บุคคลนั้นๆ เป็น "คนใน" หรือ "คนนอก" สนามเลือกตั้ง และอยู่ในสถานะที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างเต็มที่ต่างหาก ที่จะชี้วัดความชอบธรรมและสง่างามของนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้