เลือกตั้ง 62: กกต. ออกระเบียบ เตรียมจัด “ดีเบต” นโยบายพรรคการเมือง

ในการเลือกตั้งปี 2562 มีกติกาใหม่เรื่องการจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศ หรือการจัดดีเบต ระหว่างผู้สมัครจากพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งดำเนินการโดย กกต. เวทีนี้จะแบ่งพรรคการเมืองเป็นกลุ่มพรรคขนาดใหญ่กับพรรคขนาดเล็กตามจำนวน ส.ส. ที่ส่งลงสนาม และให้ออกอากาศทางโทรทัศน์และวิทยุด้วย

ในการเลือกตั้งปี 2562 มีกติกาใหม่เรื่องการจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศ หรือการจัดดีเบต ระหว่างผู้สมัครจากพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งดำเนินการโดย กกต. เวทีนี้จะแบ่งพรรคการเมืองเป็นกลุ่มพรรคขนาดใหญ่กับพรรคขนาดเล็กตามจำนวน ส.ส. ที่ส่งลงสนาม และให้ออกอากาศทางโทรทัศน์และวิทยุด้วย
ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ กฎหมายเลือกตั้ง กำหนดว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่สามารถใช้สื่อวิทยุโทรทัศน์เพื่อโฆษณาหาเสียงได้ เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคที่มีเงินทุนได้เปรียบพรรคขนาดเล็ก มาตรา 81 จึงกำหนดให้ กกต. ต้องจัดเวลาเพื่อสนับสนุนการหาเสียงให้พรรคการเมืองหาเสียงผ่านทางโทรทัศน์อย่างเท่าเทียมกัน ดังนี้

“มาตรา 81 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด ในการนี้ คณะกรรมการจะขอให้

หน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้ดําเนินการสนับสนุนด้วยก็ได้

ในการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศสําหรับพรรคการเมืองได้ด้วย”

และเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ออกระเบียบเกี่ยวกับการหาเสียงทางโทรทัศน์ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดเวทีประชันนโยบาย ดังนี้
  1. ให้พรรคการเมืองที่จะร่วมการดีเบต แจ้งความประสงต่อเลขาธิการ กกต. ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ คือ ต้องแจ้งได้ตั้งแต่ 23 มกราคม 2562
  2. ให้เลขาธิการ กกต. จัดให้มีดีเบต โดยหารือกับผู้บริหารสถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อจัดสรรเวลาการออกอากาศ
  3. ให้แบ่งกลุ่มพรรคการเมืองที่จะขึ้นเวทีดีเบต ตามจำนวนผู้สมัคร ส.ส. ที่ส่งลงสนาม
    กลุ่มแรก พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ตั้งแต่ 300-350 เขต คือ พรรคขนาดใหญ่
    กลุ่มที่สอง พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ตั้งแต่ 200-299 เขต คือ พรรคขนาดกลาง
    กลุ่มที่สาม พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร น้อยกว่า 200 เขต คือ พรรคขนาดเล็ก
  4. หากพรรคการเมืองที่ต้องการเข้าร่วมดีเบตในกลุ่มใดมีมากกว่า 4 พรรคการเมือง ให้จับสลากแบ่งกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มมีจำนวน 2-4 พรรคการเมือง
  5. ให้แต่ละพรรคการเมือง อาจส่งบุคคลต่อไปนี้เข้าร่วมเวที
    1) หัวหน้าพรรค
    2) สมาชิกพรรค
    3) ผู้ที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี
  6. คำถามสำหรับการประชันนโยบายของแต่ละพรรค ให้จับสลากเลือก
ระเบียบของ กกต. เปิดกว้างไว้มากสำหรับตัวแทนพรรคที่จะขึ้นเวทีดีเบตทำให้คนที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและอาจจะไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญในพรรค ขอเพียงเป็นสมาชิกพรรคหรือเป็นผู้ที่ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็สามารถเป็นผู้ประชันนโยบายได้ ซึ่งจะรวมถึงคนอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งในพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่จะยืนเคียงข้างกับพรรคนี้ หรือคนอย่างสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แม้จะไม่เป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็เป็นผู้ที่ทราบกันดีว่าอยู่เบื้องหลังพรรคตัวจริง
แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อผู้ที่จะมาประชันนโยบาย อาจจะไม่ใช่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ ก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนที่จะเป็นผู้ออกเสียงลงคะแนน เพราะไม่ได้เห็นหน้าตาและความคิดของผู้สมัครตัวจริง
เราอาจจะเคยเห็น หรือเคยติดตามฟังเวทีประชันนโยบายระหว่างพรรคการเมืองมาแล้วหลายครั้ง ในหลายประเด็น แต่เวทีนี้จะเป็นเวทีอย่างเป็นทางการที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐ คือ กกต. และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กกต. เป็นผู้จัดเวทีดีเบตเองมาก่อน จึงยังต้องติดตามดูการวางกติกา และการตั้งคำถามที่ กกต. จะเป็นผู้กำหนดขึ้นในภายหลังว่าจะตรงใจประชาชน และตอบคำถามคาใจของคนที่จะต้องตัดสินใจลงคะแนนได้หรือไม่
You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่