คสช.กับภารกิจซ่อมสร้างการประมง

ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ คสช. ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยในบรรดากฎหมายหลายร้อยฉบับที่ คสช. ผลักดันให้เกิดขึ้นมีจำนวนไม่น้อยกว่า 17 ฉบับที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (illegal, unreported and unregulated Fishing – IUU Fishing) ลักษณะของการออกกฎหมายในประเด็นนี้ไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วจบไป แต่หลายปีที่ผ่านมาต้องเป็นออกกฎหมายและระเบียบเรื่อยมาตามวาระจำเป็นเพื่อซ่อมสร้างอุตสาหกรรมการประมง 

เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากในเดือนเมษายน 2558 คณะกรรมาธิการยุโรป สหภาพยุโรปประกาศให้ “ใบเหลือง” จัดไทยอยู่กลุ่มประเทศที่ถูกเตือน (Warned Countries) อย่างเป็นทางการให้แก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมการประมงให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับ IUU  Fishing ภายในหกเดือน โดยไทยต้องดำเนินตามมาตรการต่างๆ เพื่อถอดถอนใบเหลือง หากทำไม่ได้ ผลที่เกิดขึ้น คือ ไทยจะสามารถส่งสินค้าประมงไทยไปในยุโรปเพื่อทำการค้า ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรป สหภาพยุโรปได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของไทย คือ การไม่มีระบบติดตามการทำประมง การประมงที่ไร้การควบคุมและไม่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับในสายพานการผลิต และการกำหนดโทษในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำไม่เหมาะสม

อะไรคือ IUU Fishing

วันที่ 1 มกราคม 2553 คณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรปได้บังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) กำหนดให้สัตว์น้ำที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรปต้องระบุว่า ไม่ได้มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) โดย IUU Fishing ย่อมาจาก illegal-unreported-unregulated Fishing

Illegal fishing คือ การทำประมงที่ผิดกฎหมาย หมายถึง การทำประมงที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐที่มีอำนาจเหนือน่านน้ำหรือขัดต่อกฎหมายและกฎเกณฑ์ของรัฐที่มีอำนาจเหนือน่านน้ำหรือข้อผูกผันระหว่างประเทศ

Unreported fishing คือ การประมงที่ไม่รายงาน หมายถึงการไม่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทำประมง เช่น ปริมาณสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงครั้งหนึ่ง หรือรายงานผิดจากข้อเท็จจริงต่อรัฐที่มีอำนาจเหนือน่านน้ำที่ทำการประมง

Unregulated fishing คือ การประมงที่ไร้กฎเกณฑ์ควบคุม หมายถึงการทำประมงโดยเรือไม่ระบุสัญชาติหรือไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาชิกขององค์การบริหารจัดการทรัพยากรระดับภูมิภาค (RFMO) โดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการที่องค์การระหว่างประเทศกำหนด และการจับสัตว์น้ำโดยที่ยังไม่มีมาตรการอนุรักษ์

ขณะที่รายงานขององค์กร Environmental Justice Foundation ระบุว่า การทำประมงผิดกฎหมายมีความสัมพันธ์ของปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมง โดยการจัดการอุตสาหกรรมการประมงที่ไร้ประสิทธิภาพ ขาดการติดตาม,ควบคุมและตรวจตรานำไปสู่การทำประมงที่มากเกินกว่าขีดจำกัดของธรรมชาติ (Over fishing) จนกระทั่งระบบนิเวศเสื่อมโทรม จึงทำให้ปริมาณการจับสัตว์ทะเลในน่านน้ำเดิมลดลงจากที่เคยจับได้ ปัจจัยดังกล่าวบีบให้ผู้ประกอบการต้องออกเดินเรือไปไกลกว่าเดิมและใช้เวลาในทะเลนานขึ้น ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างในการตรวจสอบและภาวะขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายจำต้องเดินคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาแรงงาน

การแก้ไขประมงผิดกฎหมายก่อนรัฐประหาร 2557

ก่อนหน้าการติดใบเหลือง สหภาพยุโรปเคยเตือนไทยไม่น้อยกว่า 3 ครั้งคือ ในปี 2554, 2556 และ 2557 ช่วงเวลาก่อนที่จะมีการให้ใบเหลืองไทยอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2558 ไทยก็ออกกฎหมายเพื่อแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายเรื่อยมา มีการรายงานถึงผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นระยะและมีความพยายามออกกฎหมายในรูปแบบต่างๆ แต่ก็เป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆดังนี้

ร่าง พ.ร.บ.ประมง

ในปี 2550 ได้มีความพยายามในการออกพ.ร.บ.ประมง ฉบับใหม่ โดยเริ่มร่างกฎหมายเมื่อปี 2542 ผ่านการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่ปี 2553 จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เจ้าของเรื่องจึงขอถอนร่างเพื่อทบทวนใหม่ จนกระทั่งในปี 2555 พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ถูกบรรจุเป็นวาระเข้าพิจารณาอีกครั้ง กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุของความล่าช้าที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

นอกจากความล่าช้าแล้วหลังยังไม่ปรากฏแนวปฏิบัติที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหา IUU  Fishing เห็นได้จากหนังสือตอบกลับความเห็นเรื่องข้อเสนอ แนวทาง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมงของกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ 19 กันยายน 2555 ปรากฏข้อความว่า “การจัดระเบียบเรือประมงเข้าระบบอย่างถูกต้องทั้งตัวเรือและตัวบุคคลเรือเป็นอำนาจตามกฎหมายของหลายหน่วยงาน ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง และไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน…ทั้งนี้การมีเครื่องมือ/อุปกรณ์ และระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวอย่างเพียงพอจะทำให้การปฏิบัติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในส่วนของการควบคุมเรือเข้า-ออกท่า กองทัพเรือยังไม่มีกฎหมายรองรับการปฏิบัติที่ชัดเจน”

ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. …

วันที่ 3 เมษายน 2555 กระทรวงแรงงานยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. … (ร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลฯ) เพื่ออุดช่องว่างของกฎกระทรวงฉบับที่ 10 ที่กําหนดไม่ให้ใช้บังคับกับงานประมงทะเล ที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 20 คน และไม่ใช้บังคับกับเรือประมงที่ดําเนินการประจําอยู่นอกราชอาณาจักรติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทำให้แรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึง แต่ในปี 2556 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ขอให้ชะลอการประกาศใช้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไปก่อน เนื่องจากเนื้อหาของร่างบางส่วนไม่สอดคล้องกับพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ และเสนอให้รับฟังความคิดเห็นจากแรงงานในกิจการประมงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มเติม

การแก้ไขประมงผิดกฎหมายหลังรัฐประหาร 2557

หลังการรัฐประหาร 2557 คสช. แก้ไขปัญหา IUU  Fishing ไปควบคู่กับปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีแนวคิดว่า ปัญหาทั้งสองอาจจะกระทบต่อการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในสายตานานาชาติ รวมทั้งยังอยู่ภายใต้เรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ผลกระทบหลังการติดใบเหลืองที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม คือ สหภาพยุโรปได้ยกเลิกสิทธิพิเศษทางศุลกากรที่เคยให้แก่ไทยตามโครงการสิทธิพิเศษศุลกากรเป็นการทั่วไป (General Scheme of Preferences-GSP)

การแก้ไขปัญหา IUU Fishing แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ก่อนที่จะได้รับใบเหลืองในเดือนเมษายน 2558 และหลังจากที่ได้รับใบเหลืองในเดือนเมษายน 2558 โดยช่วงก่อนที่จะได้รับใบเหลืองในเดือนเมษายน 2558 นั้นการแก้ไขปัญหาจะเป็นลักษณะของการนำกฎหมายหรือโครงสร้างการแก้ไขปัญหาเดิมมาพิจารณาหรือใช้อีกครั้ง และหลังจากที่ได้รับใบเหลืองมีการเอาอำนาจของคณะรัฐมนตรีมาใช้ออกพระราชกำหนด และใช้ “มาตรา 44” ออกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนที่จะออกกฎหมายตามกระบวนการปกติให้สอดคล้องกันไป

ก่อนสหภาพยุโรปให้ใบเหลือง (22 พ.ค. 2557- 20 เมษายน 2558)

ปัดฝุ่นกฎหมายเก่า เร่งแก้ปัญหา IUU Fishing

การแก้ไขปัญหา IUU  Fishing ถูกพูดถึงโดยรัฐบาล คสช. ครั้งแรกๆ ในวันที่ 9 สิงหาคม 2557 พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช. ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ประมง ฉบับใหม่ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เร่งเสนอร่างกฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมติดังกล่าวส่งผลให้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ IUU  Fishing ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

โดยมีการร่างกฎหมายลำดับรอง เช่น กฎกระทรวงจำนวน 70 ฉบับ โดยเป็นกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมายจำนวน 12 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 วันที่ 30 ธันวาคม 2557 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 (กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลฯ) ที่กำหนดให้ยกเลิกข้อยกเว้นที่ไม่ให้ใช้บังคับแก่เรือประมงที่มีจำนวนลูกจ้างไม่ถึง 20 คน และไม่ให้ใช้บังคับแก่เรือประมงที่ไปดำเนินการประจำอยู่นอกราชอาณาจักรติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังกำหนดข้อบังคับเพิ่มเติม เช่น อายุของแรงงาน, ชั่วโมงพักการทำงานและการจัดทำสัญญาจ้าง เป็นต้น

เดิมทีกฎกระทรวงดังกล่าวถูกเขียนขึ้นในปี 2555 และชะลอไปจากคำขอของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ให้ไปศึกษาความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาเพิ่มเติม ซึ่งเพิ่งจะรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2556

นอกจากนี้กรมประมง, กรมเจ้าท่าและกรมการปกครองได้เริ่มจดทะเบียนเรือประมง ออกใบอนุญาตทำการประมงและทำการรับจดแจ้งเครื่องมือในการทำประมง รวมทั้งดำเนินการจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) ซึ่งจะมีการออกกฎกระทรวงบังคับให้เรือประมงติดระบบ VMS หลังการบังคับใช้พ.ร.บ.การประมง 2558 ที่วางแผนจะบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2558

หลังสหภาพยุโรปให้ใบเหลือง (21 เมษายน 2558-ธันวาคม 2561)

แม้ว่า คสช.จะพยายามออกกฎหมายเพื่อแก้ไข IUU Fishing ให้ประเทศไทยพ้นจากใบเหลืองของสหภาพยุโรป แต่ด้วยปัญหาที่หมักหมมมานาน และการแก้ไขปัญหายังไม่ถูกที่นัก ทำให้ในวันที่ 21 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองไทยอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นเวลาแก้ไขปัญหาหกเดือน หากไม่สามารถแก้ไขปัญหา IUU Fishing ได้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรป ทำให้ คสช. เร่งรีบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการออกกฎหมายและคำสั่งตามมาตรา 44 หลายฉบับ

ดันพ.ร.บ.การประมง ขัดตาทัพใบเหลืองอียู

คล้อยหลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป สหภาพยุโรปประกาศให้ “ใบเหลือง” จัดไทยอยู่กลุ่มประเทศที่ถูกเตือน (Warned Countries) อย่างเป็นทางการเพียงหนึ่งสัปดาห์ วันที่ 28 เมษายน 2558 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พ.ร.บ.การประมง 2558  โดยบังคับใช้เร็วกว่าแผนเดิมที่จะบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2558 ราวหนึ่งเดือน

โดยสรุปพ.ร.บ.การประมง 2558 กำหนดว่า ให้อำนาจรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจําจังหวัดมีอำนาจกําหนดให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงหรืออาชีพในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมงในพื้นที่ดังกล่าวต้องมาจดทะเบียนขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนประกอบอาชีพได้ ยกเว้นผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านสามารถทําการประมงในเขตประมงทะเลนอกชายฝั่งได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต รวมทั้งยังมีมาตรการควบคุมเรือสัญชาติไทยและต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร

ในบทกำหนดโทษมีการเพิ่มโทษปรับจากเดิมที่พ.ร.บ.การประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 ที่กำหนดโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท และโทษจำคุกสูงสุดหกปี เปลี่ยนเป็นโทษปรับสูงสุด 600,000 บาทและโทษจำตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงหกปี ที่เพิ่มขึ้นจาก

พ.ร.บ.การประมง 2558 มีเนื้อหาส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับร่างฉบับปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนสหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองไทยอย่างเป็นทางการ และกำหนดข้อบังคับอย่างกว้าง ไม่ได้มีการกำกับในรายละเอียดเรื่อง การตรวจสอบ ติดตามและเฝ้าระวัง การทำประมงที่ผิดกฎหมาย(IUU Fishing) ตามข้อวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรป เช่น การติดระบบติดตามการเดินเรือ Vessel Monitoring System (VMS) และศูนย์ควบคุมเรือเข้าออก (Port-in Port-out-PIPO)

แก้เกี้ยวพ.ร.บ.การประมง เร่งออกกฎหมายใหม่แบบไม่ผ่านสภาสองรอบ

ดังที่กล่าวมาในข้างต้นว่า คสช. มีความรีบเร่งในการแก้ไขปัญหา IUU Fishing อย่างมาก ใช้ทั้งการออกกฎหมายตามขั้นตอนสภา สนช.อย่างการออกพ.ร.บ.การประมงและมาตรา 44 ที่เป็นเอกสิทธิ์ทางลัดเฉพาะของคสช.ในการแก้ไขปัญหา  แต่ช่องทางการพิจารณาผ่านสภาและมาตรา 44 กลับไม่สามารถถอดถอนใบเหลืองได้ โดยในเดือนตุลาคม 2558 คณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรปต่ออายุใบเหลืองให้เวลาแก้ไขปัญหาออกไปอีก ทำให้คสช. เปิดช่องทางลัดอีกทางคือ การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ถึงสองครั้ง

พ.ร.ก.การประมง 2558

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 คสช. ได้ออก พ.ร.ก.การประมง 2558 ยกเลิกการใช้บังคับพ.ร.บ.การประมง โดยพ.ร.ก.ฉบับนี้มุ่งจัดระเบียบการประมงในประเทศและน่านน้ำทั่วไปเพื่อป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมประมง นอกจากนี้ยังกำหนดกรอบเวลาในกรณีกระทำความผิดซ้ำซากที่ชัดเจนและกำหนดโทษที่รุนแรงขึ้น โดยโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสองปีและปรับสูงสุด 30 ล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ 

พ.ร.ก.การประมง 2558 ได้เพิ่มบทบัญญัติในการสร้างระบบการควบคุม, เฝ้าระวังและตรวจสอบการทําการประมงให้มีประสิทธิภาพ  และสร้างระบบการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตั้งแต่วงจรการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค โดยกำหนดให้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง, จัดทําสมุดบันทึกการทําการประมง, แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง, จัดทําเครื่องหมายประจําเรือประมงและนำกลับเข้าท่าเทียบเรือประมง รวมทั้งคนประจำเรือต้องมีหนังสือคนประจําเรือและในกรณีคนประจําเรือไม่มีสัญชาติไทยต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังวางข้อบังคับการทำประมงพื้นบ้านอย่างรัดกุมขึ้นจากเดิมพ.ร.บ.การประมง 2558 กำหนดไว้อย่างกว้าง โดยสรุป คือ จากเดิมให้ผู้ทําการประมงด้วยเครื่องมือทําการประมงที่มีใบอนุญาตหรือเครื่องมือทําการประมงพื้นบ้านทําการประมงในเขตประมงทะเลนอกชายฝั่งได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต เปลี่ยนเป็นเป็นผู้ใดจะทําการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมงหรือเครื่องมือที่มีขนาดหรือลักษณะตามกำหนดต้องได้รับใบอนุญาตทําการประมงพื้นบ้านเสียก่อนและห้ามไม่ให้ทําการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่งหรือห่างจากชายฝั่งเกินสามไมล์ทะเล การออกใบอนุญาตให้ออกสําหรับเรือประมงแต่ละลํา  และต้องระบุจํานวน และประเภทเครื่องมือทําการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทําการประมงไว้ในใบอนุญาตด้วย

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขเพิ่มเติมและข้อบังคับที่จำกัดสิทธิเรือประมงพื้นบ้านทำการประมงในพื้นที่ชายฝั่งหรือห่างจากชายฝั่งไม่เกิน 3 ไมล์ทะเลนั้นไม่สอดคล้องกับจำนวนเรือประมงพื้นบ้าน ตามสถิติของกรมประมงมีเรือประมงพื้นบ้านจำนวน 28,875 ลำ (ขนาดเรือประมงน้อยกว่าสิบตันกรอส) โดยสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านชี้ว่า หากชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมดถูกบังคับให้ทำการประมงเฉพาะในที่แคบๆ ในชายฝั่งทะเลจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำ อีกทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อการทำประมงที่ยั่งยืนเพราะเขตชายฝั่งทะเลควรเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหายาก ดังนั้น ข้อห้ามดังกล่าวจะทำให้เกิดการทำลายพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนมากยิ่งขึ้น

พ.ร.ก.การประมง 2560

วันที่ 28 มิถุนายน 2560 ราชกิจจาเผยแพร่พระราชกําหนดการประมง  (ฉบับที่สอง) พ.ศ. 2560 (พ.ร.ก.การประมง 2560) ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาจาก พ.ร.ก.การประมง 2558 เช่น เรื่องการใช้แรงงานในโรงงานเกี่ยวเนื่องอุตสาหกรรมประมง พ.ร.ก.ประมง 2560 แก้ไขให้มีรายละเอียดที่ยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มรายละเอียดในการบันทึกตรวจสอบข้อมูลในสมุดบันทึกการทําการประมง

และแก้ไขข้อกำหนดของการทำประมงพื้นบ้าน โดยยังยืนยันในข้อห้ามที่ไม่ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทําการประมงพื้นบ้านทําการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง แต่เพิ่มข้อยกเว้นให้กระทำได้หากได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย แม้ว่าจะเปิดช่องให้ชาวประมงพื้นบ้านทำการประมงนอกเขตชายฝั่ง 3 ไมล์ได้ แต่จากข้อมูลของเครือข่ายประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยระบุว่า นับถึงเดือนมีนาคม 2561 ชาวประมงพื้นบ้านยังไม่ได้ใบอนุญาตการทำประมงพื้นบ้านแม้แต่รายเดียว อันเกิดจากข้อกำหนดหลายประการ ที่จำกัดสิทธิชาวประมงพื้นบ้านไม่ให้ทำประมงได้ตามปกติ

โดยโทษตามพ.ร.ก.ประมง 2560 ยังคงยืนตามพ.ร.ก.ประมง 2558 คือ จำคุกสูงสุดไม่เกินสองปีและปรับสูงสุด 30 ล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้

ออกมาตรา 44 แก้ตัว ปะผุกฎหมายเฉพาะหน้า

ตลอดระยะเวลาสามปีกว่าที่ผ่านมา นับแต่สหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองการประมงไทยอย่างเป็นทางการคสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.เพื่อแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย(IUU Fishing) ไม่น้อยกว่า 9 ฉบับ เช่น

คำสั่งหัวหน้า คสช. 10/2558: จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจแก้ไขปัญหาประมง

วันที่ 28 เมษายน 2558 พ.ร.บ.การประมง 2558 (พ.ร.บ.ประมงฯ) จะประกาศให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งไม่ปรากฏเนื้อหาข้อบังคับในการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ในสาระสำคัญที่ควรจะเป็นตามข้อแนะนำและข้อวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรป แต่คล้อยหลังเพียงหนึ่งวันคือ ในวันที่ 29 เมษายน 2558 คสช.ก็ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558 เรื่อง  การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงาน  และไร้การควบคุม เพื่อแก้ไขปัญหา (IUU Fishing)

โดยสรุปคือ ในการแก้ไขปัญหาจึงจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทําประมงผิดกฎหมาย และสั่งการอื่นอีกเช่น จัดทําสมุดบันทึกการทําการประมง  ตามรูปแบบ  ระยะเวลา, ให้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS), ไม่ให้เจ้าของเรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการ เช่น ครอบครองเครื่องมือการทำการประมงที่ไม่ได้รับอนุญาต การนำเรือประมงที่มีเครื่องมือการทำการประมงที่ไม่ตรงกับอาชญาบัตรหรือไม่ได้รับอาชญาบัตรในการทำการประมงออกไปทำการประมง การนำเรือประมงที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดออกทำการประมง เป็นต้น และควบคุมการนำเรือประมงออกไปยังน่านน้ำต่างประเทศ ฯลฯ

ซึ่งต่อมาข้อบังคับเหล่านี้ได้ไปปรากฏใน พ.ร.ก. การประมง 2558 ที่ตราขึ้นมาเพื่อยกเลิก พ.ร.บ.ประมงฯ และแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) โดยตรง และพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.เรือไทยฯ พ.ศ.2561

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 24/2558: คุมจดทะเบียนเรือใหม่

วันที่ 5 สิงหาคม 2558 คสช.ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงาน  และไร้การควบคุม  เพิ่มเติม สั่งให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย งดการจดทะเบียนเรือไทยสําหรับการประมง  หรือเรืออื่นตามที่ศปมผ.กําหนด  ที่จะขอจดทะเบียนเรือใหม่ทุกประเภทและทุกขนาด  หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือจากเรือประเภทอื่น มาเป็นเรือประมง  ทั้งนี้  จนกว่าจะมีการกําหนดให้มีการจดทะเบียนเรือไทยสําหรับการประมงหรือเรืออื่น เพิ่มเติมได้ตามหลักเกณฑ์ที่ศปมผ.ประกาศกําหนด

และควบคุมการใช้เครื่องมือการทำการประมงที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมง เช่น เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์, เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า  2.5  เซนติเมตร  ทําการประมงในเวลากลางคืนและ เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่าห้าเซนติเมตร เป็นต้น

ให้เจ้าหน้าที่มีอํานาจดําเนินการยึดและให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน  หรือดําเนินการรื้อถอนหรือทําลายเครื่องมือทําการประมง  เรือที่ใช้ ทําการประมง  สัตว์น้ํา  และสิ่งอื่น ๆ  ที่ตกเป็นของแผ่นดินเว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินนั้นชอบด้วยกฎหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ถูกยึด ผู้ที่ฝ่าฝืนคําสั่งฉบับนี้ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ         

ซึ่งต่อมาข้อบังคับเรื่องเครื่องมือประมงได้ไปปรากฏใน พ.ร.ก. การประมง 2558 และพ.ร.ก.การประมง 2560

คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2559: อุดช่องว่าง พ.ร.ก. การประมง 2558 เรื่องเรือและแรงงานในเรือ

วันที่ 9 กันยายน 2559 คสช.ออกคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่  53/2559 เรื่อง  การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงาน  และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่  3  ที่เนื้อหาของคำสั่งนี้หลักแล้วเป็นการจัดระเบียบจำนวนเรือประมงให้มีความชัดเจนและควบคุมจำนวนเรือประมงในน่านน้ำ โดยสั่งให้เจ้าของเรือประมงที่ไม่มีทะเบียนหรือมีทะเบียน  แต่ไม่มีใบอนุญาตทำประมงแจ้งจุดจอดเรือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าฯและให้ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าฯหรือผู้ได้รับมอบหมายติดเครื่องมือติดตรึงพังงาหรือพวงมาลัยเรือ เพื่อไม่ให้เคลื่อนย้ายเรือประมง

ห้ามไม่ให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงขนถ่ายคนประจําเรือระหว่างนําเรือออกไปทําการประมง  เว้นแต่เพื่อความปลอดภัยของคนประจําเรือ  หรือมีปัญหาข้อพิพาทหรือตามความประสงค์ของคนประจําเรือ  หรือในกรณีมีเหตุสุดวิสัยอื่น  โดยให้แจ้ง ต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกทันที ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวถูกแปลงไปอยู่ในระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ทําการงานในเรือที่ใช้ทําการประมง  เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น   เรือขนถ่ายเพื่อการประมง  เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น  เรือบรรทุกน้ํามันเพื่อการประมง   และเรือบรรทุกน้ําจืด  ขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป พ.ศ.  2560 

ซึ่งต่อมาคำสั่งตามมาตรา 44 ทั้งสามฉบับดังกล่าวถูกพัฒนาเป็น พ.ร.ก.การประมง 2558 และ 2560 และพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.เรือไทยฯ พ.ศ.2561 รวมถึงระเบียบของกรมเจ้าท่า แสดงให้เห็นว่า คสช.ได้ใช้ “มาตรา 44” เป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขความผิดพลาดเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นกับพ.ร.บ.การประมงที่เพิ่งผ่านออกมาในยุคของ คสช. เอง รวมทั้งกฎหมายอื่นที่สภาพบังคับไม่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังพบว่า ระหว่างการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประมงคสช. ได้ใช้กลไก ศปมผ. ออกประกาศออกมาใช้ให้ได้ก่อนที่ พ.ร.บ.ประมงฯและกฎหมายลำดับรองมีผลใช้บังคับด้วย