นักวิชาการเชื่ออภินิหารเลื่อนเลือกตั้งเกิดขึ้นได้-กติกาเลือกตั้งใหม่ท้าทายศาสตร์และศิลป์ทางการเมือง

21 มกราคม 2562 ได้มีการจัดเสวนา “เลือกตั้ง 62 ? : ศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้งและอภินิหารทางการเมือง” ที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวิทยากร คือ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จาก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สติธร ธนานิธิโชติ จาก สถาบันพระปกเกล้า และ ประจักษ์ ก้องกีรติ จาก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ปี 2562 จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ?

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี กล่าวถึง ประเด็นแรก ในคำถามที่ว่า “จะมีการเลือกตั้งหรือไม่?” ในปี 2562 โดยมองว่า มีทางที่จะเป็นไปได้สองแนวทาง ก็คือ ‘มี’ กับ ‘ไม่มี’ ถ้ามองว่ามีเข้าใจว่าตอนนี้วันที่ 24 มีนาคม จะเป็นวันที่ถูกโยนเข้ามาในสังคม ค่อนข้างชัดเจนขึ้น ซึ่งเลื่อนมาจากกำหนดการเดิม 1 เดือน น่าจะเป็นเวลาที่ดี เอาจริงๆ เชื่อว่า  นักการเมือง พรรคการเมืองน่าจะพอใจถ้าจัดวันที่ 24 มีนาคม จริงๆ เพราะว่ามีระยะเวลาในการเตรียมตัวมากขึ้น

ในครั้งนี้มีพรรคการเมืองใหม่ๆ ร้อยกว่าพรรคตั้งขึ้นมา พรรคเหล่านี้ยังมีสมาชิกพรรคไม่มากพอ ยังจัดตั้งสาขาพรรคไม่ได้ ดังนั้น การเลื่อนระยะเวลาออกมาหลายคนน่าจะโล่งใจ แต่ว่าจะมีความชัดเจนหรือไม่

ถ้าจัด 24 มีนาคม 2562 กรอบเวลาที่น่าจับตามองจริงๆ คือ หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการจัดการเลือกตั้ง (พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯ) จะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่เกินวันที่ 7 กุมภาพันธ์ (อย่างช้าที่สุด) หากคิดตามกรอบเวลาการเลือกตั้ง และการเตรียมตัวของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้ง จะดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย รวมถึง กกต. ด้วย และควรจะเห็น พ.ร.ฎ.ประกาศในราชกิจจาฯ ไม่เกินสัปดาห์หน้า 

แล้วจะเลื่อนเลือกตั้งได้ไหม?

สิริพรรณ มองว่าเป็นโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเลื่อนก็คงจะเลื่อนไปหลังกรอบวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 แต่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้แล้วว่าต้องจัดการเลือกตั้งหลังจากที่กฎหมาย 4 ฉบับถูกบังคับใช้แล้ว ในกรอบเวลา 150 วัน ถามว่าทำได้ไหม “อภินิหารทางกฎหมาย และทางการเมืองไทย ทำได้” ทำได้โดย 2 วิธี คือ

หนึ่ง มาตรา 44 อย่างที่เราทราบกันว่าเป็นพาราเซตามอลทางการเมืองตอนนี้ ใช้ได้ในทุกกรณี แต่หลายคนมองว่า มาตรา44 มีอำนาจแต่ไหน ถ้าไปดูตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ให้อำนาจ คำสั่งมีผลในทาง รัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ดังนั้น จะใช้ มาตรา 44 ในแง่นี้ทำได้ แต่ในทางนิติศาสตร์ก็อาจจะบอกว่า มาตรา 44 มีลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ก็อาจจะเป็นประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความภายหลัง

สอง แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด ตอนนี้เรามีสภาเดียว คือ สนช. ซึ่งก็รู้ว่าใครคุมใครใหญ่ เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้สามวาระ แก้ได้ ใช้เวลาไม่นานด้วย ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดขึ้นสามารถเป็นไปได้

ทั้งนี้ สิริพรรณ เชื่อว่า 24 มีนาคม 2562 เป็นวันที่ดี และถึงแม้จะเลื่อน ก็ยังเชื่อว่า 2562 ยังมีการเลือกตั้ง

กติกาใหม่ ทำลายศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้ง

สิริพรรณ พูดถึงประเด็นศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้ง การเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยเฉพาะตัวผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองเอง การจะเข้าไปอยู่ในใจประชาชนให้คนเลือก มันต้องใช้ทั้งศิลปะ วาทศิลป์ และศาสตร์ที่เป็นความรู้ด้วย และโดยอย่างยิ่งระเบียบต่างๆ ของ กกต. และประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว แต่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน เพราะกำลังคิดว่าการเลือกตั้งจะมีไหมนะ แต่อย่างที่ทราบว่าการเลือกตั้งจะมีไหม คำถามใหญ่ก็คือว่า อภินิหารทางกฎหมายที่ออกมา ระเบียบกติกาเหล่านี้ จะทำให้ศิลปะของการหาเสียงเปลี่ยนไปหรือเปล่า

การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัคร และพรรคการเมืองจะเจอโจทย์หิน เราจะเห็นทั้งหลุมพราง ลูกกระสุน กับดักระเบิดเต็มไปหมด โดยเฉพาะพรรคใหญ่ที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว จาก ประกาศ และ ระเบียบ กกต. ที่ประกาศใช้ไป สิริพรรณขี้ว่าที่ควรจะเน้นคือ

หนึ่ง การเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องมีการจดแจ้งผู้ช่วยหาเสียง เดิมผู้สมัคร ถ้าลงพื้นที่ก็จะมีกลุ่มที่ช่วยเดินหาเสียงได้ หรือแม้แต่ประชาชน ญาติพี่น้อง แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กลุ่มคนเหล่านี้จะไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งได้ก็ต่อเมื่อไปช่วยหาเสียง จะต้องไปลงทะเบียนกับ กกต. จังหวัด แล้วผู้สมัคร 1 คน จะมีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกิน 20 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างน้อยทีเดียว และถ้าเกิดในระดับของพรรคการเมือง พรรคการเมืองจะมีผู้ช่วยหาเสียง ได้เพียง 10 เท่าของจำนวนเขตที่ส่งสมัคร นั่นหมายความว่า ถ้าภูมิใจไทยประกาศว่าส่ง 350 เขต ก็จะมีผู้ช่วยหาเสียงได้แค่ 3,500 คน ส่วนถ้าใครที่ไม่ได้ไปจดแจ้งกับ กกต. จะไปช่วยหาเสียงไม่ได้ ดังนั้น นี่คือกับดักอย่างหนึ่งที่จะทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น

ปกติเวลาหาเสียงเราจะเห็นแผ่นปลิว แนะนำตัวผู้สมัคร อาจจะวางอยู่ตามร้าน ตามถนน แต่ครั้งนี้ไม่ได้แล้ว จะไม่สามารถวางใบปลิวผู้สมัครตามที่ต่างๆ หรือไปฝากที่ร้านกาแฟหน้าปากซอยได้แล้ว นอกจากนี้ รถที่ใช้ในการหาเสียง ก็ต้องไปขึ้นทะเบียน

สิริพรรณตั้งคำถามว่า การใช้กติกาอย่างนี้ จะไปลดโอกาสที่จะทำความรู้จักผู้สมัครลดลงหรือไม่ และมองว่า การที่ กกต. ออกประกาศ ระเบียบมาแบบนี้ เป็นการออกกฎหมายที่ทำลายความสวยงามของศาสตร์และศิลป์ในการจัดการเลือกตั้ง

สอง เรื่องของการใช้เงินในการหาเสียง มีการกำหนดไว้ ว่า 2 ล้านบาทต่อผู้สมัคร 1 คน ในอดีตที่ผ่านมาเราเคยกำหนดไว้ที่ 1.5 ล้าน แต่ถ้าพูดคุยกับผู้สมัครจริงๆ ยังไม่ต้องพูดถึงการใช้เงินซื้อเสียง ค่าป้าย ค่ารถ ค่าน้ำมันรถ ผู้ร่วมขบวนการในการหาเสียง ใช้ประมาณ 3 ล้านบาท แต่เนื่องจากว่าครั้งนี้ กกต.บอกว่าจะจัดสรรเวลาหาเสียงให้ทางสื่อ คือห้ามซื้อสื่อ ก็จะลดเงินจำนวนนี้ลง แล้วก็บอกว่าขนาดของป้ายในการหาเสียง เราเคยเห็นโปสเตอร์ บิลบอร์ดใหญ่ๆ ต่อไปนี้เราจะไม่เห็นแล้ว ขนาดของแผ่นป้ายจะลดลง และจะต้องติดในเขตที่ กกต. จัดไว้ให้ เลยมองว่าเป็นการลดค่าใช้จ่าย เป็นการลดเพดานลงมา

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงที่ต้องระวังสำหรับประชาชน คือ สมมติเราเป็นแฟนคลับนักการเมือง หรือพรรคการเมืองไหน แล้วอยากจะทำคลิปลงยูทูป จะต้องแจ้งชื่อผู้ทำ และถ้าพบว่ามีการใช้ค่าใช้จ่ายเกิน 10,000 จะรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรคการเมืองนั้นด้วย

แต่จะเห็นว่ามีพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่ แต่ไม่สะทกสะท้านมากนัก เพราะการเข้าถึงประชาชนผ่านกลไกและอำนาจรัฐ พูดง่ายๆ ว่ามีการใช้นโยบายของรัฐบาลในขณะนี้ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออยู่แล้ว

แต่ถ้าเราวิเคราะห์ทั้งหมดนี้ มีคำถามใหญ่เลยก็คือว่า ใครได้เปรียบเสียเปรียบ พูดง่ายๆ เลยก็คือว่า การออกระเบียบแบบนี้ ทำให้พรรคเดิมที่มีฐานเสียงอยู่แล้ว ที่เคยชนะเลือกตั้งมาอยู่แล้วได้เปรียบอย่างมาก ผู้สมัครที่เป็นเจ้าของพื้นที่ก็ได้เปรียบ เพราะรู้จักอยู่แล้ว ฉะนั้น กติกาที่ออกมาจะเห็นว่าเป็น กติกาที่ลิดรอน จำกัดโอกาสที่ประชาชนจะทำความรู้จักผู้สมัครหน้าใหม่ค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้สมัครที่เป็นเจ้าของพื้นที่ได้เปรียบมาก

เป็นคำถามที่ประชาชนน่าจะถามไปยัง กกต. ได้ว่า กติกาที่ตั้งขึ้นมามันเป็นการสร้างโอกาสและความได้เปรียบเสียเปรียบให้บางพรรคการเมืองอย่างไร และอีกคำถามคือ กกต. จะมีกำลังคนในการไปตรวจสอบกติกาที่ตนเองออกแบบมาได้หรือไม่

การเลือกตั้งที่ดีต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน

“ถ้าพูดถึงการเลือกตั้ง ประเด็นที่พูดเป็นหลักการอยู่เสมอ คือ การเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์เป็นธรรม ให้ทุกฝ่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ แต่สิ่งที่สังคมไทยควรให้ความสำคัญ คือ การเลือกตั้งที่ดี ต้องเคารพเจตนารมณ์ของประขาชน หมายถึงว่าคะแนนเสียงของประชาชนต้องถูกนับอย่างเท่าเทียม และจะต้องเคารพว่าประชาชนเลือกตัดสินใจอย่างไร จะต้องได้อย่างนั้น ดังนั้น ผลการเลือกตั้งโดยหลัก จะต้องไม่ reversible (พลิกกลับ) ผู้ชนะจะต้องได้จัดตั้งรัฐบาล ถ้าผู้ชนะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ มันคือการกลับหัวคว่ำผลการเลือกตั้ง

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

หากดูบรรยากาศทางการเมืองตอนนี้ สภาวะของรัฐบาล น่าจะต้องถูกล้มแล้ว ล้มในความหมายที่ว่าขาดประสิทธิภาพ ขาดความสามารถในการแก้ไขปัญหาประเทศ แต่ว่าไม่อนุญาติให้ล้มได้  ดังนั้น เราจึงเห็นความพยายามที่จะ stay alive (คงอยู่) ผ่านรัฐธรรมนูญ ที่มีกติกาใหม่ซึ่งค่อนข้างพิศดาร มีการใช้กฎกติกาการเลือกตั้งที่ดูเหมือนจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง รวมถึงมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อรองรับ ก็คือ พรรคทหาร

แผนในการ stay alive ของรัฐบาล จะสามารถสำเร็จได้หรือเปล่า ถ้ามีการใช้อภินิหารทางกฎหมายในทางการเมือง เพื่อที่จะให้รัฐบาลยังคงอยู่ ถ้าสำเร็จก็อาจจะเป็นหนังม้วนหนึ่ง แต่ถ้าไม่สำเร็จ อาจจะเป็นหนังที่เรียกว่า เป็นการกระฉากวิญญาณทางการเมือง แล้วผลของการเลือกตั้ง อย่างที่โปรยเอาไว้ก็คือว่า ถ้ามันไปไกลถึงขั้น reversible (พลิกกลับ) เจตจำนงค์ของประชาชน ภาพยนตร์อาจจะกลายเป็นหนังสยองขวัญ ภายใต้ฝุ่นขวัญทางการเมืองที่เราต้องสูดดมเข้าไป”

อภินิหารการออกแบบจะเป็นไปตามที่ผู้สร้างปรารถนาหรือเปล่า

สติธร ธนานิธิโชติ จากสถาบันพรปกเกล้า หนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า การออกแบบระบบการเลือกตั้ง เพื่ออะไรสักอย่าง ไม่ใช่มีแค่ในประเทศไทย แล้วก็ไม่ได้เพิ่งทำเมื่อปี 2560 แต่เป็นเหมือนกระแสโลกด้วย โดยเฉพาะช่วงเวลาหนึ่งที่สำคัญ คือ ช่วงทศวรรษที่ 1990 ที่มีประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่เต็มไปหมด นำมาซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญของหลายๆ ประเทศ แล้วการร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นธรรมชาติ เหมือนในประเทศไทย เวลาเราเขียนเรื่องประชาธิปไตย เราก็จะบอกว่าประชาธิปไตยไม่ได้เท่ากับการเลือกตั้ง แต่เวลาเราจะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะเป็นประชาธิปไตย เรื่องเลือกตั้ง ถูกหยิบขึ้นมาเถียงกันเป็นเรื่องแรกๆ แล้วเถียงนานด้วย เพราะว่ามีผู้เกี่ยวข้องเยอะ ผลประโยชน์ก็กว้างขวาง แล้วผลของมันก็ส่งผลถึงประชาธิปไตยทั้งภาพ ของประเทศนั้นๆ ได้เลยทีเดียว

ในทศวรรษ 1990 ประเทศประชาธิปไตยใหม่ๆ เขาก็จะออกแบบกัน ประเทศเก่าๆ ก็เริ่มจะต้องรู้สึกว่ามาทบทวนอะไรบางอย่าง ว่าระบบเลือกตั้งที่ใช้อยู่โอเคไหม และกระแสนิยมที่เกิดขึ้นในข่วงนั้น ก็คือการนำระบบการเลือกตั้งสองแบบ 2 ค่าย คือ 1.การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ที่มองว่าการเลือกตั้ง ส.ส. คือการได้ตัวแทนของประชาชน ไปเป็นปากเป็นเสียง ไปทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นการตอบโจทย์เชิงพื้นที่ 2. อีกค่ายหนึ่งอยู่ในสังคมประเภทแบบพหุนิยม มีหลากหลายวัฒนธรรม หลายเชื้อชาติมาอยู่ร่วมกันในประเทศเดียวกัน เขาก็จะใช้เลือกตั้งแบบสัดส่วน เปรียบเทียบเหมือนใช้ ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งประเทศ

เพราะฉะนั้น กระแสนิยมช่วงทศวรรษ 1990 ปลายๆ คือ การเอาสองระบบนี้มารวมกัน กลายเป็นการเลือกตั้งระบบผสม ประเทศไทยก็ไปรับเอากระแสนั้นมา เพราะตอนนั้นต้องยอมรับว่า การร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ไม่ว่าจะพูดให้สวยหรูอย่าง “ปฏิรูป” มันเป็นกระแสของภาคประชาชนที่ขับเคลื่อน เพื่อตอบโจทย์ปัญหาประชาธิปไตยของประเทศไทย หลังเหตุการณ์ ‘พฤษภา35’

แต่ว่าสุดท้าย ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ในความคิดของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เวลาที่เขามาออกแบบระบบเลือกตั้ง เขาก็มีผลลัพธ์ปลายทางที่เขาอยากได้ สมัยนั้น ประสบการณ์เลวร้ายของคนมาร่างฯ เขาอยู่ในวังวนของประชาธิปไตยครึ่งใบ เขาก็เลยมีความฝันความหวังว่า อยากได้ระบบการเลือกตั้งที่เกิดเป็นพรรคใหญ่สองพรรค เหมือนประเทศแม่แบบ เช่น อังกฤษ อมเริกา เขาก็เลยเอาระบบเลือกตั้งแบบผสมมาใส่ในรัฐธรรมนูญ 2540 มันตอบโจทย์การมี ส.ส. 2 ประเภท ข้อที่หนึ่ง คือ ส.ส.แบบแบ่งเขตยังมีอยู่ และเป็นจำนวนที่มาก ที่สำคัญคือการมีอยู่แล้วมีจำนวนที่มาก เจตนาของผู้ร่าง คือ อยากให้มีพรรคสองขั้ว เป็นพรรคขนาดใหญ่ คือ ‘เขตเดียวคนเดียว’ ในทางทฤษฎีแบบหนึ่งไม่ร้อยเปอร์เซ็น แต่แนวโน้มของมัน ถ้าเป็นเขตเดียวคนเดียวเมื่อไหร่ ในระยะยาว แข่งกันไปเรื่อยๆ จะเหลือแค่สองขั้ว

ขณะเดียวกันก็อยากจะสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง ระบบสัดส่วนจะช่วย เพราะว่าใครที่อยากอยู่ในบัญชีรายชื่อ แล้วเป็นระบบแบบปิด แล้วพรรคเป็นคนจัดอันดับ ผู้สมัครจะต้องมาง้อพรรค แล้วพรรคก็จะมีความเข้มแข็งในการจัดอันดับ จะให้ใครลงหรือไม่ให้ใครลง อำนาจต่อรองก็จะอยู่ที่พรรคมากขึ้น

พอเอาสองอย่างมารวมกัน คือได้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ทำให้ได้ ส.ส. ที่ตอบโจทย์ในเชิงพื้นที่ และในเชิงเป้าหมายคือจะพัฒนาไปสู่การมีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค

“ผมยกย่องรัฐธรรมนูญ 2540 ในฐานะ knowledge base เป็นวิศวกรรมที่ใช้ความรู้ เป็นพื้นฐานในการออกแบบ ตอนนั้นเขามีการทำวิจัยไว้หมดเลย การประดิษฐ์สร้างอะไรในรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดจากการทำวิจัย สะสมองค์ความรู้ ไม่ใช่แค่เรื่องเลือกตั้ง องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นมา สิทธิเสรีภาพอะไรต่างๆ มีงานวิจัยรองรับหมด ในขณะที่พอมันใช้ไปจริงๆ มันไม่ได้ผลออกมาเป็นอย่างนั้น มันไม่ได้สองพรรคแท้จริง มันได้หนึ่งพรรคครึ่ง คือมันมีสองพรรคใหญ่นี่แหละ แต่พรรคหนึ่งชนะตลอด อีกพรรคหนึ่งไม่ชนะสักที มันก็เลยไม่เป็นสองพรรคสลับกัน แบบที่เขาอยากได้”

สติธร ธนานิธิโชติ

ตอนปี 2550 ไม่ค่อยเป็น knowledge base เท่าไหร่แล้ว ก็จะเป็น experience base แล้วก็เป็น bad experience base ด้วย คือเป็นประสบการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐประหารปี 2549 เขาก็ยังไม่ค่อยเปลี่ยนเยอะเท่าไหร่ ระบบยังใช้เหมือนเดิม แต่ว่าแค่เปลี่ยนสัดส่วนของมันหน่อย คือเขตไม่กล้าไปแตะเยอะตอนแรก แต่ไปเปลี่ยนตรงบัญชีรายชื่อ เพราะเชื่อว่า บัญชีรายชื่อแบบเดิมทำให้พรรคเข้มแข็งเกินเหตุ เขาก็ไปทำให้เป็นรายชื่อแบบก้อนๆ แล้วมันก็ใช้ได้แค่ครั้งเดียว แล้วก็ต้องมาแก้อีก

การออกแบบที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ที่ไม่ครบถ้วน ด้วยกับดักสองนคราประชาธิปไตย

แต่ไม่ว่าอภินิหารจะเป็นอย่างไร มันเป็นอภินิหารบนศาสตร์และศิลป์ที่ไม่ครบถ้วน เพราะติดกับมายาคติของผู้ร่างในระดับหนึ่ง ที่ไม่ได้เข้าใจว่าการออกแบบมันไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนได้ทันที แนวคิดของคนที่ศึกษาเรื่องการออกแบบการเลือกตั้ง ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่าเป็น “การเปลี่ยนในเชิงสถาบัน” ซึ่งอาจเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ แต่ไม่ได้เปลี่ยนโดยอัตโนมัติ สิ่งที่ขั้นอยู่ระหว่างกติกาที่เปลี่ยนไป กับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง คือ “วิธีคิด” คนจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนได้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อน มุมมอง ทัศนคติทางการเมืองต้องเปลี่ยนด้วย การออกแบบที่มุ่งกระโดดไปหาพฤติกกรรมทันทีมักไม่ได้ผล

การออกแบบที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ไม่ครบถ้วน ตรงที่เขาเชื่อว่าที่ประชาชนมีพฤติกรรมการลงคะแนนแบบนี้ ยกตัวอย่างในปี 25554 เพราะเรายังอยู่ภายใต้คำอธิบายของวิธีคิดในแง่ทัศนคติมุมมองทางการเมืองของผู้คน คือ ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เชื่อว่าคนชนบทเป็นแบบนี้ ซื้อได้ด้วยเงินทอง คนเมืองไม่ได้ ซื้อด้วยคุณธรรมความดี 

แต่สุดท้ายมันหนีไม่พ้นวังวนแบบนี้ คนที่เป็นเสียงข้างมาก ถูกอธิบายด้วยระบบคิดแบบเดิมคือ ซื้อได้ด้วยเงินและผลตอบแทนระยะสั้น ต่อให้เขาจะเลือกเพราะนโยบายก็จะถูกหาว่าเลือกเพราะ “นโยบายประชานิยม” เขาจึงเชื่อว่าพฤติกรรมแบบนี้ เขาเลยไปหากลไกที่ตัดทอนนโยบายประเภทลดแลกแจกแถม กลไกประเภทผลประโยชน์เฉพาะหน้า ของฝ่ายตรงข้ามแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ในขณะท้ายตัวเองถ้ามีโอกาสก็ใช้สิ่งเหล่านี้ไปกระตุ้นหนุนเสริมคะแนนของตัวเอง วิธีคิดเหล่านี้จึงไม่สมบูรณ์…

“คนที่บอกว่ารัฐธรรมนูญแก้ยาก สุดท้าย ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาไม่ได้อย่างที่เขาต้องการ เขาจะแก้ระบบการเลือกตั้งก่อน”

สติธร ธนานิธิโชติ

การเลือกตั้งกับความไม่แน่นอนทางการเมือง

ประจักษ์ ก้องกีรติ หนึ่งในวิทยากร ก็ได้พูดถึงการเลือกตั้งกับความไม่แน่นอนทางการเมือง จากที่วิทยากรทั้งสองคนพูด ประจักษ์เห็นด้วยว่า ดูเหมือนวันที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ 24 มีนาคม 2562 และหากเป็นวันดังกล่าวจริงก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมีอภินิหารมาก แต่ตอนนี้คนไม่ได้เชื่อมั่นว่าจะเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 จริงหรือเปล่า คงต้องรอดูภายในสัปดาห์นี้ ถ้าในสัปดาห์นี้ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ยังไม่ออกมา อันนี้น่ากลัว แล้วถ้าจะหลุดไปจากวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีโอกาสที่จะเลื่อนยาว เพราะจะไม่ทันกรอบ 150 วัน ภายใน 9 พฤษภาคม และจะต้องไปเลือกตั้งหลังจากนั้น แต่หากเลื่อนไปจนเลย 9 พฤษภาคม 2562 ก็จะผิดรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ถามว่าทำได้ไหม ประจักษ์เห็นด้วยกับวิทยากรทั้งสองท่านว่า ทำได้ ด้วยอภินิหารทางกฎหมายและทางการเมือง

ถ้าหลุดจาก 9 พฤษภาคม 2562 ผมคิดว่าเราจะเข้าสู่หลุมดำทางการเมืองแล้ว เพราะเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญมันไม่มีความหมาย มันจะไปทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ สมมติถ้าเลื่อนให้เลย 9 พฤษภาคม 2562 โดยใช้ มาตรา 44 มันก็จะไปสร้างบรรทัดฐานที่ชัดเจนว่า มาตรา 44 อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ แล้วจะใช้เกณฑ์อะไรในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หรือ จะใช้เหตุผลอะไรว่าวันเลือกตั้งควรเป็นวันที่เท่าไหร่ ผมคิดว่ามันไม่มีหลักการอะไรรองรับแล้ว ผมจึงคิดว่าถ้าหลุด 24 มีนาคม 2562 ไป คือเลื่อนยาว

บางคนมองโลกในแง่ร้าย นักวิเคราะห์บางสำนัก ทั้งไทยและต่างประเทศ ถามว่ามีโอกาสไหมที่จะไม่ได้เลือกตั้งในปีนี้เลย ก็มีโอกาส ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่รอดูในอาทิตย์นี้ถ้ายังไม่ประกาศ สัญญาณเริ่มไม่ดีแล้ว

เราเริ่มเห็นตัวละครทางการเมืองค่อยๆ โผล่มา แล้วพูดถึงการเลื่อนเลือกตั้ง แล้วเป็นการเลื่อนเลือกตั้งให้เลยวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ด้วย ผมคิดว่าเริ่มเหมือนจะมีการส่งสัญญาณ

ถ้าไปดูจากการศึกษาหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา การรัฐประหารเกิดขึ้นแค่ไม่กี่ประเทศบนโลก แล้วเมื่อเกิดการรัฐประหารแล้ว กลับสู่การเลือกตั้งในระยะเวลาไม่นานนัก เพราะว่าบรรทัดฐานของโลก รัฐประหารแล้วก็คือไม่มีความชอบธรรม เพราะฉะนั้นอยู่นานไม่ได้ก็ต้องรีบจัดการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐประหารปี 2549 ของไทย ก็เข้ากับเทรนด์โลกอันนี้ ก็คือจะแก้รัฐธรรมนูญ แก้ระบบเลือกตั้งก็ต้องรีบทำ ประกาศรัฐธรรมนูญเร็วมากตอนนั้น แล้วก็มีการเลือกตั้ง

ตอนนี้ คสช. อยู่นาน ก็คือ 4 ปีกว่าแล้ว พฤษภาคมนี้ก็จะครบ 5 ปี นอกจากจะเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจนานที่สุดตั้งแต่หลัง 14 ตุลา เป็นต้นมา ในบรรดาคณะรัฐประหารทั้งหมดแล้ว ยังถือว่าเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ยาวนานที่สุดในโลก ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น

ลองคิดง่ายๆ ว่า สื่อหลายสำนักเวลาพาดหัวว่ารัฐบาลขาลง คือตอนนี้ถ้าปกติเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คือครบ 1 เทอมแล้ว ต่อให้มีความนิยมอย่างไรก็ต้องจัดการเลือกตั้ง เพราะหมดวาระแล้ว ตอนนี้คืออยู่เกินวาระแล้ว

ผมจึงคิดว่าการที่เลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้ คสช. อยู่ในจุดเสี่ยง เพราะว่าจะโดนกดดันทั้งจากต่างชาติ และประชาชนในประเทศ มันก็ปฏิเสธเรื่องวาทกรรมสืบทอดอำนาจไม่ได้ เพราะว่าอยู่เกินกว่ารัฐบาลปกติ

ประจักษ์ ยกตัวอย่างประสบการณ์ของประเทศฟิจิ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอภินิหารทางการเมืองเช่นกัน แล้วเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจนานที่สุด ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา ประเทศนี้น่าสนใจ เกิดการรัฐประหารในปีเดียวกันกับไทยพอดี คือ 2549 คณะรัฐประหารก็สัญญาว่าจะอยู่ในอำนาจไม่นาน และจะรีบจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด ปรากฏว่า 2550 ก็ยังไม่ได้เลือกตั้ง แล้วก็เลื่อนบอกว่า 2552 จะได้เลือกตั้ง ในที่สุดก็การอ้างเหตุว่ายังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ และผู้สนับสนุน 3 ปี ผ่านไป รัฐบาลสามารถหาเหตุมาได้ทุกปีในการที่จะบอกว่าประเทศยังไม่พร้อม ยังเลือกตั้งไม่ได้ ใช้เวลาทั้งหมด 8 ปี คือเลือกตั้งในปี 2557 หวังว่าจะไม่เกิดฟิจิโมเดลในประเทศไทย

ความน่ากลัวของการไม่มีวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ผมไปสัมมนาที่ญี่ปุ่น นักวิชาการญี่ปุ่นท่านหนึ่งถามว่าเมื่อไหร่จะมีการเลือกตั้ง เขาก็บอกว่าประเด็นที่สำคัญของการมีวันเลือกตั้งที่ชัดเจนก็คือ นักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลต่างชาติ จะได้รู้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างไร การที่ประเทศไทยมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ รวมถึงรัฐบาลเอง

นักวิชาการญี่ปุ่นท่านนั้นแสดงทัศนะน่าสนใจ เขาบอกว่าตอนนี้โจทย์ของประเทศไทยมันเลยคำว่า ประชาธิปไตย เผด็จการไปแล้ว อันนี้ก็เป็นโจทย์อันหนึ่งว่าเราจะเป็นระบอบอะไรกันแน่ ผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ตอนนี้มันมีโจทย์อีกอันซ้อนขึ้นมา คือเรื่อง อภินิหารเยอะไปหมด แล้วก็ไปสัญญากับต่างประเทศแล้วก็ยังเลื่อนได้อีก ทำให้ต่างประเทศเขามองว่าประเทศเราไม่กฎเกณฑ์ คือการเป็นเผด็จการ อย่างเช่น จีน ก็ยังมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนทางการเมือง ว่าผู้อยู่ในอำนาจอยู่นานเท่าไหร่ แล้วจะการเลือกผู้นำเมื่อไหร่

ดังนั้น ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย อยู่ในภาวะ ‘unpredictable’ สูงมาก คือว่าคาดเดาไม่ได้เลย กฎเกณฑ์ที่ร่างโดยผู้มีอำนาจเองก็สามารถเปลี่ยนได้ โดยผู้มีอำนาจเอง แล้วการตัดสินใจก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ จนไม่มีใครคาดเดาได้

ประจักษ์ยังกล่าวว่า แม้แต่ตัวผู้มีอำนาจเอง ทราบไหมว่าวันเลือกตั้งคือวันที่เท่าไหร่ ตกลงกันได้หรือยัง เขารู้หรือยังเวลามาให้สัมภาษณ์สื่อ ยิ่งผู้มีอำนาจไม่รู้ ยิ่งน่ากลัว กับภาวะที่คาดเดาอะไรไม่ได้นี้

ผู้ร่วมสัมมนาญี่ปุ่นท่านหนึ่ง ที่ไม่ใช่นักวิชาการ แต่ให้ข้อคิดเห็นว่า จริงแล้ว จะเป็นระบอบไหน นักลงทุนต่างชาติ เขาไม่ได้แคร์มาก เพราะนักธุรกิจก็คือนักธุรกิจ เขาสนใจแค่การลงทุน แต่พอไม่มีความแน่นอน ยิ่งทำให้เขาไม่อยากลงทุน ไม่รู้จะเอาเงินมาลงทุนในประเทศที่มีความไม่แน่นอนขนาดนี้ทำไม 

ประจักษ์กล่าวว่า การคาดเดาไม่ได้ มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งที่มันตรึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มีวาทกรรมอันหนึ่งคือ “ไม่สงบไม่เลือกตั้ง”

การเลือกตั้ง คือ กระบวนการทางการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ ฉะนั้น ยิ่งสังคมมีความขัดแย้ง มีความเห็นต่างเยอะ ยิ่งต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เพราะความขัดแย้งซึ่งยังดำรงอยู่ในสังคม คนเห็นต่างกัน ชอบนักการเมือง ชอบพรรคการเมืองต่างกัน มันเป็นเรื่องปกติ ไม่มีสังคมไหนที่คนคิดเห็นตรงกันเป็นเอกภาพเหมือนกันหมด หรือ ชอบนโยบายแบเดียวกัน

ประจักษ์ เสนอว่า สิ่งที่สังคมต้องทำก็คือว่า เอาความขัดแย้งนั้นมาอยู่ในระบบ คุณจะชอบรัฐสวัสดิการ ชอบนโยบายแบบประชานิยม หรือชอบแบบทุนนิยมเสรีไปเลย ชอบนโยบายการศึกษาแบบไหน หรือแม้กระทั่งมีอุดมการณ์แบบไหน เป็นเรื่องปกติที่มันมีได้ เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ความขัดแย้ง ถ้าไม่มีกติกาเป็นเรื่องน่ากลัว ก็จะต้องไปตัดสินด้วยกำลังบนท้องถนน ใครมีพวกมากกว่ากัน   แต่ถ้ามันมีกระบวนการทางการเมืองให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ ได้เลือกสิ่งที่เขาชอบ ความขัดแย้งนั้นก็จะไม่บานปลาย  

วาทกรรมความไม่สงบไม่เลือกตั้ง จึงเป็นวาทกรรมที่ประหลาดมาก แล้วมันไปสร้างมายาคติที่ทำให้คนสับสน เหมือนว่าทั้งประเทศต้องสามัคคีกันก่อน คิดเหมือนกันหมดแล้วค่อยเลือกตั้ง ซึ่งมันไม่มีประเทศไหนในโลกมีภาวะแบบนั้น

ประจักษ์ยกตัวอย่างของ กัมพูชา พอหลุดอออกมาจากเขมรแดง มีสงครามการเมือง แต่เขากลับเข้ามาสู่ภาวะปกติผ่านการเลือกตั้ง จัดการเลือกตั้งเพราะอะไร เพราะไม่ให้คนกลับไปสู่กัน รบกันบนท้องถนนอีก

“ผมจึงคิดว่า เราต้องเปลี่ยนวาทกรรมนี้ เพราะขัดแย้ง เพราะคนเห็นต่าง เราจึงต้องรีบเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อให้สังคมพ้นไปจากภาวะตึงเครียดและอึดอัดที่คนรู้สึกว่าไม่ได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนเอง แล้วอยู่ในภาวะที่ตัวเองเลือกไม่ได้ ตัดสินใจไม่ได้ด้วยตัวเองมาเป็นระยะเวลา 4-5 ปีแล้ว ยิ่งเลือกตั้งเร็ว ยิ่งเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และกับ คสช. เอง ยิ่งเลื่อนเลือกตั้ง ยิ่งเหมือนเอาฝาไปปิดกาน้ำที่มันกำลังจะเดือด แล้วทำให้สังคมไม่มีทางออก”

ประจักษ์ ก้องกีรติ

การเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

ประจักษ์ กล่าวว่า เวลาเราดูว่าการเลือกตั้ง อย่างที่อาจารย์สิริพรรณกล่าว ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ดีหรือไม่ ต้องเป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ที่ดีของประชาชน ว่าประชาชนเลือกแบบไหน แล้วเสียงของเขามันไม่ถูกบิด เสียงของเขาได้รับความเคารพ แล้วถ้าประชาชนอยากได้รัฐบาลแบบไหน เจตนารมณ์ตรงนั้นถูกเคารพ

ทั้งนี้ ประจักษ์กล่าวว่า เสียงของประชาชนสามารถถูกบิดเบือนได้ด้วย 2 ทาง คือ

1.cohesive คือ ใช้กำลังที่เป็นความรุนแรง เช่น การปิดกั้นไม่ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเลย สมมติจะมีการเลือกตั้งแล้วมีการใช้กำลังไปปิดกั้นการเลือกตั้งไม่ให้ใครไปใช้สิทธิเลย นักวิชาการบางคนบอกว่า การรัฐประหารเป็นความรุนแรงในการปิดกั้นการเลือกตั้งอย่างหนึ่ง เพราะทำให้ไม่มีใครได้ใช้สิทธิเลย

2.non-cohesive คือ มาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่กำลังความรุนแรงอย่างโจ้งแจ้ง แต่เป็นวิธีการที่ทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม หรือเสียงของประชาชนอาจถูกบิดเบือน อันนี้ตั้งแต่การออกแบบระบบเลือกตั้ง ในการเอื้อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ตัวอย่างของ บัตรเลือกตั้ง ก็สามารถออกแบบเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ทำให้ประชาชนสับสน และเลือกผิด หรือ การแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อเอื้อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ (Gerry mandering)

อีกแบบหนึ่งที่เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนไปเลยก็คือ “โกงผลการเลือกตั้ง” ไปเลย ตัวอย่างของ การเลือกตั้งสกปรก ในปี 2500 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม อันนั้นคือ ประชาชนเลือกอีกพรรคหนึ่งถล่มทลาย ผู้มีอำนาจรู้แล้วว่าจะแพ้ ก็คือ โกงนับคะแนน ตอนนั้นกำลังนับคะแนน แต่ไฟดับ ระหว่างไฟดับไม่รู้เกิดอะไรขึ้น แต่พอไฟติด ผู้สมัครของพรรค จอมพล ป. ชนะการเลือกตั้งไปเลย อันนี้ก็เป็นการโกงเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของไทย

จากทั้ง  2 วิธี ประจักษ์ สรุปว่า ในครั้งนี้ถ้ามีการบิดผันเสียงของประชาชน หรือทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ปัจจัยที่น่ากลัว คือการใช้กลไกรัฐเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง แต่จะบอกว่าไม่มีความรุนแรงก็ไม่ใช่ เพราะมีการใช้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบไปข่มขู่หัวคะแนน ผู้สมัคร สมาชิกพรรคการเมือง ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบัน ปรากฏเป็นข่าวให้เห็น

เมื่อการเลือกตั้งคือความล้มเหลวของคณะรัฐประหาร ชนชั้นนำจึงกลัวการเลือกตั้ง

ประจักษ์ กล่าวว่า เมื่อรัฐประหารเสร็จแล้วโจทย์สำหรับคณะรัฐประหารก็คือ รัฐประหารเสร็จแล้ว จะสืบทอดอำนาจอย่างไร ถ้าดูประวัติศาสตร์ จะพบว่าคณะรัฐประหารไทย รัฐประหารสำเร็จทุกคณะ แต่ล้มเหลวในการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง จนเกิดเป็นรูปแบบไทยๆ คือ “มีทักษะสูงในการรัฐประหาร แต่ล้มเหลวในการเลือกตั้ง”

บทเรียนการเลือกตั้งในประวัติศาสตร์ไทยสะท้อนความล้มเหลวในการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งของคณะรัฐประหาร

หนึ่ง การเลือกตั้ง ปี 2500 ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะชนะเลือกตั้งแต่ถูกนักศึกษาประท้วง

สอง การเลือกตั้งในปี 2512 ของ จอมพลถนอม กิตติขจร ชนะการเลือกตั้ง แต่มีความวุ่นวายในสภา เพราะไม่มี ม.17 ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จนในที่สุด ก็ต้องรัฐประหารตัวเอง หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้สืบทอดต่อไม่ได้

สาม การเลือกตั้งในปี 2535 ของพลเอกสุจินดา คราประยูร ชนะเลือกตั้งแต่ก็ครองอำนาจไม่ได้ แล้วก็เกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ

สี่ การเลือกตั้งในปี 2550 ของ คมช. แต่ปรากฏว่า พรรคที่คณะรัฐประหารไม่ชอบก็ยังชนะเป็นอันดับหนึ่งอยู่ดี แผนการทั้งหมดก็เลยล้มเหลว

ประจักษ์ ชี้ให้เห็นว่า จากการเลือกตั้งของคณะรัฐประหารทั้งสี่ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า พอเลือกตั้งแล้ว จะเสียอำนาจ เต็มไปด้วยความวุ่นวายไม่ราบรื่น ฉะนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมเราถึงไม่ได้เลือกตั้งง่ายๆ สักที ถ้าเลือกได้ คณะรัฐประหารอยากเลือกตั้งไหม คำตอบคือ ไม่อยากหรอก เพราะเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มีความเสี่ยงสูง ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไร แล้วจริงๆ ประชาชนคิดอะไร การเลือกตั้งจึงเป็นอะไรที่น่ากลัวสำหรับชนชั้นนำ

“แต่ถามว่า คสช. จะอยู่ได้เรื่อยๆ โดยไม่มีการเลือกตั้ง ก็คือ ‘ฟิจิโมเดล’ เพราะอภินิหารทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่มีอะไรทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะไม่มีการเลื่อนอีก”

ประจักษ์ ก้องกีรติ
You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย