เลือกตั้ง 62: คสช. มีแต่ได้ หากเลื่อนเลือกตั้ง

การเลือกตั้งที่คาดหมายกันว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 กำลังมีสัญญาณว่า จะถูกเลื่อนออกไปอีกเป็นครั้งที่หก โดยรัฐบาล คสช. อ้างอิงเหตุจากกำหนดการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งไม่ควรมีกิจกรรมทางการเมืองมาทับซ้อนในช่วงเวลาดังกล่าว 
โดยการเลื่อนเลือกตั้งดังกล่าว นอกจากจะทำให้กลุ่มคนที่อยากเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่กำลังเตรียมการลงสนามต้องเสียเวลาไปเปล่าๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ก็ยังมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการเลื่อนเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย นั้นก็คือ คสช. เพราะว่า คสช. จะมีเวลาอยู่ในอำนาจนานขึ้น และกองหนุน คสช. ก็มีเวลามากขึ้นในการเตรียมการเพื่อการเลือกตั้ง
คสช. มีเวลาใช้ 'มาตรา 44' นานขึ้น
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 265 กำหนดให้ คสช. ยังอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่หลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากจะได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่งของการทำหน้าที่เป็น คสช. แล้ว การคงอยู่ของ คสช. ยังอยู่พร้อมกับ 'อำนาจพิเศษ' เช่น มาตรา 44 ที่ให้หัวหน้าคสช. ออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ให้มีผลในทางบริหาร ตุลาการ หรือนิติบัญญัติ โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช. และหัวหน้าคสช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557
ดังนั้น หากมีการเลื่อนเลือกตั้ง เท่ากับขยายเวลาให้ คสช. และหัวหน้า คสช. จะถืออำนาจพิเศษเหล่านี้ไว้นานขึ้น
สนช. มีเวลาออกกฎหมายมากขึ้น
เนื่องจากการเลือกตั้งในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารและเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งแตกต่างกับการเลือกตั้งเพราะเหตุมีการยุบสภาหรือหมดวาระของสภา ดังนั้น สนช. จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต่อไปจนกว่าจะถึงวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป
ทั้งนี้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวว่า หากมีการเลื่อนวันเลือกตั้งจริง สนช. จะต้องปรับการทำงาน และเดินหน้าทำหน้าที่พิจารณาและออกหมายต่อไป โดยยังคงยึดแนวทางที่จะยุติการพิจารณากฎหมายก่อนวันเลือกตั้ง 7 วันเช่นเดิม
ดังนั้น หากมีการเลื่อนเลือกตั้ง เท่ากับ สนช. จะมีเวลาในการออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้มากขึ้น
ครม. มีเวลาอนุมัติโครงการ-แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ มากขึ้น
โดยปกติรัฐธรรมนูญจะจำกัดอำนาจของรัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งให้เป็นเพียง 'รัฐบาลรักษาการ' ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 169 กำหนดข้อห้ามว่า ด้วยเรื่องสำคัญๆ สำหรับรัฐบาลรักษาการไว้ ได้แก่ 
  • ห้ามการแต่งตั้งโยกย้ายและถอดถอนบุคลากรของรัฐ 
  • ห้ามการใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 
  • ห้ามอนุมัติโครงการที่ก่อภาระผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป 
  • ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐให้เกิดผลในการเลือกตั้ง 
โดยบางเรื่องสามารถกระทำได้หากเป็นไปตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 
แต่ทว่า ข้อกำหนดดังกล่าวจะไม่ถูกนำมาใช้กับรัฐบาล คสช. เนื่องจาก รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้จำกัดอำนาจของ คสช. ไว้เลย ดังนั้น รัฐบาลคสช. หรือ ครม. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีเวลามากขึ้นในการอนุมัติโครงการหรือแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้อย่างเต็มที่
พรรคหนุนคสช. มีเวลาในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งมากขึ้น
พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 41 (3) กำหนดว่า ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวหรือ ‘สังกัดพรรค’ เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง 
ทั้งนี้ ถ้าวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามที่ คสช. ได้ประกาศไว้ ก็เท่ากับว่า วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 คือ วันสุดท้ายที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเข้าสังกัดพรรคการเมือง ดังนั้น หากวันเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป ก็หมายความว่า พรรคการเมืองที่หนุนคสช. มีเวลาในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งมากขึ้น รวมทั้งมีเวลาชักชวน หรือ "ดูด" ผู้สมัครจากที่ต่างๆ มาเข้าพรรคเพิ่มขึ้นด้วย
ก่อนหน้าที่จะมีข่าวการเลื่อนเลือกตั้ง ก็มีข้อมูลหลุดออกมาว่า ยังคงมีความไม่ลงตัวในการจัดสรรผู้สมัครลงในบางเขตบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวบุคคลที่พรรคเล็งที่จะทาบทามหรือดึงตัวให้มาร่วมทำงานกับพรรคหลายคนยังไม่สะเด็ดน้ำ ยังตกลงกันในรายละเอียดไม่เสร็จสิ้น หากมีการเลื่อนเลือกตั้งผู้ที่ถูกทาบทามจะสามารถลงเลือกตั้งได้ทัน