ทวงคืนกิจกรรมทางการเมืองสำเร็จ แต่อำนาจพิเศษของ คสช. ยังเหลืออยู่อีกมาก

11 ธันวาคม 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งจำนวน 9 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้มี 4 ฉบับที่เป็นส่วนหนึ่งของประกาศ/คำสั่งรวม 35 ฉบับ ที่องค์กรภาคประชาชน 23 เครือข่ายกำลังรวบรวมรายชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิก
โดยสาระสำคัญของคำสั่งหัวหน้า คสช. 22/2561 คือ ให้ยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังต่อไปนี้
๐ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 10/2557 เฉพาะ ข้อ 1. ที่ห้าม จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ทำธุรกรรมทางการเงิน
๐ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 26/2557 ที่ห้าม สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำพรรคเกียน และ จ่าสิบตำรวจ ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ทำธุรกรรมทางการเงิน
๐ ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ 39/2557 ที่กำหนดให้บุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช. และได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ คสช. กำหนด ได้แก่ ห้ามเดินทางออกราชอาณาจักร ห้ามเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน หรือที่เรียกว่า ความผิดฐานฝ่าฝืน MOU
๐ ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ 40/2557 ที่กำหนดให้บุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึกต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ คสช. กำหนด ได้แก่ ห้ามเดินทางออกราชอาณาจักร ห้ามเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน หรือที่เรียกว่า ความผิดฐานฝ่าฝืน MOU
๐ ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ 57/2557 เฉพาะข้อ 2 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง และการดําเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งให้ระงับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราว 
๐ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 80/2557 ที่ห้ามแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำนปช. แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. รวมทั้งสิ้น 18 คน เดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือทำกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน
๐ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เฉพาะข้อที่ 12 เรื่อง ห้ามผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.
๐ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2561 เฉพาะข้อ 4, 5 และ 7 เรื่องห้ามพรรคการเมืองดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง เว้นแต่ได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขของคสช.
๐ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 เฉพาะข้อ 6 เรื่องห้ามพรรคการเมืองดำเนินการอันเป็นการหาเสียงบนโลกออนไลน์ และให้ กกต. และ คสช. เป็นคนกำหนดลักษณะต้องห้ามของการสื่อสารบนโลกออนไลน์
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 เท่ากับเป็นการเปิดให้พรรคการเมืองกลับมาเดินหน้าทำกิจกรรมและหาเสียงกับประชาชนได้เต็มที่หลังปิดล็อกไว้นานกว่า 4 ปีครึ่ง เพื่อนำไปสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการ "ปลดล็อกพรรคการเมือง" อย่างสมบูรณ์ก่อนวันที่กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง 75 วัน หลังจากมีข้อเรียกร้องดังกล่าวอยู่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ยังมีข้อ 2. ที่กำหนดว่า การยกเลิกบรรดาประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อน ซึ่งยังเปิดให้ตีความได้ว่า คดีความทั้งฐานชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. หรือความผิดฐานฝ่าฝืน MOU ที่กำลังเดินหน้าพิจารณาคดีกันอยู่จะถูกยกเลิกตามหลัก "ไม่มีกฎหมายไม่มีความผิด" ไปด้วยหรือไม่ หรือจะยังเดินหน้าต่อไปได้ทั้งที่กฎหมายที่กำหนดให้เป็นความผิดถูกยกเลิกแล้ว
ประชาชนอีกหลายร้อยคนที่ยังมีคดีความฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปค้างพิจารณาคดีอยู่ที่ศาล ทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน จึงยังไม่มีความแน่นอนในชีวิตและสิทธิเสรีภาพ เท่ากับว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 เป็นการปลดล็อกคืนเสรีภาพให้กับประชาชนไม่เต็มรูปแบบ เพียงแค่ปลดล็อกสำหรับการกระทำที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าเท่านั้น ซึ่งยังไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องขององค์กรภาคประชาชน 23 เครือข่ายที่ต้องการให้ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง และต้องเป็นการยกเลิกคดีที่เกิดขึ้นไปแล้วและยังดำเนินการกันอยู่ด้วย
แม้ว่า หลังจากนี้เป็นต้นไปจนถึงการเลือกตั้ง พรรคการเมืองและประชาชนจะสามารถกลับมาทำกิจกรรมทางการเมืองได้แล้ว หลังถูกจำกัดอยู่ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. มายาวนาน หรือเรียกได้ว่า การทวงคืนกิจกรรมทางการเมืองนั้นสำเร็จแล้ว แต่การทวงคืนสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังไม่สำเร็จ เพราะประกาศและคำสั่ง คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ และให้อำนาจพิเศษกับทหารเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมยังเหลือบังคับใช้อยู่อีกจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น
o ทหารยังคงมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งการบุกค้น จับกุมประชาชน ตั้งข้อหาและดำเนินคดีกับประชาชนในความผิดหลายประการที่ คสช. กำหนดขึ้นให้ทหารเข้าไปจัดการได้ เช่น ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับการพนัน รวมทั้งอำนาจที่ทหารจะจับคนไปขังไว้ในค่ายทหารเพื่อการซักถามได้ 7 วันก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งเปิดช่องให้ทหารมีบทบาทสำคัญในการละเมิดสิทธิประชาชน แทรกแซงงานของตำรวจ และตัดสินใจว่า จะจับกุมหรือตั้งข้อหาใดต่อผู้ใดบ้าง การจะทวงคืนกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีทหาร ยังต้องยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558, 13/2559, 5/2560 ให้หมดทั้งฉบับด้วย
o สื่อมวลชนยังถูก คสช. ควบคุมเนื้อหาอยู่ โดยสื่อมวลชนที่นำเสนอเนื้อหาทางการเมืองเข้าข่ายการวิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริต การยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความสับสน หรือความขัดแย้ง ยังอาจถูกลงโทษได้ตั้งแต่ตักเตือน ปรับ 50,000 บาท ปิดรายการ หรือปิดสถานีโทรทัศน์ทั้งช่อง โดยให้ กสทช. มีอำนาจสั่งลงโทษโดยไม่ต้องรับผิดได้อีกด้วย การจะทวงคืนเสรีภาพของสื่อมวลชนยังต้องยกเลิก ประกาศ ฉบับที่ คสช. 97/2557, 103/2557 คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 และฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
o พลเรือนอีกหลายร้อยคนยังต้องถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหาร โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน คดีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และคดีฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของ คสช. เอง ซึ่งที่ศาลทหารมีผู้พิพากษาที่เป็นทหาร อัยการที่เป็นทหาร เจ้าหน้าที่ที่เป็นทหาร และกระบวนการเดินหน้าไปอย่างล่าช้าด้วยบุคลากรที่ขาดความเชี่ยวชาญ การจะโอนคดีของพลเรือนกลับไปพิจารณากันในระบบปกติที่ศาลพลเรือน ยังต้องยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557, 38/2557, 50/2557 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 และออกพระราชบัญญัติเพื่อการโอนย้ายคดีและยกเลิกผลคดีที่เกิดขึ้นจากศาลทหารอีกด้วย
o เขตเศรษฐกิจพิเศษยังคงเดินหน้าไปแบบไม่มีส่วนร่วม โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่สามารถเร่งเดินหน้าจัดหาที่ดินในพื้นที่หลายจังหวัดภาคตะวันออกมาทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมโดยยกเว้นข้อกำหนดเรื่องผังเมืองตามที่มีอยู่เดิม และกิจการบางประเภทก็สามารถเดินหน้าไปก่อนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย กิจการขนาดใหญ่เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นใกล้แหล่งชุมชนและแหล่งเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องสนใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดกับสังคมและสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น การจะทวงคืนการมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชนของประชาชนในโครงการพัฒนาเช่นนี้ ยังต้องยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2559, 4/2559, 9/2559, 31/2560, 47/2560 และกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องด้วย
กิจกรรม #ปลดอาวุธคสช #ทวงคืนสถานการณ์ปกติ หรือการรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบ 10,000 คนเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ และผลพวงที่เกิดตามมาจากประกาศและคำสั่งเหล่านี้จึงยังต้องเดินหน้าต่อไป โดยต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชนให้มากที่สุดเพื่อนำข้อเสนอนี้ยื่นต่อรัฐสภาทันทีหลังการเลือกตั้ง