เลือกตั้ง 62: เปิด 5 เงื่อนไขที่ กกต./คสช. อาจสั่งยกเลิกการเลือกตั้งได้

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 กำลังเดินหน้าไปตามกติกาที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางเอาไว้หมดแล้ว ทั้งกติการัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งองค์กรสำคัญๆ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้ง อย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ ต่างก็มาจากการคัดสรรบุคคลที่ คสช. ไว้ใจให้เข้ามาทำหน้าที่ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ พ.ร.ป.กกต. ให้อำนาจ กกต. ในการสั่งให้ระงับหรือยับยั้งการดําเนินการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทําหรือการงดเว้นการกระทําอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ในขณะเดียวกัน พระราชบัญญตัิประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ ก็เป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่กำหนดลงรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ กกต. ใช้อำนาจได้ถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกร่างขึ้นโดยคนกลุ่มเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญนั่นเอง ทั้งนี้ นอกจากจะกำหนดรายละเอียดตั้งแต่การกำหนดวันเลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้ง การแบ่งเขตพื้นที่ การนับคะแนน การประกาศผล ฯลฯ เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจกับ กกต. ที่จะสั่ง "ระงับ" หรือ "ยกเลิก" การเลือกตั้งได้ด้วย
ลองดูกันว่า เงื่อนไขใที่ห้การเลือกตั้งถูกยกเลิกได้มีเหตุผลใดบ้าง
1. ยกเลิกเพราะไม่สามารถจัดพร้อมกันได้ทั่วราชอาณาจักร
มาตรา 15 กำหนดว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามกำหนดวันเลือกตั้งที่ กกต. ได้ประกาศไว้แล้ว กกต. อาจมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 5 คนจากกรรมการทั้งหมด 7 คน ที่จะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ หากเป็นกรณีที่การเปิดลงคะแนนดำเนินไปแล้วก็อาจสั่งยกเลิกการเลือกตั้งที่ดำเนินไปแล้ว และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้
แต่อำนาจสั่งยกเลิกการเลือกตั้งเพราะเหตุผลนี้ จะไม่ใช้กับกรณีตามมาตรา 102 คือ กรณีที่การออกเสียงในหน่วยเลือกตั้งบางแห่งไม่สามารถทำได้เพราะเกิดเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย หรือเหตุสุดวิสัยอื่น ซึ่งหากเกิดเหตุเหล่านี้ขึ้นเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง กกต. ก็สามารถจัดหาสถานที่ใหม่ หรือสั่งงดลงคะแนนแล้วกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เฉพาะในหน่วยนั้นๆ ก็ได้ 
ดังนั้นเหตุที่จะยกเลิกการเลือกตั้งได้ตามมาตรา 15 จึงไม่ใช่กรณีเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคทางกายภาพทั่วๆ ไป แต่อาจเป็นเหตุจำเป็นอันเนื่องมาจากการบริหารจัดการ หรือการเงื่อนไขในทางกฎหมาย ที่อาจเป็นอุปสรรคและไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีทางกายภาพได้
2. ยกเลิกเพราะผู้สมัครขาดคุณสมบัติ
มาตรา 53 กำหนดว่า หากก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต. ตรวจพบว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม เช่น อายุน้อยกว่า 25 ปี, เป็นสมาชิกพรรคการเมืองน้อยกว่า 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง, เป็นบุคคลล้มละลาย, เป็นเจ้าของกิจการสื่อ, เคยต้องคำพิพากษาว่าทุจริต, เคยฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ฯลฯ และผู้นั้นชนะการเลือกตั้งด้วย ให้มีคำสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นและสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ หาก กกต. พบว่า ผู้สมัครรู้อยู่แล้วว่า ตัวเองขาดคุณสมบัติแต่ก็ยังมาสมัคร ให้สั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ชั่วคราว หรือ "แจกใบส้ม" ดังนั้น การยกเลิกการเลือกตั้งต้องมีเงื่อนไขที่ว่า ผู้สมัครขาดคุณสมบัติและชนะการเลือกตั้งด้วย
เมื่อ กกต. สั่งยกเลิกการเลือกตั้งแล้ว คะแนนที่ผู้สมัครคนนั้นได้รับก็จะไม่ถูกนำไปคำนวนเพื่อนับที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น หรือในกรณีผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติแพ้การเลือกตั้ง แม้ยังไม่เป็นเหตุให้ต้องยกเลิกการเลือกตั้ง แต่คะแนนที่ผู้สมัครคนนั้นได้รับก็จะไม่ถูกนำไปคำนวนเพื่อนับที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อ
แต่หาก กกต. ตรวจพบว่า ผู้สมัครขาดคุณสมบัติหลังประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว โดยที่ผู้สมัครคนนั้นชนะการเลือกตั้งด้วย กกต. ไม่สามารถสั่งยกเลิกการเลือกตั้งได้เองแล้ว และมาตรา 54 กำหนดว่า กกต. ต้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งขาดคุณสมบัติที่จะเป็น ส.ส. จริง ก็จะเป็นเหตุให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และ กกต. ก็จึงจัดการ "เลือกตั้งซ่อม" ในเขตนั้นต่อมาได้
3. ยกเลิกเพราะนับคะแนนไม่ถูกต้อง
มาตรา 124 กำหนดว่า เมื่อ กกต. ได้รับรายงานผลการนับคะแนนแล้วแต่ยังไม่ได้ประกาศผล ถ้าปรากฏหลักฐานว่า การเลือกตั้งในเขตใดไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือการนับคะแนนเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง กกต. จะงดการประกาศผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือนับคะแนนใหม่ในบางหน่วยเลือกตั้ง หรือทุกหน่วยในเขตนั้นๆ ก็ได้
4. ยกเลิกเพราะมีหลักฐานการทุจริต
มาตรา 137 กำหนดว่า ก่อนถึงวันเลือกตั้ง หรือในวันเลือกตั้ง ถ้า กกต. ไต่สวนแล้วพบหลักฐานการทุจริต หรือกรรมการ กกต. คนใดพบเห็นการทุจริต ให้มีอำนาจสั่งระงับการกระทำนั้นๆ ได้ หรือสั่งยกเลิกการเลือกตั้งก็ได้ และสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยก็ได้
สำหรับกรณีที่หลังการเลือกตั้งเสร็จแล้วแต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต. ไต่สวนแล้วพบหลักฐานการทุจริต หรือพบว่า ผู้สมัครใช้ให้ผู้อื่นทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจ หรือรู้ว่า มีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ระงับ มาตรา 132 กำหนดกว่า กกต. อาจ"แจกใบส้ม" หรือระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ชั่วคราว ในกรณีที่ผู้นั้นชนะการเลือกตั้งก็ให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้นๆ  
หาก กกต. เห็นว่า มีเหตุการณ์ที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและผู้สมัครคนใดได้ประโยชน์ กกต. อาจสั่งให้ผู้สมัครคนนั้นระงับการกระทำหรือดำเนินการเพื่อแก้ไขได้ หากสั่งแล้วยังไม่กระทำโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้สมัครคนนั้นสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้การเลือกตั้งไม่สุจริตด้วย
แต่หากเป็นกรณีที่พบหลักฐานการทุจริตเลือกตั้งหลังประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว กกต. ไม่มีอำนาจที่จะสั่งเองได้ โดยมาตรา 133 กำหนดให้ กกต. ยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณา หากศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า มีการทุจริตจริง ให้สั่งให้เลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย
5. ยกเลิกเพราะไม่ถูกใจ คสช.
ระหว่างการจัดการเลือกตั้ง การประกาศผลการเลือกตั้ง และการเจรจาต่อรองจัดตั้งรัฐบาล จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ารับตำแหน่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยังคงมีอำนาจอยู่ในมือเช่นเดียวกับตลอดสี่ปีกว่าที่ผ่านมา รวมทั้งอำนาจพิเศษตาม "มาตรา 44" ที่จะออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ในเรื่องใดเพื่อให้ผลเป็นประการใดก็ได้ ในทางกฎหมายก็ยังมีโอกาสที่ คสช. จะใช้อำนาจพิเศษนี้ให้เป็นผลต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นด้วย ดังนั้น หากมีข้อครหา ข้อสงสัย หรือมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในอนาคตที่อาจทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาไม่ถูกใจ คสช. อำนาจพิเศษตาม "มาตรา 44" นี้ ก็ยังอาจใช้เพื่อสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในบางหน่วย บางเขต หรือยกเลิกการเลือกตั้งทั้งประเทศได้ด้วย