เลือกตั้ง 62: ใครอยู่ในหน่วยเลือกตั้ง

เหมือนจะปรากฏรูปให้เห็นลางลางสำหรับการเลือกตั้ง หลังจากถูกเลื่อนมาแล้วถึงสี่ครั้ง เพราะตั้งแต่การคลอด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 เสียงยืนยันเกี่ยวกับวันเลือกตั้งจากฝั่งผู้มีอำนาจทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และวิษณุ เครืองาม สองรองนายกรัฐมนตรี ต่างตอบด้วยน้ำเสียงทำนองว่าเดียวกันว่า 24 กุมภาพันธ์ 2562 คือวันเลือกตั้งแน่นอน
การเลือกตั้งปี 2562 มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ภายใต้การกำกับของรัฐบาล คสช. เป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อทำหน้าที่ ควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม นอกจากนี้การทำงานระดับพื้นที่จะมี “กกต. ประจำเขตเลือกตั้ง” และหน่วยที่เล็กที่สุดคือ “กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้ง” ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการเลือกตั้งในทุกหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งกำหนด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 กำหนดที่มาและบทบาทของ กกต. ประจำหน่วยฯ ดังนี้
กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งมีหน่วยละ 5 คน
ในวันเลือกตั้งเมื่อไปถึงหน่วยเลือกตั้งเราจะพบกับ “กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้ง” ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดว่า กกต.ประจำหน่วยฯ มาจากการแต่งตั้งของ กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง โดยแต่งตั้งมาจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน่วยละห้าคน ยกเว้นในหน่วยเลือกตั้งขนาดใหญ่ ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งตั้งแต่ 800 คนขึ้นไป กกต.ประจำเขตฯ สามารถแต่งตั้ง กกต.ประจำหน่วยฯ เพิ่มได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่ กกต. กำหนด
ทุกหน่วยเลือกตั้งต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1 คน
สำหรับหน้าที่ของ กกต. ประจำหน่วยเลือกตั้งทั้งห้าคน ตามมาตรา 19 (1) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ กำหนดว่า กกต.ประจำหน่วยฯ มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้งและนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่ง นอกจากนี้ มาตรา 19 (2) ยังกำหนดให้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้งด้วยหนึ่งคน ซึ่งแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อทําหน้าที่รักษาความปลอดภัยและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้ง
โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้งนั้น กกต. ประจำเขตมักจะมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ แต่ก็ไม่มีข้อห้ามสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ แต่อย่างใด
กรรมการประจำหน่วยไม่ครบ 5 คน ให้ กกต. ประจำเขตแต่งตั้งให้ครบ
ในกรณีที่มีเหตุอันทำให้มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่ครบห้าคน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ กกต.ประจําเขตฯ แต่งตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นกรรมการประจำหน่วยฯ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” จะมีความหมายเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งหรือในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะครอบคลุมถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนในประเทศไทย ที่อาจถูกแต่งตั้งให้เป็น กกต.ประจําหน่วยแทนฯ โดยเงื่อนไขสี่ประการ คือ
1. ก่อนวันเลือกตั้ง หาก กกต.ประจําหน่วยฯ จำนวนไม่ครบจํานวนห้าคนไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ กกต.ประจําเขตฯ แต่งตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็น กกต.ประจําหน่วยฯ ให้ครบจํานวน
2. ในวันเลือกตั้ง ถ้าถึงเวลาแต่เปิดการออกเสียงลงคะแนนแล้วมี กกต.ประจําหน่วยฯ มาปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบจํานวน แต่มาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ กกต.ประจําหน่วยฯ ให้ กกต.ประจําหน่วยฯ ที่มาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ได้ และให้ กกต.ประจําหน่วย ที่มาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นรายงานต่อ กกต. ประจําเขตฯ เพื่อแต่งตั้งบุคคลเพิ่มเติมให้ครบจํานวนก่อนการนับคะแนน
3. ในกรณีที่ กกต.ประจําหน่วยฯ มาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ กกต.ประจําหน่วยฯ ที่มาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นรายงานต่อ กกต.ประจําเขตฯ เพื่อรีบแต่งตั้งบุคคลให้ครบจํานวน
4. ในกรณีที่ไม่มี กกต.ประจําหน่วยฯ มาปฏิบัติหน้าที่เลย ให้ กกต.ประจําเขตฯ แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการประจําหน่วยฯ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ประจําหน่วยฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่ กกต.กลางกําหนด
ให้ กกต. ประจำเขตฯ ตรวจสอบ กกต. ประจำหน่วยฯ
การตรวจสอบ กกต.ประจำหน่วยฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ กำหนดไว้ในสองกรณี
กรณี 1 ในมาตรา 19 หาก กกต., กกต.ประจำเขตฯ หรือผู้ตรวจการเลือกตั้ง พบเห็น กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือกระทำการใดที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้รายงานต่อ กกต. ทันที และให้ กกต. มีอำนาจสั่งเปลี่ยนกรรมการประจำหน่วยฯ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้
กรณี 2 ในมาตรา 22 ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า กกต.ประจำหน่วยฯ ผู้ใดขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ หรือละทิ้งหน้าที่ หรือไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ให้ กกต. มีอํานาจสั่งให้ผู้นั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ได้