เลือกตั้ง 62: คสช. ใช้ ม.44 อย่างน้อยสามครั้งเพื่อเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้ง

ตามโรดแมปของรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นในปี 2562 และเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มุ่งหวังไว้ คสช. จึงขอเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น การตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของตัวเองเป็นคนพิจารณากฎหมายอีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ดี คสช. ยังเข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขกติกาการเลือกตั้งทางตรงโดยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ซึ่งที่ผ่านมา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจดังกล่าวไปแล้วอย่างน้อยสามครั้ง
ครั้งที่ 1 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560: ปลดล็อคให้พรรคใหม่-รีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองเก่า
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดให้พรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งพรรคต้องมีผู้ร่วมก่อตั้งอย่างน้อย 500 คน พร้อมบังคับจ่ายเงินขั้นต่ำ 1,000 บาท รวมถึงต้องมีเงินเป็นทุนประเดินอย่างน้อยหนึ่งล้านบาท
แต่เนื่องจากพรรคการเมืองยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากติดล็อค ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ซึ่งห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ และคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
ด้วยเหตุนี้ หัวหน้า คสช. จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 53/2560 เพื่อ ‘คลายล็อค’ บางส่วนให้กับพรรคการเมืองใหม่ดำเนินการทางธุรการได้ และมีการแก้ไขบางมาตราใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ เพื่อขยายเวลาการดำเนินการต่างๆ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ เช่น จัดหาทุนประเดิมพรรค การหาสมาชิกพรรค เป็นต้น ที่สำคัญคือการสร้างเงื่อนไขให้พรรคการเมืองเก่าต้องรีเซ็ตสมาชิกพรรคที่มีอยู่ทั้งหมด จากเดิมที่ให้สมาชิกพรรคเมืองเดิมยังคงเป็นสมาชิกพรรคนั้นๆ ต่อไป เปลี่ยนเป็นให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิมต้องทำหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรค และชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง 
อย่างไรก็ดี คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ยังเป็นเพียงการคลายล็อค มิใช่การปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ และในคำสั่งยังระบุด้วยว่า คสช. จะพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศ คสช. หรือคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการดําเนินการของพรรคการเมือง เมื่อประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. ในราชกิจจานุเบกษา และ คสช.จะจัดทําแผนและขั้นตอนการดําเนินการทางการเมืองเพื่อนําไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป
ครั้งที่ 2 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561: ยกเลิกไพรมารีโหวต-ห้ามหาเสียงออนไลน์-ขยายเวลาให้พรรคการเมือง
ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีทุนประเดินอย่างน้อยหนึ่งล้านบาท และต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อย 500 คน ที่ชำระค่าบำรุงพรรคแล้ว ภายในวันที่ 28 กันยายน 2561 (ครบ 180 วัน ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560) แต่เนื่องจาก คสช. ยังไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ทำให้หัวหน้า คสช. ต้องใช้มาตรา 44 อีกครั้ง คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561
ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว มีผลให้พรรคการเมืองสามารถขยายเวลาจัดหาทุนประเดิมหนึ่งล้านบาท และการหาสมาชิกพรรคให้ครบ 500 คน พร้อมชำระค่าบำรุงพรรค ไปจนถึง 13 มีนาคม 2562 ในขณะเดียวกันก็ ‘คลายล็อค’ ให้พรรคการเมืองที่ต้องการจะประชุมพรรค หรือ ตั้งสาขาพรรค สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องแจ้ง กกต. ก่อน 5 วัน
นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวยังยกเลิกการทำไพรมารีโหวตแบบเดิมที่ให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดดำเนินการหยั่งเสียงหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเปลี่ยนให้การหยั่งเสียงประชาชน เป็นแค่การรับฟังความคิดเห็น
เท่านั้นยังไม่พอ ในข้อ 6 ของคำสั่งฉบับดังกล่าว กำหนดให้พรรคการเมืองจะประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคของตนได้โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ต้อง “ไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง”  โดยให้ กกต. และ คสช. เป็นคนกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้
ครั้งที่ 3 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561: คสช. สั่ง กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ได้ หาก คสช. หรือ รัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียน
แม้ คสช. จะเคยใช้มาตรา 44 เพื่อแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไปแล้วถึงสองครั้ง แต่ คสช. ก็มีเหตุให้ต้องใช้อีกครั้ง เนื่องจาก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 กำหนดให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งได้ทันทีหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 หรือ "พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากมีความกังวลว่า หากต้องรอกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กกต. จะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการจัดการเลือกตั้ง
แม้ว่าหลังมีคำสั่งจากหัวหน้า คสช. ดังกล่าว กกต. ได้ออก "ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561" เพื่อดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุด กกต. ก็ไม่สามารถดำเนินการประกาศเขตเลือกตั้งได้ทันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ (วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561)
จนสุดท้าย หัวหน้า คสช. ต้องออกคำสั่งที่ 16/2561 เพื่อช่วยเหลือ กกต. โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีประชาชนและพรรคการเมืองร้องเรียนว่า การรับฟังความคิดเห็นยังไม่เพียงพอ ประกอบกับกำหนดเวลาการทำงานของ กกต. เร่งรัดเข้ามา จึงสมควรผ่อนผันและขยายเวลาการทำให้กับ กกต.
อย่างไรก็ดี คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 มีสาระสำคัญสองข้อคือ
หนึ่ง ขยายเวลาให้ กกต. มีอำนาจดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ หรือภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 โดยให้ คสช. และรัฐบาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเสนอแก้ไขการแบ่งเขตเลือกตั้ง
สอง ให้พรรคการเมืองสามารถสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งตามปฏิทินของ กกต. คาดว่าจะเปิดรับสมัคร ส.ส. ได้ช่วงกลางเดือน มกราคม 2562 และมีความเป็นไปได้ที่คำสั่งดังกล่าวในส่วนนี้จะเป็นการขยายเวลาให้พรรคการเมืองสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องติดเงื่อนให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน เพราะหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้สมัครส.ส. ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคภายในวันที่  26 พฤศจิกายน 2561