“ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2” หนังเรื่องที่ห้าที่ถูกห้ามฉาย ภายใต้พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ 2551

"ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2" หนังเรื่องที่ห้าที่ถูกห้ามฉาย ภายใต้พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ 2551
 
 
ครบรอบสิบปีพอดีของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กฎหมายควบคุมสื่อประเภทภาพยนตร์ คาราโอเกะ เกมส์ ฯลฯ ที่ออกมาในยุคสมัยของคณะรัฐประหาร ชุด คมช. ก็มีภาพยนตร์ที่ส่งเข้าไปผ่านคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ แต่ถูกสั่ง "ห้ามฉาย" ด้วยเหตุผลด้านเนื้อหาที่ไม่ใช่เรื่องลามกอนาจาร เป็นเรื่องที่ห้าภายใต้กฎหมายฉบับนี้
 
"ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2" หนังรักนอกกระแส ที่นำความไทบ้าน หรือวิถีชีวิตของคนในภาคอีสานเป็นแบล็คกราวในเรื่อง รวมถึงตัวละครในเรื่องที่ใช้คนท้องถิ่นอีสานทั้งหมด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากทั่วประเทศ มีชื่อเสียงทั้งเพลงประกอบหนัง และฉบับที่ออกมาแล้วก่อนหน้านี้สองภาค คือ "ไทบ้าน เดอะซีรีส์" ที่ฉายเมืองปี 2560 และ "ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.1" ที่ฉายไปเมื่อช่วง เดือน กุมภาพันธ์ 2561 จนกระทั่งมีภาค 3 คือ "ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2" ที่มีกำหนดวันฉายในโรงภาพบนยนต์ ในวันที่ 22 พฤศจิการยน 2561 
 
"ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2" มีกำหนดฉายรอบปฐมทัศน์ ในวันนี้ (20 พฤศจิกายน 2561) ที่ Terminal 21 จังหวัดนครราชสีมา แต่มีรายงานว่า ภาพยนตร์ "ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2" ไม่สามารถฉายในวันนี้ได้ เนื่องจาก "หนังไม่ผ่านการเซ็นเซอร์" จากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยแหล่งข่าวรายงานว่า "เป็นฉากที่พระร้องไห้ในงานศพ" ซึ่งทางผู้จัดยังจัดงานเปิดตัวหนังรอบปฐมทัศน์ แต่ไม่มีการฉายหนัง 
 
ผู้กำกับหนังเรื่องดังกล่าว แถลงข่าวว่า "ยอมรับว่าหนังถูกห้ามฉายจริง ในขณะนี้ขอเลื่อนฉายหนังไปไม่มีกำหนด โดยหลังจากนี้จะเข้าไปพูดคุยชี้แจง และขอคำปรึกษากับคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เพื่อที่หนังจะได้กลับมาฉายได้อีกครั้ง"
 
ในพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้ภาพยนต์ที่จะนำออกฉาย ให่เช่า หรือจำหน่ายในประเทศไทย ต้องให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เป็นผู้อนุญาต และตรวจพิจารณาเพื่อจัดประเภทภาพยนต์ ตามมาตรา 25 และ มาตรา 26 โดย คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ สามารถพิจารณาให้สั่งให้หนังจัดอยู่ในประเภท "ห้ามฉาย" ได้ หากหนังเรื่องดังกล่าวพิจารณาแล้วเป็นภาพยนต์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 26(7) 
 
โดยถือได้ว่า "ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2" เป็นภาพยนต์เรื่องที่ 5 ที่ถูก คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ลงดาบห้ามฉาย หรือไม่อนุญาตให้ฉาย โดยที่ไม่ได้มีเนื้อหาส่วนใดที่ผิดกฎหมายข้ออื่น
 
ขั้นตอนหลังจากนี้ผู้สร้างหนังมีสิทธิที่จะเลือกได้สองทาง คือ 1) ยื่นอุทธรณ์คำสั่งห้ามฉายต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ หากยังยืนยันคำสั่งเดิมก็ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เพิดถอนคำสั่งห้ามฉายได้ ซึ่งอาจใช้เวลาดำเนินการหลายปี หรือ 2) เข้าพูดคุยกับคณะกรรมการชุดที่ออกคำสั่งและพิจารณาตัดทอนหรือแก้ไขเนื้อหาบางส่วนที่เป็นเหตุผลของการสั่งห้ามฉาย และส่งภาพยนตร์ฉบับที่แก้ไขแล้วให้ตรวจใหม่ เพื่อรับการจัดประเภทใหม่อีกครั้งหนึ่ง
 
ในระหว่างนี้ยังต้องถือว่า คำสั่ง "ห้ามฉาย" นั้นเป็นคำสั่งล่าสุดที่มีผลตามกฎหมาย หากใครนำภาพยนตร์เรื่อง "ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2" ออกเผยแพร่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
+++ หนังอีก 4 เรื่อง ที่เคยถูก คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่ง ห้ามฉาย หรือไม่อนุญาตให้ฉาย ตาม พ.ร.บ.พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มีดังนี้
 
เรื่องแรก Insects in the backyard
 
Insects in the Backyard ถูกสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย ในเดือนธันวาคม 2553 เพราะมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น มีฉากการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิง มีการแสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ให้เด็กหญิงและชายขายตัวแทนที่จะแก้ปัญหาโดยหาทางออกด้วยวิธีการอื่น ฯลฯ 
 
ผู้กำกับภาพยนตร์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่ง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 หลังต่อสู้นานห้าปี ศาลปกครองพิพากษาว่า เนื้อหาของภาพยนตร์ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี แต่มีฉาก 3 วินาทีที่เป็น "หนังเอ็กซ์" จึงต้องสั่งห้ามฉาย ถ้ายอมตัดฉากดังกล่าว จะเป็นภาพยนตร์ประเภทเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป (ฉ 20+) 
 
ผู้สร้างตัดสินใจยอมตัดฉากที่เป็นปัญหา จนกระทั่ง Insects in the backyard ได้ฉายในโรงภาพยนต์ทั่วประเทศในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ในประเภทเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป (ฉ 20+) 
 
นับตั้งแต่ใช้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการฟ้องศาลปกครองพิจารณาและมีคำพิพากษาตีความการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
 
 
 
เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ภาพยนตร์จากบทประพันธ์ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ เรื่อง The Tragedy of Macbeth 
 
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ถูกสั่งแบนคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยอ้างว่า มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ข้อ 7 (3) และเป็นภาพยนตร์ประเภท "ห้ามฉาย" ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ตามมาตรา 26(7) ผู้สร้างจึงขออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามฉาย
 
จนวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ศาลปกครองอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ยืนยันคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) โดยให้เหตุผลว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ร่วมสมัยมาเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ และมีความยาวในฉากนั้นถึง 2 นาทีเศษ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต หรือผู้ร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังจนอาจเกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติได้ ซึ่งทำให้หนังยังคงไม่ได้ฉายจนถึงปัจจุบัน และผู้สร้างตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
 
 
 
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2556 อนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และความขัดแย้งกรณีปราสาทพระวิหาร โดยให้เหตุผลว่า
มีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ และมีเนื้อหาที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ 
 
โดยนนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ได้อุทธรณ์คำสั่ง และทำการแก้ไขเนื้อหาในหนัง โดยดูดเสียงประมาณ 3 วินาทีในฉากเปิดของหนังออก จนกระทั่งได้รับการจัดประเภทเป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (เรท น 18+) และได้ออกฉายในโรงภาพยนต์ในช่วงกลางปี 2556
 
 
เรื่องที่สี่ อาบัติ/อาปัติย์
 
วันที่ 12 ตุลาคม 2558 อาบัติไม่ผ่านการพิจารณาให้เข้าฉายจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากมีภาพที่รุนแรงและไม่เหมาะสม เชิงดูหมิ่นศาสนาพุทธ โดยมีภาพสามเณรในขณะเสพของมึนเมา, สามเณรจับเศียรพระพุทธรูปในลักษณะไม่ให้ความเคารพ ฯลฯ จึงทำให้กำหนดฉายเดิมในวันที่ 15 ตุลาคม  2558 ต้องถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะผ่านการพิจารณาอีกครั้ง
 
แต่ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม 2558 สหมงคลฟิล์มได้แก้ไขตัดทอนและส่งภาพยนตร์ไปยังสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เพื่อพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้มีการแก้ไขชื่อจาก "อาบัติ" เป็น "อาปัติ" ซึ่งเป็นภาษาบาลีแต่มีความหมายคงเดิม และปรับปรุงแก้ไขฉากบางส่วนออกไป จนได้ผ่านการพิจารณาและได้รับการจัดประเภทเป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
(เรท น 18+) ได้เข้าฉายทั่วประเทศเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558