คสช. ใช้ ม.44 แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่-เปิดทาง คสช. มีส่วนร่วม

16 พฤศจิกายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจในการแก้ไขการแบ่งเขตเลือกตั้งในกรณีที่ คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนมา ทั้งนี้ ยังให้อำนาจ กกต. อย่างอิสระในการแก้ไขโดยไม่ติดข้อจำกัดใดๆ จากระเบียบหรือกฎหมาย
หลัง หัวหน้า คสช. มีคำสั่งดังกล่าวออกมา หลายฝ่ายกังวล กกต. กำลังถูกแทรกแซงความเป็นอิสระ และอาจทำงานเพื่อสนองผลประโยชน์ทางการเมืองของ คสช. ด้าน อดีต กกต. เสนอวางกรอบเวลาการแบ่งเขตและเปิดเผยข้อมูลในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตใหม่ให้สังคมได้รับรู้ 
คสช. ใช้ ม.44 อุ้ม กกต. หลังการแบ่งเขตเลือกตั้งมีปัญหา
ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2561 ให้อำนาจ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งได้ทันทีหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 หรือ "พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากมีความกังวลว่า หากต้องรอกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กกต. จะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการจัดการเลือกตั้ง
หลังมีคำสั่งจากหัวหน้า คสช. ดังกล่าว กกต. ได้ออกระเบียบชื่อว่า ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ตามระเบียบดังกล่าว ระบุว่า ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีหน้าที่ทำข้อเสนอการแบ่งเขตเลือกตั้งไว้สามรูปแบบ และต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 วัน จากนั้นให้มีการปรับปรุงแก้ไขภายในสามวัน ก่อนส่งให้ กกต. พิจารณาเป็นเวลา 20 วัน แล้วถึงให้ประกาศใช้
อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาที่มีการเปิดให้ประชาชนและพรรคการเมืองรับฟังความคิดเห็นคือ วันที่ 4 ตุลาคม 2561 ถึง 13 ตุลาคม 2561 หากดำเนินการตามระเบียบ กกต. แล้ว อย่างช้าที่สุด กกต. ต้องประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 แต่ทว่า กกต. ก็ไม่สามารถประกาศเขตเลือกตั้งได้
จนสุดท้าย หัวหน้า คสช. ต้องออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 16/2561 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 เพื่อช่วยเหลือ กกต. โดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากมีประชาชนและพรรคการเมืองร้องเรียนว่า การรับฟังความคิดเห็นยังไม่เพียงพอ ประกอบกับกำหนดเวลาการทำงานของ กกต. เร่งรัดเข้ามา จึงสมควรผ่อนผันและขยายเวลาการทำงานให้กับ กกต.
ม.44 ให้อำนาจ คสช. และ รัฐบาล มีส่วนในการแบ่งเขตเลือกตั้ง
ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ พ.ศ.2561 และระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 กำหนดให้การแบ่งเขตการเลือกตั้งมีหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งคือ การรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและพรรคการเมืองในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง และ กกต. มีหน้าที่รวบรวมความเห็นและแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ได้เพิ่ม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใหม่ขึ้นมา โดยให้ กกต. มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบหรือเปลี่ยนแปลงการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ หาก กกต. คสช. หรือรัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง 
หรือหมายความว่า หลังจากนี้ หาก คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนไม่ว่าจากใครก็ตามก็สามารถที่จะเสนอต่อ กกต. ให้มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ได้
ม.44 ให้อำนาจ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งไม่ต้องยึดตามระเบียบหรือกฎหมาย
ตาม  พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ พ.ศ.2561 มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ว่า ให้รวมอำเภอต่างๆ เข้าเป็นเขตเลือกตั้ง แต่หากจำเป็นอาจแยกตำบลออกมาจากอำเภอได้ แต่จะแบ่งตำบลออกจากกันไม่ได้ ทั้งนี้ การแบ่งเขตต้องคำนึงถึงชุมชนและความสะดวกในการคมนาคมของชุมชน และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 กลับกำหนดว่า ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือมติใดๆ ได้ ให้ กกต. ดำเนินการต่อไปตามมติ กกต. โดยถือว่าชอบด้วยกฎหมาย หรือหมายความว่า การดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องดำเนินตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย หรือ ระเบียบที่ตั้งเอาไว้ก็ได้ และถือว่า กกต. มีอำนาจอย่างอิสระในการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายไปโดยปริยาย
หลายฝ่ายกังวล กกต. อาจถูกแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
หลังหัวหน้า คสช. มีคำสั่งที่ 16/2561 ออกมา ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตจากทั้งนักการเมืองและภาคประชาชนว่า คำสั่งดังกล่าวจะเอื้อผลประโยชน์ทางการเมืองกับ คสช. หรือไม่
ธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ว่า การกระทำดังกล่าวของ คสช. ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของ กกต. เพราะ กฎหมายเดิมนั้น ให้รับฟังความคิดเห็นเฉพาะจากประชาชน และพรรคการเมือง แต่คำสั่ง คสช.16 /2561 กลับให้รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอ ของ คสช. และรัฐบาลด้วย 
ด้าน พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย ออกมาให้ความเห็นว่า การออกคำสั่งดังกล่าวไม่มีความจำเป็น เพราะการแบ่งเขตของ กกต. มีการส่งรูปแบบการแบ่งเขตแต่ละจังหวัดและได้เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นแล้ว แต่การใช้ ม.44 ของ คสช.ทำให้งานของ กกต. สะดุดหยุดลง ต้องดึงการแบ่งเขตเลือกตั้งมาพิจารณาใหม่ 
อดีต กกต. แนะระบุเวลาประกาศเขตเลือกตั้ง พร้อมรายงานว่าเขตใดมีปัญหาและดำเนินการแก้ไขอย่างไร
หลังหัวหน้า คสช. มีคำสั่งที่ 16/2561 ออกมา อดีต กกต. อย่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊กส่วนตัวพร้อมทั้งเสนอแนะว่าให้ กกต. แบ่งเขตอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส่ ควรให้มีการแถลงต่อสังคมอย่างน้อยสามประเด็น ได้แก่
หนึ่ง ประกาศกำหนดการให้ประชาชนและทุกพรรคการเมืองทราบอย่างชัดเจน ว่า กกต.พร้อมจะประกาศเขตเลือกตั้งทั้งหมดเมื่อใด มิใช่ทอดเวลาเพื่อให้เกิดการเรียกร้อง เจรจาต่อรอง หรือ รอรับคำสั่งจากใครจนถึงนาทีสุดท้าย
สอง ประกาศให้ประชาชนและพรรคการเมืองรับรู้ว่า เขตเลือกตั้งใดที่ยังเป็นปัญหา ปัญหาดังกล่าวมาจากผู้ร้องเรียนเป็นใครหรือจากกลุ่มการเมืองใด และส่งมาทางช่องทางใด ผ่าน ครม. หรือ ผ่าน คสช. เมื่อใด และ กกต. มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบให้เกิดความเป็นธรรมอย่างใด ไม่ใช่พอมีคำร้องเรียนผ่านบางองค์กรก็รีบจัดให้โดยมิได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
สาม ในจังหวัดที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่แตกต่างไปจากสามรูปแบบแรกที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและพรรคการเมือง กกต. ต้องบอกให้สังคมรู้ว่า คือ จังหวัดใดบ้างและแบ่งในรูปแบบใหม่ด้วยเหตุผลใด