3 ปี 3 เดือน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ วงเสวนาเห็นพ้องเป็นอุปสรรคต่อการชุมนุมและเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้เห็นต่างรัฐ

21 พฤศจิกายน 2561 เวลา 9.00 น. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR), โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมจัดเวทีเสวนาสะท้อนปัญหาการตีความบังคับใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะกับการจำกัดเสรีภาพของประชาชน โดยมีนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิในด้านต่างๆมาสะท้อนประสบการณ์ในการชุมนุมภายใต้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)
อัมรินทร์ สายจันทร์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้เปิดตัวคู่มือการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) แนะนำแนวทางการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่น วิธีการแจ้งชุมนุม, เงื่อนไขข้อจำกัดเรื่องสถานที่และลักษณะการชุมนุมและกรณีศึกษาของคดีความตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯเพื่อยืนยันในเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ 
พร้อมกันนี้พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้เสนอปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ว่า  ที่ผ่านมาพ.ร.บ. ชุมนุมฯ ไม่ได้บังคับใช้อย่างโดดเดี่ยว แต่ใช้ร่วมกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างน้อย 218 คน เป็นความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมอย่างน้อย 99 คน และความผิดฐานการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร 52 คน
สภาพปัญหาที่พบจากการบังคับใช้คือ มีการตีความกว้างและครอบคลุมการชุมนุมขนาดเล็กที่ไม่ก่อความเดือดร้อนต่อสาธารณะ ทั้งบังคับใช้รวมถึงกรณีอื่นๆเช่น ยื่นหนังสือ เข้าร่วมประชุม เป็นต้น  ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขั้นตอนการแจ้งการชุมนุมถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ผลของการไม่แจ้งการชุมนุม ทำให้การชุมนุมไม่ชอบและนำไปสู่การเลิกการชุมนุม เมื่อไม่แจ้งการชุมนุมก็กลับกลายเป็นว่า ผู้จัดการชุมนุมมีความผิดซึ่งหน้าสามารถจับกุมผู้จัดการชมนุม ซึ่งในโครงสร้างของการชุมนุมการจับกุมผู้จัดการชุมนุมหรือแกนนำเป็นการสลายการชุมนุมไปโดยปริยาย  
เรื่องสถานที่ชุมนุม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แบ่งเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุมอย่างเด็ดขาดคือ ระยะรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน โดยมีคดี ความเกิดขึ้นคือ คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์คปทุมวัน ปัญหาคือรัศมี 150 เมตร นับจากจุดไหน เจ้าหน้าที่ไม่เคยประกาศชัดเจนว่า พื้นที่ใดบ้างเป็นระยะต้องห้ามและรัศมีที่ชัดเจนจริงๆอยู่ที่ใด แม้กระทั่งเกิดเหตุแล้ว เจ้าหน้าที่นำป้ายประกาศไปปิดว่า สกายวอล์คปทุมวันอยู่ในเขต 150 เมตรจากเขตพระราชฐานเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่คนทั่วไปไม่รู้และก่อให้เกิดผลกระทบตามมา
พื้นที่ที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการเป็นครั้งคราวไป คือ ทำเนียบรัฐบาลที่ผู้บัญชาตำรวจแห่งชาติมีอำนาจสั่งการห้ามชุมนุมภายในรัศมี 50 เมตร ดยตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ การสั่งการให้ดูพฤติการณ์และผู้ชุมนุมประกอบ แต่ปรากฏว่า เมื่อมีการสั่งการในครั้งหนึ่งแล้วกลับนำมาใช้บังคับทุกกรณี  และพื้นที่ที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯไม่ได้มีอำนาจบังคับอย่างสถานศึกษา ที่สุดท้ายแล้วเจ้าหน้าที่มีการนำพ.ร.บ.ชุมนุมฯมาอ้าง ซึ่งถือเป็นความสับสนของเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ในกรณีของการเดินเท้าเทใจให้เทพาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ตำรวจได้ร้องขอต่อศาลจังหวัดสงขลาให้ไต่สวนการชุมนุม แต่ศาลจังหวัดสงขลาไม่ได้มีการออกหมายเรียกอย่างเป็นทางการไปที่ผู้ชุมนุม 
อ่านทั้งหมดได้ที่เอกสารแนบ 01
 
 
0000
 
 
กฎหมายสร้างความหวาดกลัวและส่งผลต่อการรณรงค์ในการปกป้องชุมชน
 
 
วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย กล่าวว่า กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดมีการเคลื่อนไหวในการปกป้องสิ่งแวดล้อมในชุมชนและคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 วิรอนและพวกได้รับเชิญเข้าร่วมรับฟังการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ สปก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ชาวบ้านได้เรียกร้องให้ยกเลิกการประชุมในวาระดังกล่าว เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำยังไม่ถูกแก้ไขและเยียวยา 
 
 
 
 
ต่อมาวิรอนถูกกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตำรวจแจ้งว่า สามารถจ่ายค่าปรับ 500 บาทและจบคดีได้ในชั้นตำรวจ แต่เธอและชาวบ้านรายอื่นๆไม่ยินยอม เนื่องจากการไปที่ อบต.เขาหลวงเป็นการไปตามคำเชิญ ชาวบ้านไม่ได้จัดการชุมนุมเอง คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง และขณะนี้กำลังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ เธอกล่าวว่า แม้ว่าเธอและชาวบ้านจะยืนยันว่า การกระทำของเธอไม่ผิดกฎหมายก็ตาม แต่สำหรับเธอที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงมากนัก การถูกดำเนินคดีเช่นนี้ก็สร้างความหวาดกลัวให้เธอเป็นอย่างมาก
 
 
ผลจากการถูกดำเนินคดีทำให้ชาวบ้านในชุมนุมไม่กล้าลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยกลัวว่า จะถูกจับหรือโดนคดี เมื่อถูกเชิญไปให้ความเห็นเรื่องโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอื่นๆ พวกเขาก็ไม่กล้าแม้แต่จะไปร่วมพูดคุยหรือให้ความเห็น ส่วนตัวเธอมองว่า คดีความส่งผลกระทบทำให้เธอต้องเสียเวลา นอกจากจะต้องสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดแล้วยังจะต้องไปสู้กับกับกฎหมายที่รัฐกำหนดขึ้นมา ทั้งยังต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อต่อสู้คดีอีกด้วย
 
 
วิรอนตั้งคำถามว่า ในแง่หนึ่งชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ดูแลผลประโยชน์ของตนเองและประเทศชาติไปพร้อมกัน แต่ทำไมรัฐถึงมองไม่เห็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน มองเห็นแต่กฎหมายที่ต้องใช้ให้มันสมกับที่ร่างขึ้นมา เธอกล่าวเสริมว่า เมื่อถูกดำเนินคดีทำให้การสื่อสารภายในชุมชนเองก็ลำบากไปด้วย ผู้นำชุมชนหรืออาจารย์ในสถานศึกษาก็ไม่ให้ความร่วมมือกับกลุ่มของเธอในการรณรงค์สื่อสารกับเยาวชนและคนในชุมชน
 
 
เจ้าหน้าที่ยังไม่เข้าใจกฎหมายเพียงพอ ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กำหนด 
 
 
กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่า ที่ผ่านมาพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกนำมาใช้ร่วมกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง มาตลอด มีทั้งกรณีที่ใช้พร้อมกันและแยกกัน เช่น คดีนั่งรถไฟไปราชภักดิ์ เพื่อตรวจสอบการทุจริต ซึ่งตอนนั้นพ.ร.บ.ชุมนุมฯบังคับใช้แล้ว แต่ถูกดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เพียงอย่างเดียว คดีนี้ทำให้การตรวจสอบรัฐถูกยัดเยียดว่า เป็นการชุมนุม  ขณะที่การชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองทัพบก จะเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไปกองทัพบก โดยจะปิดถนนหนึ่งเลน แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดทุกเลนและระบุว่า เป็นการขัดขวางทางจราจร
 
 
 
 
การบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯของตำรวจมีลักษณะกว้างจนครอบคลุมไปถึงการจัดคอนเสิร์ตหรือแสดงออกทางศิลปะที่จัดในพื้นที่ปิด ไม่ใช่พื้นที่สาธาณะ โดยกรณีนี้ตำรวจเข้าไปถามผู้จัดกิจกรรมว่า ขออนุญาตการชุมนุมแล้วหรือยัง? 
 
 
เรื่องกระบวนการแจ้งการชุมนุมกรณีที่เป็นการชุมนุมต่อเนื่องกันในหลายพื้นที่สถานีตำรวจ ผู้ชุมนุมสามารถแจ้งการชุมนุมที่สถานีตำรวจเพียงแห่งเดียวได้ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่เข้าใจข้อกำหนดดังกล่าวคิดว่า ต้องแจ้งทุกท้องที่ และในการชุมนุมแต่ละครั้งยังมีอุปสรรคอื่นเช่น ต้องขออนุญาตใช้เครื่องเสียงแยกกับการแจ้งการชุมนุม ซึ่งการแจ้งการใช้เครื่องเสียงต้องแจ้งที่สำนักงานเขต เมื่อไปที่สำนักงานเขต บางครั้งเจ้าหน้าที่เขตก็มีการโยนกลับไปให้สอบถามกับตำรวจใหม่อีกครั้ง ทั้งในกระบวนการแจ้งการชุมนุมนั้นยังเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าเดินทางสถานีตำรวจและสำนักงานเขตมากพอสมควร ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่เอื้อต่อใช้เสรีภาพในการชุมนุม 
 
 
นอกจากนี้พื้นที่มหาวิทยาลัยไม่อยู่ในข่ายต้องแจ้งการชุมนุม แต่ปัจจุบันหากกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะขอให้ผู้จัดกิจกรรมไปแจ้งกับตำรวจในท้องที่ก่อนเพื่อให้ออกหนังสืออนุมัติจัดกิจกรรม มหาวิทยาลัยจึงจะอนุญาตจัดกิจกรรมได้ 
 
 
ตามปกติแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาดูแลอำนวยความสะดวกในการชุมนุม แต่ปรากฏว่า มีการถ่ายรูปผู้เข้าร่วมชุมนุม จนทำให้ผู้ชุมนุมไม่สบายใจต้องใส่ผ้าปิดปากปิดบังใบหน้า ขณะที่บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็อ้างว่า เกรงว่า จะมีมือที่สามมาก่อเหตุความวุ่นวายจึงให้มีการนำเครื่องตรวจวัตถุระเบิดมาตั้งที่ทางเข้างาน แต่หลังจากกิจกรรมการชุมนุมเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่ EOD  กลับมาเบิกเบี้ยเลี้ยงการทำงานกับผู้ชุมนุม ทั้งที่การตรวจสอบวัตถุระเบิดเป็นข้อเรียกร้องและห่วงกังวลของเจ้าหน้าที่เองทั้งสิ้น
 
 
พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวและผลักภาระให้แก่ผู้จัดการชุมนุม?
 
 
เอกชัย อิสระทะ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา จ.สงขลา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวรวมกลุ่มเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันกับทุกคนไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง และขอยืนยันว่า การเคลื่อนไหวทุกเรื่องเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น กรณีของภาคใต้ ปี 2560  ชาวบ้านเขาคูหาเดินเท้าไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่ง (ค. หนึ่ง) ของท่าเรือน้ำลึกปากบารา เนื่องจากเห็นว่า หากมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกจะต้องมีการทำเหมืองหินไปใช้ในโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม ซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวเขาคูหาเคยประสบมาก่อน จึงถือว่าเป็นผลกระทบร่วมกัน
 
 
 
 
ชาวบ้านเดินเท้าจากเขาคูหาไปปากบารา จังหวัดสตูล ใช้เวลาห้าวัน รณรงค์คล้ายการเดินเทใจให้เทพา ไม่ได้ขออนุญาตและไม่มีคดีความ ดังนั้นเมื่อมาร่วมเดินกับพี่น้องเทพา ชาวบ้านจึงเข้าใจว่า ไม่ใช่การชุมนุม เป็นการเดินรณรงค์ ทำให้ไม่แจ้งแต่เมื่อตำรวจให้แจ้งก็แจ้ง ที่ผ่านมาเขารับบทบาทในการแจ้งเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ก็ผลักภาระของการเดินไปที่ผู้จัดการชุมนุม คนที่จะเข้ามาในการชุมนุม พอเจอข้อกำหนดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้ไม่มีใครอยากมาเป็นผู้จัดการชุมนุม การชุมนุมต้องการคนที่มีความรู้เรื่องพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เอกชัยมองว่า พ.ร.บ.ไม่เอื้อต่อการชุมนุมและเพิ่มต้นทุนการจัดการชุมนุม
 
 
การเดินรณรงค์ ฝ่ายสนับสนุน(โครงการของรัฐ) ไม่เคยถูกจัดการเหมือนเรา ไม่เคยมีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นกับกลุ่มผู้สนับสนุน ซึ่งนำไปสู่คำถามว่า นี่เป็นการใช้เครื่องมืออำนาจรัฐในการสร้างความหวาดกลัวต่อผู้เห็นต่างใช่หรือไม่
 
 
นอกจากนี้ในคดีเทใจให้เทพา ตำรวจมีการไปร้องขอต่อศาลจังหวัดสงขลาให้มีการไต่สวนการชุมนุม แต่ศาลจังหวัดสงขลาไม่ได้มีหมายเรียกการไต่สวนมาถึงเอกชัย เพียงแต่มีตำรวจนายหนึ่งมาบอกต่อเอกชัยให้ไปที่ศาลเพื่อไต่สวนการชุมนุมเท่านั้น เอกชัยรู้สึกแปลกใจว่า เหตุใดจึงไม่มีหมายศาลอย่างเป็นทางการ ประกอบกับเห็นว่า ตำรวจมีการตั้งด่านสกัดผู้ชุมนุม ทำให้คิดว่า อาจจะเป็นแผนการที่จะดึงเอกชัยออกจากที่ชุมนุม จึงตัดสินใจกลับไม่ไปที่ศาล
 
 
พ.ร.บ.ชุมนุมฯสร้างความยุ่งยากในการจัดการชุมนุมตั้งแต่เริ่มต้น
 
 
คมสันต์ จันทร์อ่อน เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า เครือข่ายสลัมสี่ภาคไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เนื่องจากสร้างความยุ่งยากในการชุมนุมตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มการชุมนุม ผู้ชุมนุมจะต้องหาทางติดต่อ ประสานงานในการแจ้งการชุมนุมว่า จะต้องแจ้งผ่านช่องทางใด สถานีตำรวจท้องที่ใด ทั้งหากมีการใช้เครื่องเสียงจะต้องไปขออนุญาตใช้เครื่องเสียงที่สำนักงานเขตอีก ซึ่งสำหรับพี่น้องชาวบ้านที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดถือเป็นเรื่องยากที่จะรู้ได้ว่า พื้นที่ชุมนุมอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตใด
 
 
การแจ้งการชุมนุม ที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯใช้วิธีส่งแฟกซ์บ้าง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า จะได้รับไหม บางครั้งโทรศัพท์ไปถามตำรวจก็ไม่รู้ว่า รับไหมต้องไปถามตำรวจทำหน้าที่รับแฟกซ์ก่อน บาง สน.มีอีเมล์ พอเราส่งไปก็ต้องโทรเช็คว่า ได้รับไหมอีกที กรณีให้คนไปแจ้งที่ สน.ก็จะต้องรอสารวัตรรับเอกสาร คนที่ทำหน้าที่ธุรการไม่ยอมรับเอกสาร บางครั้งชาวบ้านต้องรอสองสามชั่วโมง จนต้องมีการโทรศัพท์ไปเจรจากับตำรวจ
 
 
 
 
ขณะเดียวกันมีความพยายามในการยัดเยียดข้อหาว่า ไม่ขออนุญาตใช้เครื่องเสียง หรือหากขออนุญาตแล้วก็มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องวัดระดับความดังของเสียงมาวัดเพื่อดูว่า ผู้ชุมนุมใช้เสียงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ แต่เป็นการวัดที่ด้านหน้ารถเสียงห่างไปเพียงสิบเมตรเท่านั้น แล้วอ้างว่า ผู้ชุมนุมใช้เสียงดัง ในเรื่องการอำนวยความสะดวก มาตรา 19  ของพ.ร.บ. ชุมนุมฯ  แต่ผู้ชุมนุมกลับไม่ได้รับความสะดวกต้องจัดหารถห้องน้ำและจ่ายเงินเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายวันละหลายพันบาท
 
 
ทางกลุ่มสลัมสี่ภาคจึงขอเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถ้าหากยกเลิกไม่ได้ ขอให้แก้ไข พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตั้งแต่หลักการและเหตุผล  และในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขและยกเลิก ขอให้ชี้แจงชัดเจนว่า พื้นที่ประสานงานที่สะดวกอยู่ที่ใดบ้าง อีเมล์ของสถานีตำรวจท้องที่ต่างๆจะต้องเข้าถึงได้ เพื่อความสะดวกในการแจ้งการชุมนุม
 
 
00000
 
 
ข้อคิดเห็น และข้อเสนอต่อปัญหาการตีความบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเด็นที่หนึ่ง ความหมายความสำคัญของเสรีภาพการชุมนุม เหตุที่ต้องอธิบายจถึงเรื่องนี้เพราะว่า สังคมเสรีประชาธิปไตยการแสดงออกและการชุมนุมเป็นสิ่งสำคัญ มันเป็นเรื่องของความเห็นต่างในเรื่องตั้งแต่ทรัพยากรธรรมชาติและการเมือง สังคมเสรีประชาธิปไตยวางอยู่บนฐานคิดที่ว่า ไม่มีใครถูกทั้งหมด นโยบายรัฐอาจจะผิดก็ได้ ฉะนั้นที่ประชาชนออกมาพูดและชุมนุมเพราะคิดไม่เหมือนกัน เสรีประชาธิปไตยเชื่อว่า เหตุผลสำคัญมาก การออกมาชุมนุมดึงให้อำนาจรัฐและคนที่เกี่ยวข้องมาคุยกันบนโต๊ะด้วยเหตุผล หากคนที่ดำเนินการเรื่องต่างด้วยเหตุผลก็ต้องคุยกัน แต่คนชนิดไหนหรือรัฐบาลชนิดไหนที่ไม่ยอมคุย คือพวกที่มันคิดว่า มันเก่งและฉลาด คิดว่า ไม่อยากเถียงด้วย [มาชุมนุมถ้า] ไม่ไปก็เจอกับกฎหมาย
สังคมต้องถกเถียงกัน ไม่มีรัฐบาลไหนถูกต้องทั้งหมด ประชาชนก็อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมดแต่สำคัญคือ การถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล หลายประเทศการชุมนุมเป็นเรื่องปกติ การออกมาชุมนุมของประชาชนไม่ได้ทำให้ประเทศขายขี้หน้า มันมีอยู่เพียงแค่ไม่กี่ประเทศที่ไม่มีชุมนุมกันเช่น เกาหลีเหนือ เว้นแต่คนในสังคมไทยจะบอกว่า เราอยากอยู่ภายใต้ความสงบเงียบเหมือนกรุงเปียงยาง ถ้าพูดแบบนั้นก็ว่าไป อยากอยู่ภายใต้[ความเงียบ]เหมือนเกาหลีเหนือ แต่ผมไม่เอานะครับ ผมคุ้นเคยและมีความสุขกับสังคมเสรีประชาธิปไตยมากกว่า ฉะนั้นเถียงกันครับ ตวามเห็นของผมอาจจะผิดก็ได้แต่มันต้องมีพื้นที่ที่จะเถียงกัน การชุมนุมคือเครื่องมือหนึ่งในการดึงให้ผู้มีอำนาจรัฐมาเถียง กฎหมายตัวนี้ถ้ามันจะมี มันควรต้องเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถใช้มันได้
ประเด็นที่สอง เนื้อแท้ของกฎหมายชุมนุมสาธารณะ มีปัญหาเยอะแยะเต็มไปหมดทั้งตัวบท การบังคับใช้ที่สร้างความสับสวน กลไกศาลที่ไม่ได้ในวันหยุด ครั้นจะเสนอให้เปิดศาลวันเสาร์อาทิตย์ก็เดี๋ยวมีเบี้ยวันหยุดเสาร์อาทิตย์อีก คือมันยุ่งยากเต็มไปหมด ทั้งหมดมันถูกทำให้คลุมเครือ ความคลุมเครือไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจ แต่เพราะถ้าชัดเจน เดี๋ยวใช้สิทธิกันได้ ฉะนั้นต้องทำให้คลุมเครือไว้ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่กฎหมายคลุมเครือ เจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นคนกุมอำนาจ โปรเจคต์ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯคือ การทำให้คลุมเครือเพื่อนำไปสู่อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่คัดค้านโรงไฟฟ้าเทพาถูกจับ แต่พวกสนับสนุนเงียบฉี่เลย พุทธะอิสระพามวลชน 100-200 คนไปหน้าสถานทูตอเมริกา อันนี้ชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ชุมนุมสาธารณะ แต่กลับไม่โดนคดีชุมนุมสาธารณะ คลุมเครือเพื่อให้สถาบันและกลไกของกระบวนการยุติธรรมเล่นงาน เอาไว้ใช้เป็นเครื่องมือได้ ถ้าถามผม ผมคิดว่า ความคลุมเครือเป็นความตั้งใจเพื่อนำไปสู้เป้าประสงค์สองอย่างคือ ข่มขู่คุกคามและสร้างความกลัว และตะถ่วงฉุดยื้อสร้างภาระหนักหน่วงแก่ประชาชน ถ้าไม่กลัว ไม่เป็นไร เราสร้างภาระให้
ผมเป็นพยานมาหลายคดี จากการสอบถามทนายความข้อมูลเท่าที่มีคือ ไม่มีใครเจอโทษจำคุกจากพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีเพียงยกฟ้องและรอลงอาญา ตอนที่ไปเบิกความคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปเบิกความฝ่ายจำเลย ทนายจำเลยเรียงเป็นตับเลย เฮ้ย ฝ่ายโจทก์อยู่ไหน ไม่เห็นอัยการ เขาคงต้องมาเซ็นเอกสารแน่ๆแต่ผมไม่รู้ว่า เขาจะมาตอนไหน นัยคือ คดีพวกนี้ต้องการฟ้องเพื่อเป็นภาระประชาชน หน้าที่คือ ฟ้องเพื่อฟ้อง ไม่สนใจผลว่า จะเป็นอย่างไร
ประเด็นที่สาม สังคมเสรีประชาธิปไตย หวังว่า ให้การต่อรองของทุกคนหรือการเมืองมาอยู่ภายใต้กฎหมาย กฎหมายกำกับความสัมพันธ์อย่างเป็นกลาง ทำให้ปฏิสัมพันธ์ต่างๆอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่เมืองไทยตรงกันข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเราไม่จับการเมืองไปอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่กฎหมายอยู่ภายใต้อำนาจการเมือง ฉะนั้นเราจึงเห็นปรากฏการณ์การใช้กฎหมายแบบ ว้าว ว้าว ว้าว นี่อะไรกันนี่ เห็นข้อหาแต่ละข้อหาซึ่งน่าตกใจ สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมที่เราเชื่อกันมาว่า โปร่งใสและอิสระ ผมคิดว่า มันไม่ใช่ กระบวนการยุติธรรมเรามีปัญหาอย่างมาก การทำคดี[เสรีภาพ]ที่ทำกันอยู่ มีความหมายและสำคัญมาก เรากำลังพยายามจะจับกระบวนการยุติธรรมเปลือยออกมาให้เห็นว่า ภายใต้รูปลักษณ์ที่ดูราวกับผ่องแผ้วนพคุณเช่นนี้ มันมีปัญหาอยู่ อย่าลืมนะครับว่า กระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาไม่เคยถูกแตะหรือถูกเปลื้อง ฉะนั้นมันจึงดำรงอยู่ในสถานะที่คนไม่ค่อยวิจารณ์ องค์กรใดๆที่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม มันมีโอกาสที่จะเหลิงและทำตามอำเภอใจ สิ่งต่างๆที่ทำอยู่มีประโยชน์ ความร่วมมือเฉพาะหน้าแต่ละฝ่ายจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะทำให้เห็นปัญหาในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
ส่วนข้อเสนอต่างๆเช่น การสรุปบทเรียนและใช้วิธีทางศาล ผมไม่ปฏิเสธ แต่กฎหมายใช้บังคับได้ สัมพันธ์กับสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่ ระบบกฎหมายในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ในทัศนะผมเรียกว่า เละเทะ อย่าพูดเรื่องปฏิรูปเลย ถ้าก้าวพ้นเงาของอำนาจนิยม ผมคิดว่า ระบบกฎหมายไทยมันต้องปฏิสังขรณ์ หมายถึงสร้างมันใหม่จากซากที่พังทลายลงไป ไม่ใช่ปฏิรูป ที่มีโครงเดิมๆรออยู่
สถานการณ์แบบนี้มันคงไม่ใช่บ้านเมืองที่เราคาดหวังว่า จะอยู่อย่างสันติสุข และสถานการณ์แบบนี้มันคงไม่ได้อยู่ตลอดไป ผมคิดว่า อีกไม่นานมันต้องเห็นความเปลี่ยนแปลง
ในช่วงท้ายผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาให้ข้อสังเกตของร่างกฎหมายเพื่อการแก้ไขกฎหมายในอนาคตสามประเด็นคือ หนึ่ง บทนิยามของคำว่า "การชุมนุมสาธารณะ" กว้างเกินไป แต่อีกบทนิยามหนึ่งที่กว้างเช่นกันคือนิยามของคำว่า "ผู้จัดการชุมนุม" การเขียนนิยามว่า เป็นผู้ก่อเกิดการชุมนุมหรือผู้ที่กระทำที่เข้าใจว่า เป็นผู้จัดการชุมนุม บทนิยามแบบนี้ในต่างประเทศไม่มี ผู้จัดการชุมนุมจะต้องชัดเจนแต่แรกไม่มีบทบัญญัติในลักษณะที่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการกำหนดว่า คนนั้นคนนี้ผู้จัดการชุมนุม หากมีบทบัญญัติแบบนี้คนที่แจกใบปลิวหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้จัดการชุมนุมให้ไปขออนุญาตใช้สถานที่ ก็อาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตีขลุมได้ ซึ่งส่งผลต่อการรับผิดและภาระหน้าที่ที่จะตามมา 
สอง การแบ่งแยกพื้นที่ทางกายภาพ กฎหมายเยอรมัน แบ่งเป็นพื้นที่เปิดและปิด ถ้าพื้นที่ปิด ชุมนุมเลยไม่ต้องแจ้งการชุมนุมเช่น ห้องประชุม เทศบาล สนามกีฬา  พวกนี้กฎหมายต่างประเทศบอกว่าชุมนุมเลยเพราะแนวโน้มที่จะก่อความไม่สงบมันน้อย กฎหมายบ้านเราไม่ได้แบ่ง แต่แบ่งพื้นที่พิเศษและสาธารณะ และใช้การควบคุมมาตรฐานเดียวกัน จริงๆแล้วพื้นที่ปิดไม่ต้องใช้มาตรฐานนี้
สาม เขตอำนาจศาลที่ไม่ชัดเจน ประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่ มีศาลปกครองในการควบคุมตรวจสอบอำนาจรัฐโดยเฉพาะการกระทำการปกครอง กฎหมายฉบับนี้คำสั่งทางปกครองเยอะมากโน้มเอียงไปศาลปกครองทั้งหมด ควรจะปรับไปที่ศาลปกครองอย่างเดียว ไม่ต้องขึ้นศาลยุติธรรมเพราะศาลยุติธรรมไม่เชี่ยวชาญชำนาฐการในการพิจารณาคำสั่งในทางปกครอง จึงเป็นที่มาของความไม่ชัดเจนด้านคำพิพากษาและการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม