เลือกตั้ง 62: ‘โซเชียลมีเดีย’ จะเป็นสมรภูมิรบสำคัญเป็นครั้งแรก

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 Boonmee Lab, Minimore และ The MATTER ร่วมกันเปิดตัวเว็บไซต์ ELECT.in.th สื่อข้อมูลการเมืองการเลือกตั้งไทย ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  ซึ่งมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “เปลี่ยนผลการเลือกตั้งด้วยพลังข้อมูล” โดยมีนักวิชาการสามคนร่วมพูดคุยในประเด็นคำถามใหญ่ว่า โลกอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และฐานข้อมูลการเลือกตั้งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งปี 2562 อย่างไร และพรรคการเมืองกับประชาชนจะใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง
ปี 2562 การเลือกตั้งยุคโซเชียลมีเดียครั้งแรกของไทย
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต้นปี 2562 จะเจอกับการใช้สื่อรูปแบบใหม่จากทั้งพรรคการเมืองและประชาชน ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะตามสถานการณ์ได้ช้าที่สุด 
ผศ.ดร.ประจักษ์ เชื่อว่า เนื่องจากเราว้างเว้นการเลือกตั้งมา 7 ปี การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่มีการใช้โซเชียลมีเดียเต็มที่เป็นครั้งแรกของเมืองไทยหรือ “The first social media election” โดยโซเชียลมีเดียจะเข้ามามีบทบาทกระจายข่าวสาร รณรงค์แคมเปญ กำหนดวาระและประเด็นสำคัญทางการเมือง และเป็นช่องทางใหม่ในการรับรู้ข้อมูลการเลือกตั้ง
 
ปรากฎการณ์เช่นนี้เคยเกิดขี้นในต่างประเทศมาแล้ว เช่น ในประเทศมาเลเซีย การเลือกตั้งในปี 2556 พรรคฝ่ายค้านใช้โซเชียลมีเดียทำให้คะแนนตามมาจ่อพรรครัฐบาลจนเกือบจะชนะอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลไม่ได้โกงการเลือกตั้งด้วยระบบการเลือกตั้งและการแบ่งเขตเลือกตั้ง พอเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถึงกับออกมาพูดเลยว่า เขาพบกับ ‘อินเทอร์เน็ตสึนามิ’ ส่งผลให้นักการเมืองมาเลเซียต้องปรับตัวมีเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์เพื่อสื่อสารกับประชาชน แต่ในที่สุด พรรคฝ่ายค้านก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2561 
ในประเทศอินโดนิเซีย การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในปี 2557 ‘โจโกวี’ หรือ โจโก วีโดโด ซึ่งเป็น ‘ม้ามืด’ ก็มีทีมโซเชียลมีเดียที่มีประสิทธิภาพมากจนทำให้ชนะการเลือกตั้ง ยังไม่พูดถึงปรากฎการณ์การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรหรือ ‘เบร็กซิต’ ในประเทศอังกฤษ หรือชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศสหรัฐอเมริกา 
สำหรับประเทศไทย ถึงแม้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์จะเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2548-2549 แต่การเลือกตั้งในปี 2554 โซเชียลมีเดียยังไม่ถูกใช้มากนัก เราเห็นนักการเมืองนับคนได้ที่ใช้เฟสบุ๊คในการหาเสียงอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้โลกโซเชียลมีเดียได้มาถึงจุดพีคแล้ว ซึ่งเราจะเห็นสมรภูมิสื่อใหม่เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งในปี 2562
 
 
ชาวโซเชียลจะทำหน้าที่ให้ความรู้กันเองเรื่องเลือกตั้ง ไม่ง้อกกต.
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองจะได้ประโยชน์ คือ เขาจะมีทางเลือกในการใช้สื่อมากขึ้น เพราะสื่อหลัก เช่น หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ถูกครอบครองโดยรัฐและถูกเซ็นเซอร์ได้ง่าย แต่โลกโซเชียลไม่มีใครเป็นเจ้าของหลัก นักการเมืองสามารถสื่อสารกับประชาชนได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ฝั่งประชาชนเองก็สามารถใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องการเลือกตั้งกันเอง หรือ “Voter education by the people”  ก่อนหน้านี้หน้าที่การให้ความรู้เรื่องการเลือกตั้งแก่ประชาชนเป็นหน้าที่ของกกต. เท่านั้น แต่การมีเว็บไซต์และช่องทางใหม่ๆ ทำให้ประชาชนสามารถให้ความรู้กันเองได้โดยไม่ต้องรอหน่วยงานภาครัฐ 
“ถึงทุกวันนี้ ผมให้กกต. สอบตก หลายคนยังสับสนอยู่เลยว่าบัตรใบเดียวเป็นยังไง แล้วนับคะแนนยังไง รวมถึงการเลือกนายกฯ เลือกยังไง คนไทยก็ยังไม่เข้าใจ ซึ่งถือว่ากกต. ล้มเหลว”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ ยังกังวลว่า กกต. ในฐานะผู้ควบคุมการเลือกตั้ง (regulator) จะไม่เข้าใจพื้นที่โซเชียลมีเดีย แล้วออกระเบียบมาควบคุมการสื่อสารและการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะหลายเรื่องยังไม่เคยมีระเบียบออกมาก่อน  เช่น กฎห้ามเผยแพร่ผลโพลก่อนเลือกตั้ง 7 วัน แต่ถ้าวัยรุ่นในทวิตเตอร์แชร์ผลโพลในช่วงนั้นจะได้ไหม หรือจะห้ามใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงถึงกี่โมง 
เว็บไซต์การเลือกตั้งต้องมีข้อมูล-ทำโพล-ให้ประชาชนมีส่วนร่วม-มอนิเตอร์ข่าวเท็จ/คำพูดเกลียดชัง
ผศ.ดร.ประจักษ์ อยากเห็นเว็บไซต์ที่มีฐานข้อมูลว่า เขตเลือกตั้งนี้มีใครลงสมัครบ้าง ผู้สมัครมีประวัติอย่างไร และถ้าเป็น ส.ส. เก่า เคยอภิปรายเรื่องอะไรบ้าง เคยยกมือผ่านหรือคัดค้านกฎหมายอะไรไป เคยให้สัมภาษณ์อะไรไว้ และมีจุดยืนอย่างไร เว็บไซต์ลักษณะเป็นหอจดหมายเหตุออนไลน์หรือ ‘ดิจิตอลอาร์ไคฟ์’ 
ผศ.ดร.ประจักษ์ เห็นว่า เรื่องข้อมูลเราล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ในประเทศอินโดนิเซียและฟิลิปินส์ ประชาชนลุกขึ้นมาทำศูนย์ข้อมูลกันเองหลายเว็บไซต์ ซึ่งสามารถเข้าไปหาข้อมูลเรื่องการเลือกตั้งได้ รวมถึงการทำโพลด้วย เราจึงไม่ควรหยุดแค่ข้อมูลพื้นฐาน อย่างน้อยเว็บไซต์ควรมีช่องทางให้ประชาชนนำเสนอนโยบายที่อยากเห็นส่งต่อไปยังนักการเมืองด้วย เป็นการสื่อสารสองทางซึ่งจะเพิ่มพลังให้กับผู้เลือกตั้ง ไม่ใช่เป็นแค่ผู้หย่อนบัตรในวันเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ประชาชนสามารถช่วยกันจับตาการเลือกตั้งผ่านการทำคราวด์ซอร์สซิ่ง (Crowdsourcing) โดยให้ประชาชนรายงานความไม่ชอบมาพากลมาทางเว็บไซต์ ประชาชนจะมีบทบาททำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น ทำให้การโกงการเลือกตั้งทำไม่ได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการควบคุมบงการข้อมูล หรือ ‘เล่นกลกับข้อมูล’ รวมถึง ข่าวเท็จ (Fake News) และคำพูดเกลียดชัง (Hate Speech) จึงควรมีกลไกจับโกหกตรงนี้ด้วย
รวมพลังโซเชียลช่วยตรวจสอบผลการเลือกตั้งได้
สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การจัดระเบียบและวิเคราะห์ข้อมูลในโลกโซเชียลมีเดียมีความจำเป็นเพื่อแก้ไขปรากฎการณ์เสียงสะท้อนของคนที่คิดเห็นเหมือนกับเรา (echo chamber) และความโกลาหลของข้อมูล ข้อมูลอาจแบ่งได้ 3 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลของตัวเราเองหรือประชาชน ข้อมูลพรรคการเมืองและนักการเมือง และข้อมูลระบบการเลือกตั้ง
หนึ่ง ข้อมูลเกี่ยวกับประชาชน เช่น การทำโพล การทำสถิติ ซึ่งเราอาจเข้าไปรวบรวมว่า คนในทวิตเตอร์พูดถึงเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นนำมารวบรวมและนำเสนอ สอง ข้อมูลพรรคการเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายและประวัติผู้สมัครเท่านั้น ยังรวมถึงการทำหน้าที่ของ กกต. ที่มีผลต่อพรรคการเมืองด้วย เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ กกต. ด้วยว่า ทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน สาม ข้อมูลเรื่องระบบการเลือกตั้ง เช่น ทำโปรแกรมเอาผลการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ มาคิดด้วยระบบเลือกตั้งแบบใหม่เพื่อให้เห็นว่าหน้าตาของรัฐสภาจะเป็นอย่างไร 
สิ่งที่อยากเห็นในระยะกลางซึ่งอาจยากขึ้นมาอีก คือ คราวด์ซอร์สซิ่ง(Crowdsourcing) หรือ การใช้เครือข่ายออนไลน์รวบรวมข้อมูล ซึ่งเป็นการใช้พลังของประชาชนช่วยกันทำข้อมูล ตัวอย่างเช่น ให้ประชาชนส่งข้อมูลในการหาเสียงของนักการเมืองว่า เขาพูดโจมตี หรือ พูดเรื่องนโยบาย แบบไหนมีสัดส่วนมากกว่ากัน ซึ่งจะกดดันให้นักการเมืองให้น้ำหนักกับนโยบายมากกว่าพูดโจมตีกัน
ในประเทศอินโดนิเซีย เมื่อ กกต. ของอินโดนิเซียเปิดข้อมูลดิบของหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ประชาชนก็สนใจตั้งเว็บไซต์มาตรวจสอบแล้วสุดท้ายพบว่า กกต. คำนวนผลการเลือกตั้งผิด
“เป็นอะไรบ้านๆ ประชาชนใช้แรง ใช้ความถึกช่วยเช็คได้ แต่ก่อนอื่นต้องมีข้อมูลเปิดเผยมาก่อน”
 
 
โซเชียลมีเดียบวกข้อมูลคือ ‘อาวุธอันทรงพลัง’ ของพรรคการเมืองสู่อำนาจ
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ชี้ว่า โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตจะเป็น ‘อาวุธใหม่’  หรือเครื่องมือของพรรคการเมืองไปสู่เป้าหมาย พรรคการเมืองจะเลือกใช้โซเชียลมีเดียที่ทรงพลังที่สุดทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เชิงปริมาณคือเข้าถึงได้มากและครอบคลุม เชิงคุณภาพคือการเลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายที่จะทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละพรรคมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน ตั้งแต่ต้องการเป็นรัฐบาลพรรคเดียวจนถึงขอแค่ที่นั่งเดียวในสภา พรรคการเมืองที่ใช้โซเชียลมีเดียตามกระแส โดยคิดว่า เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังโดยตัวมันเอง ไม่ได้คิดวิเคราะห์อย่างละเอียดจะพบกับความล้มเหลว 
 
ความฟุ่มเฟือยในการใช้โซเชียลมีเดียจะนำข้อมูลขยะจำนวนมาก การมีเว็บฐานข้อมูลจะช่วยตรวจสอบข้อมูลปลอม โดยประชาชนจะเข้ากูเกิ้ล หรือเข้าเว็บไซต์ที่ตัวเองเชื่อมากที่สุด แหล่งข้อมูลจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในแง่นี้
สิ่งที่มาพร้อมกับโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต คือ ข้อมูล (Information) พรรคการเมืองไม่ได้ต้องการใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารหรือประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าถึงผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เขาใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์การเมืองด้วย
“ผมถือว่าตัวเองเป็นนักรัฐศาสตร์ที่เก่งคณิตศาสตร์คนหนึ่ง แต่ผมตกใจเมื่อเห็นพรรคการเมืองบางพรรควิเคราะห์ข้อมูลได้เร็วกว่า ลึกกว่า และมีแนวโน้มว่าจะถูกมากกว่า ซึ่งเขาไม่ได้ใช้แค่นักวิชาการในประเทศแน่ๆ และผมคิดไปถึงขั้นว่าเขาอาจใช้ปัญญาประดิษฐ์”
“สิ่งนี้คือความน่ากลัว ยิ่งใครมีอำนาจและอิทธิพลในเข้าถึงข้อมูลได้ลึก ละเอียดมากเท่าไหร่ โอกาสในการใช้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อดึงคะแนนนิยมก็จะง่ายและแม่นยำมากขึ้น”
โซเชียลมีเดียจะเพิ่มยอดคนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เปลี่ยนการเลือกตั้งไปไม่มากก็น้อย
ดร.สติธร เชื่อว่า พลังของการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้ แต่อาจไม่ได้รวดเร็วภายในการเลือกตั้งครั้งเดียว แต่เราจะเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หากจะเปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์ จุดหักสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเรื่องสื่อสารทางการเมืองในการเลือกตั้งของประเทศไทยคือ ในปี 2544 ยุคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร คนในพรรคไทยรักไทยในปี 2544 ยังเป็นหน้าเก่า หรือนักการเมืองย้ายพรรคการเมืองเข้ามา แต่นักการเมืองหน้าใหม่เริ่มเข้ามาจริงๆ ในปี 2548 ต่อมาในปี 2550 และ 2554 ก็มีนักการเมืองหน้าใหม่เข้ามาอีก หรือใช้เวลากว่า 20 ปี
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งสมัย จอมพลป.พิบูลสงครามเป็นยุคหนังสือสื่อพิมพ์และวิทยุ การเลือกตั้งของทักษิณ ชินวัตรเป็นยุคหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ แต่การเลือกตั้งในปี 2562 จะเป็นยุคโซเซียลมีเดีย โซเชียลมีเดียจะกระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น อาจเป็นเพราะว่าโซเชียลมีเดียทำให้คนแตกแยกแบ่งขั้วมากขึ้นจึงถูกขับดันให้ออกมาใช้สิทธิ และคิดว่าคนจะออกมาใช้สิทธิมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าเมื่อปี 2554