เลือกตั้ง 62: บทบาทศาลกับการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 “องค์กรตุลากร” หรือ “ศาล” ซึ่งประกอบด้วยศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ จะเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในหลายส่วน ภารกิจที่สำคัญของศาล คือการช่วยทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์และยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ภายใต้กติกาที่ คสช. เขียนขึ้นทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขณะที่ กกต. ซึ่งเป็นกรรมการถูกตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระ ทำให้การทำหน้าที่ของศาลในการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกคาดหวังจากทุกฝ่าย สำหรับบทบาทของศาลในการเลือกตั้งกระจายไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) สองฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ศาลฎีกา: องค์กรหลักตัดสินคดีเลือกตั้ง   
ศาลฎีกา คือ องค์กรตุลาการหลักที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาคดีเลือกตั้ง ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 8 ระบุว่า การพิจารณาและคำวินิจฉัยของศาลฎีกาตาม พ.ร.ป. ฉบับนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องกำหนดให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ อาจกำหนดให้ “ศาลชั้นต้น” ที่มีเขตอำนาจในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้รับคำร้องแทนเพื่อจัดส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หรืออาจให้ศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นผู้ไต่สวนพยานหลักฐานหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นแทนศาลฎีกาได้
ศาลฎีกา: มีอำนาจวินิจฉัยหาก กกต. ไม่รับผู้ใดเป็นผู้สมัคร ส.ส.
ในการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. หาก “กกต.” หรือ “ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง” ไม่รับ “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.” ของพรรคการเมืองใดเพื่อให้ลงเลือกตั้ง หรือรับสมัครแต่ไม่ประกาศรายชื่อบุคคลนั้นเป็นผู้สมัคร ส.ส. ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ กกต. ไม่รับสมัครหรือวันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร โดยการยื่นคำร้องไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลฎีกา ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามวัน และเมื่อศาลฎีกามีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยไปยัง ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามคำวินิจฉัยโดยเร็ว แต่คำวินิจฉัยของศาลไม่กระทบถึงการปฏิบัติก่อนหน้าที่เกิดขึ้นแล้ว (มาตรา 49 และ 59 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.)
ศาลฎีกา: ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.
หลังจากมีการประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมือง หากพบว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมืองใดขาดคุณสมบัติไม่มีสิทธิในการลงสมัคร ส.ส. ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ให้สิทธิแต่ละฝ่ายในการยื่นศาลฎีกาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมือง ดังนี้
“ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หรือ “ผู้สมัคร ส.ส.” ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อ กกต. ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัครส.ส. ซึ่งหาก กกต. มีคำวินิจฉัยให้ถอนสิทธิการรับสมัคร ส.ส. ของผู้ใดให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลฎีกาได้ภายในสามวันนับแต่วันที่ถูกถอนสิทธิการรับสมัคร และในกรณีที่ศาลฎีกายังมิได้มีคำวินิจฉัยก่อนวันเลือกตั้ง ให้การพิจารณาเป็นอันยุติ และให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามคำสั่งของ กกต.  (มาตรา 51 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.)
“กกต.” หรือ “ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง” หากก่อนวันเลือกตั้งตรวจสอบเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าศาลฎีกายังมิได้วินิจฉัย ให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามประกาศรายชื่อผู้สมัครที่มีผลอยู่ในวันนั้น (มาตรา 52 และ 61 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.)
ศาลฎีกา: เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส. และสั่งให้จัดเลือกตั้งใหม่
การเลือกตั้งในปี 2562 ศาลฎีกาจะมีอำนาจสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ได้หากพิจารณาแล้วพบว่าในเขตเลือกตั้งใดมีการทุจริต ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งหากใครถูกตัดสินว่าทุจริตเลือกตั้งศาลฎีกาจะสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
โดยก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง หรือภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้า กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น หรือพบหลักฐานแต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นการกระทำของผู้ชนะเลือกตั้งในเขตนั้นหรือไม่ ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา (มาตรา 132 133 และ 138 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.)
หากศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตนั้น และส่งให้เพิกถอน “สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” หรือ “เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ถ้าผู้ถูกตัดสินเป็น ส.ส. ให้สิ้นสุดสมาชิกภาพด้วย สำหรับการพิจารณาของศาลฎีกาให้นำสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของ กกต. เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
ศาลฎีกา: สั่งผู้สมัคร ส.ส. ชดใช้ค่าจัดการเลือกตั้ง
หากศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส. หรือ ส.ส. คนใด จนเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ให้ศาลฎีกาสั่งให้ผู้นั้นรับผิดในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่ง จำนวนค่าใช้จ่ายให้ศาลฎีกาพิจารณาจากหลักฐานการใช้จ่ายที่ กกต. เสนอต่อศาล เงินที่ได้รับมาให้นำส่งเข้ากองทุนพัฒนาพรรคการเมือง (มาตรา 139 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส)
ศาลจังหวัด และศาลแพ่ง: หาก กกต. เห็นว่าเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
หาก “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หรือ “เจ้าบ้าน” เห็นว่าตัวเองหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตัวเองไม่มีรายชื่ออยู่ใน “บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ในหน่วยเลือกตั้งที่สมควรมีชื่ออยู่ ให้มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อต่อ กกต. ประจำเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน ถ้า กกต. ประจำเขตเลือกตั้งสั่งยกคำร้อง ให้ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดที่ตัวเองมีภูมิลำเนาอยู่หรือต่อศาลแพ่งสำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าวัน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าจะให้เพิ่มชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่ได้รับคำร้องหรือไม่
ศาลจังหวัด และศาลแพ่ง: สั่งยึด อายัดทรัพย์
หาก กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ใดให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครผู้ใด หรือให้งดเว้นลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครผู้ใด หรือให้ลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ กกต. มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ภายในสามวันหลังจาก กกต. ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งที่รับผิดชอบเขตนั้น เมื่อศาลได้รับคำร้องแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวให้แล้วเสร็จภายในห้าวัน ถ้าศาลเห็นว่าเงินหรือทรัพย์สินตามคำร้องน่าจะได้ใช้หรือจะใช้เพื่อการเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้ง (มาตรา 136 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส)
ศาลรัฐธรรมนูญ: สั่ง ส.ส. หยุดปฏิบัติหน้าที่หาก กกต. ร้องขาดคุณสมบัติ
ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หาก ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตรวจสอบเห็นว่าผู้สมัคร ส.ส. คนใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม แต่ผู้สมัครคนนั้นได้คะแนนอยู่ในลำดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเสนอเรื่องต่อ กกต. เพื่อวินิจฉัย หาก กกต.วินิจฉัยว่าผู้สมัคร ส.ส. ไม่สิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้มีคำสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นและสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ (มาตรา 53 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส)
ถ้าหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส. ที่ กกต. เห็นว่าขาดคุณสมบัติชนะการเลือกตั้ง ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หากพบว่าผู้สมัคร ส.ส. รู้อยู่แล้วว่าตัวเองเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น ทั้งนี้หากคนที่ กกต. ร้องเป็น ส.ส. ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย (มาตรา 54 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส)
ศาลรัฐธรรมนูญ: ยุบพรรคการเมือง หากเชื่อว่ารู้เห็นให้การเลือกตั้งไม่สุจริต
ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้า กกต. สืบสวนหรือไต่สวนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแต่ไม่ได้ยับยั้งหรือแก้ไข ให้ กกต. ดำเนินการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น หากศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองแล้ว ให้ กกต. พิจารณาดำเนินการให้มีการดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย ในการนี้ ให้ถือว่า กกต. เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มาตรา 132 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส)
ศาลปกครองสูงสุด: ฟ้อง กกต. ที่ศาลปกครองฯ หากกฎหมาย ส.ส. ไม่ได้กำหนดไว้
สำหรับการฟ้องคดีหรือการยื่นคำร้องเกี่ยวกับการทำงานของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้ง ถ้า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุที่จะฟ้องคดีหรือยื่นคำร้อง แต่ไม่ให้นำมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับ สำหรับการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้การพิจารณาเป็นอันยุติ ให้ดำเนินการไปตามคำสั่งของ กกต. ทั้งนี้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดจะไม่กระทบต่อการดำเนินการเลือกตั้งหรือการกระทำที่ได้ดำเนินการไปก่อนศาลปกครองสูงสุดตัดสิน (มาตรา 17 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.)
ศาลปกครองสูงสุด: ฟ้อง กกต. หากถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน
เมื่อ กกต. พบหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลใดดำเนินการด้านธุรกรรมทางการเงิน ผลิตหรือเตรียมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่อาจใช้ในการจัดการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจ ใช้เงินหรือทรัพย์สินหรืออิทธิพลคุกคามเพื่อให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ กกต. มีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นระงับการดำเนินการนั้นเป็นการชั่วคราวภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับคำสั่งจาก กกต. มีสิทธิร้องขอต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนคำสั่งนั้นได้ และถ้าศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการดำเนินการของบุคคลนั้นไม่ได้เป็นการทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนคำสั่งนั้น (มาตรา 33 พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.)