ปัญหาที่ดินทำกินของคนชายขอบ จากคำสั่ง “ทวงคืนผืนป่า” เรื่องพื้นฐานที่พรรคการเมืองต้องเหลียวแล

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล
ผู้ประสานงานศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน

ท่ามกลางบรรยากาศในช่วงปลายปี 2561 ที่สังคมไทยเตรียมตัวเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ข้อถกเถียงเรียกร้องหลักๆ ในสังคมตอนนี้คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การเลือกตั้งที่โปร่งใส รวมทั้งจะมีการเลือกตั้งต้นปีหน้าจริงหรือไม่ ทำให้ปัญหาผลกระทบจากปฏิบัติการ “ทวงคืนผืนป่า” ภายใต้รัฐบาล คสช. ที่เคยร้อนแรงเมื่อหลายปีก่อนถูกกลบหายไปแทบหมด แม้กระทั่งพรรคการเมืองต่างๆ ที่เตรียมลงชิงตำแหน่งทางการเมือง ก็ไม่ค่อยจะได้เอ่ยถึงว่า จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร 
ทั้งที่จริงแล้วปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินของคนชายขอบ เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของประชาธิปไตยและความเป็นธรรม
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ได้เผยแพร่รายงานการศึกษา “ผลกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557” ซึ่งเป็นรายงานมีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาและตรวจสอบคำสั่ง กฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาวิธีปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชนและสังคมที่ถูกบังคับตามคำสั่ง คสช. 
หลังใช้เวลากว่า 9 เดือน ในการศึกษาเอกสาร ลงพื้นที่สัมภาษณ์องค์กร ผู้นำชุมชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการจัดเวทีระดมปัญหา พบว่า คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เป็นคำสั่งของคณะรัฐประหาร (มีสถานะเป็นกฎหมาย)  ที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ดำเนินการตรวจยึด จับกุม ดำเนินคดีกับการกระทำของราษฎรที่ถือว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายป่าไม้ ด้วยข้ออ้างว่า เพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้เดิม 4 ฉบับ โดยมีนโยบายและคำสั่งอีกจำนวนหนึ่งที่ออกมาหนุนเสริม เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ให้ทหารที่มียศตั้งแต่ร้อยตรีขึ้นไปมีอำนาจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล, แผนแม่บทว่าด้วยการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40%, การยึดคืนพื้นที่เขาหัวโล้น (AO) เป็นต้น 
สำหรับการปฏิบัติตาม คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 สำหรับกรณีจังหวัดแม่ฮ่องสอน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้กล่าวอ้างเสมอว่า มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรงโดยทำเป็นขบวนการ มีนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง โดยที่ชาวบ้านเป็นผู้ร่วมขบวนการหรือตกเป็นเครื่องมือ จึงมีการสนธิกำลังตรวจค้น จับกุม โดยเพาะกรณีเกี่ยวกับการทำหรือครอบครองไม้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ ทหาร ป่าไม้ อำเภอ ตำรวจ ได้ใช้วิธีการสนธิกำลังเข้าปิดล้อมหมู่บ้านหรือบ้านหลังที่ตกเป็นเป้าหมาย พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศความกลัวเพื่อกดดันในขณะปฏิบัติการ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่มักจะกำชับผู้นำชุมชนและผู้ได้รับความเดือดร้อนว่า ห้ามไม่ให้นำเรื่องไปร้องเรียน 
ชาวบ้านยากจน เก็บไม้ไว้สร้างบ้าน ต้องการที่ดินทำเกษตร
จากการสัมภาษณ์กลุ่มชาวบ้านผู้ที่ถูกบังคับตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนทั้ง 7 อำเภอ พบว่า มีปัญหาหลักๆ แบ่งได้เป็นสองกรณี กล่าวคือ 
กรณีแรก การใช้ไม้เพื่อสร้างบ้านหรือใช้ในประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งโดยปกติชาวบ้านทั่วไปมีฐานะยากจน จึงทยอยเก็บสะสมไม้ไว้และลงมือสร้างหรือต่อเติมให้เป็นบ้านถาวรเมื่อมีความพร้อม ซึ่งใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 5 – 10 ปี หรืออาจมากกว่านั้น แต่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า ชาวบ้านเหล่านั้นร่วมขบวนการลักลอบทำไม้กับนายทุนหรือผู้มีอิทธิพล รวมทั้งกรณีการเก็บไม้ไว้สำหรับทำโลงศพ ก็ถูกกล่าวหาว่า เตรียมไว้ขายให้แก่นายทุน ซึ่งหลายๆ กรณีเป็นการสนธิกำลังจำนวนมากเข้าปิดล้อมตรวจค้นทั้งหมู่บ้านหรือเฉพาะบ้านเป้าหมาย ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีแต่ชาวบ้านธรรมดาที่ถูกยึดไม้และรื้อบ้าน ยังไม่พบการดำเนินการกับนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด 
กรณีที่สอง คือ การใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มีทั้งลักษณะที่เป็นไร่หมุนเวียนและที่ดินทำกินถาวร ซึ่งพื้นที่ที่ถูกยึดไม่ว่า โดยการดำเนินคดีหรือโดยการทวงคืนผืนป่า มีทั้งพื้นที่ที่ทำกินก่อนปี พ.ศ.2545 และพื้นที่ที่ทำหลังปี พ.ศ. 2545 ซึ่งทั้งตัวเจ้าของที่ดินและผู้นำชุมชนให้เหตุผลในลักษณะเดียวกันว่า เมื่อที่ดินมีน้อยลงโดยเฉพาะที่ไร่หรือสวน ก็ไม่สามารถใช้ปลูกข้าวได้เหมือนเดิม จึงต้องปลูกอย่างอื่นแทนข้าวเพื่อขายแล้วนำเงินมาซื้อข้าว ในขณะที่ปัญหาสิทธิในที่ดิน ปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน ปัญหาคุณภาพดิน ปัญหาผลผลิต ปัญหาราคาพืชผลมีมากขึ้นทุกขณะ ทางเลือกอื่นๆ ของชาวบ้านก็มีน้อย แต่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรอย่างจริงจัง แม้กระทั่งหน่วยงานด้านการเกษตรของรัฐ 
ซึ่งว่าตามความจริงแล้วไม่ว่าการนำไม้จากป่ามาสร้างบ้านเอง การขยายพื้นที่ทำกินหรือการแผ้วถางที่ทำกินใหม่ เป็นภาพสะท้อนการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตให้รอดในสังคมของกลุ่มคนที่ถูกรัฐทอดทิ้ง มากกว่าพฤติกรรมของอาชญากร
อคติชาติพันธุ์ กีดกัน "ชาวเขา" จากทรัพยากร ผ่านกฎหมายและนโยบาย
รายงานฉบับนี้ชี้ว่า คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 มีปัญหาที่สำคัญ 3 ประการ คือ 
ประการแรก ปัญหาเชิงโครงสร้างของกฎหมายและนโยบาย ที่แฝงด้วยอคติทางชาติพันธุ์ ดังจะเห็นว่า ในทางปฏิบัตินั้นเจ้าหน้าที่มุ่งเป้าไปที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่เป็นชาวบ้าน 
ประการที่สอง ปัญหาในทางปฏิบัติ ที่มีการกำหนดจำนวนยอดเป้าหมาย และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการทำตามให้สำเร็จตามยอดที่กำหนดไว้ ประกอบกับมีการสร้างสถานการณ์ให้ดูร้ายแรงผ่านสื่อ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่หน่วยงานรัฐในการดำเนินการ พร้อมๆ กับการใช้กองกำลังไปบีบให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว 
ประการที่สาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการใช้ชีวิตปกติของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ในการใช้ที่ดินทำกินหรือทรัพยากรจากป่า อันเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งไม่เป็นเพียงการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงการเหลื่อมล้ำทางชาติพันธุ์ด้วย 
นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ ยังเสนอว่า สังคมไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ ที่สำคัญคือ การกีดกันคนบางกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงไม่ให้มีสิทธิใดๆ โดยการประกอบสร้างและผลิตซ้ำชุดความคิดที่เชื่อที่ว่า การเกษตรและการใช้ทรัพยากรบนพื้นที่สูงเป็นการทำลายทรัพยากรของชาติ อันนำไปสู่การห้ามชาวบ้านอย่างเคร่งครัด ผ่านกลไกทางกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ สำหรับคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐสร้างขึ้นมา เพื่อเสริมอำนาจรัฐในการจัดสรรผลประโยชน์จากทรัพยากร โดยที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองกุมอำนาจชี้นำนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศ ที่มีผลเป็นการกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ผ่านกลไกทางกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ซึ่งมีกรอบคิดการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ คือ พื้นที่จะถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ในตลาดทุนนิยมเสรี เช่น ทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ ทำไม้ อุตสาหกรรมและธุรกิจ หรือไม่ก็สงวนรักษาไว้ในลักษณะปลอดคนเท่านั้น
ด้วยลักษณะดังกล่าวข้างต้น ทำให้กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดินของรัฐไทย มีลักษณะ “ชาตินิยม” สูงมาก บนพื้นฐานความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า ประเทศไทยเป็นของคนชาติพันธุ์ไทย และทรัพยากรต้องเป็นของคนไทย และยังเชื่อว่ากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงหรือ “ชาวเขา” เป็นพวกที่ยังไม่เป็นคนไทยสมบูรณ์ ดังนั้น การตัดไม้ทำลายป่าโดยชาวเขาจึงเป็นการแย่งชิงทรัพยากรของคนไทย รัฐจึงมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจแม้กระทั่งใช้ความรุนแรงเข้าไปจัดการ อันเป็นการตอกย้ำทัศนะ “ชาวเขาทำลายป่า” ซึ่งถูกจัดให้เป็นปัญหาความมั่นคงของชาติ
 
คำสั่ง คสช. ทำสถิติชาวบ้านถูกจับกุมสูงขึ้น 
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีโครงสร้างประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ซึ่งอยู่อาศัยก่อนที่หน่วยงานทางราชการจะเข้าไปถึงด้วยซ้ำ ประชากรเกินกว่าร้อยละ 70 มีอาชีพเกษตรกรรม แต่ที่ดินทำกินกลับมีเอกสารสิทธิเพียงร้อยละ 1.3 ของพื้นที่ ในขณะที่ที่ดินทำกินเกินกว่าร้อยละ 90 ไม่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมาย อันนำมาซึ่งปรากฏการณ์ถูกตรวจยึดและจับกุมดำเนินคดีมาโดยตลอด
ซึ่งหลังจากที่คณะรัฐประหารประกาศใช้ คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 สถิติการจับกุมประชาชนก็สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 – กันยายน 2560 มีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด 1,172 คดี เฉลี่ยปีละ 326 คดี มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างน้อย 136 คน ที่ดินถูกยึดรวมกัน อย่างน้อย 22,972 ไร่ ในขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินตามนโยบาย “แม่ฮ่องสอนโมเดล” ของรัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ   
ดังนั้น รายงานการศึกษานี้มีข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหา คือ
1. ในระยะสั้น เพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชน กรณีที่ดินทำกิน ในระหว่างที่รอการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วคืนหรืออนุญาตให้เจ้าของเดิม หรือผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีไม่เพียงพอ เข้าไปทำประโยชน์ชั่วคราวก่อน สำหรับกรณีบ้าน ให้ยุติการตรวจยึด รื้อ จับกุมดำเนินคดีรายที่มีเจตนาครอบครองไว้สร้างบ้านอยู่อาศัยจริง ซึ่งมี คำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เป็นเครื่องมือ
2. ในระยะยาว ต้องยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เนื่องจากปรากฏชัดว่า มีผลเป็นการใช้ยุทธวิธีทางทหารโดยอ้างข้อกฎหมายมากดทับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม แล้วเปลี่ยนมาใช้วิธีการทางการเมืองแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ 
เหนือสิ่งอื่นใด หวังว่าผู้ที่แสดงเจตจำนงจะเป็นตัวแทนของคนชายขอบและพรรคการเมือง จะช่วยผลักดันให้รัฐแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อให้แสงสว่างแห่งประชาธิปไตย มีโอกาสส่องไปถึงมุมมืดของสังคมคนชายขอบบ้าง