7 พรรคประสานเสียงถึง คสช. ขอเลือกตั้งปี 62 เสรีเป็นธรรมไม่เอาเปรียบคู่แข่ง

วันที่ 14 ตุลาคม 2561 เครือข่าย FFFE – Free Fair & Fruitful Election จัดเสวนา "การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมและการเมืองไทย" โดยมีตัวแทน 7 พรรคการเมืองมาร่วมเวที แต่ละพรรคประสานเสียงถึง คสช. ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด และ กตต. ในฐานะกรรมการให้จัดการเลือกตั้งในปี 2562 อย่างเสรีและเป็นธรรมไม่ใช้กติกาและอำนาจที่ตัวเองมีเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งในงานตัวแทนแต่ละพรรคการเมืองกล่าวไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
ภราดร ปริศนานันทกุล พรรคชาติไทยพัฒนา
วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เรามีเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชน แต่ไม่น่าเชื่อ 45 ปีผ่านไป สถานการณ์ทุกอย่างวนกลับมาเหมือนเดิม ครั้งนั้นหลังจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เราอยู่ในยุคเผด็จการต่อเนื่องและยาวนานสิบกว่าปี วันนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่เผด็จการครองเมืองเหมือนกับครั้งที่แล้ว แม้ว่าครั้งนี้เวลาไม่ยาวนานแต่ด้วยพลวัตรของโลกระยะห้าปีสมัยนี้ ยาวนานกว่า 15 ปีสมัยก่อน ผมเชื่อว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้ง คือเมื่อ 45 ปีที่แล้วชัยชนะตกเป็นของประชาชน วันนี้ผมอยากเห็นชัยชนะตกเป็นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง 
ผมขอเริ่มต้นว่า ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น วันนี้พวกเราไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะเห็นกติกา รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติต่างๆ ที่เป็นธรรมและยุติธรรม เพราะถูกเขียนขึ้นจากฝากเผด็จการ เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะเป็นธรรมอยู่แล้ว แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่เฉพาะระบอบเผด็จการเท่านั้น 
สมัยผมเป็น ส.ส. เป็นนักการเมืองมาสิบกว่าปี ได้ตอกย้ำให้เห็นว่าชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น พรรคผมเป็นพรรคขนาดกลางเข้าร่วมกับรัฐบาลจากต่างพรรคหลายครั้ง เคยมีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ตอนนั้นประเด็นที่แก้ไขคือจำนวน ส.ส. ในสภา ฝ่ายเสียงข้างมากในสภาสนับสนุน ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 125 คน ในขณะที่ฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน ส.ส. แบ่งเขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน แต่สุดท้ายเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ก็สามารถลากไปในทางตรงข้ามกับเจตนารมณ์ของเสียงส่วนใหญ่ได้ 
ครั้งที่สองผมได้ร่วมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับโดยเจตนาจะตั้ง ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ขึ้น แต่กระบวนการขณะนั้นการตั้ง ส.ส.ร. มีการสอดไส้โดยใช้เสียงข้างมาก ด้วยวิธีการชี้นำหรือทำให้กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายของพรรคการเมืองเสียงข้างมากซึ่งอย่างนี้จะแตกต่างอย่างไรกับเผด็จการในปัจจุบัน
เราอยู่ในสถานการณ์กีฬาสีในหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นคนที่อยู่ตรงข้ามเราทำอะไรก็ผิด ทำอะไรก็ไม่ใช่ ในขณะที่คนที่อยู่ข้างเดียวกับเราทำอะไรก็ถูกผมไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนี้อีกแล้ว เราต้องยืนอยู่บนหลักของความถูกต้อง เราต้องยืนอยู่บนหลักของประชาธิปไตย ไม่ใช่ยืนอยู่บนข้างที่เราสนับสนุน บ้างครั้งสิ่งที่พวกเราสนับสนุนอาจเป็นเรื่องผิด บ้างครั้งสิ่งที่อยู่ตรงข้ามเราอาจเป็นเรื่องถูก เพราะฉะนั้นผมอยากเรียกร้องสังคมให้ดูที่เนื้อหามากกว่าดูที่สีเสื้อ
การเลือกตั้งที่ คสช. กำหนดไว้ให้เป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ผมถามว่ามีใครเชื่อมั่นไหมว่าจะมีการเลือกตั้ง ไม่มีใครให้สัญญาได้ว่าจะได้เลือกตั้งแน่นอน เพราะว่ามีกติกา ระเบียบ หรือคำสั่ง คสช. หลายอย่างมาก ที่ทำให้คนไม่เชื่อมั่นว่าประเทศเรากำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
สำหรับการเลือกตั้งที่เสรี ที่อิสระ หรือ free ผมอยากจะเห็นในสามส่วน ส่วนแรก ภาคประชาชน ผมอยากจะเห็นความเป็นอิสระของภาคประชาชน อยากให้ภาคประชาชนสามารถแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างอิสระ เราสามารถแสดงความเห็นที่เหมือนหรือแตกต่างบนทุกเวทีในประเทศไทยได้อย่างอิสระเสรี
ส่วนที่สอง ภาคฝ่ายการเมือง เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน ผมอยากเห็นพรรคการเมืองทุกพรรคออกไปพบปะกับประชาชน ออกไปนำเสนอตัวต่อประชาชน และที่สำคัญต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อนำความคิดเห็นของประชาชนกลับมาทำนโยบายแล้วก็นำเสนอต่อสาธารณะในการแข่งขันเลือกตั้ง 
ส่วนที่สาม ผมอยากจะเห็นความเป็นอิสระของกรรมการ คือหลังจากประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง ผมอยากเห็น กกต. เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ตัดสินผู้เล่นแต่ละคนบนความถูกต้อง บนกติกาเดียวกัน ไม่ใช่พรรคหนึ่งตัดสินแบบหนึ่งขณะที่พรรคหนึ่งกระทำการแบบเดียวกันตัดสินอีกอย่างหนึ่ง ผมอยากเห็นกรรมการทำให้การเลือกตั้งออกมาสุจริตและเที่ยงธรรมได้
แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้คุมกติกาใหญ่ต้องปล่อยให้โลกหมุนไปตามเวลา ตอนนี้เวลากำลังหมุนไปสู่การเลือกตั้งแต่ คสช. ไปล็อคพรรคการเมือง ล็อคประชาชนไม่ให้รวมกลุ่มกันเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ให้พรรคการเมืองไปเสนอนโยบายไปรับฟังนโยบายจากพี่น้องประชาชน แบบนี้ไม่ใช่การอยู่ในบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยเพราะฉะนั้นข้อเรียกที่หนึ่ง ผมอยากจะเห็นการปลดล็อกทุกคำสั่งปลดล็อกทุกเงื่อนไข แล้วทำบรรยากาศในประเทศให้เดินหน้าสู่การเลือกตั้งจริงๆ ให้ทุกคนเชื่อมั่นว่า 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะมีการเลือกตั้งจริงๆ 
สำหรับการเลือกตั้งที่ยุติธรรม หรือ fair ข้อแรกผมเรียกร้องความยุติธรรมจากพรรคการเมืองทุกๆ พรรค เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว การเมืองแบบเก่าเราเลิกได้ไหม การเมืองที่สาดโคลนใส่พรรคนั้นพรรคนี้ พรรคที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับเรา ผมว่าสิ่งเรานี้ไม่ใช่สิ่งที่สังคมปรารถนา
ความ fair ต่อมาผมอยากจะเรียกร้องจาก กกต. เมื่อมีการเลือกตั้งอยากให้ กกต. เป็นอิสระ ตรงไปตรงมา ไม่ฟังอาณัติสัญญาจากใคร ไม่ใช่พอเห็นว่าฝ่ายที่ตัวสนับสนุนอยู่ในการเลือกตั้งกำลังจะเพลี่ยงพล้ำกำลังจะแพ้ กกต. ก็ดับไฟ กกต. ยกเลิกการแข่งขัน อย่างนี้ผมไม่อยากเห็น 
ที่สำคัญในท้ายที่สุด คือ ความ Fair จาก คสช. ที่อ้างตัวมาตลอดห้าปีว่าเป็นกรรมการ วันนี้ คสช. แปลงร่างจากกรรมการมาเป็นผู้เล่น เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะเห็นความแฟร์ตรงนี้ ก็คือ คสช. ต้องทำให้เห็นว่าในฐานะที่เป็นผู้เล่น คสช. เล่นอยู่ในกติกาและไม่ได้เล่นเหนือกว่า ไม่ได้ทำให้ทีมอื่นเขารู้สึกว่าด้อยกว่า คสช. ถือกติกาที่เหนือกว่าอยู่แล้ว และผมอยากจะเรียกร้องพรรคที่สนับสนุน คสช. ว่า กติกาคุณก็ได้เปรียบ กติกาคุณก็เขียนเอง เรามาเล่นบนกติการที่คุณได้เปรียบที่คุณเขียน แต่ให้ fair ทำได้ไหม นี่คือสิ่งที่ผมอยากเรียกร้องจากทาง คสช.
สำหรับเรื่อง fruitful election หรือการหวังผลได้ของการเลือกตั้งครั้งนี้ นั้นคือ fruitful หรือประสิทธิผลประสิทธิภาพของการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อทุกฝ่ายตอบสนองความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชน เราต้องไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรมเพื่อที่จะให้ชาวโลกหรือคนในประเทศเห็นว่าครบกระบวนการประชาธิปไตยแล้ว ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตย 
ผมต้องท้าทายผู้กุมอำนาจในขณะนี้ว่าลงมาเล่นในกติกาเดียวกันกติกาที่เขียนเอง กล้าไหมหลังจากประกาศวันเลือกตั้งแล้ว ยกเลิก ม.44 แล้วก็มาเล่นบนกติกาที่ คสช.เขียน คสช.ได้เปรียบ คสช. จะได้ไม่มีกติกาที่ได้เปรียบเหนือกว่าเพื่อนไปอีกสองขั้น มากกว่านั้นอยากจะให้ คสช. เชิญชาวต่างชาติมาสังเกตการการเลือกตั้งของประเทศไทยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะยุติธรรมและมีความเสรีมากน้อยแค่ไหน ผมเชื่อว่าจะช่วยให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ที่สำคัญเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว เมื่อประชาชนตัดสินในออกมาแล้วว่าประชาชนมีความต้องการอย่างไร ทุกฝ่ายกล้าไหมที่จะร่วมกันทำสัตยาบันว่าเราจะไม่บิดเบือนเจนตนารมณ์ของประชาชน ประชาชนต้องการอะไร แสดงออกมาในการเลือกตั้งอย่างไร เราจะเดินหน้าตามเจตนารมณ์ของประชาชน ถ้าหากเราไม่เดินหน้าไปตามเจตนารมณ์และพยายามที่จะบิดเบือน และการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประเทศไทย สิ่งที่จะตามก็คือชนวนความขัดแย้งในประเทศครั้งต่อไป ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนไม่อยากจะเห็น 
ในท้ายที่สุดหลังจากการเลือกตั้งเราเห็นกันอยู่ว่ากติกาวันนี้ไม่เป็นธรรม กติกาวันนี้ไม่เป็นไปตามวิถีทางของประชาธิปไตย ผมอยากจะถามเจ็ดพรรคการเมือง ว่าหลังเลือกตั้งเรามาเขียนกติกาใหม่กัน เรามาทำกติกาใหม่ตั้ง สสร. แล้วบอกเลยว่า รัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ไม่นานอยู่ปีเดียวเพื่อแก้กติกา แล้วเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
ราเมศ รัตนะเชวง พรรคประชาธิปัตย์
ผมถามทุกคนว่าเชื่อไหมว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ผมเชื่อเพราะ คสช. ผลัดผ่อนและผิดคำพูดกับพี่น้องประชาชนมาถึง 4 ครั้งแล้ว แต่ที่มากกว่านั้นเพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดว่าต้องมุ่งสู่การเลือกตั้ง ถ้าเลื่อนเป็นครั้งที่ 5 ผู้มีอำนาจต้องหาเหตุผลมารองรับให้ได้ เพราะไม่น่ามีเหตุผลใดที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกแล้ว
ผมเชื่อว่าถ้าเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก ก็จะมีกลุ่มคนมาเรียกร้องการเลือกตั้งอีก แล้วถ้าประชาชนออกมาเรียกร้องเพื่อหลักการที่ถูกต้อง เพื่อการเลือกตั้ง เขามีความผิดอะไร คนที่ผิดคำพูดกับพี่น้องประชาชน คนเหล่านั้นต่างหากที่ต้องรับผิดชอบกับประชาชน ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย ทุกครั้งที่มีพี่น้องประชาชนออกมาเรียกร้องการเลือกตั้ง ผมแทบหาเหตุผลไม่ได้ว่าเหตุใดถึงต้องดำเนินคดีกับประชาชน
เมื่อกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ผมเชื่อว่านักประชาธิปไตยทุกคนเรียกร้องหาหลักความเสรีและความเป็นธรรม ผมอยากสะท้อนต่อผู้มีอำนาจว่า ที่ท่านทำอยู่ทุกวันนี้ ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม เมื่อ คสช. เข้ามามีอำนาจ พูดไว้ชัดเจนว่าจะปฏิรูปการเมือง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อก้าวไปสู่ระบบประชาธิปไตย เมื่อเขียนรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เขียนไว้อย่างงดงามเหมือนประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรมในทุกกระบวนการ แต่กลับตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง
รัฐธรรมนูญปี 2560 แทบจะใช้การไม่ได้เลยเพราะมีอำนาจมาตรา 44 ซึ่งสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ผมตรวจดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้พบคำว่า “เสรี” มากถึง 52 คำ แต่กลับแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่ คสช. ออกฎหมายมาหลายฉบับที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพตามมาตรานี้
มาตรา 33 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน การเข้าไปโดยปราศจากการยินยอมต้องได้รับหมายศาล แต่มาตรา 44 (คำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 และ13/2559) บอกจะเข้าไปบ้านใครหรือไปดำเนินการอย่างไรก็ได้ นี้คือความชอบด้วยกฎหมายของบ้านเราหรือ มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน แต่คนเรียกร้องการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยยังถูกดำเนินคดี มาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่มีประกาศและคำส่ังคสช. ห้ามไว้ครบ มิหนำซ้ำยังมี พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ฯ ที่ไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนออกมามีส่วนร่วมกับผู้มีอำนาจ 
มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง แต่สมาชิกพรรคการเมืองเป็นสมาชิกที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว วันหนึ่งคสช. ประกาศ (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560) ว่าต้องมารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30 เมษยายน 2561 ถ้าไม่มารายงานตัวถือว่าสิ้นสภาพ นี้คือ การรีเซ็ตพรรคการเมือง ผมออกมาต่อสู้เรื่องนี้เป็นคนแรกๆ แล้วให้สัมภาษณ์ว่า วันหนึ่งถ้ามีคนออกคำสั่งว่าให้นายทหารในทุกกองทัพมารายงานตัวภายใน 3 วัน ถ้าไม่มารายงาน คุณจะสิ้นความเป็นทหาร คุณจะรับได้ไหม
อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุดแล้ว เราสู้ในกระบวนการ เราไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ยอมรับคำวินิจฉัยศาลซึ่งให้คำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมาย แต่คำสั่ง คสช. ที่ริดรอนสิทธิของสมาชิกพรรคการเมืองนี้คือความปวดร้าวใจของพรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบัน วันนี้เราแพ้แต่เราจะไม่อ่อนแอตามที่ผู้มีอำนาจอยากให้เราทำ เราจะเข้มแข็งเพื่อประชาธิปไตยในวันข้างหน้า
คำว่า “ความเป็นธรรม” ในรัฐธรรมนูญพบถึง 29 คำ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ระบุไว้ เพราะมาตรา 44 ยิ่งใหญ่กว่าทั้งหมด และคุณด่านักการเมืองทุกวันว่านักการเมืองเลว สร้างเงื่อนไขให้กับประเทศ แต่วันนี้ผู้มีอำนาจกำลังสร้างเงื่อนไขให้กับประเทศนี้ กำลังกลืนคำพูดของตัวเอง และประชาชนมองออก เราเห็นพรรคการเมืองที่มีคนในรัฐบาลออกมาตั้งและเปิดหน้าเปิดตาเดินไปจดทะเบียนที่ กกต. และเปิดตัวพรรคการเมือง นี้คือความเป็นธรรมที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งหรือในเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีที่สิ้นสุดไปจะรักษาการต่อไปให้ทำหน้าที่ได้เฉพาะที่มีเงื่อนกำหนดไว้ เช่น การอนุมัติเรื่องงบประมาณซึ่งต้องได้รับการเห็นชอบจาก กกต. แต่เรื่องเหล่านี้เราไม่เห็นสปิริตจากผู้มีอำนาจ เขามีแต่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อชิงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองเพื่อมีอำนาจได้ต่อไป
ผมเรียกร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าลืมเหตุการณ์เลวร้ายที่ผ่านมา ที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจมาตรา 44 ปลด กกต. ปลดเลขาธิการ กตต. แล้วท่านมาตั้งหลักใหม่ในฐานะที่เป็นคนกลาง เป็นองค์กรอิสระที่จะเข้ามาควบคุมการเลือกตั้งเพื่อให้ทุกคนเดินหน้าสู่ระบบประชาชาธิปไตยทีเสรีและเป็นธรรม กกต.ควรทำหน้าที่ให้เข้มแข็ง กำหนดกฎเกณท์เดินสู่การเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน 
อย่างไรก็ตาม เราในฐานะนักการเมือง เราพร้อมจะสู้ตามกติกาถึงแม้นว่าจะไม่ชอบธรรม  ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ที่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า แม้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นแสงริบหรี่ที่ปลายอุโมง แต่เราต้องต่อสู้ก้าวไปจุดไฟประชาธิปไตยให้ลุกโฉนโชติช่วงเพื่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ เราต้องเดินไปด้วยกันเอาประชาธิปไตยกลับคืนมา 
ปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่
การเลือกตั้งครั้งนี้มีกติกาที่ไม่เป็นธรรมมีตั้งแต่ตัวกฏหมายพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง และอุปสรรคที่สำคัญคือ คสช. 
ถ้าดู พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง การตั้งพรรคการเมืองเป็นระบบอนุญาตไม่ใช่ระบบเสรีภาพ คือเมื่อประชาชนรวมตัวกันแล้วต้องไปยื่นเอกสารต่อ กกต. แล้ว กกต.จะใช้เวลาพิจารณาถึงจะอนุญาตให้ตั้งพรรค พรรคอนาคตใหม่ใช้เวลาทั้งสิ้น ตั้งแต่การประชุมพรรค 97 วัน กว่าจะได้เป็นพรรคอย่างเป็นทางการ ขณะที่พรรคการเมืองในรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้จากกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกันรวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง และถ้าพรรคนั้นปฎิบัติผิดไปจากรัฐธรรมนูญจะถูกยุบภายหลัง 
นอกจากนี้แล้วกฎหมายพรรคการเมืองยังวางกฎเกณฑ์กติการะเบียบขั้นตอนมากมาย พรรคเกิดใหม่ๆ พรรคทางเลือกใหม่ๆ อยากจะตั้งพรรคก็มีอุปสรรคเต็มไปหมด ไม่ว่าจะต้องหาสมาชิก ต้องหาเงินทุนประเดิม ส่งผลให้พรรคเล็กพรรคใหม่เกิดยาก ในขณะเดียวกันพรรคที่เกิดขึ้นมาแล้วก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกยุบ คือตั้งยากยุบง่ายอันนี้เป็นอุปสรรคของกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ นอกจากนี้จะเห็นว่ากฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้จะตรวจสอบพรรคการเมืองตลอดเวลาว่าทำอะไรอยู่ ซึ่งแสดงทัศนคติของคนออกกฎหมายทำให้เห็นว่าไม่วางใจพรรคการเมือง ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองเป็นสถาบันหลักในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย 
ในส่วนของ กกต. จากการที่ติดต่อทำงานด้วยกันบ่อยๆ พบเห็นทันทีว่ามีวิธีคิดที่ยังติดอยู่กับระบบราชการ ตั้งแต่จะทำอะไรต้องมีระบบเอกสารมีขั้นตอนวุ่นวายเต็มไปหมด ซึ่งไม่ทันต่อพัฒนาการใหม่ๆ ผมเคยไปถามในที่ประชุม กกต. ว่าอยากจะขายสินค้าเพื่อระดมทุนผ่านทางออนไลน์ ปรากฎว่ามีระเบียบ กกต. ที่ระบุว่าการขายสินค้าให้ทำได้ที่ที่ทำการพรรคหรือสาขาพรรค ดังนั้น กกต. จึงไม่ให้ทำ ซึ่งวิธีการตีความของ กกต. คือ ระเบียบไม่มีคำว่าออนไลน์ก็ทำไม่ได้ อีกเรื่องผมจะระดมทุนพรรคผ่านระบบ Crowdfunding กกต. บอกว่าไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้คือเสรีภาพควรทำได้เว้นแต่มีกฎหมายห้าม ยิ่งไปกว่านั้นความกล้าหาญในการทำงานของ กกต. ลดลง เพราะเมื่อตั้งใจจะทำอะไรที่ดีตั้งใจจะสนับสนุนพรรคการเมือง แต่ กกต. เงยหน้าขึ้นไปเจอ คสช. ก็หดทันที เพราะฉะนั้น คสช. คืออุปสรรคที่สำคัญ 
โดยปกติวงจรรัฐประหารของประเทศไทยไปจะอยู่ไม่ยาวนาน คือประมาณสักหนึ่งก็มีการเลือกตั้ง แต่ คสช. ยึดอำนาจเข้าสู่ปีที่ห้าแล้วมีความพยายามเลื่อนการเลือกตั้งตลอดผ่านกลไกและเทคนิคต่างๆ แต่จนถึงตอนนี้ คสช. ไม่มีโอกาสที่จะเลื่อนเลือกตั้งทำให้อย่างน้อยการเลือกตั้งจะต้องเกิดวันที่ 24 ก.พ. ถึงต้นเดือน พ.ค. 2562 เว้นแต่ คสช. จะประกาศใช้ มาตรา 44  อีกสิ่งที่สำคัญคือการสืบทอดอำนาจของ คสช. ผ่าน ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน ที่สามารถเลือกนายกฯ ได้ และเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอกได้ นอกจากนี้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติแผนปฎิรูปประเทศอีก ทั้งนี้เพื่อรับประกันการสืบทอดอำนาจให้มั่งคงที่สุดก็มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีคนของ ครม.ชุดนี้เข้าไปอยู่ 10 กว่าคน เช่น หัวหน้าพรรคที่ชัดเจนว่าเป็นรัฐมนตรี
การเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าจะมีการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไรไม่ได้อยู่ที่ประชาชนเลย แต่ขึ้นอยู่กับ คสช. ว่าพร้อมหรือยัง ถ้า คสช. พร้อมเมื่อไรก็จะได้เลือกตั้งเมื่อนั้น 
ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง ผมเสนออันดับแรกว่า ให้ คสช. ยกเลิกประกาศคำสั่งทุกฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง 
ข้อที่สองคือเรียกร้อง กกต.ให้กลับมาเป็นองค์กรอิสระที่จัดการการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ผมเชื่อว่าสังคมคลางแคลงใจมาตลอด เพราะ กกต. ชุดนี้มาจากการคัดเลือกสรรหาตอนที่ คสช. ยังมีอำนาจอยู่ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการปรับบทบาทให้สามารถเป็นองค์กรสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตยได้ ดังนั้นผมเรียกร้องให้ กกต. ต้องเอาคำสั่ง คสช. มาตีความให้เป็นคุณต่อทุกพรรคการเมือง ไม่ใช่บอกว่าคำสั่งเป็นแบบนี้เลยทำอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องมี กกต. ก็ให้ คสช. มาเป็น กกต.เอง แต่เมื่อมี กกต. จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของ กกต. ในการขยายเพดานการตีความคำสั่ง คสช.ต่างๆ
การออกคำสั่งของ คสช. มาห้ามต่างๆ คาถาที่ คสช. ใช้ประจำใจ คือการรักษาความสงบเรียบร้อย กลัวความขัดแย้งวุ่นวาย แต่ตอนนี้พิสูจน์แล้วว่าทุกพรรคการเมืองและพี่น้องประชาชนมาพูดคุยกันวันนี้ไม่มีความวุ่นวายอะไรเกิดขึ้น พรรคการเมืองทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันหลายเรื่องในการเลือกตั้ง การปลดล็อกคำสั่ง คสช. ต่างๆ ดังนั้นไม่มีข้ออ้างที่ คสช. จะจำกัดเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอีกแล้ว ข้ออ้างอย่างเดียวที่จะจำกัดเสรีภาพคือจะเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ซึ่งการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงในปีหน้า คสช. ต้องการใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมของตัวเองในการสืบทอดอำนาจ ดังนั้นพี่น้องประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องใช้การเลือกตั้งครั้งนี้ยุติการสืบทอดอำนาจให้ได้      
จาตุรนต์ ฉายแสง พรรคเพื่อไทย  
หลังการรัฐประหารครั้งนี้วัตถุประสงค์สำคัญที่สุด คือการทำรัฐประหารจะต้องไม่เสียของ ความหมายคือครั้งที่แล้ว (รัฐประหาร 2549) จะสกัดกั้นไม่ให้พรรคสายไทยรักไทย คือพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล แต่พอเลือกตั้งมาแล้วประชาชนก็ยังสนับสนุนพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล ก็เลยเป็นเรื่องวุ่นวายของผู้มีอำนาจที่ต้องหาทางล้มแล้วล้มอีก จนในที่สุดก็ต้องยึดอำนาจอีกรอบหนึ่ง คราวนี้ยึดอำนาจแล้วจะต้องไม่ให้เสียของ คือไม่ให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีก แต่ว่าขณะนี้ไม่ใช่แค่นั้นแล้ว 
สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่ว่าเขาจะยุบพรรคเพื่อไทย หรือไม่ใช่ว่าเขาจะหาทางอย่างไรไม่ให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ เขาจะทำให้ระบบพรรคการเมืองทั้งหมดและการเลือกตั้งครั้งไม่มีความหมายที่จะเป็นช่องทางให้ประชาชนมากำหนดอนาคตของประเทศอีกต่อไป 
ประเทศอื่นๆ มีการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนกำหนดว่าจะให้ใครมาบริหารประเทศ และกำหนดว่าจะบริหารประเทศด้วยนโยบายอย่างไร แต่วันนี้ที่เราเป็นห่วงคือการเลือกตั้งจะถูกทำลายจนกระทั่งการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถเป็นเครื่องมือหรือช่องทางให้ประชาชนไปกำหนดอนาคตของประเทศได้เพราะไม่เสรี ไม่เป็นธรรม และไม่มีผลทางปฏิบัติ ซึ่งนั้นคือสิ่งที่ คสช. กลัวที่สุด กลัวกระบวนการที่ประชาชนสามารถกำหนดนโยบายบริหารประเทศผ่านพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นที่เขาทำอยู่ทั้งหมดก็เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม
การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองถูกทำให้เล็กลง มีสมาชิกพรรคน้อยลงอย่างมาก พรรคการเมืองไม่สามารถสื่อสารกับสมาชิกพรรคและประชาชนได้ กติกานี้ไม่แก้ปัญหาเรื่องคนมีสตางค์ครอบงำพรรค บทบาทสมาชิกในการกำหนดผู้สมัครด้วยการทำ Primary vote หายไปแล้ว พรรคการเมืองไม่สามารถทำนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จนถึงบัดนี้ คสช. ยังไม่ให้พรรคการเมืองทำนโยบายประชุมหารือกับประชาชน สุดท้ายถึงเวลาเลือกตั้งก็อาจจะบอกว่าทำนโยบายไปตามยุทธศาตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศก็พอ 
ประเด็นเรื่องการหาเสียง ความจริงการหาเสียงสามารถทำได้ทั้งปีทั้งชาติ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ผมกำลังสงสัยว่าเป็นเขาต้องการเขียนกติกาให้การหาเสียงคล้ายกับการหาเสียง ส.ว. สมัยก่อน คือไปยืนถือป้ายบอกว่าตัวเองเบอร์อะไร จัดปราศรัยในสถานที่ที่ กกต. กำหนด ซึ่งปราศรัยถ้าวิจารณ์ คสช. ก็อาจจะเจอคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 116 (ยุยง ปลุกปั่น) หรือ มาตรา 44 ด้วยเหตุนี้จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งแบบได้ข้อมูลทางเดียว คือ พลเอกประยุทธ์ดีอย่างไร มีการโฆษณาว่ารัฐบาลประยุทธ์ดีอย่างไร ส่วนพรรคการเมืองต่างๆ ห้ามหาเสียง ห้ามพูดว่าพรรคการเมืองต่างๆ ดีอย่างไร นโยบายดีอย่างไร ซึ่งจะเหมือนกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (ปี 2559)
ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้การหาเสียงจะคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ว. และจะได้ข้อมูลทางเดียวเหมือนการลงประชามติ ทั้งหมดที่ คสช. ทำไป คือการจำกัดเสรีภาพด้วยข้ออ้างความไม่สงบเรียบร้อย การเลือกตั้งทั่วโลกมีไว้เพื่อป้องกันความขัดแย้งรุนแรง แต่การเลือกตั้งปัจจุบันถูกทำให้เป็นเหตุของความขัดแย้งรุนแรง  
คสช. ได้ทำให้ประชามติซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่เป็นประโยชน์มากในระบอบประชาธิปไตยที่จะกำหนดอนาคตของบ้านเมืองในยามที่คนเห็นต่างกันกลายเป็นเครื่องมือที่รองรับกฎกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้กำลังจะทำให้การเลือกตั้งที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้ประชาชนร่วมตัดสินใจอนาคตของประเทศมาเป็นเพียงเครื่องมือในการรองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. 
อย่าให้การเลือกตั้งที่จะถึงเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนไม่มีข้อมูลอะไรเลย พรรคการเมืองไม่สามารถกำหนดนโยบายได้ สื่อสารกับประชาชนไม่ได้ หรือวิจารณ์ คสช. ไม่ได้ ถ้าไม่ยอมสิ่งที่ต้องจากนี้ไปคือการต้องผนึกกำลังกันเรียกร้องให้การเลือกตั้งเสรีเป็นธรรมและมีผลปฎิบัติมีความหมายเช่นเดียวกับการเลือกตั้งในอารยะประเทศทั่วไป
อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ พรรคประชาชาติ
ผมไม่อยากจะพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พูดไปเสียเวลา เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่แย่ที่สุด เท่าที่ผมเป็นนักการเมืองมา เป็นรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนว่าร่างมาเพื่อต้องการสืบทอดอำนาจ เราอย่าไปเรียกร้องเขาให้ยกเลิกนั่นนี้อย่างหวัง แต่พรรคการเมืองมาจับมือและเป็นพันธมิตรต่อสู้กับเผด็จการ ผมว่าจะเกิดเหมือนกับมาเลเซียที่ มหาเธร์ โมฮัมหมัด ล้มนาจิบ ราซัค อย่างถล่มทลาย เราจะทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างที่อองซาน ซูจี ชนะ 95% ทั้งที่ๆ ทหารพม่าเข้มแข็งกว่าทหารไทย เราอย่าปฏิเสธพลังของประชาชน
บางคนว่าเราตั้งพรรคประชาชาติเพื่อหวังที่นั่งภาคใต้ แต่จริงๆ ประชาชาติคือเราต้องการเรียกให้เข้าใจว่าประเทศไทย ไม่ใช่เป็นประเทศที่คนเชื้อชาติไทยสร้างชาติไทยตั้งแต่มีหลายเชื้อชาติ ผมอยากให้เราภูมิใจว่าเรามีสัญชาติไทย แต่เรามีหลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะกระเหรี่ยง ลีซอ ม้ง ซาไก เซมัง มลายู จีน อินเดีย ประเทศไทยจึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม 
สังคมพหุวัฒนธรรมต้องควบคู่กับประชาธิปไตย สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะคลี่คลายอย่างดีต้องมีประชาธิปไตย และคนไทยทั้งประเทศต้องเข้าใจคำว่าพหุวัฒนธรรม ตราบใดที่ไม่เข้าใจพหุวัฒนธรรม จะแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ แต่ต้องยึดหลักประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ
คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาการศึกษาด้อยกว่าคนกรุงเทพ ความยากจนเขาด้อยกว่ามาก แต่วันที่ 7 สิงหาคม 2559  คนสามจังหวัดชายแดนใต้ไปลงประชาติไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างถล่มทลาย ในขณะที่คนกรุงเทพคนฉลาด ฐานะเศรษฐกิจดีเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นเลือกตั้งครั้งต่อไปคอยดูคนสามจังหวัดชายแดนใต้แล้วกัน 
ปี 2534 สมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจ บอสใหญ่ของ รสช. อยู่ที่ดอนเมือง ตอนนั้นผมเป็น ส.ส. สมัยที่สอง เขาเชิญผม อ.วันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) ท่านเด่น (เด่น โต๊ะมีนา) ไปเจอที่สนามบินดอนเมือง แต่ตอนนั้นผมอยู่นราธิวาสผมไม่ได้ไป ทั้งสองท่านไปถูกเกลี้ยกล่อมให้ไปอยู่พรรคสามัคคีธรรม และเอาเงินใส่ใต้กระโปรงรถของท่านเด่น สรุปแล้วเราไม่อยู่พรรคที่สืบทอดอำนาจจึงเอาเงินนั้นไปคืน ยิ่งยุคนี้ไม่ต้องห่วงเราสู้มานานเรายืนหยัดในหลักประชาธิปไตยตลอด
สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้มีการพูดกันว่าถ้าไม่อยู่พรรคนี้จะโดนใบแดง จะโดนข่มหัวคะแนน จะโดย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ผมไม่อยากจะกล่าวหาพรรคไหน เดี๋ยวจะโดนฟ้องร้องกันอีก แต่เป็นที่เข้าใจว่าพรรคเขาเป็นพรรคที่มีอำนาจจริง เงินไม่ต้องพูดถึง พอเป็นอย่างนี้ทำให้มีการดึงคนที่จะมาอยู่กับเราไป แต่พอคนนั้นไปถามชาวบ้านเขาไม่เอากับมาหาพวกเราอีก
การเลือกตั้งรอบนี้ท่านจะได้ดูพลังของประชาชนว่าจะเอายังไง ระหว่างที่เขาอยู่สี่ปีที่ราคายางสามกิโลร้อย จะให้เขาอยู่อีกแปดปีสามกิโลร้อยหรอครับ ชาวบ้านเขาไม่โง่เพราะเขาเจ็บแล้วเขาจำ ผมคิดว่าเราทั้งหลายไม่ต้องไปขอแก้นั้นแก้นี้ มาจับมือกันเป็นพันธมิตรสู้กับฝ่ายสืบทอดอำนาจ สู้กับฝ่ายเผด็จการ สู้กับฝ่ายที่เอาคนนอกเป็นนายกฯ ผมเชื่อว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องชนะแน่นอน
วิรัตน์ วรศสิริน พรรคเสรีรวมไทย
วิรัตน์ วรศสิริน พรรคเสรีรวมไทย 
พอ คสช. ยึดอำนาจ ก็ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ซึ่งตอนนี้บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อยดี แต่ก็ยังไม่ยกเลิก และมีการออกประกาศ คสช. 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งตอนนี้การเลือกตั้งก็ใกล้เข้ามาเต็มที แต่ก็ยังไม่ยกเลิกประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัวหาเสียง ไม่รู้ว่า คสช. ตั้งใจจะแกล้งกันไหม ต่อมามีคำสั่งปลดล็อกคลายล็อก (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561) ก็เขียนความหมายกว้างๆ อ่านยาก เข้าใจยาก ปฏิบัติยาก ผมว่าน่าจะมีเลศนัย ทำให้บางพรรคหาเงินได้ บางพรรคหาเงินไม่ได้ บางพรรคดูดได้ผ่านสื่อ บางพรรคต้องดูดเงียบๆ กลัวถูกเล่นงาน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม การเลือกตั้งที่จะกำลังจะเกิดขึ้นมีปัญหามากมาย 
ตั้งแต่อดีตเมื่อทหารมีอำนาจ เขาจะคิดว่าเขารักชาติมากกว่าคนอื่นเลยต้องสืบทอดอำนาจ และเขาก็มีวิธีการของเขาเป็นสูตรห้าขั้นตอน หนึ่ง ยึดอำนาจเพื่อให้อำนาจอยู่กับคนๆ เดียว สอง เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อใช้บังคับคนอื่น  สาม ตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง สี่ โกง (เลือกตั้ง) ห้า ชนะแล้วสืบทอดอำนาจ 
ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่านายกต้องมาจาก ส.ส. เวลาผ่านไป จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการสืบทอดอำนาจก็ทำตามสูตร 5 ข้อ ยึดอำนาจและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ว่า นายกฯ ไม่ต้องมาจาก ส.ส. สาม ตั้งพรรคการเมือง สี่ โกง (เลือกตั้ง) ห้า ชนะแล้วสืบทอดอำนาจ สุดท้าย จอมพลสฤษดิ์ ปฏิวัติจอมพล ป. พอจอมสฤษดิ์หมดอำนาจก็มีข่าวเรื่องการฟ้องร้องมรดกสามพันกว่าล้านบาท ประชาชนก็ฮือฮา จอมพลถนอมรับแรงกดกดันจากประชาชนไม่ไหวก็ต้องยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ รัฐบาลทหารทุจริตอย่างมาก เท่าที่รู้เพราะเป็นข่าว ที่ไม่รู้เพราะไม่เป็นข่าวก็ไม่รู้อีกเท่าไหร่ จอมพลถนอมก็ทำตามสูตรไม่ต่างกัน 
ล่วงเลยมาถึง 14 ตุลา เกิดขบวนการนักศึกษา ช่วงเวลานั้นอเมริกาชมเชยไทยว่าเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยในอาเซียน แต่ทหารก็ยังล้าหลัง ไม่ยอมพัฒนา ยังปฏิวัติมาเรื่อยๆ และครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย  และครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน คือ หนึ่ง ยึดอำนาจ สอง เขียนรัฐธรรมนูญ ว่านายกฯ มาได้หลายทาง และมี ส.ว. ที่แต่งตั้ง 250 คน สามารถมาเลือกนายกฯ ได้ สาม ตั้งพรรคการเมือง สี่ โกง (เลือกตั้ง) ห้า สืบทอดอำนาจ 
เรื่องการตั้งพรรคการเมือง รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้อย่างน้อยสี่คนไปเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหนึ่ง รัฐมนตรีอุตสาหกรรมไปเป็นหัวหน้าพรรค และเป็นตัวแทนไปจดจัดตั้งพรรคกับ กกต. ด้วยตัวเอง ใช้ชื่อว่า “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลมีโครงการประชารัฐ คงไม่มีเรื่องบังเอิญอะไร ซึ่งโครงการประชารัฐเป็นการร่วมกับนายทุน เอื้อประโยชน์ให้กัน เขาเรียกว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่เบื้องหลังเอาเงินไปใช้ทำอะไรก็ไม่มีใครรู้ แต่ท่านเสรีพิศุทธ์เป็นนักสืบ วันหนึ่งอาจจะรู้ ให้ท่านเสรีพิศุทธ์มากวาดล้างสักที การเมืองจะสะอาดขึ้นเยอะ
ดีอย่างสมัยนี้มี กกต. สมัยก่อนไม่มี ผมก็ยังความคาดหวังว่า กกต. จะดำเนินการเลือกตั้งอย่างยุติธรรมกับทุกพรรค คงไม่กลัวอำนาจใหญ่ๆ โตๆ เช่น มาตรา 44
ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย
พรรคภูมิใจไทยได้มีการปรึกษาหารือกันหลังจากมีการยึดอำนาจ ในฐานะพรรคการเมือง เราจะเดินหน้าต่อ หรือเราจะหยุด เพราะถ้ากติกาในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายลูกต่างๆ เป็นเช่นนี้  แล้วในที่สุดก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อ ส่วนเหตุผลไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่น ที่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่ากติกาถูกออกแบบโดยผู้มีอำนาจ และรู้สึกว่าอาจจะไม่เป็นธรรม แต่เราก็จำเป็นที่จะต้องเดินหน้า เพื่อดึงระบอบที่เกิดขึ้นเวลานี้ ให้กลับไปสู่ระบอบของประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภา 
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นพรรคใหม่ หรือพรรคเก่า ในที่สุดแล้ววันเลือกตั้งเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือให้พี่น้องประชาชนเป็นผู้ตัดสิน และการเป็นพรรคภูมิใจไทยก็ไม่ได้ต่างจากพรรคอื่น ก็คือเรามีความใฝ่ฝัน มีความมุ่งหมายที่จะให้บ้านเมืองกลับไปสู่ภาวะปกติ 
พรรคภูมิใจไทยอยากจะทำนโยบายเพื่อประโยชน์ของประชาชน มีเป้าหมายว่าถ้ามีโอกาสกลับเข้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เราจะมีโอกาสแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่
วันนี้บรรยากาศคลี่คลายแล้ว ส่วนตัวของผมเองก็เชื่อในเกียรติยศของบุคคลที่มาเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ในขณะที่เรากำลังคืบคลานเข้าไปสู่การเลือกตั้ง เราพบว่าองคาพยพบางส่วนอาจจะไม่ free และไม่ fair และอาจจะทำให้มีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้น 
วันนี้กระบวนการเลือกตั้งได้ขยับแล้ว ในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง มีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้สมัคร หลักที่ควรจะเป็นก็คือว่าถ้าขนาดเล็กลง ควรจะยึดพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เดิมๆ เสียก่อน เพื่อให้เกิดความ fair กับผู้ที่เคยเป็นผู้สมัคร แต่วันนี้ในบางจังหวัด การแบ่งเขตเลือกตั้งในบางพื้นที่ไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรม เช่น ถ้าแบ่งแบบหนึ่งคนที่เป็น ส.ส. เดิมตกทันที และจะทำให้ว่าที่ผู้สมัครบ้างพรรคได้ขึ้นมาทันที บางเขตเลือกตั้งผู้ที่เคยเป็น ส.ส. ในเขตเดิมถูกตัดไปอยู่ในเขตเลือกตั้งอื่น วันนี้อยากฝากให้ กกต. มีเวลาย้อนกลับไปทบทวนในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง และในช่วงที่จะมีการพิจารณาการแบ่งเขตควรมีการเปิดให้สาธารณะได้ทราบถึงเหตุผลของการแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละเขต
การเลือกตั้งทำให้อำนาจสูงสุดของประชาชนได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้จะมี ส.ว. เลือกนายกฯ แต่พอเลือกเสร็จก็กลับสภาของตัวเอง การบริหารราชการแผ่นดินบริหารได้ด้วย ส.ส. ซึ่งวันหนึ่งถ้าเราเข้าสู่ระบบรัฐสภาถ้าเราเห็นอะไรไม่ดีเราก็เข้าไปแก้ไข