7 เรื่องจริง ที่ “ประเทศกูมี”

26 ตุลาคม 2561 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีการเผยแพร่เพลง "ประเทศกูมี" ทางเว็บไซต์ยูทูปว่า ได้มอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พิจารณาเนื้อหาของเพลงว่าเข้าข่ายขัดคำสั่งคสช. หรือไม่ ส่วนคนที่อยู่ในคลิปจะต้องเชิญตัวมาให้ปากคำว่า มีเจตนาทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่
ต่อมา พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก บก.ปอท. กล่าวว่า มิวสิควิดีโอ “ประเทศกูมี” น่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” เพราะความเสียหายที่ปรากฎในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น สำหรับผู้ที่ส่งต่อโพสต์ก็อาจเข้าข่ายความผิด มาตรา 14(5) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯด้วยเช่นกัน
เพลง “ประเทศกูมี” เผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูปตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2561 โดยวันที่ 26 ตุลาคม 2561 เวลา 11.00 น. มีผู้เข้าชมประมาณ 800,000 ครั้ง และเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2,000,000 ครั้งในเวลา 19.00 น. ของวันเดียวกัน เนื้อหา “ประเทศกูมี” ว่าด้วยการนำข้อเท็จจริงของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยมาร้อยเรียงเป็นบทเพลง โดยขับร้องออกมาในสไตล์ Rap  กล่าวได้ว่าเพลง “ประเทศกูมี” นั้นเปิดบาดแผลของสังคมไทยที่พยายามซุกซ่อนมานานกว่าสี่ปี ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกขั้วทางการเมือง การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมและการจำกัดเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเสียดสีผู้มีอำนาจ นอกจากนี้บรรยากาศในมิวสิควิดีโอยังปรากฏภาพคล้ายเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 อีกด้วย
แม้เนื้อหาเพลงไม่ได้กล่าวถึง คสช. หรือระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บางเนื้อความก็เป็นข้อเท็จจริงที่มีการถกเถียงในสังคมและสร้างความหวั่นไหวต่อคสช.มาตลอด
ประเทศที่เสือดำหน้าคะมำเพราะ rifle
เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เจ้าหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จับกุมเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ และพวก พร้อมซากเสือดำ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมามีการเผยแพร่เสียงระหว่างการจับกุมในลักษณะต่อรองการจับกุม และท่าทีพินอบพิเทาของเจ้าหน้าที่รัฐในชุดสีกากี ที่มีต่อเปรมชัยก็ทำให้เรื่องราวของเสือดำตกอยู่ภายใต้กระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากประชาชน ขณะเดียวกันความไม่พอใจในเรื่องดังกล่าว นำไปสู่การแสดงออกของประชาชนอย่างการเรียกร้องที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2561
โดยกลุ่มทีชาล่าจัดกิจกรรม “รวมพลคนพันธุ์เสือดำ” ที่หอศิลป์ฯ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ “เสือดำ” ที่ถูกล่าสังหารในทุ่งใหญ่นเรศวร ภายในงานยังจำลองเหตุการณ์การสังหารเสือดำและแจกหน้ากากเสือดำให้แก่ประชาชนที่มาร่วมงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณสิบนายคอยสังเกตการณ์ ผู้จัดงานระบุว่า "งานดังกล่าวสามารถจัดได้เนื่องจากเป็นการใช้พื้นที่หอศิลป์ฯ ซึ่งได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่ขอให้พูดในเรื่องเสือดำเท่านั้น ไม่เลยเถิดไปวิพากษ์วิจารณ์คสช."
ประเทศที่นาฬิกา รมต. เป็นของศพ
เดือนธันวาคม 2561 เพจ CSI LA เผยแพร่ภาพนาฬิกาข้อมือของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งสิ้น จำนวน 25 เรือน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนาฬิกาแบรนด์หรูราคาระหว่าง 400,000-3,600,00 บาท แต่ทรัพย์สินดังกล่าวกลับไม่ปรากฎในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้รายงานไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในตอนที่เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2557
ช่วงเวลานั้น ชายเจ้าของเพจ Headache Stencil ที่ก่อนหน้าเขาจะ โพสต์ภาพกราฟิตีหรือสติกเกอร์ตามที่สาธารณะต่างๆ แต่ละภาพมีเนื้อหาเกี่ยวกับ คสช. และความไม่ชอบธรรมบางอย่างในสังคมไทย ครั้งนี้เขาก็ไม่พลาดที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนาฬิกา เขาพ่นกราฟิตีนาฬิกาปลุกหน้าพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่สะพานลอยย่านซอยสุขุมวิท 39 เป็นเหตุให้เขาถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตลอด 24 ชั่วโมง จนต้องหลบออกจากที่พักไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดอื่นชั่วคราว หลังจากนั้น ภาพดังกล่าวก็ถูกลบออกโดยใช้สีขาวทากลบทับ ท้ายที่สุด เขาและเพื่อนเข้าพบตำรวจสน.พระโขนง และยินยอมเสียค่าปรับจำนวน 3,000 บาทจากการพ่นกราฟิตีในที่สาธารณะ
วันที่ 3 มกราคม 2561 เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอบนาฬิกาให้กับ พล.อ.ประวิตร  แต่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่าสิบนายควบคุมตัวเขาไปไว้ที่อาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน กพ. และให้ยื่นเรื่องร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2561 เอกชัยเดินทางมามอบนาฬิกาให้กับ พล.อ.ประวิตร อีกครั้งระหว่างที่รอมีชายรายหนึ่งเข้ามาจะทำร้ายเอกชัย แต่ก็ห้ามปรามได้ทัน จากการตรวจสอบพบว่า ชายคนดังกล่าวพกพามีดพับใส่กระเป๋ามาด้วย ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เอกชัยเคยมารอพบพล.อ.ประวิตรหลายครั้ง
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ที่สกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ธัชพงศ์ และพวกรวมสี่คน นักกิจกรรมจากศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD ร่วมกันทำกิจกรรมตามใจป้อม ใส่หน้ากากเป็นรูปเคนท์ เจิ้ง นักแสดงชาวฮ่องกงที่มีใบหน้าคล้ายกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  ต่อมาถูกตำรวจจับกุมและกล่าวหาว่า ละเมิดมาตรา 10 ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ก่อนที่  6 กุมภาพันธ์ 2561ที่สกายวอล์กบีทีเอส ช่องนนทรีย์ ธัชพงศ์ แสดงละครใบ้คัดค้านการคอร์รัปชัน แต่ยังไม่ทันได้เริ่มตำรวจก็ควบคุมตัวเขาไปที่สน.ยานนาวา อ้างว่า การกระทำของเขาอาจเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ยังไม่มีการตั้งข้อหา
ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ
ปัจจุบันประเทศไทยมี “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือ “สนช.” คอยทำหน้าที่ออกกฎหมาย และคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล สมาชิก สนช. มีจำนวน 266 คน ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี จากสมาชิกทั้งหมดทหารมีสัดส่วนมากที่สุดคือ 142 คน คิดเป็นร้อยละ 58 ของทั้งสภา
ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 26 ตุลาคม 2561 สนช. ออกกฎหมายไปแล้วอย่างน้อย 300 ฉบับ แต่ละฉบับได้รับความเห็นชอบอย่างเอกฉันท์ เช่น พ.ร.บ.ขึ้นเงินเดือนทหาร ศาลและองค์กรอิสระ ฯลฯ และมีกฎหมายอย่างน้อย 19 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณสามฉบับ ซึ่ง สนช. ใช้เวลาพิจารณาอย่างรวดเร็วเพียงแค่วันเดียวเสร็จ นอกจากนี้ สนช. ยังมีอำนาจเห็นชอบบุคคลให้เป็นองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560  ยังปรากฎข่าวฉาวของสภาแห่งนี้ว่ามีสมาชิก สนช. อย่างน้อยเจ็ดคน ขาดการลงมติในที่ประชุมสภาเกินกำหนดซึ่งจะต้องถูกให้ออกจากตำแหน่ง แต่สุดท้ายสมาชิก สนช. ทั้งเจ็ดคน ก็ยังสามารถนั่งในสภาต่อไปได้จนถึงทุกวันนี้
 
ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายหมายสูงสุดของประเทศ การเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. ก็ด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในยุค คสช. การร่างรัฐธรรมนูญคืออุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับคนจำนวนมาก ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 2560 คือกฎหมายสูงสุดที่ คสช. ทิ้งไว้ให้กับคนไทยทั้งประเทศ
กว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ต้องใช้เวลาถึงสามปี ช่วงแรก คสช. ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญประมาณหนึ่งปีกว่า ด้วยการแต่งตั้งคน 35 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งคน 250 คน เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ สปช. ที่ถูก คสช. แต่งตั้งมาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเริ่มร่างกันใหม่
ช่วงที่สองของการร่างรัฐธรรมนูญ คสช. ตั้ง 21 คน เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้ง 220 คน เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำหน้าที่เสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกนับไปออกเสียงประชามติและผ่านความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ แม้การออกเสียงประชามติครั้งนี้จะถูกกังขาถึงความไม่บริสุทธิ์และความไม่ยุติธรรม เพราะมีประชาชนอย่างน้อย 195 คน ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีจากการรณรงค์ไม่เห็นชอบ และตรวจสอบจับตาการลงประชามติ
อย่างไรก็ตามหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว ยังถูกแก้ไขเพิ่มเติมอีกถึง 4 ครั้ง คือหนึ่ง ใช้ ม.44 กำหนดให้เรียนฟรี 15 ปี จากที่เดิมเขียนไว้ 12 ปี สอง ใช้ ม.44 กำหนดให้รัฐอุปถัมภ์ทุกศาสนาจากเดิมให้สนับสนุนแค่พุทธศาสนา นิกายเถรวาท สาม แก้ไขให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. และยัง แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน
ประเทศที่ 4 ปี แล้วไอ้สัส แม่งยังไม่เลือกตั้ง
รัฐบาล คสช. บริหารประเทศยาวนานเกินสี่ปี หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มีรัฐบาลไหนสามารถทำได้ เพราะถูกจำกัดวาระให้ไม่เกินสี่ปี ทั้งนี้ คสช. เริ่มต้นบริหารประเทศด้วยคำสัญญาว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” อย่างไรก็ตามคำสัญญาที่ว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการเลือกตั้งกลับถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ตลอดการยึดอำนาจ คสช. เลื่อนเลือกตั้งไปแล้วห้าครั้ง และสัญญารอบล่าสุดที่จะเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ เพราะ คสช. ยังมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ในเลื่อนเลือกตั้งได้ และอำนาจพิเศษนี้จะอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้      
และเมื่อมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องการเลือกตั้ง สิ่งที่ คสช. กระทำคือ การใช้กฎหมายปราบปรามการใช้เสรีภาพของผู้เรียกร้อง นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ออกมาเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีการจัดชุมนุมทั้งหมดไม่น้อยกว่าหกครั้ง และคสช.ก็ดำเนินคดีผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมชุมนุมในทุกครั้งต่างกรรมต่างวาระเช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558  เป็นต้น
ประเทศที่มีความสามารถเสกกฎหมายกลายเป็นข้ออ้าง
หลังรัฐประหาร คสช. ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง จำนวนมาก นับถึงวันที่ 21 กันยายน 2561 คสช. ออกประกาศ 128 ฉบับ ออกคำสั่ง 213 ฉบับ และออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 194 ฉบับ รวมแล้วมีจำนวนมากถึง 535 ฉบับ ในจำนวนนี้มีการออกคำสั่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรงอย่างน้อย 35 ฉบับ คำสั่งที่สำคัญ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นเครื่องมือให้อำนาจทหารเข้าปราบปรามผู้เห็นต่างได้แทนกฎอัยการศึก ให้ทหารมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวและคุมขังได้เจ็ดวันหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เป็นการปรับทัศนคติ
ในข้อ 12 ของคำสั่งนี้ยังสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปด้วย ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้ในการแทรกแซงหรือจำกัดเสรีภาพการแสดงออกมาตลอดกว่าสามปีนับแต่มีการประกาศใช้ โดยมีประชาชนไม่น้อยกว่า 421 คนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้อนี้ เนื้อหาการแสดงออกส่วนใหญ่ที่ถูกห้ามจะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่ออำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ
ประเทศที่รัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่
ตลอดเวลากว่าสี่ปีที่ผ่านมา คสช. ใช้กฎหมายทั้งที่มีการบัญญัติใช้ไว้ก่อนหน้ารัฐประหารและตราขึ้นใหม่โดยคสช.ในการปราบปรามการใช้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชน จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีผู้ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่น้อยกว่า 94 คน, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ไม่น้อยกว่า 91 คน และชุมนุมทางการเมืองตามประกาศคสช.ที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ไม่น้อยกว่า 421 คน
ในส่วนของการวิพากษ์วิจารณ์คสช. ก็มีตั้งแต่วิจารณ์การทำงานและผลงานของคสช., การคอร์รัปชั่น, คำพิพากษาคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงการแชร์ภาพกระเป๋าของนราพร จันทร์โอชา ภรรยาหัวหน้าคสช. ข้อกฎหมายหลักที่นำมาใช้คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่น คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย จากการวิจารณ์บ้านเมืองในยุคคสช.และการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร กรณีทหารไปตามถ่ายรูปยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า ไม่ให้เกียรติและเหยียดหยามทางเพศ คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง หรือคดียุยงปลุกปั่นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของ 8 แอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ ที่มีการโพสต์ภาพเสียดสีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  และการโพสต์ภาพวิพากษ์วิจารณ์แนวขำขันต่อกรณีข้อกล่าวหาการคอร์รัปชั่นในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
อาจกล่าวได้ว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างหนักหน่วง ของคสช.ที่มีต่อผู้เห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ คสช.กลายเป็นสถาบันที่แตะต้องไม่ได้โดยปริยาย