แถลงการณ์ร่วม เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ

สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งมากว่าทศวรรษ เนื่องจากสถาบันและกลไกที่เกี่ยวข้องไม่ได้ถูกใช้ในการคลี่คลายปัญหา นอกจากนี้ ในช่วงสี่ปีเศษที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สภาวะไม่ปกติโดยมีความขัดแย้งดังกล่าวเป็นข้ออ้าง ทว่าช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าสภาวะไม่ปกติไม่สามารถช่วยให้สังคมไทยก้าวพ้นความขัดแย้งได้ จำเป็นจะต้องอาศัยสถาบันและกลไกในสภาวะปกติ อันได้แก่ระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เจรจาต่อรองกันอย่างเสมอหน้าภายใต้กฎเกณฑ์กติกาเดียวกัน  
ระบอบประชาธิปไตยประกอบด้วยหลายส่วน ทว่าส่วนที่สำคัญและขาดไม่ได้คือการเลือกตั้ง การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 รวมทั้งการที่กฎหมายที่จำเป็นต่อการจัดการเลือกตั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นสัญญาณว่าประเทศไทยจะได้กลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง ทว่าการเลือกตั้งจะสามารถเป็นประตูไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้จะต้องประกอบด้วยปัจจัยต่อไปนี้    
1. มีเสรี (Free) คือ ประชาชนสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี สามารถแสดงความเห็นต่อกระบวนการเลือกตั้งได้โดยไม่ถูกจำกัดโดยกฎหมาย สามารถสืบค้นข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นได้อย่างอิสระ และไม่ถูกข่มขู่คุกคามหรือขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ว่าในลักษณะใด ขณะเดียวกันผู้สมัครสามารถลงสมัครได้อย่างอิสระ และพรรคการเมืองสามารถสื่อสาร รับฟัง และเสนอนโยบายกับประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่ถูกจำกัดขัดขวางโดยประกาศหรือคำสั่งใด  
2. มีความเป็นธรรม (Fair) คือ ประชาชนสามารถแสดงออกและใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้อย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็ต้องไม่มีการใช้อำนาจหรือกลไกรัฐเอื้อประโยชน์หรือขัดขวางพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองสามารถเข้าถึงและใช้สื่อทุกประเภทได้เท่าเทียมกัน ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องกำกับรัฐบาลให้ดำเนินการเลือกตั้งในฐานะรัฐบาลรักษาการ พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นระบบ และอนุญาตให้องค์กรที่เป็นกลางและมีความน่าเชื่อถือเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง    
3. มีผลในทางปฏิบัติ (Fruitful) คือ ประชาชนสามารถติดตามกำกับผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของตน รัฐบาลต้องมาจากตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ มิใช่ตัวแทนของผู้มีอำนาจหรือสถาบันที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ขณะเดียวกันพรรคการเมืองต้องสามารถนำนโยบาย ปัญหา และความต้องการของประชาชนไปดำเนินการตามที่วางไว้ได้ ไม่ถูกจำกัดโดยยุทธศาสตร์หรือข้อบังคับทางกฎหมายที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น   
เรา “เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ” และพรรคการเมืองดังรายชื่อแนบท้าย ขอถือเอาวันนี้ วันที่ในอดีตการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งสำคัญเริ่มขึ้นที่นี่ ในการพาประเทศและสังคมไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติอีกครั้งผ่านการเลือกตั้ง เราขอเรียกร้องให้ประชาชนได้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขอให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อรับฟังและเสนอนโยบายกับประชาชนได้อย่างเป็นอิสระและเท่าเทียม รวมถึงขอให้เคารพในเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้จะสามารถเป็นประตูไปสู่การคลี่คลายปัญหาของประเทศและประชาชนได้อย่างแท้จริง           
ด้วยความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและพลังของประชาชน 
เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ
14 ตุลาคม 2561
รายชื่อองค์กรแนบท้ายแถลงการณ์ 
ก. ภาคประชาชน
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) 
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
Start Up People
เครือข่ายแรงงาน
กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย
สมัชชาคนจน 
องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี (2P2D) 
เสรีเกษตรศาสตร์ 
สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)
สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ
สมาคมคนไทยเพื่อประชาธิปไตย 
กลุ่มพลังมด
ข. ภาคการเมือง
พรรคประชาธิปัตย์ 
พรรคเพื่อไทย
พรรคชาติไทยพัฒนา
พรรคอนาคตใหม่
พรรคเสรีรวมไทย 
พรรคประชาชาติ
พรรคสามัญชน 
 
อนุสรณ์ อุณโณ ตัวแทนเครือข่าย FFFE