เลือกตั้ง 62: ของ คสช. โดย คสช. เพื่อ คสช.

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกที่ออกตามมา ซึ่งวางกรอบบีบรัดให้พรรคการเมืองพบกับความยากลำบากในการลงสนามเลือกตั้ง และเมื่อรวมกับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ที่มาของ กกต., ประกาศ คสช. ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม, อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ฯลฯ ก็แทบจะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกออกแบบเพื่อให้พรรคการเมืองไม่มีทางสู้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเป็น “การเลือกตั้งตามแบบของ คสช. โดย คสช. เพื่อ คสช.”
คสช. อาจไม่ได้ใช้อำนาจทางการทหารแบบโบราณ หรือใช้กำลังอาวุธเพื่อเข้าควบคุมการเลือกตั้งอย่างโจ่งแจ้ง แต่ด้วยระยะเวลานานกว่าสี่ปีในอำนาจ คสช. จึงค่อยๆ เข้ายึดครององค์กรต่างๆ และออกกฎกติกาเพื่อเข้าครอบงำการเลือกตั้งได้อย่างช้าๆ โดยพอจะเห็นบทบาทของ คสช. ที่อยู่เหนือการเลือกตั้งครั้งนี้ได้สามประการ
 
1. คสช. เป็นคนเขียนกติกาเอง
1.1 รัฐธรรมนูญ 2560
คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นมาเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญ และส่งมีชัย ฤชุพันธุ์ หนึ่งในสมาชิก คสช. มานั่งเป็นประธานร่างเอง โดยกระบวนการร่างไม่ได้เปิดให้ประชาชนหรือภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมและวิพากษ์วิจารณ์ ประชาชนได้เห็นร่างก็เมื่อทำเสร็จแล้วและแถลงต่อสาธารณะ
หลังจากนั้น ร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกนำไปทำประชามติ ในวัน 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นประชามติที่ไม่ชอบธรรม เพราะจัดทำไปท่ามกลางบรรยากาศที่ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีการออก พ.ร.บ.ประชามติฯ เพื่อจำกัดการรณรงค์ มีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อจับกุมผู้ที่แสดงความเห็นคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การกลับเข้าสู่การปกครองในระบอบรัฐสภา กำหนดให้มี ส.ส. จำนวน 500 คน มาจากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต 350 คน และระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน จุดเด่น คือ ออกแบบวิธีคำนวณที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อใหม่ ใช้ชื่อเรียกว่า ระบบ MMA ส่งผลให้พรรคการเมืองที่ประชาชนลงคะแนนให้มาก จะได้ที่นั่งน้อย ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนออกเสียงให้ระดับกลางๆ จะได้ที่นั่งจากบัญชีรายชื่อมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังแอบเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้ ส.ว. 250 คนแรก มาจากการคัดเลือกของ คสช. เอง พร้อมเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้
มาตราท้ายๆ ของรัฐธรรมนูญ ยังเขียนวิธีการสืบทอดอำนาจของ คสช. ให้อยู่ยาวถึงหลังเลือกตั้งและให้มีผลควบคุมการเลือกตั้งได้ด้วย โดยมาตรา 267 กำหนดให้ คสช. ยังคงอำนาจอยู่จนกว่าจะตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้ ระหว่างนี้ มาตรา 265 กำหนดให้ คสช. ยังมีอำนาจพิเศษตาม “มาตรา 44” อยู่ และมาตรา  279 กำหนดให้ประกาศและคำสั่ง คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพมีผลใช้บังคับได้ตลอดไป
1.2 คำถามพ่วง
ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ คสช. ยังกำหนดให้มีคำถามเพิ่มเติมที่จะถามประชาชนพ่วงไปด้วยอีกข้อหนึ่ง ซึ่งโดยหลักการเหมือนว่า ช่องทางนี้จะช่วยให้การมีส่วนร่วมเปิดกว้างมากขึ้น แต่คนที่ตัดสินใจเลือกคำถามก็กลายเป็น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามข้อเสนอแนะของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สองสภาที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นอีกนั่นเอง
คำถามที่เลือกมาจึงเขียนด้วยถ้อยคำยืดยาว 4 บรรทัด จงใจสร้างความสับสนให้ประชาชน แต่เมื่อไปทำประชามติแล้วผ่าน เนื้อหาข้อนี้ก็ถูกใส่เข้าไปไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งสรุปใจความได้ว่า จะให้ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งด้วย
1.3 กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ก็ต้องออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” ตามมาอีก ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ก็ได้แอบ “ตีเช็คเปล่า” เอาไว้ให้อำนาจ กรธ. เขียนกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับได้เองตามใจ และให้ สนช. เป็นผู้พิจารณาเพื่อประกาศใช้
กฎหมายลูก ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีอยู่ 4 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งเขียนขึ้นให้พรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นได้ยาก การยุบพรรคหรือตัดสิทธิผู้สมัครทำได้ง่ายขึ้น และตีกรอบการเสนอนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อจูงใจประชาชน กฎหมาย กกต. พร้อมอำนาจใหม่ ให้ กกต. สั่งระงับการเลือกตั้งหรือระงับสิทธิการสมัครของผู้สมัครที่สงสัยว่า อาจทุจริตได้ทันที 
กฎหมายว่าด้วยที่มา ส.ว. ยังกำหนดรายละเอียดวิธีการคัดสรร ส.ว. เพื่อให้ คสช. จิ้มเลือกได้ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุก ทำให้ตัดนักการเมืองผู้เล่นหน้าเก่าออกไปได้หลายคน พร้อมทั้งยังขยายระยะเวลาสู่การเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน และให้ กกต. เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง ภายใน 240 วัน นับตั้งแต่กฎหมายใช้บังคับ
1.4 ประกาศและคำสั่งพิเศษของ คสช.
คสช. ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมแล้วอย่างน้อย 536 ฉบับ หลายฉบับออกมาเพื่อจำกัดการทำกิจกรรมทางการเมือง และจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการเลือกตั้งอย่างแน่นอน
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 สั่งห้ามพรรคการเมืองประชุม หรือดำเนินกิจกรรมใดๆ ในทางการเมืองมาตั้งแต่เมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจ ซึ่งประกาศฉบับนี้ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปเรื่อยๆ ทำให้พรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่าไม่อาจเริ่มทำงานของตัวเองได้ ส่งผลกระทบต่อการเตรียมความพร้อมด้านนโยบายและตัวผู้สมัคร การสื่อสารกับประชาชน และการทำกิจกรรมหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง
ต่อมา คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 กำหนดกรอบเวลาใหม่ให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการต่างๆ เช่น การยืนยันสมาชิกพรรค การประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค การตั้งสาขาพรรค ให้ทันในกำหนด ส่วนกิจกรรมอย่างอื่นยังต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. เท่านั้น และต่อมาก็ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 มากำกับการหาเสียงออนไลน์ และคลายล็อกให้พรรคการเมืองเก่าเริ่มเดินหน้ากิจกรรมทางธุรการได้
อย่างไรก็ดี ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก คสช. ซึ่งใช้ปิดกั้นการแสดงออกและการทำกิจกรรมต่างๆ พร้อมดำเนินคดีต่อประชาชนมาแล้วหลายร้อยคน ส่วนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97, 103/2557 ที่ใช้ควบคุมการนำเสนอเนื้อหาทางการเมืองของสื่อมวลชน พร้อมบังคับให้ทุกสื่อต้องเผยแพร่เนื้อหาตามที่ คสช. สั่งก็ยังใช้บังคับอยู่ด้วยเช่นกัน  
2. คสช. เป็นคนตีความและบังคับใช้กติกาเอง
นอกจาก คสช. จะเขียนกติกาเองแล้ว คสช. ในฐานะผู้ถืออำนาจบริหารอยู่ก็ยังมีอำนาจการบังคับใช้กฎหมายอยู่ในมือ โดยเฉพาะกฎหมายต่างๆ ที่เขียนขึ้นใหม่ อย่าง รัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก และประกาศคำสั่งพิเศษ ก็จะเห็นมือกฎหมายของ คสช. ทั้งมีชัย ฤชุพันธ์, วิษณุ เครืองาม หรือ พรเพชร วิชิตชลชัย คอยเวียนกันออกมาอธิบายวิธีการใช้การตีความให้กับสังคม หรือจะเรียกว่า “ผูกขาด” การตีความก็พอได้ 
ในช่วงเวลาสี่ปี คสช. ยังค่อยๆ เข้ายึดครององค์กรที่ควรจะเป็นอิสระให้กลายเป็นองค์กรภายใต้อำนาจของ คสช. อีกด้วย ทำให้การใช้และการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแทบจะอยู่ในมือของ คสช. เองหมดแล้ว
2.1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งควรจะเป็นองค์กรอิสระจากอำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจทางการเมือง เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยโปร่งใส และเป็นธรรม แต่ กกต. ชุดปัจจุบันกลับมีที่มาจากการเลือกจนเป็นที่พึงพอใจของ คสช. 
คสช. ไม่ได้พึงพอใจผลงานของ กกต. ชุดที่ทำงานมาก่อนการเข้ายึดอำนาจมากนัก ดูจากการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2561 ให้สมชัย ศรีสุทธิยากร หยุดการปฏิบัติหน้าที่กระทันหัน และก็เขียนกฎหมายลูก “เซ็ตซีโร่” ให้ กกต. ชุดก่อนหน้านี้พ้นจากตำแหน่งทั้งชุด เพื่อดำเนินการสรรหาชุดใหม่
และเมื่อ 22 กุมภาพันธุ์ 2561 สนช. ก็ลงมติ “คว่ำ” ผู้สมัคร กกต. ที่ผ่านกระบวนการสรรหาแล้วทั้ง 7 คน ทำให้ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ จนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2561 รายชื่อผู้สมัครชุดที่สองอีก 7 คน ก็ถูกส่งเข้าพิจารณา และ สนช. ก็พิจารณาเลือกให้ผ่านเท่าที่พอใจ คือ 5 คน ส่วนอีก 2 คน ลงมติให้ไม่ผ่านและเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่อีกรอบ แสดงให้เห็นว่า คสช. สามารถใช้อำนาจผ่าน สนช. จงใจเลือกเอาเฉพาะผู้ที่ “พึงพอใจ” ให้มาดำรงตำแหน่งเป็น กกต. ได้ 
สำหรับ กกต. ชุดที่ คสช. ให้มาคุมการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีหน้าที่ตามกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมาย กกต. ที่จะรับจดทะเบียนพรรคการเมือง ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ควบคุมการเสนอนโยบาย แจก “ใบส้ม” เพื่อตัดสิทธิผู้สมัครที่ต้องสงสัยว่าทุจริต  รวมทั้งอาจสั่งปลดกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้ หากเห็นว่า ไม่ควบคุมดูแลจนสมาชิกพรรคฝ่าฝืนต่อกฎหมาย 
ซึ่งอำนาจเหล่านี้ของ กกต. อาจมีผลต่อการเลือกตั้งได้ และจะช่วย “เขี่ย” ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นคู่แข่งของ คสช. ออกจากสนามการเลือกตั้งได้โดยง่าย
2.2  ศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญจะมีบทบาทสำคัญต่อการเลือกตั้งเนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมือง ในกรณีที่พรรคการมืองใดกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรค
แม้โดยหลักการศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ควรจะเป็นอิสระจากการครอบงำของ คสช. ได้ แต่จะเห็นว่า ปัจจุบันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 จาก 9 คน คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ ปัญญา อุดชาชน มาดำรงตำแหน่งโดยผ่านการเห็นชอบจาก สนช. มาแล้ว ส่วนอีก 5 คน คือ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล ควรจะพ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากหมดวาระ แต่ คสช. ก็ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 24/2560 ยืดอายุให้ทำงานได้ต่อไป จนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญประกาศใช้ นอกจากจะไม่ “เซ็ตซีโร่” องค์กรนี้แล้ว ยังยืดอายุให้คนที่หมดวาระแล้วเหล่านี้ทำหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว เห็นถึงเจตนาอันชัดเจนที่จะให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่คุ้มครอง คสช. ต่อไปจนกว่าการเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปตามที่ต้องการ
2.3 ประกาศและคำสั่งพิเศษของ คสช.
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 กำหนดห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป “เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก คสช.” โดยไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า กรณีใดจึงจะอนุญาตแล้วกรณีใดจึงจะไม่อนุญาต ทั้งหมดเป็นอำนาจดุลยพินิจโดยไร้ขอบเขตของ คสช. แต่เพียงผู้เดียวที่จะตีความและบังคับใช้ โดยคำสั่งนี้ยังกำหนดให้ทหารผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจเรียกบุคคลที่สงสัยไปขังไว้ในค่ายทหารได้เจ็ดวัน รวมถึงการบุกค้น จับกุม ดำเนินคดี ต่อประชาชนด้วย 
อำนาจการควบคุมสื่อตามประกาศ ฉบับที่ 97,103/2557 คสช. ก็ได้มอบหมายต่อให้ กสทช. ตีความและบังคับใช้แทน ซึ่งที่มาของกรรมการ กสทช. ก็เป็นไปตามกฎหมายใหม่ที่แก้ไขโดย สนช. ตัดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนออกเปิดทางทหารเข้ายึดองค์กรคุมสื่อแห่งนี้ สำหรับขั้นตอนการพิจารณาลงโทษสื่อนั้น ยังมีคณะทำงานพิเศษที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นเพื่อมอนิเตอร์สื่อ คอยสอดส่องและชงเรื่องให้ กสทช. ดำเนินการ
ทั้งการจับกุมดำเนินคดีบุคคลและการออกคำสั่งเพื่อจำกัดเนื้อหาในสื่อมวลชนภายใต้ประกาศและคำสั่งของ คสช. นั้น ยังมีมาตรการพิเศษ คุ้มครองให้เจ้าหน้าที่สามารถออกคำสั่งไปโดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยด้วย 
สำหรับประกาศตัวร้ายสุดของการเลือกตั้ง คือ การห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ฉบับที่ 57/2557 ประกาศฉบับนี้ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขข้อยกเว้นใดๆ เอาไว้เลยว่า พรรคการเมืองจะเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองได้ในกรณีใดหรือช่วงเวลาใดบ้าง 
แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องให้ คสช. “ปลดล็อกพรรการเมือง” หมายถึง การยกเลิกประกาศฉบับนี้ เพื่อคืนบรรยากาศสู่การเลือกตั้ง แต่ คสช. ก็ไม่ได้ตอบรับ กลับเลือกใช้อำนาจมาตรา 44 เพียง “คลายล็อค” หรือเปิดให้พรรคการเมืองดำเนินกิจการทางธุรการได้ทีละเรื่องๆ ตามที่ คสช. เห็นควร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งก็จึงทำได้เพียง “เดาใจ” คสช. เอาว่า อยากจะยอมคลายล็อคให้ในเรื่องใดและในช่วงเวลาใดบ้าง 
จนถึงช่วงเดือนตุลาคม 2561 พรรคการเมืองก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้รับบริจาคเงิน จัดทำนโยบายนำเสนอนโยบายต่อประชาชน หรือ การหาเสียงทั้งหมดจะเริ่มทำได้เมื่อใด และมีขอบเขตเพียงใดก็อยู่ในมือ คสช. แต่เพียงผู้เดียว
2.4 การกำหนดวันเลือกตั้ง
ตามโรดแมปในรัฐธรรมนูญ 2560 การเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นอย่างช้าภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 แต่ทันทีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็ต้องมีเหตุให้เลื่อนอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อใส่คำถามพ่วงเข้าไป และการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน
ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็เหมือนจะได้เดินหน้าสู่การเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2561 แล้ว แต่ สนช. ก็จงใจเลื่อนการเลือกตั้งออกไป โดยวิธีการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งออกไป 90 วัน และก็ยังยื้อสุดๆ ไว้ด้วยการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งก่อนการประกาศใช้อีก
จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาการกำหนดวันเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปตาม “โรดแมป” ของรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียว หาก คสช. รู้สึกว่า ยังจัดการอะไรไม่พร้อม หรือยังไม่อยากรีบลงจากอำนาจ ก็สามารถหา “เทคนิค” มาใช้เพื่อเลื่อนกรอบเวลาการเลือกตั้งออกไปได้อยู่เรื่อยๆ และจนกว่าจะจัดสรรองค์ประกอบต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อให้ตัวเองมั่นใจและอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบวันเลือกตั้งจึงจะมีความชัดเจน
จนสุดท้าย เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งผ่านทุกกระบวนการและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็ควรเป็นอำนาจของ กกต. ที่จะกำหนดวันเลือกตั้งออกมาได้แต่เมื่อ กกต. พูดถึงกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทางพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็รับลูก แต่ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้เอาไว้ว่า หากทำไม่ได้ค่อยว่ากันอีกที
3. คสช. เป็นผู้เล่นเอง ในสนามการเลือกตั้ง
ระหว่างที่พรรคการเมืองต่างๆ และผู้ที่ประสงค์จะเข้าสู่สนามการเมืองยังทำกิจกรรมใดๆ ไม่ได้ ก็มีพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนหนึ่งประกาศ พร้อมลงเลือกตั้งเพื่อสนับสนุนแนวทางของ คสช. สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง
ที่โดดเด่นที่สุด ก็คือ พรรคพลังประชารัฐ มีแกนนำคนสำคัญเป็น “กลุ่มสามมิตร” ได้แก่  สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร, สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา และแกนนำกลุ่มวังน้ำยม ที่เคยสังกัดในพรรคไทยรักไทย และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ ในรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ที่มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นอดีตสมาชิก คสช. ด้วย
สำหรับแนวทางของพรรค สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ก็ออกตัวยืนยันชัดเจนว่า สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่นอน เพราะอยากเห็นความต่อเนื่อง
ต่อมาเมื่อมีการประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรค ก็ได้ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค และกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษก ซึ่งทุกคนพร้อมลงสนามเลือกตั้งทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ พร้อมประกาศว่า จะลาออกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
พรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็เป็นอีกผู้เล่นหนึ่งที่น่าจับตา เพราะเป็นเหมือนการรวมตัวของแนวร่วม กปปส. นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ, สุริยใส กตะศิลา, จักษ์ พันธ์ชูเพชร, เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ต่อมาที่ประชุมได้เลือกให้หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ให้เป็นหัวหน้าพรรค ตามที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้เสนอชื่อ
ยังมีอีกหลายพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเข้าสู่สนามการเมือง โดยพร้อมสนับสนุนแนวทางของ คสช. เช่น พรรคประชาชนปฏิรูป ภายใต้การนำของไพบูลย์ นิติตะวัน และทหารยศนายพลหลายคน, พลังพลังชาติไทย นำโดย พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์, พรรคเห็นแก่ชาติ นำโดยกริช ตรรกบุตร อดีต ส.ส.พรรคมาตุภูมิ, พรรคพลังธรรมใหม่, พรรคพลังพลเมืองไทย ฯลฯ
ขณะที่ คสช. เป็นผู้เขียนกติกาการเลือกตั้ง และเป็นผู้ตีความบังคับใช้กติกาการเลือกตั้งเองตามดุลพินิจที่ไม่แน่นอน เมื่อมีผู้เล่นในสนามการเลือกตั้งจำนวนมากประกาศพร้อมสนับสนุน คสช. ให้กลับมามีอำนาจต่อภายหลังการเลือกตั้งด้วย จึงต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่า การตีความและบังคับใช้กฎหมายต่างๆ จะเป็นไปอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม หรือเลือกปฏิบัติจนนำไปสู่การควบคุมผลการเลือกตั้งได้ตามใจ คสช.