RSD-สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง ทางเลือกสันติภาพชายแดนใต้

สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง หรือ RSD (Right to Self-determination) อาจจะเป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นหูหนักสำหรับชาวไทย แต่สิทธิดังกล่าวได้ถูกบรรจุไว้ในสหประชาชาติ ครั้งแรกคือมติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธ.ค. ค.ศ.1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ในข้อ 1.1 ของมติดัง กล่าวว่า “กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง 
อย่างไรก็ดี สิทธิดังกล่าว หากมองแบบไม่ละเอียดก็อาจจะตีความได้ว่า มันอาจกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดการแบ่งแยกประเทศอันจะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงได้ แต่แท้จริงแล้วสิทธิดังกล่าวมีรูปแบบที่หลากหลาย ครอบคลุมการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง การพัฒนา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตนเอง ยกตัวอย่างกรณีของไทย อาจเป็นการให้มีจังหวัดจัดการตัวเอง หรือการยอมรับการใช้ภาษาที่แตกต่างหรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง 
ด้วยความน่าสนใจของตัวสิทธิดังกล่าว ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักศึกษานักเรียนและเยาชนปาตานี หรืิอ PerMAS จึงจัดกิจกรรมเสวนา แลกเปลี่ยนมุมมองพร้อมทั้งเสนอวิธีแก้ไขปัญหาของชาวมุสลิมในปัตตานี ภายใต้หัวข้อ  “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองเพื่อสันติภาพ” ขึ้นมา
โดยประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาปัตตานีฯ เสนอว่า ให้ปรับใช้เรื่องสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตัวเองเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ โดยนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ เห็นตรงกันว่า ต้องมีการบริหารจัดการความหลากหลาย และสร้างความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับรัฐ
เปิดพื้นที่-บริหารจัดการความหลากหลาย กุญแจสำคัญอย่างหนึ่งของสันติภาพใต้
อ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า 14 ปีที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายรวมถึงความเห็นจากภาคประชาสังคม มันจึงค่อนข้างที่จะชัดเจนว่า ปัญหาที่จะต้องแก้ไขมีอะไรบ้าง เช่นต้องแก้ไขในแง่ของการมีสิทธิเสรีภาพ มีส่วนร่วมจากชาวบ้าน การเจรจากับรัฐไทย อีกทั้งความยุติธรรมต้องให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานในคดีความมั่นคง เช่น สิทธิการประกันตัว การสืบหาความจริง หยุดซ้อมทรมาน รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายพิเศษและการกระจายอำนาจ มีการปกครองที่เหมาะสมกับประชาชน 
ชลิตา มองว่า แนวทางเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบรัฐบาลทหาร มีแต่กระบวนการประชาธิปไตยที่จะเอื้อต่อการสร้างสันติภาพในภาคใต้ ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ออกเสียงเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่แค่รัฐบาลทหารที่เป็นปัจจัยหลักมันยังมีเรื่องชาตินิยม ยังมีความขัดแย้งเรื่องการยอมรับประวัติศาสตร์ของคนในพื้นที่ ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะมีความเป็นไปได้มากกว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย 
อย่างไรก็ดี ชลิตา ยอมรับว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นข้อเสนอของคนนอก ซึ่งเงื่อนไขที่จะทำมันให้สำเร็จคือปัจจัยภายในด้วย โดยความท้าทายของการสร้างสันติภาพภาคใต้คือความหลากหลาย เพราะฉะนั้นหากจะพูดถึงเรื่องกำหนดชะตากรรมภายใต้เงื่อนไขความหลากหลายนี้  มันจะต้องเกิดการเจรจากับภาคส่วนต่างๆ หรือพรรคการเมือง อีกทั้งมันต้องเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของชาวบ้านเช่นเรื่องที่ดินป่าไม้ ยาเสพติด การบังคับให้เด็กแต่งงาน ซึ่งไม่ได้แค่เน้นโครงสร้างทางการเมืองเท่านั้น
สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง ทางเลือกสำหรับสันติภาพภาคใต้ 
ฮาฟิส ยะโก๊ะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักศึกษานักเรียนและเยาชนปาตานี กล่าวว่า ไทยมีปัญหากับการบริหารจัดการกับความขัดแย้งมาตลอด ซึ่งในความเป็นจริงความขัดแย้งมันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกคน  แต่เพราะรัฐบาลมองความขัดแย้งผ่านเลนส์ของความมั่นคง สุดท้ายมันเลยจบลงด้วยการใช้อาวุธห่ำหั่นกัน ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย รัฐบาลไม่เคยหาทางออกที่จะเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เคยรับฟังปัตตานีเลยแม้จะไม่ใช้เรื่องการเมืองก็ตาม ถ้ารัฐมองว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากันแม้ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของไทย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การยอมรับข้อเสนอของทุกชนชาติ ศาสนา หรือภูมิภาค 
สำหรับข้อเสนอของประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ คือ การปรับหลักการเรื่องสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตหรือ RSD (Right to Self-determination) มาใช้ โดยหลักการนี้ที่ถูกบรรจุในมติของสหประชาชาติ และถูกใช้โดยกลุ่มชาติพันธ์ุที่พยายามจะปลดปล่อยตัวเองจากประเทศเจ้าอาณานิคม ซึ่งหลักการดังกล่าว หากมองให้เป็นรูปธรรมก็คือ การทำประชามติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ การทำประชามติของชาวกาตาลุญญาเพื่อที่จะแยกตัวออกจากสเปนและออกแบบการปกครองของตนเอง หรืออีกกรณีที่ประสบความสำเร็จคือ ติมอร์เลสเตที่ใช้หลักกการ RSD  แยกตัวเป็นเอกราชจากอินโดนิเซีย 
ฮาฟิส มองว่า ถ้าเราไม่ได้มองทางออกที่ผ่านเลนส์ของความมั่นคง มันจะมีทางออกอีกมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือเป็น ออโตโนมี่ (Autonomy) หรือว่าอยู่ภายใต้รัฐไทย  แต่อย่างไรก็ตามทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ เชื่อว่า RSD อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นข้อเสนอที่ให้ประชาชนได้ตัดสินใจ แล้วให้มันเป็นกระบวนการการถกเถียงกันในเวทีวิชาการ และการถกเถียงกันนั้นจะนำไปสู่คำตอบในการแก้ไขความรุนแรงในปัตตานีได้ ซึ่งเป็นวิธีการจัดการที่ดีกว่าการจับอาวุธ
ความไว้วางใจมาก่อน สันติภาพจะตามมาทีหลัง
อ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า สิิ่งที่จะลดความขัดแย้งลงได้ คือจะต้องทำให้ “มาตราการการสร้างความไว้วางใจ” เป็นคำสำคัญและพลักดันให้เป็นนโยบายสำคัญ อย่างกรณีถ้ามีการปิดล้อมจับกุมที่ไม่เหมาะสม หรืออะไรก็ตามที่เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน เราก็จะเห็นมันได้ชัดเจนว่าการกระทำเหล่านี้ขัดกับกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ทางภาคประชาสังคมกับเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องสร้างมาตราการตัวนี้ขึ้นมา  อันนี้ควรจะพูดก่อนเรื่อง RSD เพราะฉะนั้นถ้ามีพรรคการเมืองไหนเสนอนโยบายนี้ขึ้นมา มันก็จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืน แล้วเราจะรู้ว่าอะไรมันขัดต่อสิทธิมนุษยชนและกระบวนการสันติภาพ