กฎหมาย ป.ป.ช. ยุคใหม่ #2 “ติดดาบ” ให้อำนาจเพิ่ม พร้อมเร่งรัดเวลาทำงาน

 

21 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ที่จะเป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับการปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย กฎหมายนี้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้ยกร่าง ก่อนผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถือเป็นหนึ่งในกฎหมายลูกสิบฉบับที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ 2560
กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับเดิมปี 2542 เคยถูกแก้ไขเมื่อปี 2550 ต่อมาแก้ไขครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 แก้ไขอีกสองครั้งในยุคของ สนช. ชุดนี้ และแก้ไขโดยประกาศคณะรัฐประหารมาแล้วถึงสามฉบับ การแก้ไขแต่ละครั้งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของแต่ละยุคสมัยที่จะเพิ่มเครื่องมือเพื่อปราบคอร์รัปชั่นให้สำเร็จ แต่กฎหมายเดิมก็ยังทำงานได้ไม่เป็นที่ถูกใจ ด้วยเหตุนี้ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับปี 2561 นี้จึงยกเลิกระบบเก่าทั้งหมดเลย และวางโครงสร้างองค์กร ป.ป.ช. พร้อมอำนาจหน้าที่ขึ้นชนิดที่เรียกได้ว่า “ยกเครื่องใหม่ทั้งหมด”
กฎหมายเดิมมี 133 มาตรา กฎหมายใหม่มี 200 มาตรา การแบ่งหมวดและการเรียงลำดับแตกต่างกันมาก หากพิจารณาทั้งฉบับแล้วจะพบว่า ผู้ร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับนี้ ได้วาดภาพฝันองค์กรนี้ขึ้นใหม่ โดยการ:
– เพิ่มอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริง จำกัดกรอบเวลาทำงานให้ชัดเจน ปัดภาระคดีเล็กน้อยให้เป็นหน้าที่องค์กรอื่น 
ติดดาบ เพิ่มอำนาจแสวงหาพยานหลักฐาน
คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. มีหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐาน สอบสวน และแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อเอาผิดกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้น กฎหมายจึงต้องมอบอำนาจเหล่านี้ไว้ให้ด้วย นอกจากอำนาจตามที่มีอยู่เดิม เช่น การเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ เรียกเอกสารหลักฐาน การขอให้ศาลออกหมายค้นแล้ว พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ยังเพิ่มอำนาจสำหรับการแสวงหาข้อเท็จจริงให้กับ ป.ป.ช. ในแง่มุมอื่นๆ อีก เช่น
1) มาตรา 34(5) ให้ ป.ป.ช. สามารถจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ในการตรวจสอบหาข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน และการดำเนินคดีติดตามทรัพย์สินในต่างประเทศได้
2) มาตรา 38 ให้ ป.ป.ช. มีอำนาจขอข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ได้ เพื่อการตรวจสอบ ไต่สวน วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
3) มาตรา 39 ให้กรรมการ ป.ป.ช. และพนักงานไต่สวนที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล ในกรณีที่มีการกระทำความผิดฐานทุจริตเกิดขึ้นในลักษณะความผิดซึ่งหน้า
4) มาตรา 67 ให้ ป.ป.ช. ใช้วิธีการอัดเป็นภาพวีดีโอในการสอบสวนได้ โดยให้ผู้ถูกสอบได้ตรวจสอบถึงความถูกต้องของบันทึกการให้ปากคำนั้น บันทึกนี้อาจทำสำเนาออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือสิ่งบันทึกอย่างอื่นก็ได้
5) มาตรา 102 ให้ ป.ป.ช. มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน นอกจากตรวจสอบถึงทรัพย์สินของคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายเดิมแล้ว พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ กำหนดเพิ่มให้คำว่า "คู่สมรส" รวมถึงคนที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วย
จำกัดกรอบเวลา ป.ป.ช. ต้องทำคดีให้เสร็จภายในสองปี
ความล่าช้า เป็นอุปสรรคสำคัญมากสำหรับการเอาผิดการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้หลายคดีจะมีพยานหลักฐานและ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินคดีเต็มที่แล้ว แต่ด้วยภาระงานที่ล้นมือและกฎระเบียบมากมาย ทำให้คดีจำนวนมากไปคั่งค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. และไม่มีผลสรุปออกมาเสียที ดังนั้น พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ จึงตีกรอบเวลาการทำงานอย่างชัดเจน โดยหวังว่า ป.ป.ช. จะทำงานได้ตามกำหนด ไม่ช้าจนเกินไป และไม่ดองคดีเพื่อหวังช่วยผู้ถูกกล่าวหา
มาตรา 48 กำหนดว่า เมื่อมีคดีเข้าสู่มือของ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการโดยพลัน หากจำเป็นต้องไต่สวน ต้องทำให้แล้วเสร็จและมีความเห็นหรือวินิจฉัยภายในเวลาไม่เกินสองปี หรือภายในเวลาที่สั้นกว่านั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของคดีตามที่คณะกรรมการป.ป.ช. จะออกระเบียบมากำหนดกรอบเวลาต่อไป
แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ระยะเวลาดังกล่าวยังสามารถขยายออกไปได้อีกหนึ่งปี รวมแล้วต้องไม่เกินสามปี ซึ่งก็ยังมีเหตุยกเว้นอีกสำหรับกรณีต้องไปไต่สวนในต่างประเทศ อาจขยายระยะเวลาออกไปอีกก็ได้
มาตรา 50 กำหนดให้ กรณีต้องไต่สวนเบื้องต้น ให้ทำรายงานไต่สวนเบื้องต้นให้เสร็จและเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 180 วัน และมาตรา 51 กำหนดให้คดีสำคัญที่มีผลกระทบกว้างขวางสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนก็ได้ ซึ่งต้องจัดทำสำนวนการไต่สวนให้เสร็จและเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในหนึ่งปี ทั้งสองกรณีสามารถขยายเวลาได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละ 60 วัน
นอกจากนี้ยังมีมาตรา 47 คอยกำกับว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการมีหน้าที่ควบคุมและกวดขันให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนปฏิบัติหน้าที่ให้เสร็จภายในกำหนดเวลา หากผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติให้แล้วเสร็จให้ดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณี
ลดภาระงาน ให้ ป.ป.ช. ทำแต่คดีใหญ่
อีกหนึ่งมาตรการที่มุ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และความรวดเร็วของ ป.ป.ช. คือ การลดภาระงานที่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงออกจากมือของกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งเก้าคน ปัดไปให้หน่วยงานอื่นช่วยกันทำด้วย
โดยมาตรา 50 ของพ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ กำหนดให้ตั้ง “ผู้ไต่สวนเบื้องต้น” ได้ เพื่อทำหน้าที่การไต่สวนแทนกรรมการ ป.ป.ช. โดยต้องทำงานกันเป็นคณะ ประกอบด้วย เลขาธิการ ป.ป.ช. หรือหัวหน้าพนักงานไต่สวน ร่วมกับพนักงานไต่สวนอีกอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นคณะ และอาจมีผู้ช่วยพนักงานไต่สวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นช่วยทำงานด้วยก็ได้ เมื่อไต่สวนเบื้องต้นเสร็จแล้วจึงส่งรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป
มาตรา 61 วางหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่ว่า กรณีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อตำรวจแล้ว เมื่อตำรวจส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แม้จะเป็นคดีทุจริตที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. แต่หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า เป็นเรื่องไม่ร้ายแรง ก็ให้ส่งเรื่องคืนตำรวจภายใน 30 วัน ให้ตำรวจดำเนินการต่อได้ ในกรณีนี้ให้ ป.ป.ช. จัดทำคู่มือแจกจ่ายให้ตำรวจทราบถึงอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนด้วย
มาตรา 62 ก็วางหลักเกณฑ์ว่า กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่อำนวยการระดับสูงลงมา หรือกรณีที่ข้อกล่าวหาไม่ใช่ความผิดร้ายแรง คณะกรรมการป.ป.ช. จะมอบหมายให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ดำเนินการแทนก็ได้
นอกจากกรณีเหล่านี้แล้ว ในคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ หรือความผิดอื่นๆ มาตรา 63 ก็ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีทางเลือก หากเห็นว่า ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ก็สามารถส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่นเดียวกับคดีทั่วๆ ไปได้ หรือกรณีอื่นๆ ที่คณะกรรมการป.ป.ช. เห็นว่าไม่ใช่ความผิดร้ายแรง มาตรา 64 ก็ให้มีทางเลือกส่งเรื่องไปให้ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่นั้นๆ ดำเนินการทางวินัยไปก็ได้
เพิ่มอำนาจตัดสินใจร่วมกับอัยการสูงสุด เมื่อต้องฟ้องคดีหรือต้องยื่นอุทธรณ์
กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่อัยการสูงสุดเห็นว่า สำนวนการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะฟ้องคดี มาตรา 77 กำหนดขั้นตอนต่อไปว่า ให้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายละเท่ากันไม่เกินฝ่ายละห้าคน ขึ้นมาดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน
หากคณะกรรมการร่วมไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินคดีต่อไป โดยจะยื่นฟ้องคดีเองก็ได้ และห้ามไม่ให้พนักงานอัยการรับแก้ต่างให้จำเลย
กรณีที่อัยการสูงสุดฟ้องคดีและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาแล้ว หากอัยการสูงสุดจะไม่อุทธรณ์ มาตรา 79 กำหนดให้อัยการสูงสุดแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้ฟังความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วย
สำหรับกรณีการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งอื่นๆ หากศาลพิพากษาแล้วและอัยการสูงสุดจะไม่อุทธรณ์หรือฎีกา มาตรา 94 ก็กำหนดให้ต้องหารือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อน หากมีความเห็นต่างกัน ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ตัดสินใจต่อไป โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนทราบด้วย
ส่วนมาตรา 95 กำหนดให้ กรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ถูกกล่าวหา ให้ประธานกรรมการป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลเอง
เพิ่มฐานความผิด เพิ่มอัตราโทษ เตรียมปรับนิติบุคคลจ่ายสินบน
เมื่อ ป.ป.ช. มีอำนาจเข้ามาแสวงหาพยานหลักฐาน ไต่สวน และดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่นได้แล้ว อีกเงื่อนไขหนึ่งที่ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพื่อหวังจะทำให้การเอาผิดบรรลุผลมากขึ้น คือ การเพิ่มฐานความผิด หรือการกระทำที่จะเป็นความผิดและอัตราโทษที่อาจเอาผิดได้ ตัวอย่างเช่น
1) เพิ่มความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การสอบสวน การไต่สวน การดำเนินคดี ตามกฎหมายนี้ มาตรา 128 กำหนดให้เป็นความผิดเฉพาะ มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับโทษเป็นสองเท่า
2) เพิ่มความผิดกรณีให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินแก่เจ้าหนักงานของรัฐ เพื่อให้กระทำหรือไม่กระทำการใดโดยมิชอบ จากเดิมที่กฎหมายเอาผิดเพียงบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ เพิ่มให้เอาผิดกับนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วน บริษัทต่างๆ ในกรณีที่การติดสินบนเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของนิติบุคลลนั้นๆ และนิติบุคคลไม่ได้มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม จะต้องถูกปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น หรือมูลค่าของผลประโยชน์ที่ให้กันนั้น
3) เพิ่มโทษ สำหรับความผิดฐานเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มาเนื่องจากการทำงานตามกฎหมายนี้ เป็นสองเท่า จากเดิมให้จำคุกไม่กินหกเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 280 เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และจากที่เดิมมีข้อยกเว้นกรณีการเปิดเผยเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือประโยชน์สาธารณะ กฎหมายใหม่ตัดข้อยกเว้นออก เท่ากับการเปิดเผยไม่ว่ากรณีใดๆ ก็จะเป็นความผิด หากเป็นการเปิดเผยโดยกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มาตรา 183 กำหนดโทษให้สูงขึ้นอีกสองเท่า