ทวงคืนกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีทหาร

ในยุค คสช. เมื่อทหารประกาศที่จะเข้ามาปราบปรามการกระทำต่างๆ ที่ถูกมองว่า "เป็นภัย" และเพื่อให้ดูเหมือนความตั้งใจนี้จริงจัง "เป็นพิเศษ" การใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติอาจจะดูไม่น่าตื่นตาตื่นใจเพียงพอ คสช. จึงใช้อำนาจพิเศษออกประกาศและคำสั่งให้ทหารเข้ามามีบทบาทในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมด้วย 

 
เริ่มจากขั้นตอนการสืบสวน สอบสวน ซึ่งปกติเป็นหน้าที่ของตำรวจ ทหารก็ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีต่างๆ เช่น

 

– ในคดีเกี่ยวกับการเมือง และความมั่นคงของประเทศ ทหารเข้ามามีอำนาจตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558
– ในคดีความผิด 27 ประเภท เกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล ทหารเข้ามามีอำนาจตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559
– ในกรณีประกาศพื้นที่ควบคุมพิเศษ เช่น การบุกวัดพระธรรมกาย ทหารเข้ามามีอำนาจตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2560
 
 
ในขั้นตอนที่ปกติเป็นอำนาจของตำรวจนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งสามฉบับให้ทหารเป็นพิเศษ ดังนี้

 
1. เรียกบุคคลมารายงานตัว และกักตัวไว้เพื่อการซักถามได้ไม่เกิน 7 วัน หรือบางครั้งอ้างว่าเป็นการ "ปรับทัศนคติ" ซึ่งเป็นการควบคุมตัวในค่ายทหารเพื่อสอบสวนหาข้อมูลโดยไม่มีทนายความ และไม่มีโอกาสติดต่อบุคคลภายนอก 

 
2. การเข้าค้นบ้าน ซึ่งที่จริงต้องใช้หมายศาลเพื่อเข้าค้น แต่ทหารก็มักอ้างอำนาจพิเศษและเหตุยกเว้นว่า เป็นกรณีที่มีเหตุสงสัยตามสมควร และหากช้าเกินไปก็อาจจะทำให้บุคคลหรือทรัพย์สินต้องสงสัยถูกย้ายหนีไปแล้ว และทหารยังใช้อำนาจข้อนี้เข้าไป "เยี่ยมบ้าน" โดยไม่บอกกล่าวเจ้าของบ้านล่วงหน้า และไม่ระบุเหตุผลที่ชัดเจนของการไปเยี่ยม ซึ่งส่งผลให้กลายเป็นการคุกคาม กดดัน ต่อคนที่แม้ยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการละเมิดกฎหมายเลย

 
3. ทหารมีอำนาจสนับสนุนหรือเข้าร่วมในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนได้ ซึ่งรวมทั้งการนั่งฟังการสอบสวน การมีความเห็นให้ตำรวจสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง หรือการมีความเห็นให้ตั้งข้อหาใดข้อหาหนึ่งต่อผู้ต้องหา

 
ในชั้นศาล เมื่อขึ้นศาลยุติธรรมในระบบปกติ ก็คาดหวังได้ว่า ทหารจะไม่สามารถเข้ามามีอำนาจอิทธิพล หรือให้คุณให้โทษต่อศาลได้ จึงควบคุมผลคำพิพากษาไม่ได้ ดังนั้น คสช. จึงออกประกาศฉบับที่ 37/2557, 38/2557, 50/2557 เพื่อให้คดีของพลเรือนบางประเภทต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งมีตุลาการที่ตัดสินคดีทุกคนเป็นทหาร เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหมอยู่ภายใต้บังคับบัญชาโดยตรงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ที่ศาลทหาร ผู้สั่งฟ้องคดีและดำเนินคดีเป็นโจทก์ ก็คือ อัยการทหาร ซึ่งเป็นข้าราชการทหารอีกเช่นกัน ต่างจากกระบวนการปกติที่พนักงานอัยการซึ่งมีความเป็นอิสระเป็นผู้ใช้ดุลพินิจสั่งฟ้อง

 
ในบรรยากาศที่กำลังจะเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมก็ควรเดินหน้าไปตามกระบวนการปกติ การจับกุมดำเนินคดีหรือตัดสินคดีของประชาชน ควรเป็นอำนาจดุลพินิจโดยอิสระของตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา โดยไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง

 
ชวนทุกคนร่วมลงชื่อเพื่อทวงคืนกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีทหาร #ทวงคืนสถานการณ์ปกติ #ปลดอาวุธคสช ได้ที่ ilaw.or.th/10000sign