คุยกับ “ไพฑูรย์ สร้อยสด” ผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งคสช.ที่ให้อำนาจทหารเข้ามามีบทบาทในการ “ทวงคืนผืนป่า”

ปัญหาเรื่องป่าไม้ เกี่ยวกับการรุกล้ำที่ดินในประเทศไทยมีความยืดเยื้อมายาวนาน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากนโยบายของรัฐในแต่ละช่วง ในยุคที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นโยบาย "ทวงคืนผืนป่า” ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยในเขตป่าได้รับความเดือดร้อนและต้องอพยพออกจากพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยมาก่อนหน้านี้ 
ซึ่งการทวงคืนผืนป่าอาศัยอำนาจที่ถูกระบุอยู่ในคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่สำคัญทั้งหมด 3 ฉบับ คือ คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หรือที่เรียกว่าปฎิบัติการทวงคืนผืนป่า คำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ที่มีข้อยกเว้นว่าไม่ให้บังคับใช้กับคนยากไร้ ซึ่งดูเหมือนจะมีข้อยกเว้น แต่หลังจากที่มีการบังคับใช้ข้อมูลของ กอ.รมน. มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีไปกว่า 1,700 กว่าราย และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2558 ที่กำหนดให้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ทวงคืนผืนป่า สามารถขอกำลังเสริมจากทหารได้ เพื่อช่วยกำจัดปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น 
สำหรับแขกรับเชิญของรายการ “คืนวันพุธ ปลดอาวุธ คสช.” ตอนที่ 6 เขาคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า “ไพฑูรย์ สร้อยสด” อดีตชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเก้าบาตร จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่มีความเข้มข้นในการโยกย้าย ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน ปัจจุบันไพฑูรย์อพยพมาอยู่ที่ อ.รำนางรอง จ.บุรีรัมย์
การที่ชาวบ้านเก้าบาตรไปอยู่ในพื้นที่ป่ามีที่มาที่ไปอย่างไร?
บางคนอาจจะสงสัยว่าหมูบ้านเก้าบาตรไปอยู่ตรงนั้นได้ยังไง เพราะเป็นป่าสงวน ผมขอย้อนความกลับไปเมื่อปี 2509 สมัยนั้นรัฐบาลมีนโยบายในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย หรือสมาชิกของคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หนึ่งในนโยบายตอนนั้นคือ “เปิดพื้นที่ป่า” เช่น พื้นที่ป่าที่กลุ่มสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อยู่จะมีการเปิดเพื่อให้ชาวบ้านเข้าไปทำกิน ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีการให้สัมปทานตัดไม้
พอมาปี 2511 ชาวบ้านที่เคยไปเป็นลูกจ้างสัมปทานตัดไม้เริ่มเห็นว่าตัดไม้ใหญ่ลงช่วงหน้าแล้งไฟก็จะไหม้แล้วพื้นที่ก็จะกลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมไป จึงชวนกันเข้าไปทำมาหากิน จากที่คนเฒ่าคนแก่บอกกันมาว่าในส่วนหนึ่งก็จะมีเจ้าหน้าที่ของทางรัฐบอกว่าพื้นที่บางส่วนสามารถทำกินได้ พอมีคนหนึ่งทำก็มีคนสองคนสามตามมาเรื่อยๆ ชักชวนกันมาแรกๆ อาจจะมีแค่ 10 ครอบครัว พอมาช่วงปี 2516-2517 มีมากกว่า1,000 ครอบครัว มีหมู่บ้านถึง 4-5 หมู่บ้าน ในแต่ละหมู่บ้านก็มีประชากรประมาณ 100 หลังคา แต่ละคนที่เข้ามาสามารถบุกเบิกมีที่ได้อย่างต่ำคนละ 20-30 ไร่ 
แล้ววิถีชีวิตของคนเก้าบาตรกับธรรมชาติเป็นอย่างไร?
ต้องเข้าใจว่า ชาวบ้านที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ไม่ได้เข้าไปแล้วถางจนเตียนโล่ง แต่คุณอยู่ตรงนั้นคุณจะต้องมีไม้เชื้อเพลิงไว้ประกอบหาอาหาร และอาหารคุณก็ได้มาจากป่านั่นแหละ ถ้าคุณไม่มีป่าอาหารก็ไม่มี อาหารก็ไม่เกิด แล้วป่าหลายๆตัวก็เป็นสมุนไพร ซึ่งตรงนั้นชาวบ้านก็จะรักษาเอาไว้ไม่ทำลาย มันเป็นยารักษาโรคที่ใกล้ตัวที่สุด เรียกว่าจัดสัดส่วน ส่วนที่ทำนาก็ทำ ส่วนที่ปลูกเป็นพืชก็ปลูกทั้งพืชยืนต้นที่เป็นต้นไม้ก็ปลูก ส่วนที่เป็นป่าคงความอุดมสมบูรณ์ไว้เพื่อเก็บเห็ด แหย่ไข่มดแดง อันนี้ก็จะรักษาไว้
แล้วพอมายุคหลังการรัฐประหารชีวิตชาวบ้านเป็นอย่างไร?
หลังรัฐประหาร พอมีคำสั่งที่ 64/2557 และ 66/2557 ออกมา ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการประชาสัมพันธ์และกดดันให้ชาวบ้านที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่อพยพออกมา ในช่วงแรกอาจจะมีการประชาสัมพันธ์ให้อพยพออกมาโดยความสมัครใจโดยการให้ลงชื่อลงทะเบียน แต่ว่าในทะเบียนก็มีการระบุว่าเข้าไปบุกรุกเท่าไหร่ และสุดท้ายก็ลงชื่อไว้แล้วลงเล็บว่าผู้บุกรุก ซึ่งคำว่าผู้บุกรุกเนี่ยทางชาวบ้านพวกเราเองก็พยายามต่อสู้มาโดยตลอดว่า เราไม่ใช่ผู้บุกรุก เราเป็นผู้บุกเบิก เรามาทวงสิทธิของเราตรงนี้
ภายใต้คำสั่งนี้ ทำให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่มีความเด็ดขาดมากขึ้น แต่ก่อนชาวบ้านเผชิญหน้ากันแค่กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับคนในพื้นที่ก็คุ้นๆ กันอยู่อาจมีปากเสียงกันบ้าง แต่ยังพอเจรจากันได้อยู่ พอมามีคำสั่งก็มีรถทหารมานำหน้า มีอาวุธพร้อม ทำให้การปฏิบัติการมีความเฉียบขาด
เจ้าหน้าที่มีวิธีการยังไงเพื่อบีบเราออกจากพื้นที่?
อย่างง่ายๆ เลยก็คือใช้ปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนก็คือ หลังจากที่เขาเริ่มมากดดันชาวบ้านก็เริ่มมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อความปลอดภัย อยู่ตรงกลางศาลาแล้วมีเชือกมีผ้ามาล้อมไว้ เราก็กลัวเหมือนกันว่าจะมีคนไม่หวังดีแอบเอาของที่ผิดกฎหมายมาซุกหรือยัดให้ เวลาที่ทหารมาก็จะบุกเข้าค้น คือมีรถฮัมวี่มาก่อนรถทหาร 5-6 คัน มาจอดแล้วกระโดดลงจากรถพร้อมอาวุธปืนวิ่งมาล้อมที่พักของพวกเราชาวบ้าน(ศาลาที่รวมตัว)
รู้สึกอย่างไรกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่?
ก็กลัวนะครับ ปืนนะครับ(หัวเราะ) บางวันทหารมากันทีเป็น 100 ไม่ใช่แค่คนสองคน นานๆ เข้ายิ่งกดดันขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งการพูดเพื่อข่มขู่ว่าถ้าไม่ยอมย้ายออกก็จะใช้รถไถดันบ้านทิ้ง เอาเชือกผูกเสาแล้วใช้รถเทรลเลอร์ลากบ้านพังลงมา แล้วก็มีเรื่องคดีด้วยว่า หากไม่ยอมย้ายออกจะมีการแจ้งความในข้อหาบุกรุก
หลังจากคำสั่งคสช. ออกมา ชาวบ้านดำเนินการอย่างไรบ้าง?
ตอนนั้นทางบ้านเก้าบาตรได้มายื่นหนังสื่อที่หน้ากองทัพบก เพื่อที่จะขอให้ชะลอในคำสั่งนี้ อย่างที่บอกว่าคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 มีข้อยกเว้นให้กับผู้ยากไร้ ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเราเป็นคนยากไร้ก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์นั้น และที่สำคัญถ้าหากอ่านในท้ายคำสั่งมันจะระบุว่าไม่ใช้บังคับกับการกระทำก่อนหน้าที่คำสั่งนี้ออกมา หรือหมายความว่าคนที่บุกรุกหลังคำสั่งนี้ถึงจะสามารถใช้คำสั่งนี้ได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ
พอเรามายื่นเรื่องที่กองทัพบก คนที่มารับเรื่องก็ให้เบอร์โทรให้เราประสานกันเองกับแม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งทางผมก็ได้พูดคุยกับแม่ทัพภาคที่ 2 ท่านก็ได้ยืนยันว่าคำสั่งตัวนี้เป็นคำสั่งของ คสช. เป็นนโยบายของรัฐบาล คสช. คือไม่สามารถที่จะชะลอได้ ต้องออกอย่างเดียวจะออกดีๆ หรือออกด้วยน้ำตา
พอชาวบ้านต้องออกจากหมู่บ้านเก้าบาตรแล้วชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง?
หลังจากโดนบังคับให้ออกจากพื้นที่ ส่วนหนึ่งออกมาอยู่กับญาติ ส่วนหนึ่งก็จะมีบ้านที่อยู่ในบ้านนางรอง แต่โดยส่วนใหญ่คือไม่มีที่ดินทำกิน ในช่วงแรกก็มาอาศัยอยู่กับญาติก่อน เพราะเราก็หวังกัน เนื่องจากตอนออกมาเจ้าหน้าที่บอกว่าจะเยียวยาแก้ไขให้ จะหาที่รองรับให้ เราก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งเพราะเคยโดนหลอกมาในช่วง 20-30 ปีที่แล้ว แต่ในสภาวะจำยอมตอนนั้นมันจำเป็นต้องออกมา แต่ลึกๆ ยังมีความหวังเล็กๆ อยู่ว่าเขาจะทำการช่วยเหลือ แต่หลังจากนั้นมา 2 เดือนก็แล้ว 3 เดือนก็แล้ว 4 ปีก็แล้ว ก็ไม่มี
ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเป็นอย่างไรหลังจากออกจากพื้นที่ป่าแล้ว?
ออกมาบางคนก็อยู่ได้แค่ 2 เดือน หรือ 1 เดือน เพราะค่าใช้จ่ายก็ต้องมีลูกไปโรงเรียน ช่วงนั้นงานรับจ้างเขาก็ไม่ค่อยจ้างงานกันเท่าไหร่ ก็ต้องเอาลูกไปฝากไว้กับโรงเรียนสังเคราะห์นางรอง เพราะค่าใช้จ่ายในการศึกษาไม่สูง ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วตัวเองต้องเดินทางไปรับจ้างอยู่ที่ จ.ชุมพร กระจัดกระจายกันไปบางคนก็ไปรับจ้างก่อสร้าง สุดแต่ว่าใครจะปากกัดตีนถีบดิ้นรนได้
คืออยู่ในเก้าบาตรเรามีที่ปลูกข้าวไม่ต้องซื้อข้าวค่าใช้จ่ายมันต่างกันครึ่งหนึ่งเลย เมื่อเรามีข้าวกินเรื่องอาหารที่นั่นมีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ในเก้าบาตรค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่มีก็คือค่าเครื่องปรุงอาหาร และค่าใช้จ่ายให้ลูกไปโรงเรียน แต่เรื่องซื้ออาหารประหยัดไปได้ถึง 70-80% ส่วนเรื่องรายได้สิ้นปีก็จะมีส่วนหนึ่งที่ปลูกมันสำปะหลังแล้วเก็บเกี่ยวออกมาก็จะมีเงินใช้จ่าย ในส่วนหนึ่งก็ใช้หนี้ ธกส. แต่หลังจากที่ออกมา ธกส. พักหนี้ไปหลายรอบแล้ว
ชาวบ้านต่อสู้อย่างไรกับประเด็นนี้เพื่อให้ได้กลับไปบ้านเกิดบ้าง?
พี่น้องเก้าบ้านแม้ตอนนี้จะอยู่ห่างไกลกันแต่ก็ยังมีการติดต่อสื่อสารกันตลอด พยายาเกาะกลุ่มพยายามติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด เรื่องหลักๆ ที่พวกเราสู้มาตลอดก็คือให้เขาจัดหาพื้นที่รองรับ ถ้ายังหาพื้นที่ไม่ได้เราขอกลับไปทำกินก่อนพลางๆ
รัฐมีมาตรการเยียวยาอย่างไร มีหลักการชัดเจนไหม หรือเป็นสัญญาคร่าวๆ
ในช่วงที่ออกมาแรกๆ มีโครงการของทหาร (กอ.รมน.) มีการแจกปลาดุกมาเลี้ยงทั้งหมู่บ้านและหัวอาหาร ใครที่มีสวนหลังบ้านให้ทำบ่อผ้าใบเล็กๆ เลี้ยงปลาดุกเลี้ยงกุ้ง แต่เอามาเลี้ยงได้ 4-5 วันก็ตายหมด ไม่รู้ว่าเขาเอามายังไง มีแค่นี้แหละครับ หลังจากนั้นมีการประชุมในระดับหมู่บ้านเขาก็มาโฆษณาเข้ามาคุยมาบอกว่า 1 ไร่ 1 แสน เรามีคำถามว่าเมื่อเราไม่มีที่ดินสักไร่ แล้วจะให้เราไปทำ 1 ไร่ 1 แสนได้อย่างไร จะเอาอะไรมาทำ หลังจากนั้นมาความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเยียวยาคือไม่มีเลย หลังจากออกจากพื้นที่มามีการให้ไปลงรายชื่อเพื่อคัดกรอง คนไปลงชื่อประมาณ 300 คน แต่ว่าผ่านกระบวนการคัดกรองเบื้องต้น 76 คน แต่สุดท้ายคือไม่ได้รับการเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาเลยสักคน เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่คัดกรองตั้งมาจากส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว
หลักเกณฑ์การช่วยเหลือที่รัฐกำหนดมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง?
คนที่มีรายได้เกิน 3000 บาทต่อเดือน ก็คือไม่ได้เพราะว่าประเทศไทยกำหนดว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2600 บาทต่อเดือนถึงจะเป็นคนยากจน ซึ่งจริงๆ มันอยู่ไม่ได้ ที่บ้านรับจ้างวันละ 200-250 ถ้างานหนักๆ เลยก็จะ 300 ซึ่งเรารับจ้างเดือนหนึ่งมันก็เกิน 2600 บาท
อยากให้ช่วยสรุปอีกครั้งว่าสุดท้ายแล้วคนอยู่กับป่าได้ไหม?
ได้ครับ เราอยู่กับป่ามาตั้งนาน แต่เหตุผลหลักๆ ที่รัฐพยายามบอกว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ก็คือ กรมป่าไม้เชื่อว่าการจัดการป่าต้องเป็นรัฐเท่านั้นที่สามารถจัดการกับป่าได้ แต่คำถามของผมคือกรมป่าไม้ก่อตั้งขึ้นมา 80 หรืออาจจะ 90 ปี ทำไมป่าไม้ถึงลดลง
เราอยู่กับป่าเราได้มีบทบาทในการช่วยเหลือรัฐอย่างไรบ้างไหม ในการตรวจตาหรือสังเกตการณ์ คนที่มาบุกรุกจริงๆ หรือคนที่เข้ามาทำลายป่าจริงๆ
อย่างช่วงที่เราเข้าไปในบ้านเก้าบาตรใหม่ๆ พื้นที่ที่เป็นป่าลมดิบ ไม่ใช่ป่ายูคาลิปตัสหรือป่าเสื่อมโทรม เราก็จะกันไว้ทำพิธีบวชป่า ปลูกป่าเสริมไปด้วย เราเคยนิมนต์พระอาจารย์ไพรศาล มาเป็นประธานในการบวชป่าด้วย วันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันครบรอบที่เราเข้าไป ทางชุมชนก็จะมีการปลูกป่าเพิ่มจะมีกิจกรรมอย่างนี้อยู่เป็นประจำ “อย่าลืมว่าป่าก็เป็นชีวิตของพวกผม ถ้าผมทำลายป่าก็เท่ากับผมทำลายชีวิตตัวเอง”
คิดว่าใครได้ประโยชน์ที่สุดจากการเอาคนจนออกจากป่า?
ผมเป็นคนในพื้นที่ก็จะตอบยากนะครับ(หัวเราะ) แต่อย่างในกรณีพื้นที่ผม ผมคิดว่าทหารได้ประโยชน์ เหตุผลก็คือทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร ประเด็นการไล่คนออกจากป่าจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นแรกเลย ทางรัฐบาลทหารอาจจะเห็นว่าการรัฐประหารเป็นความผิดจึงดึงแนวร่วมดึงเอามวลชนเข้ามาเพื่อลดทอนในเรื่องนั้น ดึงเอาเรื่องทรัพยากรที่เป็นเรื่องที่คนอิน พอมีเรื่องนี้เข้ามาคนก็จะลืมเรื่องอื่นไป คนที่ได้ประโยชน์ผมว่านะจะเป็นทหาร