สี่ปี สนช.: “สภาตามสั่ง” ผ่านกฎหมายเพิ่มอำนาจ-ปูทาง คสช. อยู่ยาว

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หน้าที่สำคัญคือ การออกกฎหมายให้กับรัฐบาล คสช. สี่ปีที่ผ่าน สนช. เห็นชอบกฎหมายไปแล้วอย่างน้อย 298 ฉบับ ซึ่งกฎหมายจำนวนหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจทางการเมือง
 
สำหรับเป้าหมายการออกกฎหมายเพื่อ คสช. ของ สนช. สามารถแบ่งเป็นสามอย่าง คือ หนึ่ง ออกกฎหมายเพื่อให้ คสช. ใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชนที่ต่อต้าน สอง ยื้อการเลือกตั้งต่ออายุให้กับรัฐบาล คสช. และ สาม ออกกฎหมายเพื่อให้ คสช. สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้หลังการเลือกตั้ง
 
สนช. ออกกฎหมายใช้จัดการคนต่อต้านรัฐบาล
 
สีปีที่ผ่านมา สนช. ผ่านกฎหมายให้ คสช. ใช้ควบคุมการแสดงออกของประชาชน อย่างน้อย 2 ฉบับ ได้แก่  พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) และ  พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ  พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ)
 
สำหรับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถือเป็นกฎหมายสำคัญหลังการรัฐประหารที่ คสช. จะใช้ควบคู่ไปกับประกาศ คสช. หรือ คำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ทั้งนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดให้ผู้ที่จะจัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจล่วงหน้า อีกทั้งยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแทรกแซงการชุมนุม หรือ ควบคุมวิธีการและพื้นที่ในการชุมนุมได้
 
ที่ผ่านมา มีการอ้าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่อข่มขู่และแทรกแซงการชุมนุมไม่น้อยกว่า 16 ครั้ง และมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 214 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่คัดค้านการรัฐประหารและคนที่ไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐบาล
 
ส่วน พ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นกฎหมายสำคัญที่ คสช. ใช้ในการกำหนดบรรยากาศการรณรงค์ประชามติ เนื่องจากกฎหมายเปิดช่องให้ลงโทษผู้ที่แสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังกำหนดโทษสูงถึง 10 ปี ทั้งนี้ หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ มีประชาชนอย่างน้อย 41 คน ถูกดำเนินคดีจากการรณรงค์ให้คนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือ เชิญชวนให้ประชาชนไปใช้สิทธิในการออกเสียงประชามติ
 
 
สนช. ขยายอำนาจ คสช. ควบคุมโลกออนไลน์
 
นอกจากกฎหมายควบคุมประชาชนบนท้องถนนแล้ว สนช. ยังเพิ่มอำนาจให้กับ คสช. ในการควบคุมโลกออนไลน์ ผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ซึ่งสาระสำคัญคือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อคัดกรองและปิดกั้นเนื้อหาที่คณะกรรมการเห็นว่าก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี แม้ว่าเนื้อหาดังกล่าวจะไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลยก็ตาม ซึ่งถือเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตีความได้ค่อนข้างกว้าง
 
ในขณะเดียวกัน สนช. ยังได้แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าการนำเข้าข้อมูลเท็จที่กระทบ "ความปลอดภัยสาธารณะ" และ "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" ให้ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งคำดังกล่าวเป็นนิยามที่เจ้าหน้าที่สามารถตีความได้กว้างขว้างอีกเช่นกัน ทั้งนี้ มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือนโยบายของรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น กรณี พิชัย นริพทะพันธุ์ ถูกดำเนินคดีในกฎหมายฉบับนี้หลังออกมาวิจารณ์ยุทธศาสตร์ชาติ (ยุทธศาสตร์ คสช.)
 
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่รอ สนช. พิจารณาอยู่อีก เช่น  พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์  ที่เปรียบเสมือนกฎอัยการศึกในโลกออนไลน์ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถล้วงข้อมูลของประชาชนได้ หรือ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่กำหนดให้ สื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ต้องเข้ามาอยู่ในระบบควบคุมตรวจสอบและสามารถลงโทษได้ในกรณีที่นำเสนอข้อมูล “ไม่เหมาะสม
 
สนช. ออกกฎหมาย ให้คสช. กำหนดอนาคต 20 ปี
 
บทบาทที่สำคัญอีกประการของ สนช. คือ การช่วยเหลือ คสช. ให้ยังคงอยู่ในอำนาจต่อแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งและรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสองชุดเพื่อพิจารณาและจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อบังคับใช้กับทุกรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ
 
ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ คสช. เป็นผู้คัดเลือกคณะกรรมการชุดทั้งสองชุด รวมถึงร่างยุทธศาสตร์หรือแผนยุทธศาสตร์จะต้องเสร็จสิ้นในยุค คสช. เท่ากับว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็น “ยุทธศาสตร์ คสช.” โดยแท้จริง
 
นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.ว่าด้วยแผนและการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เรียกว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. โดยคณะกรรมการชุดนี้ต้องจัดทำแผนปฏิรูปประเทศขึ้นมาบังคับใช้กับรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ อีกทั้ง แผนดังกล่าวต้องเสร็จสิ้นในยุคของ คสช. เท่ากับว่า แผนปฏิรูปดังกล่าวก็เป็นแผนของ คสช. อีกเช่นเดียวกัน
 
เมื่อร่างยุทธศาสตร์ คสช. และแผนปฏิรูปของ คสช. มีผลบังคับใช้ ทุกรัฐบาลและหน่วยงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม หากหน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตั้งแต่การพักงานไปจนถึงการให้ออกจากราชการ ส่วนรัฐบาลที่ไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ อาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และหมดสิทธิ์เล่นการเมืองตลอดชีวิต ดังนั้นนี่คือกลไกที่กำหนดให้ทุกรัฐบาลต้องเดินตามสิ่งที่ คสช. กำหนด
 
 
สนช. แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจ-แทรกแซงองค์กรอิสระ
 
องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ถือว่ามีบทบาทสำคัญมากในการกำกับรัฐบาล ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น สนช. จะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบ
 
สำหรับภาพรวมของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์กรอิสระนั้น ได้แก่การเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระ เช่น อำนาจการพักสิทธิเลือกตั้งของนักการเมืองเป็นการชั่วคราว ซึ่งอยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ อำนาจในการควบคุมตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมือง ที่อยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นต้น
 
นอกจากนี้ สนช. ยังใช้เทคนิค “เซ็ตซีโร่” องค์กรอิสระ หรือ การกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก่อนกฎหมายใช้บังคับต้องพ้นไปจากตำแหน่งและให้มีการสรรหาใหม่ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวทำให้ สนช. สามารถที่จะคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้
 
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า องค์กรอิสระที่ถูกเซ็ตซีโร่ เป็นองค์กรที่มีความขัดแย้งกับ คสช. ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่พยายามตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช. และคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีท่าทีคัดค้าน คสช. เป็นบางครั้ง และในขณะเดียวกัน องค์กรที่ไม่ถูกเซ็ตซีโร่จะเป็นองค์กรที่มีคนใกล้ชิดกับรัฐบาล คสช. ดำรงตำแหน่งอยู่ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น
 
สนช. ช่วงปูทาง “นายกฯ คนนอก” หนุน คสช. อยู่ต่อ
 
ย้อนกลับไปในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นอกจากคำถามว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ในบัตรออกเสียงประชามติยังระบุถึง “คำถามพ่วง” ที่ว่า
 
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
 
โดยคำถามดังกล่าว หากตีความให้เข้าใจง่ายแล้วจะหมายถึง ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่า ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งมีเสียงคิดเป็น 1 ใน 3 ของรัฐสภาสามารถโหวตเลือกคนเป็นนายกฯ ได้ และเป็นหนึ่งในกลไกที่คาดกันว่าจะทำให้ผู้นำของ คสช. สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ
 
สำหรับที่มาของคำถามพ่วงดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ที่กำหนดให้ สนช. สามารถเสนอคำถามเพิ่มเติมได้ แต่ต้องนำข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่ง คำถามพ่วงที่ปรากฎในบัตรออกเสียงประชามตินั้น แรกเริ่มเป็นแนวคิดของสภาปฏิรูปขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นำโดยวันชัย สอนศิริ และต่อมา สนช. ได้รับลูกพร้อมกับเสียงโหวตข้างมากสนับสนุนให้มีคำถามพ่วงดังกล่าว
 
 
สนช. แก้กฎหมายยื้อเลือกตั้ง-ต่ออายุคสช.
 
การที่ คสช. ยังสามารถอยู่ในอำนาจนานถึงสี่ปี และสามารถ “ยื้อการเลือกตั้ง” ที่เคยสัญญาไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมี สนช. เป็นผู้ช่วยสำคัญ ที่ผ่านมา สนช. ใช้เทคนิคทางกฎหมายอย่างน้อยห้าครั้งเพื่อเลื่อนเลือกตั้งให้ คสช. อยู่ในอำนาจต่อ ได้แก่
 
หนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดทางให้มีประชาชนสามารถลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ หลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
 
สอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยกำหนดเงื่อนไขให้ คสช. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
 
สาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557  เพื่อให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานข้อสังเกตเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก่อนทูลเกล้าฯ อีกครั้ง
 
สี่ การแก้ไข ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไป 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการเลือกตั้งจะเริ่มต้นได้หลังกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น
 
ห้า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่าง พ.ร.ป. สองฉบับ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสนช. เห็นไม่ตรงกัน แม้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ่วมของแต่ละฝ่ายขึ้นมาแก้ไขกฎหมายดังกล่าวแล้วก็ตาม
 
 
สนช. พิจารณากฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
 
สี่ปีที่ผ่านมามีร่างกฎหมายที่ สนช. พิจารณาเห็นชอบในวันเดียวอย่างน้อย 17 ฉบับ ซึ่งมีห้าฉบับเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2559, พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2561, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2660, พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2660, พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2660 โดยสามฉบับหลัง สนช. ไม่มีการบรรจุวาระการประชุมล่วงหน้า ไม่มีการเผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาต่อสาธารณะ และทั้งหมดเป็นการพิจารณาลับ สำหรับประเด็นสำคัญ พ.ร.บ.ทั้งห้าฉบับ คือ
 
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ทั้งสองฉบับ คือ การมอบอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช และตั้งแต่กรรมการมหาเถรสมาคม  
 
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ คือ การจัดตั้งส่วนราชการในพระองค์ โดยให้ ครม.จัดสรรงบประมาณอุดหนุน และรายได้ไม่ต้องนำส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน นอกจากนี้ให้โอนอำนาจหน้าที่และบุคลากรจากสํานักราชเลขาธิการ, สํานักพระราชวัง, กรมราชองครักษ์, หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และสำนักนายตำรวจราชสำนักประจำ ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์
 
พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ คือ กำหนดให้การจัดการ การดูแลรักษา ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และยกเลิกการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยตำแหน่ง แต่ให้แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย
 
พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย คือ การกำหนดให้ส่วนราชการในพระองค์เป็นองค์กรที่มีหน้าที่วางแผนการถวายความปลอดภัย การอำนวยการ การประสานงาน โดยมีราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ตามพระราชประสงค์ และให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือ