พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ: สนช. ใช้อนุมัติเงินให้คสช. ไปแล้วกว่า 53,000 ล้านบาท

พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ ถือว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่งที่รัฐบาลสามารถใช้ได้เพื่อการบริหารประเทศ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีผลให้โอนเงินงบประมาณที่คงเหลือในปีงบประมาณนั้นๆ ไปตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายของปีถัดไป
ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. ได้เห็นชอบ พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ ถึง 4 ครั้งติดต่อกัน รวมแล้วเป็นวงเงินประมาณ 53,885 ล้านบาท เพื่อให้ คสช. ได้ใช้ ซึ่งสามารถจำแนกการโอนเงินแต่ละครั้งได้ดังนี้
หนึ่ง พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ พ.ศ.2558  ซึ่งกำหนดให้โอนเงินงบประมาณคงเหลือจากปีงบประมาณปี 2557 จำนวน 7,913,077,700 หรือประมาณ 7,913 ล้านบาท ไปตั้งไว้เป็นงบประมาณสำหรับ 'งบกลาง' เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 
สอง พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ พ.ศ.2559  ซึ่งกำหนดให้โอนเงินงบประมาณคงเหลือจากปีงบประมาณปี 2558 จำนวน 22,106,555,000 หรือประมาณ 22,106 ล้านบาท ไปตั้งไว้เป็นงบประมาณสำหรับ 'งบกลาง' เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวม 21,885,555,000 บาท และเป็นงบประมาณสำหรับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา รวม 21,000,000 บาท และเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธ์พืช รวม 200,000,000 บาท
สาม พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ พ.ศ.2560  ซึ่งกำหนดให้โอนเงินงบประมาณคงเหลือจากปีงบประมาณปี 2559 จำนวน  1,866,512,300 ล้านบาท หรือประมาณ 11,866 ล้านบาท ไปตั้งไว้เป็นงบประมาณสำหรับ 'งบกลาง' เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  
สี่ พ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งกำหนดให้โอนเงินงบประมาณคงเหลือจากปีงบประมาณปี 2560 จำนวน 12,730,497,700 หรือประมาณ 12,000 ล้านบาทไปตั้งไว้เป็นงบประมาณสำหรับ 'งบกลาง' เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวม 10,000 ล้านบาท ส่วนอีก 2,700 กว่าล้านบาทให้ตั้งเป็นงบประมาณสำหรับ 'กองทุนประชารัฐ' เพื่อเศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า การโอนเงินงบประมาณทั้ง 4 ครั้ง มีลักษณะเหมือนกันคือ หนึ่ง เป็นวงเงินที่โอนมาจะมาจากงบประมาณของหน่วยงานหรือส่วนราชการที่มีแผนงานอยู่แล้ว สอง วงเงินที่ถูกโอนมาส่วนใหญ่จะถูกตั้งไว้เป็นงบกลางซึ่งไม่มีการกำหนดรายละเอียดการใช้เงินให้ชัดเจน และ สาม สนช. เห็นชอบกฎหมายดังกล่าวสามวาระรวดในวันเดียว